สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรมควบคุมโรคสั่งเฝ้าระวังกาฬโรคปอดจากจีน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


กรมควบคุมโรคเฝ้าระวัง “กาฬโรคปอด” จากจีน สั่งดักจับหนูสุวรรณภูมิ ท่าเรือคลองเตย พร้อมรอสัญญาณจาก “ฮู” กำหนดเป็นโรคติดต่อระหว่างประเทศ

นพ.ม.ล .สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์วินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคปอด ภายหลังจากที่มีการรายงานการแพร่ระบาดในเมืองชิงไห่ ประเทศจีน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว พร้อมกับมีการสั่งกักตัวผู้ป่วยเพื่อเฝ้าระวังจำนวน 130 คน ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศให้เมืองดังกล่าวเป็นเขตกักกันโรค

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า กาฬโรคถือเป็นหนึ่งใน 5 โรคติดต่อร้ายแรง ได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ กาฬโรค ไข้เหลือง และโรคซาร์ค ซึ่งหากพื้นที่ใดพบการแพร่ระบาดโรคเหล่านี้ จะต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมการติดต่อ และต้องรายงานต่อองค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยมีการพบโรคเหล่านี้ ยกเว้นโรคไข้เหลือง สำหรับโรคกาฬโรคนั้น ประเทศไทยเคยมีรายงานการระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2495

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ได้สั่งการไปยังด่านต่างๆ เพื่อเตรียมคุมเข้มในการป้องกันโรคแล้ว ทั้งนี้หากองค์การอนามัยโลกออกประกาศให้กาฬโรคเป็น โรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่ให้ทุกประเทศเฝ้าระวัง ทางกรมควบคุมโรคจะต้องทำหนังสือเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลง นามในประกาศ ตาม พรบ.โรคติดต่อร้ายแรง เพื่อสามารถกักบริเวณคนเข้าออกประเทศที่เป็นการควบคุมการระบาดได้ ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอสัญญาณประกาศจากองค์การอนามัยโลกก่อน

นพ.โอภาส กล่าวว่า กาฬโรคเกิด จากเชื้อแบคทีเรีย แบซิลไล ( Yersinia Pestis ) โดยมีแหล่งรังโรคคือ สัตว์ฟันแทะ หนู กระรอกป่า กระต่ายป่า แพะ แกะ หมา และแมว แต่ส่วนใหญ่จะพบในหนูและกระรอก ส่วนคนไม่ใช่แหล่งรังโรค แต่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยมีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค มีขนาดเพียงแค่ 1 มิลลิเมตร แต่สามารถกระโดดได้ไกลถึง 1 เมตรหรือ 200 เท่าของขนาดตัว ซึ่งหากหมัดหนูมีเชื้อดังกล่าวกัดหนูหรือคนก็จะแพร่กระจายโรคได้

“เมื่อถูกหมัดที่มีเชื้อกาฬโรคกัด เบื้องต้นจะทำให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโต หากกัดที่ขาหรือเท้าตอมน้ำเหลืองจะโตบริเวณขาหนีบ แต่หากกัดที่ส่วนบน เช่น แขน ลำตัว ตอมน้ำเหลือจะบวมโตบริเวณลำคอ สามารถรักษาได้ตามอาการ แต่หากเชื้อดังกล่าวเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ แต่ถ้าหากเชื้อลงสู่ปอดจะทำให้เสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ” ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าว และว่า สำหรับการรักษากาฬโรคนั้น จะใช้ยาปฏิชีวนะทั่วไป เช่น สเตรปโตมัยซิน เป็นต้น

