สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาจารย์นิด้าวิพากษ์ 6 เดือน "โอบามาร์ค "ประชาธิปัตย์ขาดคลังสมอง Think Tank

จาก ประชาชาติธุรกิจ


ดร. ปกรณ์ ปรียากร คณบดีรัฐศาสตร์ แห่ง นิด้า วิพากษ์ผลงาน6เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ชี้โดดเด่นภาวะผู้นำ นโยบายด้านการศึกษา แต่ละเลยภาคเกษตรกรรม ส่วนการแก้ปัญหาศก.แค่ประคองตัว ต้องรอดูผลของเม็ดเงินที่หว่านลงไป

แน่นอนว่า 6 ปีย่อมนานกว่า 6 เดือน
ดังนั้น ระยะเวลาการสร้างผลงานที่ยาวนานกว่า 6 ปี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นที่จดจำของชาวบ้าน โดยเฉพาะรากหญ้าในชนบท ได้มากกว่า "รัฐบาลโอบามาร์ค" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 6 เดือน
แต่ 6 เดือนของ "โอบามาร์ค" ที่ต้องผ่านเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงในเดือนเมษายน รอดชีวิตจากการถูกรุมทุบรถประจำตำแหน่งกลางกระทรวงมหาดไทยอย่างหวุดหวิด ต้องผ่านเหตุการณ์ลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ คลอดนโยบายกู้เงิน 4 แสนล้านบาท มีการสร้างสถานการณ์ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือแม้แต่ การถูกโยงว่าเข้าไปพัวพันในโผโยกย้ายของตำรวจ
เป็น 6 เดือนอันหฤโหด ที่ ผศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า เป็นการสร้างสมความแข็งแกร่งด้านภาวะผู้นำของ นายอภิสิทธิ์ ให้มากขึ้น  
"คุณอภิสิทธิ์เหนือกว่าที่เราคิด" คือนิยามที่ ผศ.ดร.ปกรณ์ จำกัดความเป็นนายกรัฐมนตรีของ "โอบามาร์ค"
คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า คุยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงผลงานที่ผ่านมา 6 เดือนของรัฐบาล ในมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้   @ ในฐานะที่สอนการเมืองการปกครอง มองอย่างไรในการบริหารงาน 6 เดือนของรัฐบาล  
ในทางการเมือง ผมเห็นว่า 3 เดือนแรก รัฐบาลดูระหกระเหินเต็มที แต่เมื่อถึงช่วงเหตุการณ์สงกรานต์เลือด ทำให้เราค่อยๆ เห็นความได้เปรียบของรัฐบาล และเป็นจุดที่ทำให้ภาวะความเป็นผู้นำของคุณอภิสิทธิ์โดดเด่นมากขึ้น พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ต้องพึ่งพิงภาวะผู้นำของคุณอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก  
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ การเข้ามาในภาวะที่เศรษฐกิจโลกถล่มทลายจากกรณีแฮมเบอร์เกอร์เป็นพิษ รัฐบาลจึงทำได้แค่ประคองตัว ฉะนั้นไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลในช่วงนี้ก็เป็นความยากลำบากทั้งสิ้น การดำเนินนโยบายในระยะแรกจึงจำเป็นต้องทุ่มเงินลงไปเพื่อหยุดเลือด ซึ่งทำกันทุกประเทศ    
แต่ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ประเทศไทยอาจมีข้อจำกัดในการทุ่มงบฯลงไปน้อยกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำไป แต่ก็ไม่ได้แย่เสียทีเดียว ในทางกลับกัน เอกชนก็เอาใจช่วยรัฐบาลในการที่จะหนุนรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง แต่แน่นอนว่าการหว่านเม็ดเงินลงไปจำนวนมากในระยะต้น อาจจะถูกวิจารณ์ว่าจะได้ผลหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดก็สามารถประคองตัวอยู่ได้
ทว่าจุดที่โต้แย้งกันมาก คือเรื่องการกู้เงินและการจัดสรรงบประมาณปี 2553 ที่มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายค้านและวุฒิสภาบางส่วน แต่ด้วยวิธีการนำเสนอของท่านนายกฯ และคุณกรณ์ (จาติกวณิช) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของคุณอภิสิทธิ์มากขึ้น แต่อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง คือเงินจำนวนนี้ใส่ลงไปแล้วจะมีผลดีอย่างไร ซึ่งก็ต้องรอดูผลนับจากนี้
 
