สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สงครามปฏิวัติวงการธุรกิจเกษตร

จาก ประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ แยบยลกลยุทธ์

โดย รองศาสตราจารย์. ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค Teerayout@acc.chula.ac.th



ขณะ นี้ โลกเข้าสู่ยุควิกฤตอาหาร จึงต้องเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ของการปฏิวัติธุรกิจการเกษตร เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารของโลกให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เป็นเงาตามตัวนั่นเอง

เทคนิคที่เคยฮือฮากันในทศวรรษที่ผ่านมา ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและผลผลิตทางการเกษตรจากการตกแต่งยีน หรือที่รู้จักกันดีในนามของพืชจีเอ็มโอ นั้นไม่ได้รับการยอมรับจากหลายๆ ประเทศ เนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจดังกล่าว ตัวอย่างของพืชจีเอ็มโอ อาทิ บริษัทแห่งหนึ่งได้นำยีนของหญ้าชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีว่ามีความทนทานต่อ สารเคมีปราบศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยีนถั่วเหลืองพันธุ์ใหม่ ทำให้ถั่วเหลืองที่ผ่านการตัดต่อยีนนี้ ทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ได้ดี

เทคนิคจีเอ็มโอจึงได้รับการต่อต้านอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่มีการใส่ใจในสุขภาพของตนเองมากขึ้น อาทิ ยุโรปที่มีกระแสการต่อต้านมากที่สุด รวมถึงหลายประเทศในเอเชีย และแอฟริกา ก็แสดงจุดยืนไม่ยอมรับอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงเริ่มมีการหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของการเพาะปลูกให้ดียิ่งขึ้น แต่ต้องไม่ละทิ้งแนวทางที่เหมาะสมตามธรรมชาติด้วย

กล่าวคือ ได้มีการนำเอาเทคนิคการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมขึ้นมาผสมผสานและพัฒนาเทคโนโลยี ใหม่ๆ ขึ้นมาในการปรับปรุงธุรกิจการเกษตรแนวใหม่ ซึ่งอาจจะกล่าวว่าเป็นเทคนิคการเกษตรแบบย้อนยุค (retro agriculture) ซึ่งผสมผสานเทคนิคการเพาะปลูกดั้งเดิม กับเทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์ และเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตทันสมัย

โดยเทคนิคทางการเกษตรดั้งเดิม ที่หลายประเทศ นำกลับมาพัฒนาในขณะนี้ก็คือ การคัดเลือกพันธุ์พืชที่ดีที่สุด แข็งแรงสุด มีอัตราการให้ผลผลิตสูงสุด มาทำการขยายพันธุ์และผสมข้ามสายพันธุ์ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการวิเคราะห์และคัดเลือก แต่ไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนรหัสพันธุกรรม เพื่อเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ให้มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้นจากเดิม รวมถึงเพิ่มความทนทานต่อความผันแปรของสภาพแวดล้อม ความแห้งแล้ง แมลง ศัตรูพืช และโรคพืชต่างๆ

อาทิ บริษัท Syngenta แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้พัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองใหม่ที่ทนทานต่อแมลงศัตรูพืช โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ในการค้นหาโมเลกุลที่อยู่ในถั่วเหลืองพันธุ์ต่างๆ อย่างแม่นยำ โดยโมเลกุลเหล่านี้จะช่วยกำหนดว่าถั่วเหลืองพันธุ์ใดบ้างที่มีความทนทานต่อ ศัตรูพืช และนำมาผสมข้ามสายพันธุ์ดังเทคนิคการเพาะปลูกในอดีต ซึ่งก็ทำให้ได้ถั่วเหลืองพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติสมดังความคาดหมาย แมลงต่างๆ ไม่ทำลายครับ

กรณีของประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นเกษตรกรรม เป็นสินค้าหลัก ก็มีการพัฒนาแนวทางการเกษตรดังกล่าวอย่างรุดหน้าไปมากเช่นกัน อาทิ สถาบันการเกษตรอัมบราปา ที่บราซิล มีการเน้นวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่จากการผสมข้ามสายพันธุ์ โดยไม่มีการตัดต่อยีนแต่อย่างใด ให้เกิดความกังวลสงสัยกันเลย ซึ่งข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้นั้น มีคุณสมบัติที่ป้องกันแมลงศัตรูพืชรบกวน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และที่สำคัญก็คือ มีสารอาหารเพิ่มขึ้นหลายเท่า ทั้งวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ สังกะสี เหล็ก ฯลฯ เรียกว่า เข้ากับยุคมุ่งเน้นสุขภาพในขณะนี้ทีเดียว

ไม่เพียงแต่ข้าวเท่านั้น ครับ แต่ยังมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดที่มีวิตามินเอมากกว่าเดิมถึงสามเท่า และข้าวสาลีพันธุ์ใหม่ที่มีปริมาณแร่ธาตุเหล็กตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงมาก

ประเทศ เม็กซิโก ที่เป็นหนึ่งในประเทศกสิกรรม ก็มีศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชต่างๆ ทั้งข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ที่ปัจจุบันได้พันธุ์ใหม่มาเรียบร้อยที่ทนทานต่อศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตที่สูญเสียจากการถูกทำลายลดลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งทีเดียว

เยอรมนี ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้าร่วมการพัฒนาพันธุ์พืชที่ไม่ผ่านการตัดแต่งยีน นี้ โดยประสบความสำเร็จอย่างมากกับพันธุ์ข้าวโพดที่ต่อต้านการรุกรานจากหญ้า วัชพืชได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงข้าวสาลีที่สามารถทนสภาพความแห้งแล้งและต่อต้านเชื้อราได้เป็นอย่างดี สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างมาก

องค์กรหลายแห่งทั่วโลกที่กล่าว ไปแล้ว ก็กำลังหันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการเกษตร ที่รู้จักกันในชื่อว่า Makers-Assisted Breeding ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ช่วยให้ค้นหาพันธุ์พืชที่มีคุณสมบัติที่ต้องการได้ อย่างแม่นยำ และนำมาผสมข้ามพันธุ์ พัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาได้โดยผสมผสานกับแนวคิดทางการเกษตรดั้งเดิมได้อย่างกลมกลืน ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา รวมถึงเพิ่มโอกาสในความสำเร็จของการพัฒนาพันธุ์ใหม่อย่างมากอีกด้วย

โดย เทคนิคนี้มีความคล้ายคลึงกับเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ช่วยค้นหาดี เอ็นเอของมนุษย์ ส่งเสริมลักษณะเด่นที่แข็งแรง และค้นหาลักษณะดีเอ็นเอที่อาจจะนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อาทิ แนวโน้มการเป็นมะเร็ง ซึ่งเมื่อจำแนกได้ชัดเจน ก็จะสามารถนำดีเอ็นเอเด่นๆ นั้น ไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป ให้มีความแข็งแรงไร้โรคภัย เป็นต้น กับพันธุ์พืชก็เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุดพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยจากการบิดเบือนยีน

ประเทศไทยซึ่งถือเป็น แหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คงไม่อยู่เฉยครับ การพัฒนาผลผลิตให้ทั้งปลอดจีเอ็มโอ ออร์แกนิกส์ ผลผลิตสูง คุณภาพเหนือคู่แข่ง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมุ่งเน้น เพื่อให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความมั่งคั่งยั่งยืนสูงขึ้นในอนาคต

view