สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ป.ป.ช.เสนอ3ทางออก ล้อมคอกทุจริตสถาบันการเงิน

ป.ป.ช. เผย "ระบบงาน-ตัวบุคคล" ภายในองค์กร ต้นเหตุปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถาบันการเงิน แนะ 3 แนวทาง "ล้อมคอก" ปัญหาทุจริตสถาบันการเงิน

ข่าวเด่น ประเด็นร้อนกรณีการทุจริต ยักยอกทรัพย์ของสถาบันการเงินใน ช่วง 2-3เดือนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ คงไม่มีใครเกินหน้าเกินตา "ธนาคารอาคารสงเคราะห์" ("ธอส.)  ที่พบว่า พนักงานสาขาของธนาคาร ได้กระทำการยักยอกเงินของธนาคาร มาเป็นเวลายาวนานถึง 14 เดือน หรือ 1 ปี 2 เดือน จึงถูกตรวจสอบพบความผิด

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายพุ่งเกือบ 500 ล้านบาท !!

เฉกเช่น "ภาครัฐวิสาหกิจ" มักได้พบการกระทำความผิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นกันบ่อยครั้ง  โดยเฉพาะการทำความผิดของผู้บริหาร หรือ คณะกรรมการขององค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ๆ ของรัฐ  

แม้ว่าในปัจจุบัน กฎหมายและมาตรการกำกับดูแล จะมีความครอบคลุมและเข้มงวดมากขึ้น โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้นำ "บรรษัทภิบาล" และจริยธรรมาใช้ในองค์กร แต่การกำกับดูแลและการตรวจสอบ ยังไม่เกิดความจริงจัง และเข้มงวดรัดกุม เพียงพอ

จึงทำให้แนวโน้มปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ยังคง "เกิดขึ้น" อย่างต่อเนื่องในสังคมไทย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต  

๐ "ระบบงาน-ตัวบุคคล" ต้นตอปัญหา ทุจริตคอร์รัปชั่น

จากการวิเคราะห์ของคณะกรรมการป.ป.ช. ถึงปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีมูลเหตุสำคัญจากทั้งปัญหาในส่วนของ "ระบบงาน" และ "ตัวบุคคล" ภายในองค์กร เป็นประเด็นหลัก

โดย ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ว่า ปัญหาการทุจริตในสถาบันการเงิน เป็นปัญหาทั้งในส่วนของระบบงานและตัวบุคคล แม้สถาบันการเงินส่วน ใหญ่จะนำหลักการเรื่องบรรษัทภิบาลและประมวลจริยธรรมมาใช้  แต่การกำกับดูแลและตรวจสอบก็ยังไม่จริงจัง และเข้มงวด รัดกุมเพียงพอ จึงทำให้ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"เราพบว่า เรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป.ป.ช. กว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 50%  เป็นเรื่องพนักงานกระทำความผิดมาเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายโดยรวมในจำนวนที่สูง ก่อนที่จะมีการตรวจสอบพบความผิด"

จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันของคณะกรรมการป.ป.ช. พบว่า กฎหมายและมาตรการในการกำกับดูแลมีความครอบคลุมและเข้มงวดค่อนข้างมาก แต่ปรากฎว่า ปัญหาการทุจริตยังคงมีอัตรา "เพิ่มขึ้น" มาก โดยเฉพาะกรณีของสถาบันการเงิน

เช่น ถ้าเปรียบเทียบสถิติปี 2550 กับปี 2551 จะเห็นว่า  เรื่องเรียนของประชาชนต่อการกระทำผิดและทุจริตโดยรวมทั้งรัฐวิสาหกิจ( 55 แห่ง) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ( 9 แห่ง) ผ่านคณะกรรมการป.ป.ช. ในปี 2550 มีจำนวน 121 เรื่อง แยกเป็นเกี่ยวกับสถาบันการเงิน 24 เรื่อง หรือ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของเรื่องเรียนทั้งหมด

