สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดผลสอบทุจริตธอส. 499ล้าน

จาก โพสต์ทูเดย์


หมายเหตุ - ส่วนหนึ่งของผลสอบของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเกิดการทุจริตในธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 499.27ล้านบาท ที่มี น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ สายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย เป็นประธาน 

ความเสียหายที่พบเป็นการทุจริตจากการปลอมสลิปเพื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าเป็นจำนวนเงิน 36.5 ล้านบาท และนายสมเกียรติ ปัญญาวรคุณเดช อดีตพนักงานของธนาคาร สาขาเซนต์หลุยส์ ได้ทุจริตโดยสร้างรายการดอกเบี้ยจ่ายของธนาคาร 499.27 ล้านบาท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยจ่าย สำนักงานพระราม 9 จำนวน 454.03 ล้านบาท และดอกเบี้ยจ่าย สาขาเซนต์หลุยส์ 3 จำนวน 45.24 ล้านบาท (ปัจจุบันธนาคารได้ติดตามเงินสด และสินทรัพย์ต่างๆ ได้จำนวน 253.90 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินสด 201 ล้านบาท บ้านพร้อมที่ดิน 28.9 ล้านบาท ห้องชุด 2.2 ล้านบาท รถยนต์ 4 คัน 11.8 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นๆ 10 ล้านบาท ซึ่งโดยรวมสุทธิแล้ว ขณะนี้ธนาคารได้รับความเสียหายประมาณ 250 ล้านบาท)

ฝ่ายตรวจสอบได้ขยายผลการตรวจ สอบได้ปรากฏหลักฐานว่า นายสมเกียรติได้ทุจริต โดยปลอมเอกสารสลิปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า บัญชีนาง เนื้อทิพย์ หล่อสกุลสินธ์ และบัญชีนาง นิดน้อย สุจริตกุล เพิ่มเติม ในช่วงระหว่าง 23 ส.ค. 2548 ถึงวันที่ 27 ธ.ค. 2550 รวม 10 บัญชี จำนวนเงินรวม 73.25 ล้านบาท ซึ่งกรณีดังกล่าวฝ่ายบริหารได้มีคำสั่งให้ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว ซึ่งไม่ได้มารวมกับการสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้

ข้อเท็จจริงที่พบเกี่ยวกับผู้ทุจริตและการทุจริต

ระยะเวลาที่ทำการทุจริตระหว่างวันที่ 8 พ.ย. 2550-วันที่ 20 เม.ย. 2552

วิธีการทุจริต มี 2 แบบคือ

1.การปลอมสลิปถอนเงินจากบัญชีลูกค้า โดยการปลอมสลิปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำลูกค้า นางเล่งบ่าย รงคพรรณ จำนวน 2 บัญชี รวม 6 รายการ จำนวนเงินรวม 36.50 ล้านบาท

2.การสร้างรายการค่าใช้จ่ายประเภทบัญชีดอกเบี้ยจ่ายเงินฝากประจำของ สำนักพระราม 9 และสาขาเซนต์หลุยส์ 3 จำนวน 419 รายการ จำนวนเงินรวม 499.27 ล้านบาท ทั้งที่นายสมเกียรติ ไม่มีเงินฝากประจำที่สาขาทั้งสองแห่งแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการทำทุจริตในช่วงหลัง Go live โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2551 ถึงวันที่ 20 เม.ย. 2552

สาเหตุที่นายสมเกียรติสามารถกระทำการทุจริตได้สำเร็จ

สาเหตุที่ 1 นายสมเกียรติทำการ ปลอมเอกสารสลิปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า พนักงาน และผู้บริหาร ในสาขาละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษารหัสส่วนตัว (Password) ให้เป็นความลับ ทำให้นายสมเกียรตินำไปใช้ Override รายการกระทำการทุจริตได้ ตลอดจนไม่ตรวจสอบรายงานการอนุมัติเกินอำนาจในวันรุ่งขึ้น จึงไม่พบความผิดปกติในการใช้ Password อนุมัติรายการจนเป็นเหตุสามารถทุจริตได้เป็นเวลานาน

สาเหตุที่ 2 นายสมเกียรติทำการทุจริตโดยเข้าไปสร้างรายการดอกเบี้ยจ่ายในระบบบัญชี GL ของธนาคารได้จำนวน 499.27 ล้านบาท โดยมีปัจจัยมาจากระบบงานโดยเฉพาะหน้าจอ (MENU) ที่ใช้ในการปรับปรุงดอกเบี้ยจ่าย และการทำรายการข้ามสาขาให้พนักงานทุกระดับ (Work Class) สามารถทำรายการได้ในบัญชี GL ของธนาคาร โดยไม่มีการอนุมัติผ่าน รายการ (Verify) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้นายสมเกียรติ สามารถทุจริตได้ต่อเนื่อง

อีกทั้งสำนักงานพระราม 9 และสาขาเซนต์หลุยส์ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีดอกเบี้ยจ่ายไม่ได้ตรวจสอบงบทดลองประจำวัน

