สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เบื้องหลังค่าโง่โทลล์เวย์1,500ล้าน เปิดอก ณัฐจักร ปัทมสิงห์ฯ ทำไมถึงแพ้ !!

จาก ประชาชาติธุรกิจ


"ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา" หน.ทีมอัยการเปิดเบื้องหลังสู้คดีดอนเมืองโทลล์เวย์หลังถูก"วอเตอร์บาวน์ "ผู้รับเหมาจากเยอรมนีฟ้องจนต้องจ่ายค่าเสียหายกว่า1,500 ล้าน ระบุชัดข้อเท็จจริงที่ผู้นำในอดีตของเราไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้สู้คดีได้ยาก โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการโฮปเวลล์มาแข่งขัน หรือการสั่งให้โทลล์เวย์ลดค่าผ่านทาง

     ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ให้กระทรวงคมนาคมร้องต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ตัดสินให้กรมทางหลวงจ่ายค่าเสียหายจำนวน 29 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ให้แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานโครงการโทลล์เวย์ หลังรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผิดสัญญานั้น
     ล่าสุด รัฐบาลได้ได้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจที่มีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและตัวแทนจากอัยการสูงขึ้นมาเพื่อสู้คดีนี้ในชั้นศาล
      "ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา"  รองอธิบดีอัยการฝ่ายปรึกษา สำนักงานอัยการสูงสุด  เป็นหนึ่งในอัยการที่เข้าไปติดตามคดีวอเตอร์บาวน์  และเคยเสนอให้รัฐบาลเจรจาประนีประนอม ลดค่าเสียหายที่ฟ้องร้องจาก 1,500 ล้าน เหลือแค่ 1,200 ล้าน แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่กล้าตัดสินใจ  จนที่สุด กรมทางหลวงก็เป็นฝ่ายแพ้ต้องจ่ายเต็ม 1,500 ล้าน
      ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เผยเบื้องหลัง ความพ่ายแพ้ ในคดีวอเตอร์บาวน์ เป็นครั้งแรก
      จากการที่ผมได้เข้าไปดูกรณีวอเตอร์บาวน์  สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติ  กังวลอย่างมากที่สุดคือ ผู้บริหารสัญญาระดับสูงสุด มีความนึกคิดและดำเนินการ เป็นสากลหรือไม่ หลังจาก ผมได้เข้าไปติดตามคดีวอเตอร์บาวน์  ผมมีข้อสังเกตหลายประการ
      ประเด็นแรก คือ  แน่นอนว่า สัญญาของเราอาจจะมีจุดบกพร่องบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ถ้าหากดำเนินการตามแบบของสนธิสัญญา  ในสถานการณ์อย่างนั้นผมคิดว่า กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ดำเนินการดีที่สุดแล้วที่จะทำให้เกิดความมั่นใจ แล้วทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน
     แต่มีบางจุดที่เราไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาในสัญญาฉบับนี้ จะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่อนุมัติ  จากหน่วยงานที่เห็นชอบก่อน ซึ่งบังเอิญบ้านเรายังไม่มีการตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรงนี้ ที่ผ่านมาเราใช้มติคณะรัฐมนตรี  เป็นด้านหลัก
     เราไม่มีกระบวนการอนุมัติ จึงเกิดปัญหาขึ้นมา  ซึ่งประเด็นนี้เราจะต้องมาแก้ไขปัญหากันในอนาคต
     ประเด็นทที่สอง ในส่วนของเนื้อหา ที่ปรากฏอยู่ในสัญญา เมื่อมองดูสัญญาทั้งหมดแล้ว สัญญาก็พอไปได้ แต่ประเด็นคือว่า ทำไมเรื่องนี้ คู่สัญญาคือฝ่ายวอเตอร์บาวน์ ไม่ได้อยู่ในฐานะคู่สัมปทานของรัฐโดยตรง แต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มารับสัมปทานจากรัฐเท่านั้น
    แต่บริษัทดังกล่าวกลับอ้างสิทธิตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครอง การลงทุนต่างตอบแทน ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พ.ศ.2545
     จุดนี้เป็นประเด็นที่คลุมเครืออย่างมาก   ประเด็นนี้ อาจจะต้องมีการตีความ อย่างชัดเจนอีกครั้ง
     ประเด็นต่อมา หลังจากผิดสัญญากันแล้วทางฝ่ายของเราเองได้เคารพ  กฏหมายการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามหลักกฏหมายลงทุนมีขั้นตอนชัดเจนเพียงไร
      ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ที่ผมได้ร่วม พิจารณาคดีได้พูดอยู่ 2 ประเด็น
     ประเด็น แรก บอกว่า สัญญาโทลล์เวย์ได้ระบุชัดในสัญญาว่า ห้ามมีการสร้างโครงการมาแข่งขัน   แต่แล้วรัฐมนตรีท่านหนึ่งก็เสนอโครงการโฮปเวล์   ทั้งที่มีการห้ามการแข่งขัน ประเด็นนี้ เราตอบเขาไม่ได้ 
    เพราะ ผู้มีอำนาจในการบริหารสัญญาสูงสุดของประเทศของเรา ไม่รักษาสัญญาเสียเอง เราจะตอบอย่างไรได้ นี่คือจุดหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหา
    นอกจาก นี้ยังมีอีกหลายประเด็น  ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำผิดสัญญา ขอให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย  ประเด็นนี้ เราก็ตอบเขาไม่ได้
      สิ่งเหล่านี้เป็นจุดที่เรามองข้าม ทั้งที่ประเด็นเหล่านี้คือประเด็นทางกฏหมาย เสร็จแล้วเราก็มาบอกว่าระบบอนุญาโตตุลาการไม่ดี จะรื้อใหม่ทั้งหมด
      แต่ผมคิดว่า ปัญหาของเราคือการบริหารสัญญา   เราเคารพหลักเกณฑ์สากลมากน้อยแค่ไหน
     ในช่วงที่ผมทำงาน กับ ไมเคิล (ทนายความฝ่ายไทย)  ตอนแรก ผมเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนายไมเคิลมาก เพราะผมพยายามที่จะต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ไมเคิลพูดกับผมคำหนึ่งว่า คุณรู้หรือไม่ว่า พยานหลักฐานพยานบุคคลที่เราเตรียมมาทั้งหมด ให้การดีมาก
   ครั้งนั้น ผมไล่พยานบุคคลตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีโภคิน  พลกุล ที่ให้การในหลักสัญญาทางปกครอง ซึ่งฝรั่งก็โต้เราไม่ได้ แต่ไมเคิลก็เป็นห่วงเรื่องเดียว ประเด็นในเรื่อง Fact ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามาสัญญา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
   Fact หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตโดยเฉพาะผู้นำเราไม่ปฏิบัติตามสัญญาประเด็นนี้แก้ได้ยากมาก
    เพราะเป็นประเด็นที่ปรากฏในเอกชนชัดเจน   ครั้งหนึ่ง ผมใช้ความบ้าส่วนตัวของผมเข้าไปเสนอต่อที่ประชุมครม.  ทั้งๆ ที่นายผมก็ไม่ได้สั่งการอะไร ผมเข้าไปบอกว่าเรื่องนี้ เวลานี้ในสายตาของผม เราน่าจะมีการเจรจาต่อรองก่อนการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ เพราะว่า ฝ่ายบริหารระดับสูงของเราไม่ปฏิบัติตามสัญญา  เป็นส่วนที่เราผิดพลาด
  หากเราจะจ่ายค่าเสียหาย ไมเคิลเคยบอกผมว่า ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งสูงมาก แต่ถ้าเราเจรจาต่อรองให้ยุติด้วยดี อาจเหลือแค่ 1,200 ล้าน  แต่ปัญหาคือ คณะรัฐมนตรี ก็ไม่กล้าตัดสินใจ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะทุกครั้งในกระบวนการเจรจาต่อรอง ประนีประนอมไม่มี Benchmark มาตรฐานอัตราที่ต่อรองที่แน่นอนว่า เราจะใช้อัตราใดที่เหมาะสม
   แต่รูปคดีต่างๆ เราสู้เขาได้หมด ยกเว้นข้อเท็จจริงยกเว้น FACT มันแก้ไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นในอดีตไปแล้ว และค่อนข้างชัดเจน
   นี่คือ ปากคำของ "ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา" อัยการที่สู้ยิบตากับ วอเตอร์บาวน์
   แม้วันนี้ จะยังไม่มี ข่าวดี ก็ตาม...!!

