สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีที่ดิน ในมุม AREA...มีแต่ดี กับ ดี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

sopon@thaiappraisal.org


แม้จะยังไม่คลอดแต่เรื่อง "ภาษีที่ดิน" ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากประชาชน วันนี้มีมุมมองจากโบรกเกอร์ AREA ระบุ มีแต่ ดี กับ ดี

เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2552 ผมได้รับเชิญจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังไปพูดเรื่องภาษีเรื่องภาษีทรัพย์สินหรือภาษีที่ดินและสิ่ง ปลูกสร้าง  พอพูดเสร็จมีคำถามมาว่า เห็นพูดแต่ข้อดี ไม่พูดถึงข้อเสียบ้างเลย  และยังถามอีกว่าไม่เห็นใจคนจนบ้างหรือไร รัฐจึงมาซ้ำเติมด้วยการเก็บภาษีนี้

ผมคิดว่ายังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจภาษีทรัพย์สิน  และไม่ว่าภาษีอะไร หลายคนก็อาจส่ายหัวไว้ก่อน  เพราะไม่มีใครอยากจะเสีย  เพราะคิดว่าจะเป็นการสูญเปล่า  และยังอาจถูกนำไปใช้อย่างทุจริตอีกต่างหาก  แต่ผมขอยืนยันว่าภาษีทรัพย์สินนี้ ดีจริง ๆ มีแต่ได้กับได้ และที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย  ไม่เป็นโทษแก่ใครเลย  ผมจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายทั้งเจ้าที่ดินรายใหญ่ หรือคน (อยาก) จนที่ ‘มีทองเท่าหนวดกุ้ง แต่นอนสะดุ้งจนเรือนไหว’  มาทำความใจเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สินเสียใหม่  แล้วท่านจะรักภาษีทรัพย์สิน!
 
ภาษีทรัพย์สินคืออะไร

ภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศเก็บจากทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และ อสังหาริมทรัพย์  แต่ของไทยในที่นี้จะหมายถึงเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ จึงเรียกว่า ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ เช่นถ้าเป็นโรงงาน ก็นำเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคำนวณภาษีโดยไม่รวมเครื่องจักรหรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ  เพดานอัตราภาษีมี 3 อัตราคือ ไม่เกิน 0.5% สำหรับอัตราทั่วไป  ไม่เกิน 0.1% สำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่ประกอบการเชิงพาณิชย์  และไม่เกิน 0.05% สำหรับที่เกษตรกรรม  ส่วนในกรณีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าให้เก็บภาษีตามอัตราทั่วไป  แต่หากยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อีกให้เสียภาษีเพิ่มอีก 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% ต่อปีของฐานภาษี

ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ พระราชวัง ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติ  นอกจากนี้ยังจะมีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อยที่ทรัพย์สินมีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนด

หากร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการประกาศใช้ ยังจะมีบทเฉพาะกาลให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เตรียมตัวอีก 2 ปี และเมื่อถึงปีแรกของการเก็บภาษี ยังให้เก็บเพียง 50% ของภาษีที่คำนวณได้  ในปีที่สองให้เก็บ 75% และให้เริ่มเก็บ 100% ในปีที่สาม  การผ่อนผันตามบทเฉพาะกาลนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้ค่อย ๆ ปรับตัวกับภาษีนี้

และเมื่อมีภาษีนี้แล้ว ภาษีอีก 2 รายการซึ่งมีลักษณะซ้ำซ้อนและไม่เป็นปัจจุบัน จะได้รับการยกเลิก  คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจัดเก็บ ณ อัตรา 12.5% ของค่าเช่า  และภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งจัดเก็บจากฐานราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 (ไม่เคยปรับปรุงให้ท้นสมัยอีกเลยนับแต่นั้นมา)  และเป็นภาษีที่มีฐานการเก็บแคบและไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร
 
ภาษีนี้มีภาระต่ำมาก

ที่ว่าเช่นนี้ก็เพราะอัตราภาษีต่ำมาก  ยกตัวอย่างเช่น คน ๆ หนึ่งมีบ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือปีละเพียง 1,000 บาท หรือเดือนละ 83 บาท ซึ่งยังถูกกว่าค่าเก็บขยะและดูแลชุมชนเสียอีก  ในประเทศยุโรปและอเมริกา เขาจัดเก็บภาษีกันในอัตรา 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สิน  ทำให้มีเงินไปพัฒนาท้องถิ่นได้มากมาย  เขาจึงมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่าไทย

