สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โพลล์เผยปปช.ยังไม่เชื่อมั่นรัฐบาลควบคุมไข้หวัด2009ได้ กังวลการแพร่ระบาดแต่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย

จาก ประชาชาติธุรกิจ
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์  มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ   เรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ "ไข้หวัด 2009":กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ
ดร.นพดล  กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ "ไข้หวัด 2009":  กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง นครนายก จันทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี นครพนม ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น นราธิวาส และสงขลา จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 1,215 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2552 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 38.6 มีความเข้าใจอย่างดีเพียงพอแล้วถึงแนวทางการป้องกันไข้หวัด 2009 และร้อยละ 61.4 ยังไม่เข้าใจดีพอว่าจะป้องกันอย่างไร

เมื่อถามถึงการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในสถานที่ต่างๆ นั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 88.7 ไม่ใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในเมื่ออยู่ในคอนโดมิเนียม/หอพัก/อพาร์ทเมนต์ใน สำหรับการปฏิบัติตัวเมื่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ นั้น พบว่าตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 คือร้อยละ 73.8 ระบุไม่ใส่หน้ากาก และร้อยละ 26.2 ระบุใส่หน้ากาก 
เมื่อเดินทางไปห้างสรรพสินค้านั้น ตัวอย่างร้อยละ 28.3 ใส่หน้ากาก  ร้อยละ  71.7 ไม่ใส่   นอกจากนี้พบว่า ร้อยละ 30.9 ใส่หน้ากากเมื่อไปโรงภาพยนตร์/สถานบันเทิง  ในขณะที่ร้อยละ 69.1 ไม่ใส่ 

กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 36.5 ใส่หน้ากากเมื่ออยู่บนรถโดยสาร รถเมล์ รถแท็กซี่ ในขณะที่ร้อยละ 63.5 ไม่ใส่  และร้อยละ 36.8  ใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก  แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 63.2 ไม่ใส่ 
สำหรับการเดินทางไปโรงเรียน/มหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษานั้นพบว่า ร้อยละ 38.9 ใส่หน้ากาก  ร้อยละ 61.1 ไม่ใส่ ที่น่าพิจารณาคือการเดินทางไปโรงพยาบาล/คลีนิค/ สถานพยาบาลนั้นพบว่า ร้อยละ 47.4 ใส่หน้ากาก  ในขณะที่ร้อยละ  52.6 ระบุไม่ใส่

นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนร้อยละ 32.1 กลับมาอาบน้ำทันที ภายหลังกลับมาจากนอกบ้าน ในขณะที่  ร้อยละ 67.9 ระบุไม่ได้อาบน้ำทันที

ทั้ง นี้ เมื่อถามถึงความรู้สึกว่าไม่ค่อยสบายหรือเป็นไข้หวัดนั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 10.7 รู้สึกไม่ค่อยสบาย/สงสัยจะเป็นไข้หวัด 2009  ในขณะที่ร้อยละ 89.3 รู้สึกสบายดี ไม่เป็นอะไร

ดร.นพดล เปิดเผยว่าในการวิจัยครั้งนี้พบ ค่าอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการไม่สบายจากไข้หวัด 2009 ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสาร รถเมล์ รถแท็กซี่โดยไม่ใส่หน้ากาก จะมีภาวะความเสี่ยงต่อการไม่สบายจากไข้หวัด 2009  สูงเกือบ 4 เท่า คือ 3.832  เท่าของผู้ที่ใส่หน้ากาก
ผู้ที่เดินทางไปสถานที่ที่มีคนอยู่จำนวนมากโดยไม่ใส่หน้ากาก จะมีภาวะความเสี่ยงต่อการไม่สบายจากไข้หวัด 2009   คิดเป็น 2.297  เท่าของผู้ที่ใส่หน้ากาก ,ผู้ที่เดินทางไปห้างสรรพสินค้าโดยไม่ใส่หน้ากาก จะมีภาวะความเสี่ยงต่อการไม่สบายจากไข้หวัด 2009 คิดเป็น 2.174  เท่าของผู้ที่ใส่หน้ากาก และผู้ที่เดินทางไปโรงพยาบาล คลีนิค สถานพยาบาลโดยไม่ใส่หน้ากาก จะมีภาวะความเสี่ยงต่อการไม่สบายจากไข้หวัดใหญ่ คิดเป็น  2.168 เท่าของผู้ที่ใส่หน้ากาก

อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์พบว่า สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ   โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา ไม่เป็นสถานที่เสี่ยงที่จะทำให้ไม่สบายจากโรคไข้หวัด 2009 
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความต้องการให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งหน้ากากป้องกันไข้หวัด 2009 ไปให้ที่บ้านนั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 62.8 ต้องการให้ส่งหน้ากากมาที่บ้าน ร้อยละ 14.8 ต้องการให้ส่งมาที่สถานีอนามัย/สถานพยาบาลใกล้บ้าน ในขณะที่ ร้อยละ 22.4 ระบุไม่ต้องการ  
และเมื่อถามถึงการปกปิดข้อมูลที่แท้จริงเรื่อง ไข้หวัด 2009 นั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 45.8 คิดว่ารัฐบาลกำลังปกปิดข้อมูลที่แท้จริงอยู่ ในขณะที่ ร้อยละ 54.2 ไม่คิดว่ารัฐบาลกำลังปกปิดอะไร
ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงความกังวลของ ประชาชนต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด 2009 นั้นพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งคือ ร้อยละ 61.1 มีความกังวลค่อนข้างมาก-มากที่สุด   ร้อยละ 18.4 ระบุปานกลาง และร้อยละ 20.5 ระบุค่อนข้างน้อย-ไม่รู้สึกกังวลเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างความคาดหวังกับการพบเห็น/รับรู้ว่ามีการปฏิบัติจริง เกี่ยวกับมาตรการป้องกันแก้ไขไข้หวัด 2009 ของรัฐบาล เมื่อพิจารณาในกลุ่มผู้ที่มีความคาดหวังมาก-มากที่สุดนั้นพบว่าประชาชนพบ เห็นการปฏิบัติจริงต่ำกว่าที่คาดหวังไว้จากรัฐบาล  โดยร้อยละ 41.1 มีความคาดหวังมาก-มากที่สุด   แต่กลับพบว่ามีเพียงร้อยละ 28.9 ที่พบเห็นว่ารัฐบาลมีการปฏิบัติจริงในระดับมาก-มากที่สุด  (ส่วนต่างเท่ากับ -12.2)  และเมื่อพิจารณาความคาดหวัง-ความเป็นจริงในระดับปานกลางนั้นพบว่าร้อยละ 43.2 มีความคาดหวัง ในขณะที่ร้อยละ 47.7 พบเห็นว่ามีการปฏิบัติจริง (ส่วนต่างเท่ากับ + 4.5)  สำหรับในกลุ่มที่มีความคาดหวัง-ความเป็นจริงในระดับน้อย-ไม่มีเลยนั้นพบ ว่า   ร้อยละ 15.7 มีความคาดหวัง ในขณะที่ร้อยละ 23.4 พบเห็นว่ามีการปฏิบัติจริง  (ส่วนต่างเท่ากับ +7.9)

ดร.นพดล กล่าวปิดท้ายถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาด ของไข้หวัด 2009 ว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.1 ค่อนข้างเชื่อมั่น-เชื่อมั่น ในขณะที่ร้อยละ 53.9 ระบุ ไม่ค่อยเชื่อมั่น-ไม่เชื่อมั่น

view