สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บ้านทรุดเพราะดินเคลื่อนไหล/คอลัมน์โฮมทิป

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ธเนศ วีระศิริ

อ.พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต thanesvee@yahoo.com:


การเคลื่อนไหลของดินจะเกิดขึ้นได้กับ พื้นที่ที่มีความต่างระดับของพื้นดินมากๆ โดยเฉพาะถ้าบริเวณนั้นเป็นดินเหนียวอ่อนจะยิ่งมีโอกาสเคลื่อนไหลได้ง่าย สภาพของพื้นดินที่มีความต่างระดับ เช่น บริเวณริมแม่น้ำ คลอง หรือบ่อน้ำ บริเวณที่ถมดินสูงๆ ต่างระดับกับบริเวณข้างเคียง หรือร่องสวนที่ถมดินเพื่อก่อสร้างบ้าน

สภาพพื้นที่ดังกล่าวนี้หากไม่ป้องกันการเคลื่อนตัวของดินให้ดีเพียงพอ อาจเกิดปัญหาอาคารทรุดตัวในภายหลัง โดยปกติแล้วดินบริเวณริมคลองหรือบ่อน้ำที่มีน้ำเต็มตลอดเวลาจะไม่พังทลาย หรือเลื่อนไหล เพราะมีแรงดันจากน้ำ ต้านอยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่น้ำในบ่อหรือคลองลดระดับต่ำลงมากๆ เสถียรภาพของลาดดินริมคลองหรือบ่อน้ำจะลดลง และมีโอกาสเกิดดินเลื่อนไหลได้มาก

การเลื่อนไหลของดินจะทำให้ฐานรากและเสาเข็มของอาคารเคลื่อนตัวไปด้วย ฐานรากไม่สามารถรับน้ำหนักบรรทุกของอาคารได้ตามเดิม อาคารจะทรุดจมลง และถ้าดินเคลื่อนไหลเป็นปริมาณมาก เสาเข็มของอาคารอาจถูกดันจนหลุดจากครอบหัวเสาเข็ม เป็นเหตุให้อาคารทรุดตัวแบบฉับพลัน

กรณีที่ดินเลื่อนไหลเช่นนี้มักจะทำให้ฐานรากส่วนที่อยู่ใกล้กับขอบ ของลาดดินเคลื่อนตัวก่อนฐานรากในตำแหน่งอื่น ทำให้อาคารทรุดเอียงไปทางด้านริมคลองหรือริมน้ำที่ดินเคลื่อนไหลไป จึงมักพบว่าอาคารที่มีปัญหาเรื่องดินเลื่อนไหลมักจะทรุดเอียงเป็นส่วนใหญ่ (แต่ไม่ได้หมายความว่าอาคารทรุดเอียงต้องเกิดจากดินเลื่อนไหลเสมอไป)

ดังนั้น หากอาคารเริ่มเอียงไปในทิศทางริมบ่อหรือคลอง ควรรีบดำเนินการแก้ไขป้องกันการเลื่อนไหลของดินเป็นการด่วน ในทางกลับกัน หากต้องการขุดดินชิดกับอาคารข้างเคียง ก็ควรหาแนวทางป้องกันดินให้ดีก่อนทำการขุด เพราะอาจเกิดปัญหาดินไหลแล้วทำให้อาคารข้างเคียงเคลื่อนตัวหรือทรุดเอียงลง ได้ แม้ว่าหลุมที่ขุดนั้นจะไม่ลึกมาก แต่ผลกระทบจากน้ำซึ่งอาจเป็นน้ำฝนหรือน้ำผิวดินที่ไหลมาจากท่อระบายน้ำจะทำ ให้ดินอ่อนตัวและพังทลายได้ง่าย

จะว่าไปแล้วปัญหาเรื่องการทรุดตัวของอาคารอันเนื่องจากการเลื่อน ไหลของดินไม่ได้เกิดขึ้นจากความบกพร่องของฐานรากโดยตรง แต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงกระทำภายนอก เช่น น้ำในบ่อหรือคลองลดลง หรือมีการขุดดินใกล้เคียงจนมีความต่างระดับกันมาก ทำให้ดินเคลื่อนไหลแล้วส่งผลกระทบกับระบบฐานรากอีกต่อหนึ่ง

การแก้ไขการทรุดตัวของอาคารที่มีปัญหาเช่นนี้ จึงใช้วิธีซ่อมเสริมฐานรากของอาคารแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ หยุดการเคลื่อนตัวของดินให้ได้ก่อน แล้วจึงเสริมฐานรากของอาคารในภายหลัง ดังนั้นก่อนทำการแก้ไขปัญหาอาคารทรุดทุกครั้ง ต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความสูงต่ำของที่ตั้งอาคารมาวิเคราะห์ร่วมด้วย เสมอ

กรณีที่ต้องการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ที่มีความต่างระดับ แนะนำให้ทำกำแพงป้องกันการเลื่อนไหลของดินให้มีความแข็งแรงเพียงพอก่อนที่จะ ติดตั้งเสาเข็มของบ้าน ขณะติดตั้งเสาเข็มของบ้านก็ควรระวังเรื่องแรงดันดินที่อาจไปดันกำแพงกันดิน จนเสียหายด้วย เสาเข็มที่ใช้รองรับตัวบ้านควรให้มีความยาวไม่น้อยกว่า 2 เท่าของค่าความต่างระดับของพื้นดิน

ตัวอย่างเช่น ต้องการสร้างบ้านริมคลองหรือบ่อน้ำที่มีระดับก้นคลองลึก 2-3 เมตร เสาเข็มที่ใช้สำหรับตัวบ้านควรยาวมากกว่า 6 เมตร เป็นต้น และเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น ควรให้ฐานรากส่วนที่อยู่ชิดขอบบ่อหรือคลอง เว้นระยะห่างจากขอบบ่อหรือคลองไม่น้อยกว่า 1 เท่าของความลึกก้นคลอง เว้นแต่ว่าจะทำกำแพงป้องกันที่เชื่อได้ว่ามีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ

view