อันที่จริง ไม่มีความจำเป็นต้องยกเว้นภาษีให้กับใครเลย  เพราะการยกเว้น จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจ  และอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้  ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจมีห้องชุดราคาเพียง 300,000 บาท ต้องเสียภาษี 0.1% หรือปีละ 300 บาท  เงินเพียงเท่านี้จะเสียเพื่อตัวเองและประเทศชาติไม่ได้เลยหรือ  บางท่านอาจบอกว่า 300 บาทของผู้มีรายได้น้อยก็ถือว่ามากแล้ว  กรณีนั้นอาจจะใช่ หากเป็นคนจนจริง ก็คงไม่มีสมบัติอะไร

ผู้ที่มีทรัพย์สิน 300,000 บาท แม้จะน้อยเมื่อเทียบกับคนมีบ้านหลังใหญ่กว่า  แต่ก็ไม่ถือเป็นผู้มีรายได้น้อย  และที่สำคัญชาวบ้านอาจทำบุญ ทำสังฆทาน (อาจเพราะเมื่อคืนฝันไม่ดี) เป็นเงินครั้งละมากกว่า 300 เสียอีก  บางคนยังอาจเสียไปกับอบายมุขต่าง ๆ มากกว่านี้นัก  ดังนั้นการเสียภาษีเพื่อประโยชน์สุขของตนเองโดยตรง จึงไม่พึงเป็นปัญหา  และควรรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันมีสำนึกเสียภาษี

ยิ่งถ้าเป็นชาวนาที่มีที่ดินขนาดเล็กเพียง 15 ไร่ อยู่ในที่ทุรกันดารที่มีราคาไร่ละ 10,000 บาท  ชาวนาดังกล่าวก็มีทรัพย์สินเป็นเงิน 150,000 บาท  หากเขาต้องเสียภาษี ณ อัตรา 0.05% เขาจะเสียเป็นเงินเพียง 75 บาทต่อปีเท่านั้น  ภาระภาษีเช่นนี้จึงไม่น่าจะมีปัญหากับชาวนาเลย  และอย่างน้อยชาวนาท่านนี้ก็ยังมีทรัพย์สิน ไม่ใช่ชาวนาเช่านาแต่อย่างใด  เงิน 75 บาทที่เสียไปเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ควรสร้างความภูมิใจแก่ชาวนาท่านนั้นต่างหาก
 
มีแต่ได้ ไม่มีใครเสียหาย

ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง โดยอาจนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษาให้ทันความต้องการของท้องถิ่น  และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา  มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน  เช่น คน ๆ หนึ่งมีบ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือปีละเพียง 1,000 บาท  แต่เมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา ราคาบ้านก็สามารถเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 3% ต่อปี หรือปีละ 30,000 บาท  ดังนั้นการเสียภาษีเพียง 1,000 บาท  แต่ทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากมายนั้น จึงนับเป็นความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่มีทรัพย์สินมูลค่า 100 ล้านบาท  หากต้องเสียภาษี 0.5% ก็เป็นเงิน 500,000 บาท  แต่หากท้องถิ่นนั้นเจริญขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินสูงขึ้น 1.5 ล้านบาท (สมมติให้เพิ่มในอัตราต่ำที่ 1.5%) เท่ากับว่าเจ้าที่ดินรายใหญ่นั้น ได้กำไรถึง 1 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งเก็บภาษีได้มากเท่าไหร่  ท้องถิ่นนั้น ๆ ยิ่งเจริญ  ท้องถิ่นนำไปปรับปรุงถนน ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น  พอท้องถิ่นนั้นเจริญ มูลค่าทรัพย์สินก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เจ้าของที่ดินก็ได้ประโยชน์  เข้าทำนอง “ยิ่งให้ ยิ่งได้”  และโดยนัยนี้ เราจึงไม่ควรมีข้อยกเว้นการเก็บภาษีนี้แก่ใครทั้งสิ้น
 
