สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เที่ยวพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง / วินิจ รังผึ้ง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย : วินิจ รังผึ้ง



       ทุกครั้งที่ผมดื่มน้ำผลไม้ตรา “ดอยคำ” นอกจากจะได้ รสชาติของความอร่อย ความรู้สึกชื่นเย็น รู้สึกได้ถึงคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ และความรู้สึกลึกๆที่เกิดขึ้นในจิตใจก็คือ ความรู้สึกเสมือนได้มีส่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรอีกจำนวนมากมาย
       
       หากจะพูดถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทั่วๆไปที่เราท่านดื่มกินขึ้นมาสัก ชิ้น เรื่องราวความเป็นมาของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นอาจมิได้มีเรื่องราวมาก มายไปกว่าการผลิตเพื่อผลกำไรในทางธุรกิจซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สูงสุด แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ดอยคำแล้ว กลับมีเรื่องราวความเป็นมามากมายนับตั้งแต่พระมหากรุณาธิคุณและสายพระเนตร อันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานลงมายังเกษตรกรยากจนในพื้นที่โครงการพระราชดำริ เรื่องราวของการดำเนินวิถีชีวิตและการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และการทุ่มเททำงานหนักแบบปิดทองหลังพระของคนทำงานอีกมากมาย เพื่อพัฒนาผืนแผ่นดิน พัฒนาชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชนไปพร้อมๆกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์
       
       จากการเสด็จประพาสต้นบนดอยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาและสภาพพื้นที่ที่ถูกทำลายจาก การทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกพืชเสพติด พระองค์จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโครงการหลวงขึ้น ในปี พ.ศ.2512 เพื่อหยุดยั้งการทำลายป่าต้นน้ำ และส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาเลิกโยกย้ายถิ่นทำไร่เลื่อนลอย เลิกปลูกฝิ่น หันมาปลูกพืชอื่นทดแทน และเพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยการเกษตรในที่สูง ซึ่งเมื่อทรงพระราชทานจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นมาแล้ว ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลและทรงมีแนวพระราชดำริแบบบูรณาการ ก็ทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ขึ้นในปี พ.ศ.2515 ที่บ้านยาง หมู่ 12 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่าอยู่ไม่ไกลจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหลวงมากนัก
       
       ด้วยทรงเล็งเห็นว่าเมื่อเกษตรกรสามารถปลูกพืชผลได้แล้ว หากไม่มีตลาดที่ดี ไม่มีการแปรรูปผลผลิตที่เหลือขายจากการบริโภคผลสด ก็จะไม่สามารถสร้างมูลค่าของผลผลิต และไม่สามารถจะช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการได้ จึงทรงมีพระราชดำริให้งานของโครงการหลวงดำเนินการในกระบวนการต่างๆอย่างครบ วงจร การก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป และก่อตั้งบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหารจึงเริ่มต้นขึ้น
       
       การตั้งโรงงานหลวงบนเนินเขาที่บ้านแม่งอนที่อยู่ติดชายแดนนั้น อาจจะเป็นงานยากกว่าการตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตในพื้นราบ แต่ก็มีผลในการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน ให้เกิดความมั่นใจว่าผลผลิตที่พวกเขาปลูกจะสามารถขายได้ย่างแน่นอน อีกทั้งพวกเขายังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในโรงงานที่อยู่ในหมู่บ้าน ไม่ต้องให้คนรุ่นหนุ่มสาวต้องเสี่ยงชีวิตเดินทางออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ ซึ่งบ้านแม่งอนและชุมชนรอบข้างนั้นมีทั้งชาวไทยภูเขา ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากยูนนาน และชาวไทยพื้นราบ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและมีความสุข
       
       แต่แล้วในวันที่ 8-9 ตุลาคม พ.ศ.2549 บ้านยางก็เกิดเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่จากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มลงมาจากภูเขา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบ้านเรือนของชาวบ้านจำนวนมากถูกน้ำป่าพัดพังเสียหาย รวมถึงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) แห่งนี้ก็ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูพื้นที่โรงงานหลวงแห่งนี้ขึ้นมาใหม่และพัฒนาให้ เป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (Living Site Museum) ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ ผ่านนิทรรศการ วัตถุสะสม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้เชิงนิเวศ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
       
       การมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) แห่งนี้ จะเริ่มต้นจากบริเวณห้องพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง ซึ่งอาคารของพิพิธภัณฑ์ออกแบบอย่างเรียบง่ายเหมือนโกดังหลังคาสูงของโรงงาน ทั่วๆไป แต่ก็มีลูกเล่นที่แฝงความเท่และความมีสไตล์ของการออกแบบ เช่นบานประตูไม้สลักลวดลายสวยงามที่ให้กลิ่นอายความเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนยู นนานของชาวบ้านยางได้เป็นอย่างดี เมื่อเดินเข้าไปภายในห้องจัดแสดงห้องแรก ซึ่งออกแบบตกแต่งแบบจำลองข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านของชาวบ้านยางในอดีต ทำให้เห็นภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านยางได้เป็นอย่างดี เมื่อเดินลึกเข้ามาก็จะเป็นห้องจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงงานอย่างใกล้ชิดพสกนิกรของพระองค์ท่านในพื้นที่ธุร กันดารกลางป่าเขาแดนดอยอันเป็นภาพชุดที่หายชมได้ยากซึ่งได้ทรงพระราชทานมา จัดแสดง
       
       นิทรรศการแห่งนี้ยังได้จัดแสดงภาพชุดขาว-ดำ ฝีมือช่างภาพชั้นเยี่ยมของเมืองไทยอย่างชำนิ ทิพย์มณี ซึ่งลงมาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านยาง แล้วสะท้อนภาพวิถีชีวิตอันแสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาวบ้านยางด้วยภาพขาว-ดำ ที่งดงามเต็มไปด้วยพลัง สร้างความภาคภูมิใจและสร้างความมีส่วนร่วม ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งนี้ได้เป็น อย่างดี ภายในห้องนิทรรศการ มีมุมฉายภาพยนตร์เล็กๆ ที่มีภาพยนตร์แสดงภาพความรุนแรง ความเสียหายและบทสัมภาษณ์ของชาวบ้านที่ประสบเหตุการณ์ครั้งน้ำท่วมใหญ่มาบอก เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ย้อนรำลึกกัน
       
       และห้องโถงสุดท้ายกลางอาคารโรงงาน มีการจัดแสดงเครื่องจักรกล เครื่องมือ และอุปกรณ์จากโรงงานเก่าตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ซึ่งบางชิ้นยังคงมีร่อยรอยของความเสียหายจากพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่มให้ชม กัน
       
       เดินชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์กันจนทั่วก็จะมาสิ้นสุดที่บริเวณร้านค้า และร้านกาแฟบริเวณทางออก ที่นี่เขาจัดออกแบบตกแต่งไว้ให้มีบรรยากาศเหมือนร้านค้าของชาวบ้านในหมู่ บ้าน ซึ่งมีชั้นแสดงสินค้าที่จัดวางเรียงไว้ให้เลือกชมเลือกซื้อกัน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของดอยคำและสินค้าโครงการหลวงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผลไม้อบแห้ง ตั้งแต่มะม่วง ลำไย สตรอเบอร์รี่ ผลิตภัณฑ์ชาชนิดต่างๆ กาแฟที่คั่วบดหอมกรุ่น น้ำผลไม้บรรจุกล่องและบรรจุกระป๋อง หรือจะสั่งกาแฟสดร้อน เย็น นั่งจิบในบรรยากาศของสภากาแฟพื้นบ้านก็ได้บรรยากาศดียิ่ง ในอนาคตทางพิพิธภัณฑ์จะให้บริการร้านอาหาร ซึ่งจะเน้นอาหารพื้นบ้านสไตล์ยูนนานที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านยางให้บริการ ด้วย
       
       นอกจากนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มีเวลาไม่มากนักจะเยี่ยมชมเฉพาะพื้นที่ นิทรรรศการซึ่งใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมงแล้ว พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตสำหรับการเรียนรู้แห่งนี้ ผู้สนใจศึกษาเชิงลึกยังสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆได้เช่นการศึกษา เชิงนิเวศจากการเที่ยวชมศึกษาภูมิประเทศ การชลประทาน การทำฝายและแนวป้องกันน้ำท่วมโคลนถล่ม หรือด้านการเกษตรจากการศึกษาเรียนรู้แปลงทดลองและแปลงปลูกของเกษตรกรใน โครงการ หรือหากสนใจที่จะศึกษาวิธีการผลิตและแปรรูปอาหาร ทางโรงงานก็ไม่ได้ขัดข้องหรือปิดบัง แต่ยังยินดีที่จะจัดวิทยากรนำชมทุกกระบวนการทุกซอกทุกมุมของโรงงานให้สมกับ การเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอย่างครบถ้วน
       
       ท่านผู้อ่านใดสนใจจะเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) สามารถเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่อำเภอฝาง โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทางราว 150 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางแยกขึ้นดอยอ่างขางอีกราว 9 กิโลเมตรก็จะถึงบ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้ชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30 น.-16.30 น. หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.firstroyalfactory.org 

view