สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เซอร์ไพรส์!?! (พระ)น้ององค์สุดท้องของหลวงพ่อโสธร /ปิ่น บุตรี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
       โดย : ปิ่น บุตรี


หลวงพ่อโสธร
       “หลวงพ่อโสธร” (หลวงพ่อพุทธโสธร)ชื่อนี้พุทธศาสนิกชนคนไทยรู้จักกันดี
       
       ความศักดิ์สิทธิ์และชื่อเสียงของท่านขจรไกลไปถึงเมืองนอกเมืองนา แต่ละวันมีผู้ศรัทธาเดินทางไปสักการะท่านที่ “วัดโสธร”(วรารามวรวิหาร)กันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวันหยุดคนงี้เพียบเลย
       
       หลวงพ่อโสธร ตามพื้นฐานความเชื่อของคนไทยส่วนหนึ่งเชื่อว่าท่านมีพระพี่น้องลอยน้ำตามกัน มา บ้างเชื่อว่าพระพี่-น้องกลุ่มนี้มีด้วยกัน 3 องค์ คือ หลวงพ่อโสธร(วัดโสธร ฉะเชิงเทรา) หลวงพ่อโต(วัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ) หลวงพ่อวัดบ้านแหลม(วัดเพชรสมุทร สมุทรสงคราม) บ้างก็ว่ามีด้วยกัน 5 องค์ คือเพิ่มหลวงพ่อวัดไร่ขิง(วัดไข่ขิง นครปฐม) และหลวงพ่อวัดเขาตะเครา(วัดเขาตะเครา เพชรบุรี)เข้าไปด้วย

หลวงพ่อโต
       แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมมีที่มาที่ไปนั่นก็คือตำนานการปรากฏขึ้นของ พระพุทธรูป 5 พี่น้อง(กรณีของพระ 3 พี่น้อง มีตำนานคล้ายกันแต่ตัดหลวงพ่อวัดไร่ขิงและหลวงพ่อวัดเขาตะเคราออกไป) ซึ่งจากตำนานพระพี่น้องของหลวงพ่อโสธรเล่าว่า พี่น้อง 5 คนชาวเมืองเหนือ เมื่อบวชสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีอำนาจทางจิตมาก จึงตั้งจิตอธิษฐานร่วมกันว่าจะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์จนกว่า จะถึงนิพพาน เมื่อพระพี่น้องทั้งห้ามรณภาพไปก็ได้เข้ามาสถิตอยู่ในพระพุทธรูปห้าองค์ และได้แสดงปาฏิหาริย์ด้วยการลอยน้ำลงมาทางใต้ตามแม่น้ำทั้ง 5 สายด้วยกัน
       
       หนึ่งในนั้นไปทางแม่น้ำบางปะกง ชาวบ้านอัญเชิญขึ้นที่วัดหงษ์หรือวัดโสธรในปัจจุบัน ได้รับการขนามนามว่า“หลวงพ่อโสธร”
       

       หนึ่งในนั้นไปในคลองสำโรงที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านอัญเชิญขึ้นที่วัดพลับพลาชนะสงครามหรือปัจจุบันคือวัดบางพลีใหญ่ใน ได้รับการขนามนามตามรูปลักษณะอันใหญ่โต ว่า“หลวงพ่อโต”
       


หลวงพ่อวัดไร่ขิง
       หนึ่งในนั้นไปทางแม่น้ำนครชัยศรี ชาวบ้านอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ขนานนามว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
       ส่วนอีกสองในนั้น หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีกหนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร องค์แรกปางมารวิชัยลอยน้ำไปติดอวนหาปลาของชาวบ้านแหลมแถวปากอ่าว ชาวบ้านจึงรีบอัญเชิญขึ้นเรือเพื่อพากลับฝั่ง ระหว่างทางได้พบพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรอีกองค์ลอยน้ำมา จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์หลังไปไว้ในเรืออีกลำ
       
       เมื่อเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองบริเวณหน้าวัดศรีจำปา เกิดพายุฝนตกหนัก เรือลำที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนเสียหลัก พระพุทธรูปตกน้ำจมหาย ชาวบ้านแหลมจึงทำได้เพียงนำพระพุทธรูปองค์แรกกลับไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะ เครา และขนานนามว่า“หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” ที่ตอนหลังหลายคนเรียกขานเป็น“หลวงพ่อทองเขาตะเครา”เพราะองค์หลวงพ่อมีผู้ศรัทธาปิดทองทับหนาแน่นเป็นสีทองอร่ามไปทั้งองค์

