สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชอร์ตคัท การเงินลับสมองซีเอฟโอ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการเงิน คนมักโทษนักการเงินจอมโลภแต่ปัญหาใหญ่กว่า คือ CFO ขาดความรู้ด้านการเงินอย่างถ่องแท้

ใน อดีตหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ในบ้านไทยเปรียบเสมือนยาหม้อ ขนานเดียวรักษาได้ทุกโรค แต่ปัจจุบันมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย การพึ่งพาวัคซีนรักษาโรคเฉพาะทาง ส่งผลให้เกิดหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ๆ ออกมามากมาย

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินขึ้น คนมักเล็งความผิดไปที่ นักการเงินจอมโลภ ที่นำเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงินมาใช้ผิดที่ผิดทาง สร้างความเสียหายให้ทั้งองค์กร ประเทศ และในระดับโลก

ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นจาก 2 ประเด็นหลัก

หนึ่ง การขาดคุณธรรม และจริยธรรม ของผู้ปฏิบัติงาน

สอง ผู้บริหารที่ดูแลรับผิดชอบด้านการเงินของบริษัท หรือ Chief Finance Official (CFO) ขาดความรู้ด้านการเงินอย่างถ่องแท้ หรือ ไม่สามารถนำองค์ความรู้ด้านการเงินไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

"นักบริหารกลุ่มนี้มีบางส่วนที่ยังขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในศาสตร์การ เงิน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและเอกชน เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพทางด้านนี้" ผศ.ดร.อนุกัลยณ์ จีระลักษณกุล  ผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรม คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Business School) หรือ นิด้า  มองสภาพปัญหาด้านบุคลากรด้านการเงินในปัจจุบัน

หลักสูตรการเรียนการสอนด้านการเงินที่ดี ผศ.ดร.อนุกัลยณ์ เห็นว่า ควรชี้ให้บุคลากรเหล่านี้มองเห็นภาพรวมธุรกิจ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง สามารถนำเครื่องมือด้านการเงินนำไปใช้วิเคราะห์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้

องค์ความรู้ที่นักการเงินจะขาดไม่ได้ คือ การเงินและการบัญชี  จากนั้นส่วนที่ต้องเติมเต็มเข้าไปจะเป็นทางด้านการประเมินและการบริหารต้น ทุน และกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง

นอกจากเนื้อหาในตำรา ภาคปฏิบัติก็มีความสำคัญสำหรับคนที่จะก้าวสู่ตำแหน่งซีเอฟโอ ในองค์กร

ความรู้ทางด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหาภาค กลยุทธ์ด้านบริหารจัดการ กฎหมายด้านการเงิน ตลาดทุน การบริหารเงิน การวางแผนภาษีนิติบุคคล การเงินระหว่างประเทศ การบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน

การปรับโครงสร้างธุรกิจและการเงิน การพัฒนาภาวะผู้นำ ที่สำคัญคือ การเข้าถึงสาธารณชน และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม

"บุคลากรเก่งๆ ด้านการเงิน หาได้ยากในไทย หากหน่วยงานใดต้องการบุคลากรด้านการเงินที่มี skill สูง ส่วนใหญ่ใช้วิธีอิมพอร์ตจากต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่วนตัวมองว่าคนไทยน่าจะเป็นนักบริหารการเงินที่ดีได้ แต่อาจมีจุดอ่อนตรงที่ยังขาดประสบการณ์ ขาดความรู้เรื่องการใช้เครื่องมือทางการเงิน หรือมีมุมมองด้านเศรษฐกิจมหภาคไม่มากพอ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตำแหน่งทางการเงินเหล่านี้มีเงินเดือนสูง แต่ถูกต่างชาติแย่งไป"

ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนี้ ผศ.ดร.อนุกัลยณ์ บอก ซีเอฟโอยิ่งต้องวางแผนด้านการเงินอย่างระมัดระวัง ทั้งยังต้องมีความรู้รอบด้าน เรื่องการบริหารจัดการต้นทุน และการบริหารความเสี่ยง นิด้าจึงได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ จัดอบรมหลักสูตรโครงการสร้างซีเอฟโอมืออาชีพขึ้น

เป้าหมายก็เพื่อร่วมกันผลักดันให้ซีเอฟโอเป็นวิชาชีพที่มีหน่วยงานรับรอง เหมือนกับตำแหน่งกรรมการบริษัท ที่มีหน่วยงาน Institute of Directors (IOD) ให้การรับรอง

ชมรม ซีเอฟโอ ไทยแลนด์ ที่นิด้าจัดตั้งขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่จะพัฒนาซีเอฟโอ จากห้องเรียนสู่ภาคปฏิบัติที่มากขึ้น ภายใต้เครือข่ายสมาชิกซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะซีเอฟโอ จำนวน 120 คน อาทิ ปตท. ซี.พี. บางจาก เซ็นทรัลพัฒนา หมุนเวียนมาสอน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชั้นเรียนเพื่อให้ "ว่าที่ ซีเอฟโอ" ในอนาคตได้รับประสบการณ์จริงจากองค์กรยักษ์ใหญ่

สมยศ เจริญผล ซีเอฟโอ วัย 38 ปี ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เซรามิค อาร์ อัส จำกัด ผู้ผลิตเซรามิค หนึ่งในผู้เรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) สาขาการเงิน บอกว่า..

"ผมมีความรู้พื้นฐานด้านการเงินอยู่บ้างแล้ว รู้ตามทฤษฎี แต่คิดว่าไม่เพียงพอกับสถานการณ์ของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เพราะอยากรู้ว่ากลุ่มผู้บริหารในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศไทย มีรูปแบบการบริหารจัดการการเงินอย่างไร เพราะในโลกธุรกิจ ต้องยอมรับว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก ดังนั้นผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ หรือซีเอฟโอ มืออาชีพ ต้องมีความรู้และความรับผิดชอบด้านการเงินที่ดี เพื่อให้สามารถวางแผนด้านการเงินและจัดการกับวิกฤติการเงินได้"

ประสบการณ์จริงจากองค์กรยักษ์ เป็นอีกแนวทางการเรียนรู้แบบ  ‘ชอร์ตคัท’ องค์ความรู้นอกตำราให้ (ว่าที่) ซีเอฟโอ ใฝ่รู้ได้ลับสมองกัน

view