สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสานเสียงหนุน กรณ์ ภาษีที่ดิน มีแต่ได้ ไม่มีใครเสียหาย

จาก ประชาชาติธุรกิจ


ต้น สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" ในประเด็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ล่าสุดว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เดินสายสัมมนาทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึง "โครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่" ที่จะมีผลบังคับใน 2 ปีข้างหน้า หลังจากกฎหมายผ่านการอนุมัติจากสภา ซึ่งที่ผ่านมาทาง สศค.ได้รับข้อเสนอแนะหลายประเด็น อาทิที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ที่มีรายได้น้อย รวมทั้งที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม หากให้เสียภาษีในอัตราปกติเกรงว่า จะเป็นภาระที่หนักเกินไป

สำหรับกรอบการยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง และที่ดินที่ใช้ในการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการยกเว้นภาษีถึง 90% ของ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด

ส่วนที่ดิน ที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต้องจัดหามาเตรียมไว้ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (สต๊อกที่ดิน) หากผู้ประกอบการยังไม่ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 1 ปี จะได้รับการยกเว้นภาษี จะเริ่มเสียภาษีใน ปีที่ 2 และจะเสียภาษีในอัตราสูงสุด (เชิงพาณิชย์) ในปีที่ 3

"จากผลการศึกษา ของ สศค. พบว่าหากมีการยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท จะเหลือเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเข้ามาอยู่ในฐานภาษีฉบับใหม่แค่ 10% เท่านั้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อาคารร้านค้าที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์เสียภาษีน้อยลงกว่าเดิม เพราะภาษีที่ดินตัวใหม่จะเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน ขณะที่ภาษีโรงเรือนฉบับเดิมเก็บในอัตรา 12.5% ของฐานรายได้ในแต่ละปี โดยภาพรวมแล้วผู้ประกอบการ จะเสียภาษีถูกลง แต่พวกที่จะรับภาระหนักคือพวกที่เก็บที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร"นายกรณ์กล่าว

หาก สำรวจความเห็นของนักวิชาการชื่อดังที่เห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมาย ภาษีที่ดิน จะประกอบด้วย ศ.ไกรยุทธ ธีรตยาคีนนท์ ศ.เกริกเกียรติ์ พิพัฒนเสรีธรรม ศ.เมธี ครองแก้ว ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ รวมถึง ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และนักเศรษฐศาสตร์อีกมากมาย

มีแต่ได้ ไม่มีใครเสียหาย

เสียงสนับสนุนอีกหนึ่งเสียงที่มีน้ำหนักอย่างมาก คือ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

ดร.โสภณ พรโชคชัย กล่าวว่า ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง โดยอาจนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษาให้ทันความต้องการของท้องถิ่น และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน เช่น คนคนหนึ่งมีบ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือปีละเพียง 1,000 บาท แต่เมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา ราคาบ้านก็สามารถเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 3% ต่อปี หรือปีละ 30,000 บาท ดังนั้นการเสียภาษีเพียง 1,000 บาท แต่ทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากมายนั้น จึงนับเป็นความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ ที่มีทรัพย์สินมูลค่า 100 ล้านบาท หากต้องเสียภาษี 0.5% ก็เป็นเงิน 500,000 บาท แต่หาก ท้องถิ่นนั้นเจริญขึ้นก็จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินสูงขึ้น 1.5 ล้านบาท (สมมติให้เพิ่มในอัตราต่ำที่ 1.5%) เท่ากับว่าเจ้าที่ดินรายใหญ่นั้นได้กำไรถึง 1 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งเก็บภาษีได้มากเท่าไหร่ ท้องถิ่นนั้นๆ ยิ่งเจริญ ท้องถิ่นนำไปปรับปรุงถนน ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น พอท้องถิ่นนั้นเจริญ มูลค่าทรัพย์สินก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เจ้าของที่ดินก็ได้ประโยชน์ เข้าทำนอง "ยิ่งให้ ยิ่งได้" และโดยนัยนี้ เราจึงไม่ควรมีข้อยกเว้นการเก็บภาษีนี้แก่ใครทั้งสิ้น