แต่พอในปี 2551 เรื่องร้องเรียนโดยรวมได้เพิ่มขึ้นเป็น 187 เรื่อง  แยกเป็นเรื่องเกียวกับสถาบันการเงิน 56 เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 30% ทีเดียว

"เรายังไม่ได้รวบรวมตัวเลขร้องเรียนครึ่งแรกของปีนี้  แต่เริ่มเห็นว่ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะกรณีสถาบันการเงิน ซึ่งมองว่าเป็นแนวโน้มที่ไม่ค่อยดี เพราะแสดงว่าระบบการตรวจสอบของสถาบันการเงินไม่ค่อยทำหน้าที่เท่าที่ควร  อีกทั้งแทนที่จะตรวจสอบเข้มข้นมากขึ้น แต่กลับไปใช้การตรวจสอบจากเอกสารแทน ไม่ได้ตรวจสอบจริงๆ เท่าไร

ตรงนี้เป็นจุดที่โต้แย้งกันอยู่ เพราะถ้ายังหย่อนยานด้านการตรวจสอบ จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น เช่น กรณีปัญหาของบางสถาบันการเงินขณะนี้"

สำหรับการร้องเรียนผ่านทางคณะกรรมการป.ป.ช.  ยังพบว่า  ผู้ถูกร้องเรียนกระทำการทุจริตในสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มคน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.คณะกรรมการของสถาบันการเงิน 2.ผู้บริหาร และ 3. ระดับฝ่ายปฏิบัติการ

ศ.ดร.ภักดี บอกว่า ประมาณ 50% จะเป็นระดับฝ่ายปฏิบัติการ หรือ พนักงานระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันการเงิน ที่มักจะกระทำผิดหรือทุจริตซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน  ขณะที่อีก 2 กลุ่มคือผู้บริหารระดับสูง จะถูกร้องเรียนในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ 25%

การกระทำผิดของพนักงานระดับล่าง มักจะเป็นเรื่องการยักยอกเงิน หรือทรัพย์สินของสถบันการเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแล เป็นการกระทำครั้งละไม่มาก แต่มีโอกาสทำซ้ำได้หลายครั้ง ทำให้มูลค่าความเสียหายรวมสูง

"การทุจริตของพนักงานระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน ชี้ให้เห็นว่า เป็นจุดอ่อน และ "ช่องโหว่" ของระบบตรวจสอบ ถ้าหากมีระบบตรวจสอบที่ดีและมีการดูแลตามขั้นตอน ก็คงไม่เกิดการทำซ้ำๆ ได้ อย่างกรณีพนักงานธ.อ.ส. ที่ทำการทุจริตติดต่อมาเป็นปี ได้เงินเกือบ 500 ล้าน ตรงนี้ธนาคารปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่มีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบ"

ส่วนผู้ถูกร้องเรียนที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหาร หรือ คณะกรรมการ(บอร์ด) ส่วนใหญ่พบว่า เป็นการทุจรติในองค์กรรัฐวิสาหกิจ มักจะเป็นกรณีการทุจริตในเชิงนโยบาย การทุจริตขนาดใหญ่เกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือการประกวดราคาขนาดใหญ่ การอนุมัติสินเชื่อ การเรียกหลักทรัพย์ เป็นต้น

"กรณีอย่างการทุจริต คอร์รัปชั่นขององค์กรรัฐวิสาหกิจ มักจะมีจุดบอดอยู่ที่ตัวผู้บริหารองค์กร  แม้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะมีเกิดขึ้นไม่กี่ราย แต่ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดความเสียหายที่มีมูลค่าสูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่การทุจริตของผู้บริหารระดับสูง หรือ บอร์ด จะถูกแทรกแซงหรือได้รับอิทธิพลจากนักการเมือง เช่น การอนุมัติให้สินเชื่อที่ไม่ถูกต้อง โครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก อย่างกรณีธนาคารกรุงไทย สนามบินสุวรรณภูมิ  เป็นต้น"