@ ในแง่การผลักดันเชิงนโยบาย รัฐบาลประสบผลสำเร็จแค่ไหน
ขอยกตัวอย่างละกัน เช่น ถ้าเทียบกับรัฐบาลทักษิณในกรณีเรื่องการศึกษา ผมคิดว่ารัฐบาลนี้เอาจริงเอาจังเรื่องการศึกษามากกว่ารัฐบาลทักษิณ 6 ปีที่เปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่น และไม่มีการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน เน้นเฉพาะการพัฒนาเชิงเทคโนโลยีทั้งหมด
รัฐบาลนี้สะท้อนภาพให้เห็นความเอาจริงเอาจังในเรื่องการพัฒนาผู้เรียน เป็นหลัก จริงอยู่การศึกษาฟรี 15 ปีอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คำว่าศึกษาฟรีต้องเข้าใจว่า ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเสียสตางค์ แต่คือการไปลดทอนภาระของผู้ปกครองด้วยการจ่ายค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาปี 2540 ซึ่งในช่วงเวลานั้น หัวขบวนสำคัญก็คือ คุณอภิสิทธิ์ แต่การศึกษาไม่ได้เหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้า เหมือนแฟชั่น แต่ต้องใช้เวลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้นก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้บุคลากรในสายการศึกษาคือ ครู ได้รับการพัฒนาสูงกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะถ้ารัฐบาลไม่มีการศึกษาเป็นพื้นฐานแล้วนับเป็นความสูญเปล่าของชาติโดย สิ้นเชิง
เพราะการใส่เม็ดเงินในภาคการศึกษาทุกคนได้หมด เพราะเป็นการใช้จ่ายรายหัวของนักเรียน ฉะนั้นถ้าเราสามารถเพิ่มเงินรายหัวขึ้นมาได้อีกสักระยะหนึ่ง การศึกษาฟรีก็จะเริ่มเป็นจริงมากขึ้น แต่อย่าให้มองเห็นว่าประชาชนไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ผมถือว่าความรับผิดชอบในหมู่ประชาชนจะมีน้อยมาก
แต่สิ่งที่ไม่โดดเด่นเลยในรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คือ การพัฒนาภาคเกษตรกรรม ทั้งๆ ที่ภาคเกษตรกรรมเป็นงานที่ควรจะเข้ามาแก้ปัญหาของชาติ ในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจวิกฤต แต่วันนี้แม้โครงสร้างพื้นฐานในภาคเกษตรจะดีอยู่แล้ว แต่การที่จะทำให้การพัฒนาด้านการผลิต ด้านการตลาด และการพัฒนาด้านการส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปที่แท้จริง รัฐบาลน่าจะให้ความสนใจอย่างจริงจังมากกว่านี้ เพราะวันนี้ยังแก้กลไกเดิมๆ คือเรื่องการแก้ราคาสินค้าเกษตรเท่านั้นเอง
ฉะนั้นจะเห็นว่า 6 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดคือความแข็งแรงในภาวะความเป็นผู้นำในตัวคุณอภิสิทธิ์ที่มีมาก ขึ้นตามลำดับ แต่ในแง่เศรษฐกิจต้องดูว่าเงินที่รัฐบาลใส่ลงไปแล้วในงวดแรกจะส่งผลกลับมา อย่างไร ตรงนี้อาจทำให้รัฐบาลอยู่ต่อไปได้อย่างน้อยอีก 6 เดือน หรืออาจมากกว่า 1 ปีก็เป็นได้ ตรงนี้ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าคุณอภิสิทธิ์เหนือกว่าที่เราคิด   @ แต่ปัญหาภายในรัฐบาลมีมากขึ้นทุกที ล่าสุดคือกรณีคดีลอบสังหาร "นายสนธิ ลิ้มทองกุล" ดูจะบานปลายเป็นเรื่องการเมือง 
มองในแง่ดีเราก็จะพบว่า ยิ่งทำให้เรามองเห็นภาวะความเป็นผู้นำของคุณอภิสิทธิ์มากขึ้น ในขณะที่คนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง หรือรัฐมนตรีสายมหาดไทย ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้แทนท่านนายกฯ กลับไม่ได้มีบทบาทอะไรเลย
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ผู้ที่มีบทบาทในทางการเมืองและสังคมอย่างคุณสนธิถูกลอบยิงในเมือง แล้วเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถทำอะไรได้เลย สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์แบบนี้ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปอย่างโจ่งแจ้ง กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงมากขึ้น
   
