สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟัง 3 บิ๊กรถยนต์ญี่ปุ่น มองตลาดเมืองไทยและอีโคคาร์/คอลัมน์หลังรอยล้อ

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ทีมข่าวรถยนต์:


เป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะจริงๆ ที่ 3 บรรดาผู้บริหารเบอร์ 1 ของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ต่างเปิดคิวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสถานการณ์และทิศทางตลาดรถยนต์ของประเทศ ไทย ตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไล่เรียงไปตั้งแต่ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) และฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)

ทำให้โพสต์ทูเดย์นำบทสัมภาษณ์ประธานบริษัทรถยนต์ทั้ง 3 มาเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบถึงแนวคิด และแผนของแต่ละบริษัทว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด

 

ทานาดะ
เริ่มจาก เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในต้นเดือนที่ผ่านมา มองว่าตลาดรถยนต์ครึ่งปีหลังนี้จะเริ่มฟื้นตัว โดยคิดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยโตโยต้าเองไม่มีแผนงานอะไรมาก นอกเหนือไปจากการรักษาตำแหน่งผู้นำในทุกตลาดให้ได้เหมือนปีที่ผ่านมา

“เรามองว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในวันนี้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่สถานการณ์การเมืองดีขึ้น มีความคลี่คลายมากขึ้น ขณะที่ 2-3 ปีที่ผ่านมาการเมืองไม่นิ่ง ทำให้ยอดขายรถยนต์ตลาดรวมไม่เติบโตเท่าที่ควร และมองว่าครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก”

โดยเขาประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในครึ่งปีหลังว่า โดยปกติแล้วยอดจำหน่ายรถยนต์ในครึ่งปีหลังจะดีกว่าปีแรกประมาณ 5% และในปีนี้ถือเป็นสถานการณ์พิเศษ ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 จะมีปัจจัยบวกในเรื่องของการใช้จ่ายภาครัฐที่น่าจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปีงบประมาณที่จะเริ่มในเดือนต.ค. ก็น่าจะเริ่มออกมากระตุ้นตลาดได้ ทำให้ตลาดรถยนต์น่าจะเติบโตอีกครั้ง

โตโยต้าเองก็พร้อมที่จะเดินหน้าการผลักดันสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคัมรี่ ไฮบริด ที่เพิ่งเปิดตัวไป จะกระตุ้นตลาดรถยนต์นั่งได้เป็นอย่างดี ขณะที่ตลาดรถปิกอัพที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ก็มีแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ทั้งนี้ นายใหญ่โตโยต้าประเมินว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในตลาดรวมปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4.8 แสนคัน หดตัวลง 22% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 2.02 แสนคัน หดตัว 10.9% รถเพื่อการพาณิชย์ 2.78 แสนคัน หดตัวลง 28.4% เป็นส่วนของรถกระบะขนาด 1 ตัน 2.41 แสนคัน หดตัวลง 27.8%

ในส่วนของโครงการรถยนต์อีโคคาร์ ทานาดะบอกว่าโตโยต้าจะเดินหน้าตาม แผนงานที่กำหนดไว้ และคาดว่าจะเปิดตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ก่อนจะถึงวันนั้นโตโยต้าจะ เดินหน้าเจรจากับบีโอไอ ในเรื่องของยอด การผลิตที่กำหนดไว้ 1 แสนคันในปีที่ 5 ของการผลิต ว่าจะขอลดจำนวนที่ต้องผลิตลง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดที่เกิดขึ้น

“อีโคคาร์จะต้องหันหน้าคุยกับทางบีโอไอว่าจะสามารถแก้ไข ยืดหยุ่นได้หรือไม่ เพื่อส่วนรวมของประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องคุยกันถึงตัวเลขที่เหมาะสมก่อนที่จะเสนอกับ ทางบีโอไอ เพราะเรามองว่าน่าจะยืดหยุ่นได้ และคาดว่าน่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้”

ต่อมาเป็นเบอร์ 2 ในตลาดรถยนต์ คือ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ที่แม้ว่า อาซิชิ ฟูจิโมโตะ จะเพิ่งมารับตำแหน่งประธานบริษัท แต่ก็มีความชัดเจนในทิศทางการบริหารงานหลายเรื่อง ที่แน่ๆ คือการ ปรับเป้าจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าเพิ่มขึ้นอีก 4,000 คัน หรือเป็น 8.4 หมื่นคัน โดยเชื่อว่าหลังจากนี้ตลาดรถยนต์เมืองไทยจะก้าวไปสู่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก มากขึ้น โดยฮอนด้าเองมีแผนจะเปิดตัวรถยนต์ฮอนด้า ฟรีด รถยนต์ขนาดเล็ก 7 ที่นั่ง ในช่วงปลายปีนี้ เช่นเดียวกัน

 

ฟูจิโมโตะ
ทั้งนี้ ฟูจิโมโตะเชื่อว่าตลาดรถยนต์ประเทศไทยจะก้าวเดินไปเหมือนในต่างประเทศ คือลูกค้าจะมุ่งไปหารถยนต์ที่ประหยัดพลังงานมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งนั่นหมายความว่าในอนาคตสัดส่วนยอดจำหน่ายระหว่างรถ กระบะและรถยนต์นั่งจะปรับเปลี่ยนไปด้วย โดยรถกระบะจะมียอดจำหน่ายที่ลดลง โดยแนวโน้มนี้จะเห็นได้ชัดตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเทคโนโลยีเครื่องยนต์ไฮบริดนั้น ทางฮอนด้ากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดของไทยอยู่ว่าจะให้การยอมรับใน เทคโนโลยีเครื่องยนต์ไฮบริดมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญจะรอดูกระแสการตอบรับของโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด ที่เปิดตัวในสิ้นเดือนนี้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางการทำตลาดรถยนต์ไฮบริดของฮอนด้า