๐ "ปลูกจิตสำนึก-ตรวจสอบ" ปิดประตู ทุจริต-คอร์รัปชั่น

กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า  ปัจจุบันต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น กลายเป็นวิถีของนักการเมืองไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นความกังวล เพราะมีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นกันชัดเจน จนทำให้คนทั่วไปมีความเชื่ออย่างนั้น

"อย่างผลสำรวจของโพลล์ พบว่า คนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และอยู่ในวิถีทำธุรกิจปกติที่ต้องมีการคอร์รัปชั่น หรือกรณีการเลือกตั้ง ซื้อเสียงในรูปแบบต่างๆ ก็มีวิธีการอย่างแนบเนียน จับไม่ได้ และทำกันเป็นเรื่องปกติ เพราะมีวิธีการที่แยบยล แต่รู้ว่าเป็นการซื้อเสียง จึงทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่มีเงินซื้อเสียง ก็ยากที่ได้คะแนนเสียง

เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทุจิรต คอร์รัปชั่นที่ต่อเนื่องเข้ามาสู่ระบบของการใช้อำนาจรัฐ จากการแสวงหาอำนาจทางการเมือง จนเข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร และใช้ช่องทางให้แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพรรคพวก"

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตในสถาบันการเงิน หรือ องค์กรรัฐวิสาหกิจ นั้น ศ.ดร.ภักดี เสนอแนะว่า  จำเป็นต้องเริ่มต้นที่การสร้างจิตสำนึกในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม และจริตธรรมของบุคลากรทุกระดับ เป็นอันดับแรก

สอง..เพิ่มมาตรการตรวจสอบทรัพย์สินของบุคลากร นอกจากระดับกรรมการสถาบันการเงินและผุ้บริหารแล้ว ต้องรวมถึงระดับปฏิบัติการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่าย ถ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินโดยตรงด้วย

สาม..พัฒนาระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

"สิ่งสำคัญคือ ต้องปลูกจิตสำนึก โดยเฉพาะเป็นผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำให้ทุจิรตได้ง่าย เพราะคนที่รับผิดชอบการเงินมีความเสี่ยงสูง  ฉะนั้น จึงต้องมีการพยายามสร้างจิตสำนึกในเรื่องคุณธรราม จิรยธรรมขึ้นมา สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไม่ให้ทุจริต  และตัวระบบเอง ต้องรัดกุม ต้องกำกับดูแลใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น

ขณะที่ในส่วนการป้องกันการทุจริตของรัฐวิสาหกิจ เราจะเน้นให้รัฐวิสาหกิจ ยึดแนวทางธรรมาภิบาล และประมวลจริยธรรม เป็นแนวทางปฏิบัติระบบงานและเจ้าหน้าที่  หากเจ้าหน้าที่ใช้หลักการไปปฏิบัติ ก็จะป้องกันความเสี่ยงการทุจริตได้ในระดับที่น่าพอใจ"

ศ.ดร.ภักดี บอกว่า การตรวจสอบอย่างเดียว เป็นการกระทำที่ปลายเหตุ เพราะคนที่คิดจะทุจริต เขาจ้องที่จะทำตลอดเวลา เมื่อมีโอกาสเขาก็จะทำจนได้  แต่หากคนมีจิตสำนึกที่ดี  รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ก็จะไม่เกิดการทุจริตขึ้น  จึงจำเป็นต้องทำทั้งการตรวจสอบและการปลูกจิตสำนักให้กับคนในองค์กร ทำควบคู่กันไป

โดยไม่เน้นที่การตรวจสอบอย่างเดียว  เพราะต่อให้ตรวจสอบเข้มอย่างไร ก็ต้องพลาดเข้าสักวัน 

