สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชงกฎหมายภาษีที่ดินเข้า ครม. ที่ดินไม่ทำประโยชน์โดนปรับ 2 เท่าทุก 3 ปี

จาก ประชาชาติธุรกิจ



คลังเดินหน้าชงร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินสิ่งก่อสร้างเข้า ครม.เดือนหน้า คาดรัฐจะมีรายได้เพิ่มปีละ 6 หมื่นล้าน พร้อมให้ อปท.เป็นผู้จัดเก็บภาษี เปิดโครงสร้างอัตราภาษีเก็บ 3 อัตรา ถ้าปล่อยที่ดินรกร้างเกิน 3 ปีเก็บเพิ่ม 2 เท่า ผลวิจัยที่ดินเขตบางรัก สัมพันธวงศ์ ปทุมวัน อู้ฟู่สุด

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง สศค.ได้ยกร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.… เสร็จเรียบร้อยแล้วและพร้อมที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนสิงหาคมนี้ ตามนโยบายของนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นขั้นตอน ต่อไป หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาภายในปีนี้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงภายในปี 2554 ตามที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล ข้อดีจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 6 หมื่นล้านบาท 
"ส่วน การดำเนินการในขณะนี้ทาง สศค.ได้จัดให้มีการเดินสายจัดงานสัมมนาให้ความรู้แก่นักธุรกิจและประชาชน ทั่วไปที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เกี่ยวกับการนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่รัฐบาลจะนำมา บังคับใช้ โดยเริ่มจากจังหวัดขอนแก่น, สุราษฎร์ธานีและที่เชียงใหม่ ที่จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 13-15 ก.ค.ที่ผ่านมา ครั้งต่อไปก็จะจัดที่ชลบุรี กรุงเทพฯและอุบลราชธานี คล้ายๆ กับการทำประชาพิจารณ์ แต่เราจัดในรูปของงานสัมมนา"
นายสมชัยกล่าวต่อไป อีกว่า โครงสร้างของอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่จะมอบให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บภาษีจากฐานของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ประเมินโดยกรมธนา รักษ์ ซึ่งจะแตกต่างจากภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ใช้อยู่ใน ปัจจุบันที่เก็บจากฐานของรายได้ในอัตรา 12.5% แต่ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เก็บเพราะไม่มีรายได้ ดังนั้นเมื่อมีการนำระบบภาษีที่ดินแบบใหม่มาใช้จะทำให้นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ นำที่ดินมาทำประโยชน์เสียภาษีลดลง ส่วนผู้ที่กักตุนที่ดินไว้เก็งกำไรจะเสียภาษีมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่าไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อระบบเศรษฐกิจจะมีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นไปอีก 2 เท่าตัวทุกๆ 3 ปี ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้มีการนำที่ดินที่กักตุนไว้ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มาก ยิ่งขึ้น
โครงสร้างของอัตราภาษีจะแบ่งออกเป็น 3 อัตรา ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์จะเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน, ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเสียภาษีอัตราไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าทรัพย์สิน และที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน ส่วนที่ดินว่างเปล่าจัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าสินทรัพย์ ยกเว้นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นศาสนสถาน วัง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินของทางราชการ เป็นต้น
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยโครงการวิจัยเรื่อง นโยบายและมาตรการการคลัง เพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ พบว่า การถือครองที่ดินในเขตกรุงเทพฯชั้นในมีการกระจุกตัวมาก โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกใช้ให้เป็นพื้นที่ทางการค้า อาทิ เยาวราช ปทุมวัน