 @ คิดว่าคดีนี้จะจบอย่างไร
ผมว่าอะไรที่ชี้แจงได้ก็ต้องชี้แจงให้ชัด แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายต้องถอดความรู้สึกของตัวเองลง ปล่อยให้คดีเป็นไปตามกลไกของกระบวนการที่เกิดขึ้น อย่าให้เกิดความรู้สึกว่า พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (งานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม) ตกอยู่ในกับดักของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของความขัดแย้งในระบบราชการ 
     
@ อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลต้องปรับปรุงหลังจากนี้โดยเร็วที่สุด
อย่างที่บอกคือเรื่อง การเกษตร และเรื่องสำคัญมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพราะงบประมาณที่รัฐบาลทุ่มลงไปหยุดบาดแผล คนก็ให้อภัยอยู่แล้ว แต่เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วจะทำยังไงให้ร่างกายแข็งแรง ในกรณีอย่างนี้ ผมคิดว่าการใช้จ่ายเงินแบบเบี้ยหัวแตกที่เคยทำกันมาด้วยวิธีการที่ว่า ใครครองกระทรวงไหนก็ได้งบประมาณไป อาจจำเป็นต้องพูดกันให้ชัด
แต่บังเอิญขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2553 ตัวโครงสร้างก็ไม่ได้เปลี่ยนมาก แต่ถ้ามองเรื่องการใช้จ่ายก็น่าจะเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน ปฏิบัติการให้มากที่สุด แล้วอะไรที่จะตัดสินใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญได้ก็เร่งทำให้เร็ว เช่น ระบบขนส่งมวลชนระบบราง หรือเรื่องการเช่ารถเมล์ ที่อาจจะถึงจุดที่รัฐบาลน่าจะดึงกลับไปสู่ความเป็นจริง แทนที่จะใช้วิธีการโยนหินถามทางเหมือนที่พรรคภูมิใจไทยพยายามจะทำ    
นอก จากนั้นแล้ว รัฐบาลก็คงต้องใช้เวลาอีกช่วงหนึ่งในการใช้บทบาทการนำของนายกฯไปสร้างความ มั่นใจกับประเทศอื่นๆ ในการที่จะมาลงทุนหรือมารับสินค้าจากบ้านเราออกไป
ส่วนหลังจากนั้นที่มองกันว่าอาจมีการยุบสภา สำหรับผมยังมองไม่เห็นว่าการตัดสินใจยุบสภาจะทำไปเพื่ออะไร เพราะไม่ได้ช่วยทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ นอกจากนักการเมืองจะได้ประโยชน์ ดังนั้นถ้ารัฐบาลสามารถอยู่จนถึงสิ้นปีได้ก็จะยิ่งเห็นความแข็งแรงของคุณ อภิสิทธิ์มากขึ้นในด้านภาวะผู้นำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความแข็งแรงของพรรคประชาธิปัตย์ (นะ)   @ หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แข็งแรงตามไปด้วยอย่างนั้นหรือเปล่า
สิ่งที่พรรคประชา ธิปัตย์ขาดวันนี้คือ ขาดกลุ่มงานที่เรียกว่ากลุ่มสมองของการสร้างนโยบายและแนวทางปฏิบัติการทาง การเมืองที่เป็นรูปธรรม ขาดวิธีการในการระดมความคิดของคลังสมองทางการเมืองซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงผู้หวังดีต่อพรรค
