สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชะลอ1อำเภอ1ทุน งบสูงปัญหาอื้อ 250คนไม่ไหวให้ออก29

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


รมว.ศึกษาธิการ เผยบอร์ด 1อำเภอ1ทุน ให้ชะลอรุ่น3 ระบุ 1,836คนใช้งบ1หมื่นล้าน จบแค่80คน 250เรียนไม่ไหว ก.พ.ให้ออก 29คน ปูดขอลาแต่งงานกับฝรั่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมต้องการปรับปรุงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น เนื่องจากโครงการนี้ใช้มหาศาลส่งนักเรียน 2 รุ่นไปเรียนรวม 1,836 คน เรียนจบจนปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ เบ็ดเสร็จแล้วต้องใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเริ่มปี 2547 ถึงปัจุบันใช้เงินไปแล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท เป็นเงินรายได้จากการจำหน่ายหวยบนดิน

"หลังจากนี้ยังต้องใช้งบประมาณประเทศรองรับอีกประมาณ 5 พันล้าน แต่ไม่มีเงื่อนไขให้นักเรียนทุนที่เลือกเรียนต่อในต่างประเทศต้องกลับมาทำ งานใช้ทุนหรือไม่มีเงื่อนไขผูกผันใดๆ ทั้งสิ้น เงื่อนไขอย่างเดียวคือเจ้าตัวต้องกลับประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา โดยกำหนดให้เรียนจบภายใน 7ปี แต่ปรากฏว่า นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาแล้วบางรายขอใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศต่อ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนสำเร็จการศึกษาแล้ว 234 ราย สำเร็จจากต่างประเทศจำนวน 80 คน ในประเทศ 157 คน"

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่าโครงการนี้ใช้เงินส่งเด็กเรียนสูงมาก โดยเฉพาะเด็กที่เลือกไปเรียนต่างประเทศใช้เงินเฉลี่ยรายละ 1 ล้านบาทต่อปี แต่กลับมีนักเรียนทุนถูก ก.พ.ตัดสินให้ออกจากทุนจำนวน 29 ราย จากจำนวนนักเรียนทุนที่เลือกเรียนต่างประเทศ 1,478 ราย บางรายขอลาออกเองเพื่อไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ บางราย ก.พ.พิจารณาแล้วว่าเรียนต่อไม่ไหว ให้กลับมาเรียนต่อในประเทศไทย แต่ไม่ยอมกลับ ก.พ.จึงตัดสินให้ออกจากทุน

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ กล่าวอีกว่าเด็กที่เหลือแม้จะไม่ถูกให้ออกจากทุน แต่นักเรียนทุนจำนวนมากเกิดปัญหาทางการเรียน ทำให้ก.พ.ต้องตัดสินใจให้ยุติการเรียนในต่างประเทศแล้วกลับมาเรียนในประเทศ 227 ราย และ มีนักเรียนทุนเรียนไม่ไหวยื่นเรื่องมายังกรรมการโครงการฯ เพื่อขอเปลี่ยนสาขาวิชาเรียน หรือขอกลับมาเรียนต่อประเทศไทย

ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้แทนจาก ก.พ. ศธ. สกอ. เพื่อกำหนดเกณฑ์ขึ้นมารองรับกรณีเด็กขอเปลี่ยนสาขาวิชา หรือขอกลับมาเรียนในไทย ขณะเดียวกัน คณะทำงานชุดนี้จะหาทางปรับปรุงเงื่อนไขทุนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น ซึ่งยังตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือจะกำหนดให้นักเรียนทุนต้องกลับมาทำงานใช้ทุนหรือ ไม่ แต่มีการคุยกันว่า กรณีที่เด็กเป็นผู้ขอเปลี่ยนเงื่อนไขการรับทุนเอง เช่น ขอเปลี่ยนสาขาที่เรียน หรือขอกลับมาเรียนในประเทศแทนนั้น น่าจะกำหนดเงื่อนไขแลกเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น เช่น อาจกำหนดให้เขาต้องกลับมาใช้ทุน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมให้คุ้นค่ากับเงินงบประมาณที่ต้องเสียไป

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการรุ่น 3 ยังคงให้ชะลอไว้ก่อน เพราะโครงการรุ่น 1 และรุ่น 2 ยังมีภาระอีก 5 พันล้านบาท อาจจะปรับปรุงเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณ เพราะงบประมาณเป็นของส่วนรวม เพราะฉะนั้น จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกโครงการฯ ต้องให้คณะทำงานไปดูก่อน อย่างไรก็ตาม  เท่าที่ตนพิจารณา ยอมรับโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีปัญหามากที่สุด ต้องแก้ไขต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนี้ รุ่นที่ 1 มีจำนวน 921 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 915 คน รวม 1,836 คน จำนวนนี้เลือกเรียนต่างประเทศจำนวน 1,478 คน สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 80 คน ออกจากทุน 29 คน ถูกให้กลับมาเรียนในไทย 227 คน ปัจจุบัน เหลือนักเรียนทุนในต่างประเทศ จำนวน 1,142 คน ส่วนนักเรียนที่เลือกเรียนในประเทศไทยนั้น รวม 2 รุ่น 358 คน ข้อมูล ณ 31 ก.ค. สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 157 คน พ้นสภาพ 15 คน เพราะเกรดไม่ดี ความประพฤติไม่ดี ไม่มารายงานตัว 3 คน

view