ตัดวงจรอุบาทว์การโกงกิน

ภาษีทรัพย์สินนั้นเป็นเงินภาษีที่จัดเก็บและใช้ภายในท้องถิ่น  ไม่ผ่านรัฐบาลส่วนกลาง  โอกาสที่จะรั่วไหลเพราะนักการเมืองใหญ่หรือเพราะข้าราชการประจำกังฉินระดับ ชาติ จึงไม่มี   และโดยที่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บได้ จะถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเท่านั้น  ประชาชนจึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษี  ต่างจากในปัจจุบันที่รัฐบาลส่วนกลางส่งงบประมาณมาให้ส่วนท้องถิ่นใช้  คนในท้องถิ่นจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงินดังกล่าว  ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง’  กลายเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบไป

เมื่อประชาชนในท้องถิ่นเห็นศักยภาพของตนเองในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อตนเอง จากภาษีของตน  คนดี ๆ ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาในท้องถิ่นก็จะอาสามาทำงานเพื่อส่วนรวมในองค์การ ปกครองส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองเขี้ยวโง้ง  โอกาสการผูกขาดตัดตอนของนักการเมืองท้องถิ่นเสือนอนกินหรือข้าราชการประจำ ที่ขี้ฉ้อ จึงมีน้อยลง

ในประเทศตะวันตก ไม่เฉพาะนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง  ผู้บริหารฝ่ายการศึกษา การสาธารณูปโภค และอื่น ๆ  ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ก็จะมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน   มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเท่านั้น  ที่เป็นข้าราชการประจำ  การเลือกตั้งผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทำให้การบริหารท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของคนในท้องถิ่น โดยมีประชาชนในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง  นี่จึงเป็นผลดีของภาษีทรัพย์สินที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงในท้องถิ่น
 
ช่วยจรรโลงระบอบประชาธิปไตยที่แท้

นี่เองภาษีทรัพย์สินจึงช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ ‘กินได้’ หรือเรียกว่าเป็นรูปธรรม  ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ใคร ๆ ก็เห็นดีด้วย  แต่การรดน้ำพรวนดินระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การยกมือหรือการเลือกตั้ง เท่านั้น  ที่ผ่านมา ประชาชนถูกบิดเบือนให้แปลกแยกกับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม มีส่วนได้ มีส่วนเสียกับระบอบนี้  และใช่ว่าทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้เสียภาษี เพียงแต่ไม่ได้เสียภาษีทางตรงจากทรัพย์สินที่ครอบครอง  จึงทำให้ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของเท่าที่ควร  และกลายเป็นว่าท้องถิ่นเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลส่วนกลางที่ส่งเงินมาให้เสียอีก

และด้วยเหตุนี้ผมจึงเสนอว่าไม่ควรมีข้อยกเว้นการเก็บภาษีทรัพย์สินนี้  ทุกคนควรภูมิใจที่ได้เสียภาษีนี้เพื่อประโยชน์สุขของตนและส่วนรวม  ผู้ครอบครองทรัพย์สินไม่ว่าใหญ่น้อย ก็ล้วนแต่ไม่ใช่คนยากจนข้นแค้นที่ต้องรอการสงเคราะห์  การมีข้อยกเว้นก็เท่ากับเรายอมศิโรราบกับผู้มีฐานะระดับสูง  ระบบอุปถัมภ์ก็จะหยั่งรากลึก  ระบอบประชาธิปไตยก็จะอ่อนแอ  และถ้าเจ้าของทรัพย์รายเล็กยังต้องเสียภาษี  เจ้าที่ดินรายใหญ่ก็ย่อมต้องเสียภาษีเพื่อตนเองเช่นกัน
 
ภาษี ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อท้องถิ่นนี้ ไม่มีใครมาปล้นชิงไปได้  ทุกคนได้ประโยชน์  จึงขอให้ทุกท่านที่อ่านบทความนี้  ช่วยกันทำให้ภาษีทรัพย์สินเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย   ประชาชนทั่วไป โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าภาษีนี้จะเป็นภาระแก่ตน  เจ้าที่ดินรายใหญ่ ก็โปรดอย่าได้ขัดขวาง  เพราะทุกฝ่ายล้วนได้รับประโยชน์สุขจากภาษีทรัพย์สินนี้

view