"วิธีที่ดีสุด คือ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทำอย่างไรจะเปลี่ยนวิธีคิดของเขาให้ได้ เริ่มจากการปลูกจิตสำนึก คือทำให้มีความเข้าใจของปัญหาการทุจิรตคอร์รัปชั่น ที่มีหลายรูปแบบ หลายมิติ  เปลี่ยนมาเป็นการยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม  พยายามสร้างสิ่งนี้ให้ได้ โดยต้องสร้างและปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กและเยาวชน"
 
๐ เจาะลึก "ทรานเซ็คชั่น" สอบบัญชีทรัพย์สิน นักการเมือง

สำหรับแนวทางการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองของคณะกรรมการป.ป.ช.นั้น ศ.ภักดี กล่าวว่า ในอนาคตการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของป.ป.ช.จะ เข้มข้น และมีการพัฒนามาตรการให้รัดกุมมากขึ้น  โดยในขั้นต่อไปจะตรวจสอบถึงระดับ "ทรานเช็คชั่น" หรือ รายการบัญชีเข้าออกทุกประเภท ของนักการเมือง

"หากมีการโฟลว์ของเงินที่ผิดปกติในกลุ่มเป้าหมายนักการเมืองที่กำหนดไว้  ในอนาคตเราจะให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ รายงานบัญชีเข้าออกให้เราทราบ จะเป็นการช่วยป้องปรามได้เป็นอย่างดี และอยู่ในสายตาของการตรวจสอบของเราอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เป็นมาตรการป้องปราม ที่น่าจะมีประสิทธิภาพในอนาคต"

ศ.ดร.ภักดี บอกว่า ในช่วงนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดที่จะพัฒนาระบบตรวจสอบของป.ป.ช. ในขั้นต่อไป  เพื่อต้องการที่จะทำให้มีผลการป้องปรามได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบัน เนื่องจากหากรอให้นักการเมืองแสดงทรัพย์สินมาในช่วงที่เข้ารับตำแหน่ง หรือ พ้นจากตำแหน่งไป 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในบางครั้งอาจจะตรวจสอบไม่พบอะไรผิดปกติ เพราะเขาอาจมีวิธีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปไว้ที่อื่น

เช่น ถ้ามีเงินเข้ามาก้อนใหญ่ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง แต่พอจะพ้นตำแหน่ง เขาก็เอาเงินย้ายออกไปอยู่ในบัญชีอื่นไว้  หรือเอามาเก็บเป็นเงินสด ก็จะตรวจสอบในบัญชีไม่พบความผิดปกติ

"แต่ต่อไปจะมีบางคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพราะเหตุสงสัย เราก็จะมอนิเตอร์ดูระดับรายการเดินบัญชีเงินฝากของเขาเป็นพิเศษ  โดยเราจะแจ้งไปตามสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเช็คว่าคนเหล่านี้มีบัญชีเงินฝากอยู่หรือไม่  ต่อไปอาจรวมถึงหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น ตราสาร หุ้น หากมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ  สถาบันการเงินก็จะรายงานมายังป.ป.ช."

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกฎหมายการติดตามตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อพัฒนาไปถึงระดับรายการเดินบัญชีเงินฝากและหลักทรัพย์นั้น ศ.ภักดี บอกว่า  ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข "ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต" ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา วาระที่ 2 คาดว่า น่าจะพิจารณาเสร็จภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค.2552  ซึ่งถ้าหากผ่านทั้งสองสภา ก็จะมีพระบรมราชโองการออกมาบังคับใช้ได้

"ถ้าหากเป็นไปตามแนวทางที่เราเสนอ และเมื่อมีกฎหมายรองรับ เราก็จะสามารถพัฒนาระบบการตรวจสอบทรัพย์สินถึงระดับการติดตามทรานเช็คชั่น ของบัญชีเงินฝากและหลักทรัพย์ต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบได้ ได้มาตรฐานเดียวกับการใช้อำนาจของป.ป.ง."