“ในขณะนี้เรายังไม่มีแผนเปิดตัวรถยนต์ฮอนด้าเครื่องยนต์ ไฮบริด เพราะเราเชื่อว่าตลาดเมืองไทยยังต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เทคโนโลยีนี้อยู่ ส่วนการที่โตโยต้าเปิดตัวคัมรี่ ไฮบริด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้เราศึกษา เพราะในประเทศญี่ปุ่นต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าเทคโนโลยีนี้จะได้รับการตอบรับจากตลาด ในไทยเราก็อยากศึกษาให้ชัดเจนก่อน”

ฟูจิโมโตะ บอกอีกว่า ในปีหน้าฮอนด้าต้องการเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ และจะต้องขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของผลการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้ารถยนต์นั่ง ที่ เจ.ดี.พาวเวอร์ เพิ่งประกาศไปว่า ฮอนด้าได้คะแนนเป็นอันดับ 2 รองจากโตโยต้า

ด้านความคืบหน้าโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ นั้นยังเดินหน้าตามแผนงานเดิมทุกประการ และหากมีการเจรจากับหน่วยงานรัฐในเรื่องปรับลดจำนวนการผลิตให้ต่ำกว่า 1 แสนคันในปีที่ 5 ได้ ทางฮอนด้าก็พร้อมที่จะเข้าไปเจรจา เนื่องจากขณะนี้ตลาดส่งออกมีปัญหาอย่างมาก และน่าจะส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกรถยนต์อีโคคาร์ในโครงการนี้อย่างแน่นอน หากภาครัฐให้การลดหย่อนในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่อนุโลมก็ไม่มีปัญหาอะไร ทางฮอนด้าก็ยังเดินหน้าในโครงการนี้ต่อไป

นายใหญ่รายสุดท้ายที่ออกมาคุยกับสื่อมวลชนในช่วงเวลาเดียวกัน โนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) พกพาดีกรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบการณ์การทำงานในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง และภาษาไทยที่พูดได้ดีไม่แพ้เจ้าของภาษา ข้ามห้วยมารับเผือกร้อนในขณะนี้

มาพร้อมนโยบายหลักของมิตซูบิชิ ที่ เน้นการออกสินค้าและการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายว่าในปีนี้จะต้องมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2.37 หมื่นคันหรือคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 4% จากยอดจำหน่าย 1.92 หมื่นคันหรือส่วนแบ่งการตลาด 3.6% ในปีที่ผ่านมา

 

มูราฮาชิ
แผนงานหลักจะอยู่ที่การ เปิดตัวมิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอ็กซ์ ในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำยอดขายไปถึงสิ้นปีงบประมาณ (มี.ค. 2552) ได้ 3,000-4,000 คัน จากรุ่นเดิมที่มียอดจำหน่ายปีละ 1,500 คัน รวมไปถึงการขยายโชว์รูมอีก 10 แห่งเพื่อรองรับการให้บริการลูกค้า จากที่มีอยู่ 127 แห่งในปัจจุบัน

ในส่วนของการส่งออกในปีนี้ มีเป้าหมายที่ 1.16 แสนคัน ไม่รวมการส่งออกแบบซีเคดี ลดลงจากตัวเลข 1.65 แสนคันในปีที่ผ่านมา ตามสถานการณ์การหดตัวของตลาดรถยนต์ทั่วโลก แต่ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับตัวเลขเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของตลาดสำคัญๆ อย่างตะวันออกกลางและอาเซียน

มูราฮาชิ บอกว่า รัฐบาลควรจะสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการลดภาษีรถยนต์นั่งลงมา เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น และทำให้ผู้ผลิตแต่ละรายมีความ เชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันราคาจำหน่ายรถยนต์นั่งในประเทศไทยถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปิกอัพ

“ในต่างประเทศราคารถปิกอัพจะสูงกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป ซึ่งในประเทศไทยเองต้องยอมรับว่าการเติบโตของรถปิกอัพส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก เรื่องของอัตราภาษี หากรัฐบาลพิจารณาลดภาษีรถยนต์ลงมา ก็จะทำให้ตลาดเกิดความต้องการมากขึ้นได้”

อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้จะยื่นเพื่อขอลดจำนวนการผลิตอีโคคาร์นั้น มูราฮาชิ บอกว่า ถ้ามีการขอจริง มิตซูบิชิก็คงต้องยื่นด้วย แต่ในความเห็นจริงๆ แล้ว มองว่าตัวเลข 1 แสนคันก็เป็นตัวเลขที่เหมาะสมแก่การลงทุน แม้ในขณะนี้จะยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถผลิตได้ถึงตามที่รัฐบาลกำหนดหรือไม่

และทั้งหมดนี้ก็คือคำให้การของผู้ที่ก้าวเข้ามากุมบังเหียนบริษัท รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งแม้จะต่างภารกิจแต่ร่วมเป้าหมายเดียวกัน

นั่นก็คือการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ให้ได้นั่นเอง!!!

view