ความเห็นของคณะกรรมการสอบ ข้อเท็จจริง

1.ผู้กระทำการทุจริต

นายสมเกียรติเป็นผู้กระทำการทุจริต ไม่มีผู้ร่วมกระทำความผิด ซึ่งธนาคารได้ดำเนินคดีอาญา โดยการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน และได้ส่งเรื่องให้กับป.ป.ช.แล้ว เพื่อสอบสวนดำเนินคดีแล้ว ดำเนินคดีกับนายสมเกียรติต่อไป และธนาคารได้ลงโทษทางวินัย ไล่ออกจากการเป็นพนักงานแล้ว

2.ผู้ไม่ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นสาเหตุให้เกิดการทุจริต และธนาคารได้รับความเสียหาย

2.1 กลุ่มพนักงานที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการกรณีปลอมสลิปถอนเงินจากบัญชีลูกค้า

ได้แก่ น.ส.สุมนา แสงสุข พนักงานธุรกิจสาขาอาวุโส สาขาเซนต์หลุยส์ 3 และน.ส.มัญชุสา ประสาทพร หัวหน้าบริหารจัดการสาขา สาขาเซนต์หลุยส์ 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการเก็บรักษารหัสผ่านให้เป็นความลับ เป็นเหตุให้นายสมเกียรติสามารถใช้รหัสผ่านไปทำรายการทุจริตได้เป็นผลสำเร็จ

2.2 กลุ่มพนักงานที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างรายการค่าใช้จ่ายประเภทบัญชีดอกเบี้ยจ่ายเงินฝากประจำ

2.2.1 ผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลงบทดลองประจำวัน (ซึ่งมีหัวบัญชีดอกเบี้ยจ่าย) ได้แก่

สาขาเซนต์หลุยส์ 3 (1) ผู้จัดการสาขา มีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารงานในสาขา ไม่ได้ตรวจงบทดลองโดยมีดอกเบี้ยจ่ายของสาขาเซนต์หลุยส์ 3 ถูกทุจริตจำนวน 45.23 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนดอกเบี้ย ที่ทุจริตต่อดอกเบี้ยจ่ายรวมของสาขา 4.72-46.03% หรือคิดเฉลี่ยที่ 23.93%

(2) หัวหน้าบริหารจัดการสาขา ไม่ ทำหน้าที่ตรวจสอบงบทดลอง        

สำนักพระราม 9 (1) ผู้อำนวยการสำนักพระราม 9 ไม่ได้บริหารจัดการสาขา ควบคุมกำกับ ดูแลงบการเงินของตน กรณีการเกิดความผิดปกติในงบการเงินเกี่ยวกับดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 454.03 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนดอกเบี้ยที่ทุจริตต่อดอกเบี้ยจ่ายของสำนักงานพระราม 9 รวมอยู่ระหว่าง 6.72-32.93% หรือคิดเฉลี่ย 16.35% และ (2) หัวหน้าการเงิน ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติของธนาคาร

2.1.1 ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการ CBS ได้แก่ คณะกรรมการกำกับโครงการการปรับเปลี่ยนระบบงานหลัก คณะทำงานระบบ Core Banking

คณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่าการติดตั้งระบบงานหลัก (Core Banking System) ซึ่งเป็นระบบที่สำคัญของธนาคาร ขาดการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบงาน รวมทั้ง CBS Core team ในฐานะทีมผู้ปฏิบัติไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะไม่ Set Up สิทธิพนักงานในการ ใช้ Menu Hxfer เพื่อป้องกันการทำรายการในบัญชี GL ที่ไม่สุจริต รวมทั้งตัดสิน Go live โดยไม่พร้อม

คณะกรรมการสอบสวนมีความ เห็นว่า

(1) กรรมการผู้จัดการ ไม่ทำหน้าที่บริหารจัดการ กำกับดูแล คณะกรรมการ CBS Steering ที่ตนเองเป็นประธานทำให้หน้าที่สำคัญตามที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมายในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการ ในฐานะ ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารให้ครบถ้วน

(2) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ ได้ทำหน้าที่ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ CBS Steering ผู้กำกับดูแลคณะทำงานระบบ CBS Steering และในฐานะผู้ที่รับผิดชอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารทั้งหมดตามที่ได้ รับมอบหมาย

(3) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและปฏิบัติการสารสนเทศ ไม่ได้ทำหน้าฐานะผู้จัดการโครงการ CBS Core team และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ CBS Steering

สรุป คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่ามีมูลทางวินัย สำหรับพนักงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งธนาคารจะต้องพิจารณาดำเนินการตามข้อบังคับต่อไป ส่วนกรณีกรรมการผู้จัดการ ไม่มีสถานะเป็นพนักงานธนาคารการไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว คณะกรรมการธนาคารจะต้องพิจารณาดำเนินการตามสัญญาจ้างต่อไป

view