สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธนาคารกุ้งก้ามกราม

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เรื่อง / ภาพ สุธน สุขพิศิษฐ์:


การชอบหาที่กินกับชอบทำกินนั้นผมว่าเป็นความสนุกบวกกับความสุข แต่ถ้าได้รู้ถึงที่มาของที่เอามากิน

เช่น เหตุผลผสมความคิดและการเลือกใช้วัตถุดิบ จนเกิดขึ้นเป็นอาหารแต่ละสูตรแต่ละจาน มันมาได้อย่างไร ซึ่งแต่ละภูมิภาคก็มีวิถีทางและมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่งถ้าได้รู้ถึงต้นตอหรือแหล่งกำเนิดวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ พืชผัก เครื่องปรุง เรื่องทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นความรู้ ฉะนั้นการรู้จักที่กิน การทำกิน การรู้ที่มาของที่กิน จึงเท่ากับมีความสุข สนุก และได้ความรู้ มีความเข้าใจรวมเบ็ดเสร็จไปด้วย

ผมชอบของผมแบบนี้มานานแล้ว ยิ่งประเภทเนื้อสัตว์พวกตระกูลสัตว์น้ำ ผมยิ่งชอบเพราะถือว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ มันมีประโยชน์ในทางโภชนาการและมีความปลอดภัยต่อคนสูง เนื่องจากสัตว์น้ำนั้นมาจากแหล่งธรรมชาติโดยตรง

แต่เมื่อไม่พอก็ต้องเลี้ยง และสัตว์น้ำที่มาจากการเลี้ยงกับมาจากแหล่งธรรมชาติ มีข้อด้อยข้อได้เปรียบในเชิงคุณภาพอย่างไร คำถามเหล่านี้ต้องพยายามค้นหาครับ ซึ่งตรงนี้ผมโชคดีที่มีแหล่งให้คำตอบ ทางหนึ่งมาจากที่รู้จักกับคุณอมร สัมมา ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการประมงน้ำจืด กรมประมง ก็คนนี้แหละที่บอกของดีๆ ของสัตว์น้ำและโครงการดีๆ กับการฟื้นฟูรักษาแหล่งประมงน้ำจืด แล้วก็เคยตามไปดูอยู่หลายครั้ง

ผมถึงรู้ระบบวงจรชีวิตของกุ้งก้ามกรามในแม่น้ำ ว่าเมื่อแม่กุ้งมีไข่เต็มท้องและพร้อมที่จะสลัดไข่นั้น มันต้องออกไปสลัดไข่ในบริเวณน้ำกร่อย หรือที่มีความเค็มปนอยู่ในน้ำจืดประมาณ 15% ตัวอย่างในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กุ้งจะมาสลัดไข่ตรงแถบบางนา หรือพระประแดง เมื่อมันเป็นลูกกุ้ง มันจะกินอาหารอยู่แถบนี้ พอโตขึ้นก็ว่ายทวนน้ำขึ้นไป พร้อมกับตัวมันโตขึ้นเรื่อยๆ ที่นักกินกุ้งไปดักกินแถวอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี กินได้เพลิดเพลิน ก็มาจากวงจรอย่างนี้ทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาที่กุ้งก้ามกรามในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำอื่นๆ ลดน้อยลงเพราะถูกคนเห็นแก่ตัวไปตัดวงจรชีวิตของมัน

เมื่ออาทิตย์ก่อนก็เหมือนเคย คุณอมรบอกว่ามีโครงการธนาคารกุ้งที่แม่น้ำเพชรบุรี ตรงบางตะบูน ประสบความสำเร็จแล้ว ให้ชื่อและที่อยู่มาพร้อม คนที่ทำเรื่องนี้ชื่อคุณยุทธ หรือ ยงยุทธ ขวัญใจ อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตระหว่างวัดเขาตะเครากับวัดเกาะแก้ว ใกล้ปากน้ำบางตะบูน