กฤษฎีกาแนะคมนาคมสู้คดีดอนเมืองโทลล์เวย์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กฤษฎีกาแนะคมนาคมตั้งคณะทำงานสู้คดี "ดอนเมืองโทลล์เวย์" เชื่อมีลุ้นชนะคดี เหตุบริษัทวอเตอร์บาวน์ ไม่ใช่คู่สัญญาสัมปทานของรัฐ

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะ อนุญาโตตุลาการที่ให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จ่ายค่าเสียหาย จำนวน 29 ล้านยูโร หรือประมาณ  1,500 ล้านบาท แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)  ผู้รับสัมปทาน โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ จากกรณีที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำผิดสัญญาขอให้ลดค่าผ่านทาง เหลือ 20 บาทตลอดสาย โดยกล่าวเพียงว่า เรื่องนี้เป็นการพิจารณาลับของคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถพูดในรายละเอียดได้

ด้านนางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมควรตั้งคณะทำงาน เพื่อเสนอยืนยันมติคณะรัฐมนตรีขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งการตั้งคณะทำงานดังกล่าวน่าจะขอให้อัยการสูงสุดเข้ามาช่วยดูแลเรื่องข้อ กฎหมายด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะรัฐมนตรีเห็นช่องทางว่า กรมทางหลวงจะชนะคดีได้ใช่หรือไม่ นางพรทิพย์ กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าน่าจะมีโอกาสชนะ จึงได้ดำเนินการเช่นนี้ โดยประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ คือกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่ใช่คู่สัญญาสัมปทานของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรณีนี้เป็นกรณีแรกของไทยที่เกี่ยวข้องกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและมีข้อโต้แย้ง.

view