หลวงพ่อวัดเขาตะเครา
       ด้านพระพุทธรูปยืนที่จมน้ำ ชาวบ้านวัดศรีจำปาช่วยกันงมค้นหาจนเจอ จึงอัญเชิญไปที่วัดศรีจำปา แต่ชาวบ้านแหลมมาทวงคืน สุดท้ายตกลงกันว่าให้ประดิษฐานที่วัดศรีจำปา แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อเรียกวัดศรีจำปาว่า“วัดบ้านแหลม” ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนเป็น“วัดเพชรสมุทร(วรวิหาร)” นั่นจึงทำให้ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อองค์นี้ว่า“หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”ตามสถานที่ประดิษฐาน
       
       และนั่นก็เป็นตำนานพระ 5 พี่น้องฉบับคร่าวๆ ซึ่งในรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีอีกมากมาย อาทิ การเกิดชุมชน“สามเสน”ที่มาจากพระพุทธรูปได้ลอยขึ้นมาให้คนได้เห็น ชาวบ้านเป็นแสนๆจึงได้ช่วยกันฉุดพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นจากน้ำแต่ก็ไม่ สำเร็จ บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน”ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น“สามเสน” หรือชื่อ “คลองชักพระ”ที่มาจากชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาจึงช่วยกันชักพระขึ้นจากน้ำแต่ไม่สำเร็จ เลยเรียกว่า“คลองชักพระ” เป็นต้น
       
       อนึ่งเรื่องราวของพระ 5 พี่น้องนั้น หากมองตามข้อเท็จจริง อ้างอิงประวัติศาสตร์ เท่าที่ผมรับรู้มามีความเป็นไปได้ว่า การเกิดของพระ 5 พี่น้องเกิดจากเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาไฟหลอมเอาทองหล่อพระพุทธรูปไป ทำให้ชาวบ้านต้องรักษาพระพุทธรูปต่างๆด้วยการ เอาปูนพอก เอารักดำทา ให้ดูไม่สวยงามและปกปิดของมีค่า แต่เมื่อไม่อาจปกป้องได้จึงนำพระพุทธรูปสำคัญลงแพไม้ไผ่ลอยตามน้ำ ด้วยน้ำหนักขององค์พระจึงกดแพไม้ไผ่ดูเหมือนพระพุทธรูปลอยน้ำได้ เกิดเป็นเรื่องราวปาฏิหาริย์แก่ผู้พบเห็น เกิดเป็นตำนานของพระ 5 พี่น้องขึ้นมา
       
       ส่วนองค์ไหนจะเป็นพระพี่ใหญ่ องค์รอง องค์กลาง องค์สี่ และองค์ที่ห้านั้น ไม่มีการระบุชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ต่างยกให้หลวงพ่อโสธรเป็นพระพี่ใหญ่ เนื่องมาจากชื่อเสียงอันระบือไกลของท่าน
       
       อย่างไรก็ตาม ล่าสุดผมได้รับรู้ข้อมูลใหม่มาว่า พระในยุคเดียวกันที่ลอยน้ำมาอาจไม่ได้มี 5 องค์ แต่อาจมีพระพุทธรูปองค์อื่นลอยตามมาด้วย

หลวงปู่หิน วัดอ่างศิลา
       สำหรับเรื่องนี้ผมไปประสบมาโดยบังเอิญระหว่างที่เดินเที่ยว“ตลาดอ่าง ศิลา” ตลาดเก่าอายุ 100 กว่าปีที่เคยล้มหายไปแล้วทางการชลบุรีรื้อฟื้นมาเปิดใหม่ในไม่นานมานี้
       
       ระหว่างเดินเที่ยวชม ช้อป ชิม และพูดคุยกับชาวบ้านในตลาด พี่ชาวพันธมิตรคอเดียวกัน แนะนำว่า“เมื่อมาอ่างศิลาแล้วอย่าลืมไปไหว้หลวงปู่หินที่วัดอ่างศิลานะ ท่านเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อโสธร คนที่นี่นับถือกันมาก แล้ววัดนี้ยังมีของดีให้ชมกันอีกหลายอย่างด้วยกัน”
       
       ได้ฟังดังนั้นผมจึงรีบห้อไปทันที พบว่าที่วัดอ่างศิลาในวันนั้นมีไกด์น้อยจากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง 2 คอยให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวผู้สนใจ นั่นจึงทำให้ผมได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวัดนี้ ว่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2243 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายพร้อมๆกับการก่อตั้งชุมชน เดิมวัดอ่างศิลาแบ่งเป็น 2 วัด คือ วัดอ่างนอก(อ่างศิลานอก)และวัดอ่างใน (อ่างศิลาใน) จนถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รวมวัดทั้งสองเป็นวัดอ่างศิลาวัดเดียว
       
