สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สั่งสอบเวปขายยาโอเซลฯ

จาก โพสต์ทูเดย์
คณะอนุกรรมการฯ คาดหวัด 09 ระบาดหนักช่วง ส.ค.-ก.ย.ต่อเนื่องถึงปี 53 ด้าน อภ.เตรียมทดลองวัคซีนในคน 6 ก.ย.

นาย วิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมแถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกว่า ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ คาดว่าการแพร่ระบาดยังเป็นช่วงขาขึ้น และมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 10 เท่า เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับรอบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และคาดว่าการระบาดจะต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2553 (ม.ค.-ก.พ.)

นายวิทยา กล่าวว่า การป้องกันไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการหากพบมีอาการเจ็บป่วยควรหยุดอยู่กับบ้าน ไม่ออกไปไหน และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงให้รับพบแพทย์ทันที และแยกตัวอยู่ที่บ้านเพื่อตัดวงจรระบาดของโรค

สั่งสอบเวป ขายยาโอเซลทามิเวียร์

นายวิทยา กล่าวถึงกรณีตัวเลขการจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ ไปยังคลินิกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป จำนวนที่แน่นอนในการจ่ายยาไปยังคลินิกในแต่ละวัน ทั้งนี้ต้องมีการปรับระบบการรายงานตัวเลข ต้องเสนอตัวเลขการจ่ายยา การใช้ยาที่เป็นจริง และเป็นตัวเลขปัจจุบันเพื่อที่จะสามารถควบคุมการจ่ายยาได้

“ขณะนี้มีข้อกังวลในเรื่องของเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาขายยา ว่ามียาโอเซลทามิเวียร์นำเข้าจากต่างประเทศขาย ซึ่งเกรงว่าจะเป็นยาปลอม นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ภายในประเทศที่มีการอ้างใช้ชื่อในทำนองว่า “วิทยา 88” หรือ “วิทยา 99” ที่มีโพสต์ข้อความว่ามีการลักลอบนำยาจากไทย ส่งไปขายยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตรงนี้กำลังทำการตรวจสอบว่ามีการลักลอบจริงหรือไม่ และได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ติดตาม ตรวจสอบ พฤติกรรมดังกล่าวแล้ว เพราะยาโอเซลทามิเวียร์ที่ผลิตในไทยนั้นถือเป็นความมั่นคงทางสาธารณสุข ที่ต้องมีใช้ภายในประเทศอย่างเพียงพอ”รมว.สธ.กล่าว

อภ.เตรียมทดลองวัคซีนในคน 6 ก.ย.นี้

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้อภ.ได้เพิ่มกำลังการผลิตเจลล้างมือ และลดราคาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง ในส่วนของยาโอเซลทามิเวียร์ได้เร่งกระจายออกสู่ภูมิภาควันละกว่า 700,000 เม็ดต่อวัน สำหรับการผลิตวัคซีนนั้นได้มีการติดตามการผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพ ปลอดภัย และทันเวลามากที่สุด ซึ่งจากการประชุมคณะทำงานทบทวนแผน ติดตาม ครั้งล่าสุด มีข้อสรุปว่าในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จะทำการส่งมอบวัคซีนให้กับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการทดลองวัคซีนในคน ซึ่งเป็นอาสาสมัครจำนวน 24 คน ทั้งนี้คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จะเปิดรับอาสาสมัครในการทดลองเพิ่มเติม ส่วนขั้นตอนการพัฒนาวัคซีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมฉีดเชื้อในไข่ทดลองจำนวน 1,500 ฟอง โดยจะต้องรอการประเมินจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะเดินทางมาเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ หากผ่านการตรวจก็สามารถฉีดเชื้อลงไข่ได้ทันที เพื่อนำไปผลิตเป็นวัคซีนโดสแรกต่อไป

ดึง 7 หน่วยงานเป็นเจ้าภาพสู้หวัด 09

ด้าน นพ.มงคล กล่าวว่า คนไทยทุกคนต้อง “รวมพลังสู้หวัด 2009” ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นตรงกันว่า ยุทธศาสตร์สำคัญคือสร้างเจ้าภาพร่วมในการทำงาน โดยมาตรการเร่งด่วนจะดำเนินการใน 7 หน่วยงาน คือ

1.สถาบันการศึกษาที่มีนักเรียน นักศึกษาในความดูแล 20 กว่าล้านคน ควรมีมาตรการในการคัดกรองผู้ป่วยทำความสะความสะอาดจุดสัมผัสร่วมกัน ให้นักเรียนมีแก้วน้ำและช้อนทานอาหารของตนเอง พร้อมทั้งสนับสนุนคู่มือให้ความรู้เรื่องไข้หวัด 2009

2.สถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน ราชภัฏ ราชมงคล มีมาตรการเข้มข้นคัดกรองผู้ป่วย และจะประชุมร่วมกันภายในกลางเดือนนี้ เพื่อให้เยาวชนมาร่วมเป็นพลังในการป้องกันโรค 

3.กลุ่มบริการขนส่งสาธารณะ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จะติดตั้งเจลล้างมือบริเวณให้บริการบนรถเมล์ ท่าเรือ สถานี ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะสนับสนุน 2 รูปแบบ คือ การมอบเจลล้างมือให้ในช่วงแรกและประสานกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ จัดซื้อในราคาต่ำ โดยมีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านคนต่อวัน คาดว่าจะเริ่มติดตั้งจุดล้างมือได้ภายในสัปดาห์หน้า

4.ให้ 3 เหล่า กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ให้นำเอกสารคู่มือให้ความรู้เรื่องไข้หวัดเข้าไปเผยแพร่ในกำลังพลและครอบ ครัวหน่วยงานในสังกัดที่มีกว่า 2 ล้านคน

5.กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดมาตรการดูแลสถานที่ชุมชน อาทิ สวนสาธารณะ ตลาดโรงเรียน

6.กระทรวงแรงงาน ร่วมจัดคาราวานแรงงานป้องกันไข้หวัด 2009 ทั่วประเทศ และ

7.ชุมชนท้องถิ่น ผ่านกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนสื่อให้ความรู้ใน อบต.ทั้ง 6,746 แห่ง 

ส่วนมาตรการระยะยาวด้านวิชาการ สนับสนุนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยพัฒนาวิธีการตรวจสอบภูมิต้านทาน เพื่อทราบภูมิคุ้มกันในระดับชุมชน และใช้ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน พร้อมทั้งศึกษาระบบควบคุมป้องกันโรค เพื่อเตรียมทำข้อเสนอแนะปรับปรุงระบบของไทยต่อรัฐบาล สำหรับหน่วยงานและประชาชน สามารถติดต่อขอรับสื่อให้ความรู้ อาทิ โปสเตอร์ สติกเกอร์ ได้ที่หมายเลข 1330 และ 1422 หรือดูข้อมูลได้ที่ www.flu2009thailand.com จะมีวิธีการทดสอบการป่วยหรือไม่ป่วยไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 องค์ความรู้และข้อมูลจากทั่วโลก ที่ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ.

view