นพ.ภาสกร กล่าวว่า การแพร่ระบาดในประเทศไทยในครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2495 พบผู้ป่วย 7-8 ราย ที่ จ.นครสวรรค์ แต่เป็นกาฬโรคต่อม น้ำเหลือง และจากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบโรคนี้ในไทย แต่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2481 มีการบันทึกการแพร่ระบาดของโรคนี้ในไทย ที่ จ.กำแพงเพชร ตาก ลำพูน และลำปาง ซึ่งเป็นช่วงเดียวที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การเดินทางยากลำบาก ทำให้การควบคุมและทำการรักษาได้ยาก ขณะที่การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน มีการรายงานการแพร่ระบาดในจีน พรมแดนติดต่อระหว่างอินเดียและบังคลาเทศเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ดังนั้นการพบการแพร่ระบาดกาฬโรคในจีนจึงถือเป็นโรคอุบัติซ้ำ

ทั้งนี้หลังจากที่ไทยทราบข่าวการแพร่ระบาดในจีนนั้น จึงได้ประสานไปยังองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้จัดส่งคู่มือการควบคุมโรค โดยเฉพาะการดูแลตามด่านเข้าออกประเทศ และยังไม่มีการอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามขณะนี้เท่าที่ประสานไปยังด่านควบคุมโรคตามจุดๆ ต่างของประเทศ พบว่าทุกด่านมีความพร้อมเต็มที่ในการรับมือ เตรียมเดินหน้ามาตรการคุมเข้มในการสกัดโรค หากมีการประกาศให้เป็นโรคระบาดระหว่างประเทศ และขณะนี้ได้เตรียมทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วไว้พร้อมแล้ว

นพ.สมชัย กล่าวว่า โรคกาฬโรค การแพร่ติดจากคนสู่คน คือ ผ่านการไอ แต่การติดต่อยากกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่มีความรุนแรงของโรคมากกว่า หากรับเชื้อมีโอกาสเสียชีวิต 30-60% ถือว่ามีความรุนแรงมาก จึงถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งหากผู้ป่วยต้องแจ้งความภายใน 24 ชั่วโมง ตาม พรบ.โรคติดต่อร้ายแรง

“โอกาสที่กาฬโรคจะ มาไทยนั้น ที่เรากังวลคือจะมากับเรือสินค้า ซึ่งจะมีหนูที่เป็นแหล่งโรคติดมากับเรือด้วย ดังนั้นมาตรการจำเป็นต้องคุมเข้มที่ด่านต่างๆ รวมทั้งดูในส่วนของคนที่เดินทางเข้ามาด้วย นอกจากนี้ยังใช้มาตรการโดยดักจับหนูมาเพื่อมาสางขนเพื่อหาดูหมัด หากนำหนู 10 ตัวมาตรวจหาหมัด และหากพบหมัดโดยเฉลี่ยหนูมีหมัดตัวละ 1 ตัว ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคสูง แต่ที่ผ่านมาอัตราการพบหมัดของหนูที่จับได้อยู่ที่ 0.3-0.4 เท่านั้น จึงไม่เกินเกณฑ์ ” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว และว่า ที่ผ่านมาทางกรมควบคุมโรคได้ทำการจับหนูเพื่อเฝ้าระวังกาฬโรคเป็นประจำทุกปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องออกประกาศเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนหรือไม่ นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า คงไม่ต้องออกประกาศเตือน เนื่องจากในเมืองที่มีการระบาดของกาฬโรคขณะ นี้ ทางการจีนได้สั่งปิดเมืองและห้ามคนเข้าออกแล้ว นอกจากนี้ไม่จำเป็นต้องทำการสอบสวนโรคผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนในช่วง สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากโรคนี้เป็นโรครุนแรง หากได้รับเชื้อจะมีการป่วยที่เห็นได้ชัด

และหากเชื้อเข้าปอดก็จะเสียชีวิตใน 24 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่น่าที่จะเดินทางมาได้ นอกจากนี้ นพ.ม.ล.สมชาย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดักจับหนูมาดูหมัดตามค่าดัชนีเพื่อเป็น เฝ้าระวังโรค ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือคลองเตย และตามด่านเข้าประเทศตามจุดต่างๆ โดยรอบ

view