นอกจากนั้นแล้ว การแถลงข่าวของประชาธิปัตย์แต่ละครั้งไม่ค่อยทันเกมในเชิงเกมการเมือง การทำงานที่ต้องใช้ชั้นเชิงทั้งในแง่ของการเมืองที่จะสามารถสื่อความอย่าง ต่อเนื่องมากกว่าการเมืองแบบตอบโต้ยังมีน้อย ซึ่งน่าเสียดาย วันนี้ถูกคุณทักษิณแย่งชิงเวทีอย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่คุณทักษิณไม่มีอะไรเลย แต่เป็นพรรคประชาธิปัตย์เองที่ขาดการนำเสนอ หรือการแย่งชิงพื้นที่ทางการเมือง
จุดนี้พรรค ปชป.อาจจำเป็นต้องมีกลุ่มคนที่เรียกว่าคลังสมองที่เข้าไปทำหน้าที่ช่วย กรรมการบริหารพรรคของการนำเสนอความคิดทางการเมืองที่สำคัญ
จะไปมองว่าการเมืองทั้งหมดจะทำได้ด้วยนักการเมืองได้เองไม่ได้ เพราะการวิเคราะห์เจาะลึกในเชิงสถานการณ์จำเป็นต้องใช้ทั้งนักวิชาการ นักปฏิบัติการ หรือตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่เป็นคู่ขนานกับพรรคมากยิ่งขึ้น
ถ้าทำได้น่าจะทำให้การเมืองของพรรคหลุดออกจากตัวบุคคล ไม่ว่าจะคุณสุเทพหรือคุณอภิสิทธิ์ไปสู่กลุ่มก้อนทางการเมืองที่มากกว่านี้   @ มองอย่างไรกับกรณี นปช.ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
การถวายฎีกาเป็นเรื่อง ที่กระทำได้ก็จริง แต่ไม่ใช่กระทำด้วยวิธีการเช่นนี้ นั่นคือการล่าชื่อบุคคลให้มาถวายฎีกา การกระทำในภาวะอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเอาเรื่องการเมืองไปเป็นแรงกดดันการใช้ พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
ใครก็ตามที่ดำเนินการเรื่องนี้ น่าจะคิดหลายชั้นมากกว่านี้ ที่สำคัญคือถ้าคุณทักษิณไม่เห็นด้วยก็ต้องออกมาประกาศให้ชัด เพราะไม่งั้นแล้ว แรงตีกลับแบบบูมเมอแรงจะแรงกว่าที่คิด เพราะคนส่วนใหญ่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเรายังมองไม่เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทำความเดือดร้อนให้กับคน กลุ่มนี้อย่างไร
ฉะนั้นถ้าไม่ยุติแล้วใช้ปัญญามากกว่านี้ ท้ายที่สุดการขับเคลื่อนฝ่าย นปช.เองจะแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วคนจะเริ่มถอนตัวออก ทั้งๆ ที่เงื่อนไขการเรียกร้องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง แต่ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้สถานการณ์ดำเนินการทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ไม่ได้เห็นด้วย แต่การดึงดันของคนไม่กี่คนจะทำให้คุณทักษิณเสียหายอย่างรุนแรง อย่างที่คุณทักษิณอาจไม่เคยคิดมาก่อน

view