       นั่นจึงทำให้วัดอ่างศิลาเป็นหนึ่งในไม่กี่วัดของเมืองไทยที่มี 2 โบสถ์ในวัดเดียวกัน และเป็น 2 โบสถ์ที่มีลักษณะแตกต่างกัน
       
       โบสถ์ใน(วัดใน) มีหมู่เจดีย์ 3 องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าโบสถ์ เจดีย์ทั้ง 3 มีลักษณะแตกต่างกัน องค์กลางหรือองค์ที่ 2 มีอายุเก่าแก่ที่สุด โบสถ์ในเป็นที่ประชุมสงฆ์และที่ประกอบศาสนกิจอื่นๆตามพระธรรมวินัย
       
       โบสถ์นอก(วัดนอก) สร้างขึ้นหลังโบสถ์ใน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังคาโบสถ์ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ภายในโดดเด่นไปด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรสวยงาม เป็นศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 3 เขียนโดยนายปลื้มและนายแดง 2 ช่างจากวัดสามปลื้ม(วัดจักรวรรดิ) ในปี พ.ศ.2368 เป็นเรื่องพุทธประวัติจากพระปฐมโพธิกถา เน้นสีสันสดใสและใช้พู่กันหางหนูตัดเส้นอย่างประณีตสวยงามมาก
       
       ที่สำคัญคือด้านหลังของโบสถ์หลังนี้ เป็นที่ประดิษฐานของ หลวงปู่หิน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอ่างศิลาที่ตามประวัติเล่าว่า เป็นพระยุคเดียวกับหลวงพ่อโสธร เพราะลอยน้ำตามมาด้วยกัน แล้วหลวงปู่หินมาขึ้นที่อ่างศิลา
       
       “ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่า หลวงปู่หินเป็นพระองค์น้องของหลวงพ่อโสธร” ไกด์น้อยคนหนึ่งให้ข้อมูลกับผม
       
       เรื่องนี้ถ้าอ้างอิงตำนานผนวกกับความเชื่อของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง น่าจะพูดได้ว่าหลวงปู่หินท่านอาจจะเป็นพระพุทธรูปองค์ที่ 6 หรือน้ององค์สุดท้องของหลวงพ่อโสธรก็เป็นได้(ในกรณีที่ไม่มีความเชื่อว่ามี องค์ที่ 7,8 หรือองค์อื่นๆอีก)เพราะข้อมูลการค้นพบท่านมาทีหลังสุด
       
       และนี่อาจเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์สำหรับหลายๆคนซึ่งใครจะเชื่อหรือไม่ เชื่อก็สุดแท้แต่ ส่วนตัวผมนั้นเชื่อว่า การจะเคารพนับถือพระพุทธรูปต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในตระกูลไหน ในรุ่นไหน ในยุคไหน มันขึ้นอยู่กับใจเรา เมื่อเรากราบไหว้ เคารพบูชา ขอพร ตั้งจิตอธิษฐาน แล้วสบายใจ นั่นไยมิใช่เรื่องราวที่ประเสริฐที่สุด
       
       ใครจะสมหวัง ผิดหวัง ขึ้นอยู่กับสิ่งที่กระทำ หากใครขอพรแล้วเฉยๆนั่งงอมืองอเท้า ไม่ทำอะไรหวังให้ท่านช่วยแบบลมๆแล้งๆก็ยากที่จะสมหวัง หากใครขอพรแล้วใช้คำขอเป็นกำลังใจ เป็นพลังให้ชีวิตในการปฏิบัติสัมมาอาชีพประกอบกับขยันขันแข็งในการทำงาน พรที่ขอ(ถ้าไม่เวอร์เกินไป)ย่อมมีโอกาสสัมฤทธิ์ผลเข้าสักวัน
       
       ส่วนพวกที่กระทำชั่ว โกงกิน คิดคดทรยศต่อบ้านเมืองนั้น เลิกหวังไปได้เลย ต่อให้ขอพร เดินสายไหว้พระ 99 วัด หรือแก้กรรม ต่อชะตา สะเดาะเคราะห์ หงายบาตร คว่ำบาตร ตะแคงบาตร ทุบบาตร ก็ไม่สามารถช่วยได้ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์(ถ้ามีจริง)ย่อมไม่ช่วยเหลือคนชั่วช้าด้วยประการทั้ง ปวง
view