๐ แก้ไขกม.3 ฉบับ "เรียกคืน" ทรัพย์ทุจริตในตปท.ได้

นอกจากนั้น ยังอยู่ระหว่างการลงนามให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต(UNCAC) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการติดตามเรียกทรัพย์สินคืนในต่างประเทศ อีกด้วย

ศ.ดร.ภักดี กล่าวว่า หากไทยให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาฉบับนี้ จะทำให้เราสามารถขอความร่วมมือกับประเทศสมาชิกขอเรียกทรัพย์สิน ที่มีการทุจริต ยักย้ายถ่ายเทไปยังประเทศสมาชิกได้ จากแต่เดิมที่ไม่มีช่องทางไปเรียกคืน หรือ เรียกทรัพย์สินคืนได้ยากลำบากมาก รวมถึงประเทศสมาชิกสามารถติดตามเรียกทรัพย์สินคืนจากไทยได้ด้วย

"ต่อไปเรามีความร่วมมือภายใต้อนุสัญญา เราจะได้รับความร่วมมือกับประเทศสมาชิก  ปัจจุบันมีอยู่ 135 ประเทศ โดยที่ไทยได้ลงนามไว้แล้วเมื่อ 5ปีก่อน แต่ยังไม่ได้ให้สัตยบรรณ คาดว่า จะดำเนินการได้ในเร็ววันนี้"

แต่ทั้งนี้  ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขกม.ภายใน 3 ฉบับ เพื่อรองรับข้อผูกพันที่จะดำเนินการ ให้สอดคล้องกับข้อผูกพันใต้อนุสัญญา โดยกฎหมายที่แก้ไขปรับปรุง ประกอบด้วย

ฉบับที่ 1.ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับนิยามเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ขยายควบคุมเจ้าหนาที่ของรัฐในต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินการกับคนเหล่านี้ได้ด้วย  รวมถึง กฎหมายอายุความ

ฉบับที่ 2.แก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยความร่วมมือทางอาญาระหว่าางประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะทำให้ไทยกำหนดแนวทางให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการสอบสวน ร่วมกัน

"เช่น มีผู้หลบหนีจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในไทย แล้วอีกประเทศของร่วมมือขอเข้ามาไต่สวน ก็สามารถรดำเนินการได้ เพราะอยู่ภายใต้หลักการสากล

รวมถึงการส่งผู้ร้านข้ามแดน ซึ่งต่อไปถ้าโดนข้อหาทุจิรต ถ้าศาลไทยตัดสินลงโทษ เราขอให้ประเทศอื่นส่งตัวมาตัดสินลงโทษได้เลย ซึ่งตัวนักการเมือง เป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ"

ฉบับที่ 3. แก้ไขเรื่องการติดตามหนี้สินคืนได้

ศ.ดร.ภักดี บอกว่า แต่เดิมไม่มีส่วนการติดตามหนี้สินคืน ส่วนใหญ่จะยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับกระทำผิดเข้าเป็นของเราหมด ไม่สามารถคืนให้เจ้าของเดิมได้ แต่จะแก้ไขใหม่เป็น ถ้าทรัพย์สินนั้น พิสูจน์ได้ว่าเป็นการยักย้านถ่ายเทมาในไทยก็จะส่งคืนเขา หรือกรณีประเทศสมาชิกอื่น ก็จะขอความร่วมมือส่งคืนให้แก่เรา จะทำให้การดำเนินการต่อสู้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแต่ก่อนพอคนข้ามแดนไป ขอความร่วมมือเรียกทรัพย์สินคืนได้ยากมาก

"ถ้ากฎหมาย 3 ฉบับนี้ ผ่านสภา ก็สามารถให้สัตยบรรณได้ทันที  ส่วนกรณีพ.ต.ทักษิณ ชินวัตร ปกติกฎหมายอาญา มักจะไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ แต่หลักการทั่วไป ถ้าศาลยังไม่ได้พิพากษา และร่วมสัตยบรรณ เราก็อาจให้กฎหมายนี้เรียกคืนทรัพย์สินได้" ศ.ดร.ภักดี กล่าว

view