บริเวณวัดเขาตะเครานั้นผมเคยผ่านเข้าไปเมื่อหลายปีก่อน เพราะได้ยินว่ามีหิ่งห้อยเยอะมาก ผมไปเอาตอนเย็นๆ โดยไม่ได้หวังว่าดูเห็นหิ่งห้อย ไปเพื่อให้รู้ว่ามีอยู่แถวนั้น ส่วนจะดูจริงจังก็ต้องวางแผนเรื่องเวลาอีกที แต่ครั้งนั้นได้เห็นพื้นที่ริมคลองซึ่งเป็นป่าชายเลน เห็นแล้วเชื่อว่าเป็นแหล่งสัตว์น้ำที่สมบูรณ์ที่หนึ่งแน่ๆ

ตามเวลานัดคุณยุทธเอาเรือมารับที่วัดเกาะแก้ว ทุลักทุเลหน่อย เพราะน้ำลงและขาแข้งผมไม่ดี บ้านคุณยุทธอยู่เยื้องกับวัดเกาะแก้วไปนิดเดียว ในบริเวณบ้านมีบ่อขังกุ้งก้ามกรามไว้หลายบ่อ มีหลายขนาด และหลายราคา ตัวใหญ่สุดประมาณตัวละ 2 ขีดกว่า ขนาดนั้นจะแพงที่สุดกิโลละ 500 บาท แต่ตัวขนาดนั้นถ้าไปกินร้านอาหารแถวบางปะอิน อยุธยา หรือหลังวัดตราชู สิงห์บุรี กิโลละ 1,000 บาทครับ

คุณยุทธเล่าให้ฟังว่า ดั้งเดิมกุ้งก้ามกรามในแถบนั้นก็พอมีเพราะเป็นแถบน้ำกร่อย ก็เป็นไปตามระบบวงจรชีวิตของกุ้งก้ามกราม แต่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนจับประเภทเห็นแก่ได้ ใช้วิธีเอายาเบื่อโรย กุ้งตัวเล็กตัวน้อยก็ตายไปด้วย ที่เขาทำอย่างนั้นเพราะที่สมุทรสงครามมีที่รับซื้อกุ้งตาย ส่วนคุณยุทธรับซื้อกุ้งเป็นแล้วส่งพ่อค้า เพราะตลาดต้องการมากกว่า ได้ราคากว่า แต่จำนวนกุ้งก็ยังไม่มาก แต่บังเอิญได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมง ซึ่งมาวางแผนสร้างระบบขยายพันธุ์กุ้ง ก็ทำง่ายๆ เมื่อคนจับกุ้งก้ามกรามเอากุ้งมาส่ง ถ้าเป็นแม่กุ้งที่มีไข่พร้อมที่จะสลัดไข่ ก็จะอนุบาลไว้ ยิ่งได้มามากก็ยิ่งดี ตอนแรกเอาไปขังในกระชังหน้าบ้านคุณยุทธเอง แล้วให้มันสลัดออกไปเอง แต่มีปัญหาที่ตัวกระชังนานๆ เข้าตะไคร่น้ำมันเกาะกระชัง ไข่กุ้งมันออกไปไม่หมด ก็ปรับวิธีใหม่ เอาขึ้นเลี้ยงอยู่ในบ่อในบ้านเลย มันก็สลัดอยู่ในบ่อ พอน้ำในแม่น้ำขึ้น ก็เปิดท่อที่บ่อให้ไข่กุ้งไหลตามน้ำลงไปยังแม่น้ำเลย

ทำอย่างนั้นมา 4-5 ปีแล้ว ก็ได้ผลดี ปัจจุบันมีกุ้งก้ามกรามเกิดในแม่น้ำเพชรบุรีมากขึ้น แต่มันจะไม่ว่ายทวนน้ำขึ้นไป เพราะเมื่อเลยวัดเขาตะเคราไป พื้นท้องน้ำแม่น้ำเพชรบุรีจะเป็นทราย ไม่มีแหล่งอาหาร กุ้งจึงอุดมสมบูรณ์อยู่แถบวัดเขาตะเครากับวัดเกาะแก้วนี่เอง นอกจากจะมีน้ำจืดจากเขื่อนแก่งกระจานลงมามาก กุ้งก็จะไปแถวปากน้ำบางตะบูน เมื่อปริมาณกุ้งมากขึ้น ชาวบ้านที่มีอาชีพจับกุ้งทั้งการทอดแหหรือตกกุ้งนั้นก็มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน ดีมาก อยู่ในขั้น 400-500 บาทต่อวัน เนื่องจากรายได้ดีผลพลอยได้คือพวกเขายังช่วยสอดส่องระวังคนเบื่อกุ้งอีกด้วย ไม่ยอมให้ใครมาทุบหม้อข้าวตัวเอง