จาก การเก็บข้อมูลในปี 2551 กรุงเทพฯมีขนาดพื้นที่สามารถถือครองได้ 927,074 ไร่ 1 งาน 18.6 ตารางวา จำนวนโฉนดที่ดินทั้งหมดในกรุงเทพฯ 1,915,388 แปลง ผู้ที่ถือครองที่ดินในกรุงเทพฯมีจำนวน 1,464,207 ราย โดยผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในกรุงเทพฯ 14,776 ไร่ 1 งาน 39.7 ตารางวา ขณะที่ผู้ถือครองน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ คือ 0.1 ตารางวา
ผลการวิจัยพบว่า การกระจายการถือครองที่ดินในเขตบางรัก สัมพันธวงศ์ และปทุมวัน ซึ่งเป็นเขตที่ราคาที่ดินสูงที่สุดในกรุงเทพฯ มีผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในเขตบางรัก ถือครองที่ดิน 643 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา ในเขตสัมพันธวงศ์ 22 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา และในเขตปทุมวันคือ 86 ไร่ 3 งาน 61.9 ตารางวา ทั้งนี้ การถือครองที่ดินเฉพาะประเภทบุคคลธรรมดา ผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ 2,036 ไร่ 2 งาน 57.3 ตารางวา
ในขณะที่การถือครองที่ดินในต่างจังหวัด เริ่มที่จะมีการกระจุกตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี หรือ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งได้ถูกพัฒนาให้เป็นย่านอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลจากตำบลแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ระบุสัดส่วนการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินว่าพื้นที่รวมผู้ถือครองจำนวน มากที่สุด 10 อันดับแรกอยู่ที่ 755.06 ไร่ และข้อมูลจากเทศบาลหนึ่งใน จ.ชลบุรี ผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่มากที่สุด 19 อันดับแรกอยู่ที่ 2,008.66 ไร่
"การวิจัยของเราพบว่าที่ไหนที่พัฒนาเป็นเขตพาณิชย์การกระจุกตัวใน การถือครองที่ดินจะมีสูงมาก การขยายตัวของเมืองเร็วมาก ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้จะเห็นว่าองค์การบริหารส่วนตำบล กลายเป็นเทศบาล เป็นเขตเมือง การกระจุกตัวที่ดินจึงเกิดขึ้น สอดคล้องกับที่ดินภาคการเกษตร ที่ชาวนาส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่วัยชรา อีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าการกระจุกตัวของที่ดินจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีภาษีที่ดิน โดยคาดว่าอีกไม่เกิน 12 ปี เราจะเข้าสู่สังคมชราภาพ ผู้เกษียณอายุจะมีตัวเลข 14 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งขณะนี้เรามีตัวเลขอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายคนแก่จะสูงมาก รัฐบาลต้องหารายได้มาดูแล เราจะหารายได้ที่ไหนมาใช้จ่ายเชิงสวัสดิการ"
อย่าง ไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ยังพบอีกว่าการกระจายการถือครองที่ดินของครัวเรือนที่ทำการ เกษตรในประเทศไทย พ.ศ.2549 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร้อยละ 40 ของครัวเรือนภาคการเกษตรไม่มีที่ดินเลย หรือถือครองที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตที่แท้จริง แต่เป็นการซื้อที่ดินของนายทุนเพื่อการเก็งกำไร
ดร.ณรงค์ให้ความเห็น ว่า กฎหมายฉบับนี้ในอนาคตที่จะผ่านการพิจารณาจากสภานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เนื่องจากนักการเมืองในสภาเองก็เป็นผู้สะสมที่ดินรายใหญ่ "คุณต้องไม่ลืมว่านักการเมืองในสภาจำนวนหนึ่งมีที่ดินเยอะ หลายร้อยไร่ แล้วคนพวกนี้ก็หาประโยชน์จากเทศบาลตำบล คือการนับหนึ่งของความเป็นเมือง หลายๆ เขตถูกยกขึ้นมาเป็นเทศบาล ตำบล เพราะว่าความหนาแน่นของประชากรมีมากพอ ก็แปลว่าชุมชนการค้าก็เริ่มเกิดขึ้น ที่ดินก็เริ่มแพงขึ้น นักการเมืองก็เริ่มกักตุนแล้ว"
"ยกตัวอย่าง ที่ดินก่อนตัดถนนราคาแปลงละ 1 ล้านบาท พอมีถนนผ่านราคาขึ้นเป็น 5 ล้านบาท เจ้าของที่ดินไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น 4 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นควรจะแบ่งกลับไปให้รัฐบ้าง เพราะการลงทุนทำถนนนี้มันเป็นการเอาภาษีชาวบ้านไปทำ เพราะฉะนั้น 4 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นโดยเจ้าของที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ควรจะแบ่งกลับไปให้สังคม" ดร.ณรงค์กล่าว


