สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Anna & Charlie's Cafe เพื่อนเก่าที่กลับมาเจอกันใหม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : วลัญช์ สุภากร


สิบสองปีก่อนในซอยศาลาแดง มีร้านอาหารขึ้นชื่อของชาวกรุงร้านหนึ่งชื่อ 'แอนนา คาเฟ่' แต่สองปีมานี้อันตรธานไปเนื่องจากปัญหาการเช่าที่

 และธุรกิจบางประการ บัดนี้คุณ วิชิต ชาญอนุเดช ผู้ให้กำเนิดและทำให้ร้าน 'แอนนา คาเฟ่' โด่งดังได้รวบรวมหุ้นส่วนใหม่ที่รักชอบพอกันและเปิดร้านอาหารขึ้นใหม่อีกครั้งชื่อ Anna & Charlie's Cafe (แอนนา แอนด์ ชาลี'ส คาเฟ่) ตามชื่อหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ชื่อแอนนาและตัวเขาเองที่มีนิคเนมว่า 'ชาลี'

 คุณวิชิต ชาญอนุเดช มีวีรกรรมการใช้ชีวิตที่ผาดโผนและคุ้มค่า เขาเดินทางไปผจญชีวิตตามลำพังที่ซานฟรานซิสโกตั้งแต่อายุ 17 ปี สัมผัสความยากลำบากแบบไม่มีเงินติดกระเป๋า ไม่มีที่อยู่ต้องนอนริมถนน เคยแม้กระทั่งขอเงินผู้คนเพื่อซื้ออาหาร เมื่อเข้าตาจนจริงๆ เขามีโอกาสฝากชีวิตทั้งที่นอนและที่กินไว้ที่โบสถ์เซนต์แอนโทนี (St.Anthony) ครั้งนั้นเองทำให้เขาเข้าใจความเมตตาแบบไม่มีเงื่อนไข

 "บาทหลวงไม่ถามว่าคุณเป็นใครมาจากไหน เขาถามแค่ว่าหิวข้าวไหม ถ้าหิวข้าว ยืนเข้าแถว ไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ เลย" คุณวิชิตเล่าถึงการใช้ชีวิตในช่วงแรกๆ ที่เดินทางไปถึงสหรัฐฯ

 หนึ่งปีต่อมาหลังจากเขาพบเพื่อนและเริ่มต้นไปโรงเรียน เขาใช้เวลาหลังเลิกเรียนทำงานในภัตตาคารตั้งแต่พนักงานล้างจาน พนักงานเดินรถ ผู้ช่วยคนทำครัว เป็นเวลา 5 ปี ในที่สุดเขาก็สามารถเปิดร้านอาหารขนาด 16 ที่นั่งของตัวเองได้สำเร็จชื่อ Siamese House ประสบความสำเร็จเปิดสาขาได้สามแห่งและเปิดร้านอาหารทะเลเพิ่มอีกหนึ่งร้าน มีลูกค้าที่เป็นดาราและคนดังของซานฟรานซิสโกอุดหนุนเป็นประจำ

 เมื่อชีวิตประสบความสำเร็จ คุณวิชิตย้อนนึกกลับไปถึงวันเริ่มต้นและตัดสินใจทำประโยชน์คืนสู่ชุมชนด้วย การอุทิศเงินรายได้จากการจำหน่ายอาหารของร้านทุกสาขาที่เขามี ทุกวันที่ 6 เดือนพฤษภาคมของทุกปี ให้กับโบสถ์เซนต์แอนโทนี เมื่อถึงวันดังกล่าวลูกค้าจะแน่นร้านและบริจาคเงินมากกว่าค่าอาหารจริงเพื่อ ร่วมทำบุญ กิจกรรมการกุศลของเขาเป็นที่ร่ำลือจนนายกเทศมนตรี ซานฟรานซิสโก เสนอชื่อเขาให้เป็นหนึ่งในผู้ได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติประจำปี ผู้เป็นประธานของงานวันนั้นคืออดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี สหรัฐฯ ด้วยความไม่ถนัดออกเสียงภาษาไทย จาก 'ชาญอนุเดช' อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช ออกเสียงได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ในที่สุดจึงเรียกสั้นๆ เพียง 'ชาลี' และกลายเป็นนิคเนมประจำตัวเขาไปในที่สุด

 คุณชาลีกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2540 และตัดสินใจเปิดร้านอาหาร 'แอนนา คาเฟ่' ที่ซอยศาลาแดง ด้วยบุคลิกสนุกสนานเป็นกันเอง จริงใจกับลูกค้า จากสภาพร้านที่เริ่มต้น 10 โต๊ะ กลางวันมีลูกค้า กลางคืนเงียบเหงา สามารถขยายได้ถึง 150 โต๊ะ กลายเป็นร้านอาหารยอดนิยมของคนเมืองหลวงก่อนจะปิดตำนานลงในที่สุด

 รสชาติอาหารที่ แอนนา แอนด์ ชาลี'ส คาเฟ่ ยังคงตำรับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง รสชาติเด็ดอย่างไรก็ยังเด็ดอย่างนั้น เหมือนได้เจอเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย เช่น ปลาหมึกผัดไข่เค็ม ที่เน้นไข่แดงกับปลาหมึกสดตัวโต รสชาติเข้มข้น กินกับข้าวสวยร้อนๆ แทบไม่อยากวางช้อน จานนี้หมดก่อนใครเพื่อน, ปลาตาเดียวทอดกระเทียม ใช้ปลาขนาดตัวละประมาณ 8 ขีด แล่เนื้อทอดเสร็จสรรพ กินกับซอสมะขามแบบไทยๆ รสชาติเข้ากัน, แกงเขียวหวานไก่ โรตี เคี่ยวแกงเขียวหวานจนเกือบข้น แนมด้วยแป้งโรตีทอดที่ไม่อมน้ำมันเลย

 น่าจะถูกใจนักชิมมากขึ้นเพราะคุณชาลีเพิ่มรายการอาหารให้เลือกมากขึ้น กว่าแต่ก่อน แบ่งเป็นหมวดหมู่ให้เลือกสะดวกขึ้น เช่น แอพพิไทเซอร์ อาหารจานหลัก อาหารนานาชาติที่มีทั้งสปาเกตตีและเนื้อนำเข้าคุณภาพพรีเมียม โดยเฉพาะของหวานขึ้นชื่อดั้งเดิมก็ยังอยู่ครบครันคือ ทอฟฟี่บานอฟฟี่ ที่ไม่หวานเกินไปแต่เข้มข้นได้รสชาติกล้วยหอมหวานมันกำลังดี

 ร้านใหม่แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงหัวมุม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ตัดกับถนนรัชดาภิเษก เปิดบริการทุกวัน 11.00-22.00 น. โทร. 0-2678- 0092 คุณชาลียังคงรอให้การต้อนรับอยู่เหมือนเดิม ด้วยรอยยิ้มที่ขาประจำคุ้นเคย อาหารที่นี่จานค่อนข้างใหญ่ อยากชิมหลายๆ อย่างก็ควรรวบรวมพรรคพวกไปหลายคนหน่อย อย่าแปลกใจหากนั่งรับประทานอาหารแล้วเห็นพนักงานเสิร์ฟพากันถือขนมเค้กชิ้น เล็กๆ ปักเทียน ห้อมล้อมลูกค้าโต๊ะนั้นโต๊ะนี้พร้อมกับร้องเพลงอวยพรวันเกิด นี่คือธรรมเนียมดั้งเดิมของความเป็นแอนนา คาเฟ่ ที่คุณชาลีต้องการมอบความประทับใจให้ลูกค้า

 ไม่แน่ว่าวันนั้นอาจจะเป็นโต๊ะคุณก็ได้...ทั้งๆ ที่ไม่มีใครครบรอบวันเกิดในวันนั้น

view