คุณยุทธเองเกิดมีความคิดว่า เมื่อมีกุ้งถูกส่งออกไปสู่ตลาดเป็นทอดๆ แต่กว่าจะถึงคนกิน ราคากุ้งก็เพิ่มขึ้นหลายเท่า ก็น่าจะให้คนมากินกุ้งถึงแหล่งเลยในราคาที่ถูกกว่า แล้วพอดีแม่บ้านก็พอมีฝีมือเรื่องอาหารอยู่ด้วย ก็ทำศาลาโล่งๆ มุงด้วยใบจาก พื้นเรียบๆ เอาไว้เป็นที่ให้คนมากินกุ้งนั่งกิน ปรากฏว่ามีคนรู้ไปกินแล้วชอบก็บอกต่อๆ กัน จากปากต่อปาก ส่วนใหญ่จะนัดกันไปกันเป็นกลุ่ม ไปกินกุ้งอย่างเดียว ส่วนใหญ่ย่าง และต้มยำบ้าง พล่ากุ้งบ้าง พอเสร็จมีลมพัดหลังอาหารก็นอนกลิ้งอยู่บนศาลานั่นเอง บ่ายๆ กลับ วันเสาร์ อาทิตย์ อากาศดีๆ คนโทร.ไปนัดกันพอสมควร ที่ต้องโทร.ไปก่อนนั้น เพื่อที่จะได้เตรียมกุ้งไว้ ไม่ส่งพ่อค้า

นี่คือความสำเร็จของธนาคารกุ้ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีอย่างนี้หลายๆ ที่จะได้เพิ่มปริมาณกุ้งธรรมชาติ เพราะแม่กุ้งแต่ละตัวนั้นมีไข่เป็นแสนๆ ฟอง โดยหวังขั้นต่ำสุดว่ารอดแค่ 10% จะได้กุ้งเป็นพันๆ ตัวแล้ว แล้วเมื่อมันมีอายุได้ 2 เดือน ขนาด 10 กว่าตัวต่อกิโล กิโลละ 200-300 บาท มันจะมีมูลค่าเพิ่มขนาดไหน ถึงอยากให้มีโครงการธนาคารกุ้งเยอะๆ ครับ

อีกอย่างหนึ่ง ผมอยากให้คนไปกินกุ้งเมื่ออิ่มปรีเปรมแล้ว ขอให้มีวิญญาณช่วยกันปกป้องแหล่งธรรมชาติด้วยจะถือว่ากินอย่างคุ้มค่า ไปเที่ยวที่ไหนช่วยกระจายความคิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปด้วย จะได้มีสัตว์น้ำดีๆ กินไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานครับ

สำหรับโทรศัพท์บ้านคุณยุทธ 08-1941-5260 และทางไปนั้น ไปถนนพระราม 2 เลย จ.สมุทรสงคราม และข้ามแม่น้ำแม่กลองไปแล้ว เข้าถนนไปวัดเขายี่สาร เลียบไปทางบางตะบูน ถึงบ้านแหลม แล้วไปเส้นที่ไปเพชรบุรี พักเดียวจะถึงทางเข้าวัดเขาตะเครา ถึงวัดเขาตะเคราแล้วมีทางแยกไปวัดเกาะแก้ว ถ้านัดกันดีแล้ว คุณยุทธจะมารับที่นั่น

แต่ผมขอฝากไว้นิดเดียวครับ ที่บ้านคุณยุทธนั้นตลอดมาจะไปเป็นกลุ่ม อาจจะมีกลุ่มเดียว แต่ถ้าเกิดมีคนไปหลายกลุ่มแล้วหวังจะให้มีบริการเหมือนร้านอาหารนั้น คงต้องเตรียมใจเผื่อไว้บ้างถ้าหากไม่เป็นไปตามหวัง แต่ถ้าคิดว่าง่ายๆ เหมือนไปเที่ยวชนบทแล้วได้กินกุ้งได้ดูวิว รู้จักคนใหม่ๆ เท่านั้นก็เหลือเฟือครับ

view