ตัดวงจรอุบาทว์การโกงกิน

ภาษี ทรัพย์สินนั้นเป็นเงินภาษีที่จัดเก็บและใช้ภายในท้องถิ่น ไม่ผ่านรัฐบาลส่วนกลาง โอกาสที่จะรั่วไหลเพราะนักการเมืองใหญ่ หรือเพราะข้าราชการประจำกังฉินระดับชาติจึงไม่มี และโดยที่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บได้จะถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เท่านั้น ประชาชนจึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษี ต่างจากในปัจจุบันที่รัฐบาลส่วนกลางส่งงบประมาณ มาให้ส่วนท้องถิ่นใช้ คนในท้องถิ่นจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงินดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏ การณ์ "วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง" กลายเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบไป

เมื่อ ประชาชนในท้องถิ่นเห็นศักยภาพของตนเองในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อตนเองจากภาษี ของตน คนดีๆ ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาในท้องถิ่นก็จะอาสามาทำงานเพื่อส่วนรวมในองค์การ ปกครองส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองเขี้ยวโง้ง โอกาสการผูกขาดตัดตอนของนักการเมืองท้องถิ่นเสือนอนกิน หรือข้าราชการประจำที่ขี้ฉ้อจึงมีน้อยลง

ในประเทศตะวันตก ไม่เฉพาะนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารฝ่ายการศึกษา การสาธารณูปโภค และอื่นๆ ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเท่านั้นที่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งผู้บริหาร ฝ่ายต่างๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้การบริหารท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของคนในท้องถิ่น โดยมีประชาชนในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง นี่จึงเป็นผลดีของภาษีทรัพย์สินที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงในท้องถิ่น

ช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้

ประธาน กรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สิน เชื่อว่า ภาษีทรัพย์สินจึงช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ "กินได้" หรือเรียกว่าเป็นรูปธรรม ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ใครๆ ก็เห็นดีด้วย แต่การรดน้ำพรวนดินระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การยกมือหรือการเลือกตั้ง เท่านั้น ที่ผ่านมาประชาชนถูกบิดเบือนให้แปลกแยกกับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องมี ส่วนร่วม มีส่วนได้ มีส่วนเสียกับระบอบนี้ และใช่ว่าทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้เสียภาษี เพียงแต่ไม่ได้เสียภาษีทางตรงจากทรัพย์สินที่ครอบครอง จึงทำให้ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของเท่าที่ควร และกลายเป็นว่าท้องถิ่นเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลส่วนกลางที่ส่งเงินมาให้เสียอีก

"ผม จึงเสนอว่าไม่ควรมีข้อยกเว้นการเก็บภาษีทรัพย์สินนี้ ทุกคนควรภูมิใจที่ได้เสียภาษีนี้เพื่อประโยชน์สุขของตนและส่วนรวม ผู้ครอบครองทรัพย์สินไม่ว่าใหญ่น้อยก็ล้วนแต่ไม่ใช่คนยากจนข้นแค้นที่ต้องรอ การสงเคราะห์ การมีข้อยกเว้นก็เท่ากับเรายอมศิโรราบกับผู้มีฐานะระดับสูง ระบบอุปถัมภ์ก็จะหยั่งรากลึก ระบอบประชาธิปไตยก็จะอ่อนแอ และถ้าเจ้าของทรัพย์รายเล็กยังต้องเสียภาษี เจ้าที่ดินรายใหญ่ก็ย่อมต้องเสียภาษีเพื่อตนเองเช่นกัน"

ภาษี ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อท้องถิ่นนี้ไม่มีใครมาปล้นชิงไปได้ ทุกคนได้ประโยชน์ จึงต้องช่วยกันทำให้ภาษีทรัพย์สินเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ประชาชนทั่วไปโปรดอย่าเข้าใจผิดว่า ภาษีนี้จะเป็นภาระแก่ตน เจ้าที่ดินรายใหญ่ก็โปรดอย่าได้ขัดขวาง เพราะทุกฝ่ายล้วนได้รับประโยชน์สุข จากภาษีทรัพย์สินนี้

view