คลังคาดร่างกม.ภาษีที่ดิน มีผลบังคับใช้ปี"53

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลังเดินหน้าประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เตรียมชงเข้าครม.และสภาฯในสมัยประชุมนี้ คาดมีผล 1 ม.ค.ปี"53 ให้เวลาปรับตัว 2 ปี

นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ สศค.ได้จัดทำประชาพิจารณ์ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ กระจายไปทั่วทุกภาคในหลายจังหวัด อาทิ สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ และสัปดาห์หน้าจะไปทำประชาพิจารณ์ที่จังหวัดชลบุรี โดยจะเน้นจัดทำในจังหวัดหัวเมืองขนาดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 6 วัน ในการจัดงานชี้แจงทำความเข้าใจให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละจังหวัด  จากนั้นในครั้งสุดท้ายจะเชิญนักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปจัดเสวนา เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ทั้งนี้ จากการจัดประชาพิจารณ์แต่ละครั้งที่ผ่านมา ประชาชนให้การตอบรับค่อนข้างดีมาก และเข้าใจถึงการสนับสนุนให้ภาษีที่ดินฯ  เกิดขึ้น  โดยส่วนใหญ่จะมีคำถามว่า ประชาชนจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ และต้องทำอย่างไรบ้างในการบริหารจัดการที่ดินของตนเอง  ผู้ที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเสียภาษีมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่  รัฐจะเริ่มเก็บภาษีเมื่อใด และอัตราเท่าใด  พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ นั้น ดีจริงหรือไม่ เป็นต้น

"กระทรวงการคลังได้ชี้แจงถึงข้อดีและข้อเสียของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ให้ประชาชนรับทราบว่า  ปัจจุบันนี้ ประชาชนทั่วประเทศกว่า 90%  ถือครองที่ดินโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ไร่ ขณะที่ประชาชนเพียง 10%  เท่านั้นถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ขึ้นไป ถือว่าเป็นการกระจายการถือครองที่ดินโดยไม่ธรรม ยังมีความลักลั่นอยู่"

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่มีกลไกมาแก้ปัญหา และในสัดส่วนของผู้มีรายได้สูงถือครองที่ดินร้อยละ 10 นี้ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 75  ที่ถือครองที่ดินโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด เป็นเพียงการซื้อที่ดินเปล่าทิ้งไว้ เพื่อเก็งกำไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีระบบภาษีมาดูแลเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันนี้รายได้ของ  อปท. ที่จัดเก็บเอง มีเพียง 10%  เท่านั้น หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ ส่วนอีก 90% มาจากการอุดหนุนของงบประมาณจากส่วนกลางของรัฐบาล เมื่อเทียบกับประเทศอื่น  อาทิ  นิวซีแลนด์ อปท.จัดเก็บรายได้เองได้ถึง 90%  ขณะที่มาเลเซีย จัดเก็บรายได้เอง 85% เมื่อ อปท. เป็นผู้จัดเก็บภาษีที่ดินเอง โดยไม่ต้องส่งเข้างบประมาณส่วนกลางและบริหารจัดการเงินดังกล่าวเพื่อใช้ พัฒนาพื้นที่ของตนเองได้ทันที ซึ่งจะทำให้มีความสามารถจัดเก็บจากปัจจุบันจาก 10% เพิ่มเป็น  70-80% ได้  รายได้เก็บภาษีจะเพิ่มจาก 20,000 ล้านบาทเป็น 40,000 ล้านบาทขึ้นไป ในช่วง 2 ปีแรก  และหากเก็บเต็มเพดานจะได้กว่า 90,000 ล้านบาท ทีเดียว

ดังนั้น  ร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้ อปท. จัดเก็บรายได้สัดส่วนที่สูงขึ้น จะทำให้ประชาชนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง การให้ความสำคัญในการเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาบริหารท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น กฎหมายดังกล่าวจะทำให้ทุกคนต้องเสียภาษีที่ดินเหมือนกันหมด โดยมีฐานภาษีที่มีอัตราต่างกันไปตามขนาดและมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ

ขณะที่อัตราภาษีนั้นจะกำหนดเพดานไว้ตามการใช้ที่ดิน คือ ในเชิงพาณิชย์จะกำหนดเพดานไว้ที่ 0.5% ของมูลค่า โดยจะมีคณะกรรมการกลางที่จะพิจารณาว่าจะจัดเก็บภาษีอัตราเท่าใด และจะปรับอัตราทุก ๆ  4 ปี เช่น เชิงพาณิชย์อาจคิด 0.2%  หากอยู่อาศัยด้วยตนเองคงต้องคิดภาษีน้อยกว่า 0.1%

สำหรับที่ดินทำการเกษตรกรรม จะกำหนดเพดานน้อยกว่า 0.05%  แต่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะคิดแพงที่สุด และสูงกว่าอัตราในเชิงพาณิชย์ด้วย เช่น หากกำหนดอัตราภาษีในเชิงพาณิชย์ไว้ที่  0.4% ต้องเก็บภาษีที่ดินเปล่า 0.45-0.5% เป็นต้น และหากยังคงปล่อยที่รกร้างว่างเปล่าทิ้งไว้อีก 3 ปี จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว แต่จะไม่เกิน 2% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

หากร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว  กระทรวงการคลังกำหนดไว้ว่ากฎหมายภาษีที่ดินจะ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 53 เป็นต้นไป โดยยังคงมีช่วงเวลาให้ประชาชนปรับตัวก่อน 2 ปีแรก เพราะจะเริ่มมีผลบังคับจริงใช้ในปี 55 เป็นต้นไป แต่ช่วง 3 ปีแรก ที่เริ่มบังคับใช้นั้น จะให้ อปท. ทุกแห่ง ใช้กฎหมายดังกล่าวแบบขั้นบันได คือ ในปีแรกจะเก็บภาษีเพียง 50%  ปีที่ 2 จัดเก็บเพิ่มเป็น 75% และปีที่ 3 เป็นต้นไป จึงจะเก็บภาษีเต็ม 100% ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี อปท.ถึงจะได้เงินจากภาษีที่ดินแบบเต็มรูปแบบ

สำหรับคนจน จะไม่เก็บภาษีด้วยการกำหนดเกณฑ์ว่า จะต้องมีที่ดินถือครองเท่าใด  จึงจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ขณะนี้ยังไม่สรุปตัวเลขดังกล่าว  แต่คนแก่นั้นไม่ยกเว้นให้ เพราะเกรงว่าอาจมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่ลูกหลานจะให้เป็นชื่อของผู้สูงอายุ แทน เพื่อเลี่ยงไม่จ่ายภาษี ขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมนั้นก็คิดอีกอัตราหนึ่ง และหากมีมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ ผู้ที่มีที่ดินว่างเปล่าที่ซื้อเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรนั้น หากเก็บไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่  80%  จะต้องเสียภาษีแพงมาก ช่วยลดปัญหาการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ลงได้  ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์ กำลังจัดทำราคาประเมินที่ดิน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี โดยไทยมีที่ดินทั้งประเทศ 30 ล้านแปลง ขณะนี้ประเมินไปแล้ว 5 ล้านแปลง ยังเหลืออีก 25 ล้านแปลง ที่ต้องเร่งประเมินให้แล้วเสร็จก่อนปี 55

ส่วนกรมที่ดินต้องจัดทำแผนที่ดิจิตอลทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างรายแปลงทั่วประเทศ คาดว่าเมื่อจัดทำประชาพิจารณ์แล้ว จะให้ รมว.คลัง นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในเดือน ส.ค.  จากนั้นในเดือน ต.ค.-พ.ย. เสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ และเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 53 เป็นต้นไป

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้วว่า จะพยายามเสนอกฎหมายภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้สภาฯ พิจารณาให้ทันการประชุมสภาสมัยการประชุมนี้หลังจากได้ประชาพิจารณ์ที่ จังหวัดเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว เพราะจากการจัดงานดังกล่าวมาหลายพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

view