สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขึ้นทะเบียนผู้จัดการ หมู่บ้านจัดสรร-คอนโดมิเนียม/คอลัมน์ครบเครื่องคนรักบ้าน

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :นคร มุธุศรี นายกก่อตั้งสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย:


มีความพยายามผลักดันให้ผู้บริหารการจัดการ อาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรรอยู่ในกรอบกติกาเฉกเช่นเดียวกันกับการประกอบ วิชาชีพอื่นๆ อย่างเช่น วิศวกรและสถาปนิก ฯลฯ มานับสิบๆ ปี แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จสักกะที

ไม่ต้องสาธยายว่าเป็นเพราะจั๋งได๋ มาว่าถึงผลกระทบจากที่ไม่มีการดูแลควบคุมผู้คนในอาชีพนี้ให้อยู่ในร่องในรอยกันดีกว่าคอนโดมิเนียมน่าอยู่น่าอาศัยนับร้อยๆ แห่งกลายเป็นสลัมลอยฟ้า

อีกหลายสิบอาคารกำลังจะถูกตัดน้ำ ตัดไฟ เหตุเพราะทุจริตคอร์รัปชัน

ผู้บริหารอาคารชุดกว่าครึ่งค่อนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อกฎหมาย

ผู้จัดการตึกสูงหลายแห่งมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

หนักไปยิ่งกว่านั้น

ผู้จัดการนิติบุคคลบางชุมชนตั้งตัวเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย มีลิ่วล้อเดินขนาบซ้ายขนาบขวาเอาไว้ข่มขู่ชาวบ้านชาวช่องเขา

ที่มาที่ไปของผลกระทบข้างต้นเกิดจากต้นสายปลายเหตุ 2-3 ประการ

“ผู้จัดการไม่มีความรู้ความเข้าใจข้อกฎหมายและการบริหารการจัดการชุมชนที่ถูกต้อง” หนึ่งล่ะ

“ไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา” อีกหนึ่ง

และข้อสำคัญประการท้าย

“ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดกำกับดูแลควบคุม”

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่าๆ มานั่นแหละคือ “ปัญหา” ที่มีต้นตอจากการบริหารการจัดการที่ไม่เอาไหน ผู้อยู่ในแวดวงบ้านจัดสรรและอาคารชุดถึงได้ทั้งผลักทั้งดันให้มีการ “จดทะเบียนผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านและผู้จัดการคอนโดมิเนียม” เป็นระยะ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “รังสรรค์ นันทกาวงศ์” นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และผม นคร มุธุศรี ได้เข้าพบท่านอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน ถกในรายละเอียดเรื่องนี้อีกหน ต่างมีความเห็นตรงกัน

ถึงเวลาต้อง “ขึ้นทะเบียนกำกับดูแลผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านและคอนโดฯ” เสียที

แต่เพื่อให้บุคคลที่นั่งในตำแหน่งผู้จัดการมีคุณภาพเต็มร้อย ทั้งกรมที่ดินและสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยต้องพึ่งพาสถาบันการ ศึกษาที่มีชื่อเสียงเป็นผู้กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนควบคู่กันไปด้วย

บทสรุปสุดท้ายออกใบประกอบวิชาชีพ (License) ให้ผู้จัดการบ้านและคอนโดมิเนียม โดยมี 3 องค์กรหลักรับผิดชอบ

กรมที่ดิน ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลอาคารชุดทั่วประเทศไทย มีหน้าที่ “ขึ้นทะเบียนผู้จัดการ” ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการฝึกสอนพร้อมออกใบประกาศนียบัตรให้ผู้ผ่านการอบรม

สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ควบคุมจรรยาบรรณมิให้ออกนอกลู่นอกแถว

นอกจาก 3 องค์กรข้างต้นแล้ว การเคหะแห่งชาติเจ้าของโครงการบ้านและอาคารชุดเอื้ออาทร ขอถือโอกาสเข้ามาร่วมแจมผลิตบุคลากรบริหารชุมชนเพื่อยกระดับให้เป็นมืออาชีพ ทัดเทียมกับต่างประเทศอีกหน่วยงาน

พูดถึงเมืองอื่นๆ ทั่วโลก อย่างเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และเกาะฮ่องกงใกล้ๆ เรา ก่อนจะเข้าสู่วิชาชีพบริหารโครงการหลังการขายได้จะต้องผ่านการเรียนในระดับ ปริญญาตรีทุกราย

สยามเมืองยิ้มของเราอีกหน่อยก็ต้องพัฒนาให้เหมือนๆ กับเขา

นอกจากการเรียนการสอนในด้านวิชาการ แล้ว ผู้อบรมวิชาชีพบริหารการจัดการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม ทุกท่านยังต้องเข้าคอร์ส “เวิร์ก ช็อป” อีกอย่างน้อยๆ 3-4 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้แน่นเอี๊ยดจริงๆ

เถอะ...แม้จะผ่านการศึกษาอบรมจนจบและได้รับใบรับรองจากมหาวิทยาลัย แต่การก้าวสู่ตำแหน่ง “ผู้จัดการ” บริหารโครงการหลังขายจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ครบถ้วนด้วย

อายุอานามจะต้องไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์

จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และ/หรือผ่านประสบการณ์เป็นผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้าน-อาคารชุดมาไม่น้อยกว่า 1 ปี

ผ่านการอบรมหลักสูตรบริหารหมู่บ้านและอาคารชุดจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นสมาชิกสามัญสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านและอาคารชุด ณ กรมที่ดิน

ส่วนลักษณะต้องห้ามที่ไม่สามารถ “ขึ้นทะเบียน” เป็นผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านและคอนโดฯ ได้มีอยู่ 4-5 ประการ

หนึ่ง “เป็นบุคคลล้มละลาย”

สอง “เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐและเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่”

สาม “เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษโดยประมาทหรือลหุโทษ”

สี่ “เคยถูกถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านหรือ นิติบุคคลอาคารชุด เหตุเพราะทุจริตหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี”

ห้า “ถูกถอดถอนออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และ/หรือถูกถอดถอนชื่อออกจากทะเบียนของกรมที่ดิน”

ที่ว่าๆ มาข้างต้นคือกฎกติกาและเงื่อนไขการเป็นผู้บริหารทรัพย์สินยุคใหม่...!!

view