สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาส...ประเทศไทย ที่มาพร้อมกับโลก ฉลาด ขึ้น

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย:

 


 

ทุก วันนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีก้าวไปอย่างไม่หยุดนิ่งพร้อมๆ กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แนวโน้มต่างๆ ที่มีนัยสำคัญกำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกที่ กำลังจะพุ่งสูงถึง 2,000 ล้านคน และ 4,000 ล้านคน ตามลำดับ ภายในสิ้นปี 2553

นอกจากนั้น เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งใน อดีตเคยมีขนาดใหญ่และราคาแพง เช่น ทรานซิสเตอร์ ในปัจจุบันก็เริ่มมีขนาดเล็กและราคาถูกลง อีกทั้งยังถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รอบตัวเรามากมาย จนทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ในอนาคตอันใกล้พวกเราทุกคนจะ มีทรานซิสเตอร์ทำงานอยู่รอบตัวมากกว่า 1,000 ล้านชิ้นต่อคน ด้วยการที่ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดเล็ก ราคาถูกลง แต่มีความสามารถมากขึ้น ผนวกกับโอกาสที่เทคโนโลยีทำให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งขึ้นนี้เอง

ทำให้หลายคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า โลกของเรากำลัง “เล็กและแบนลง” เรื่อยๆ ซึ่งผนวกกับความสามารถของเทคโนโลยี ที่เก่งขึ้น จึงถือได้ว่าโลก “ฉลาดขึ้น” ไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่โลกกำลัง “ฉลาด” ขึ้น ปัญหาและความท้าทายอื่นๆ มากมายก็มีตามมาด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประชากรโลก ปัญหาด้านน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย หรือการคาดการณ์เกี่ยวกับข้อมูลดิจิตอลที่มีการประเมินกันว่าจะมีปริมาณ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก 11 ชั่วโมงภายในปี 2593 สาเหตุดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ “ชาญฉลาด” ขึ้น และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้นั่นเอง

สำหรับเมืองไทย ปัญหาและความ ท้าทายต่างๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันในชั่วโมงเร่งด่วน การจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ส่งผลให้รถบนถนนเคลื่อนตัวได้โดยเฉลี่ยเพียง 18.6 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงเท่านั้น ปัญหาการจราจรดังกล่าวนอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว ยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชนใน กรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก

นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความรู้เฉพาะด้านในตลาดแรงงาน ก็ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว หรือแม้กระทั่งปัญหาการจัดการน้ำในประเทศ ซึ่งปัจจุบันพบว่ากว่า 60% ของประชากรในต่างจังหวัดและท้องถิ่นห่างไกลในบ้านเรายังคงพึ่งพาน้ำจากแหล่ง น้ำที่ไม่ได้ผ่านระบบการกลั่นกรองที่ได้มาตรฐาน เช่น จากน้ำฝน หรือแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวมีผลต่อสาธารณสุขพื้นฐานของประชากรในท้องถิ่นห่างไกล ปัญหาและความท้าทายทั้งหมดนี้ล้วนรอการแก้ไขจากหน่วยงานและผู้รับผิดชอบที่ เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ด้วยปัญหาและความท้าทายต่างๆ นี้เอง ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาท ที่นอกจากจะทำให้โลก “ฉลาด” ขึ้นแล้ว ยังจะช่วยแก้ปัญหาหรือเอาชนะความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร

ไอบีเอ็มเล็งเห็นถึงปัญหาและความ ท้าทายดังกล่าวและได้ทำงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ในความพยายามที่จะช่วยจัดการปัญหาและเอาชนะความท้าทายต่างๆ เช่น

การพัฒนาการศึกษาและบุคลากรในประเทศไทย ปัจจุบันไอบีเอ็มสนับสนุนการศึกษาในประเทศไทยผ่านโครงการหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้หรือ “ไอบีเอ็ม คิดส์สมาร์ท” ให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของเยาวชน

ไปจนถึงความร่วมมือในโครงการสนับสนุนการสร้างเสริมทักษะและความรู้ ความชำนาญบุคลากรในด้านวิทยาศาสตร์การ บริการ (Service Science, Management and Engineering – SSME) ที่ไอบีเอ็ม ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง ในประเทศ พัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเพื่อรองรับ ตลาดแรงงานทางด้านไอที เป็นต้น

การจัดการปัญหาจราจร ในเมืองใหญ่ๆ เช่น สตอกโฮล์ม (สวีเดน) สิงคโปร์ ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) หรือ บริสเบน (ออสเตร เลีย) ทั้งนี้ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่รับผิดชอบในเมืองต่างๆ เหล่านี้ ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการปัญหาด้านการจราจร ซึ่งครอบคลุมเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัญหาจราจรติดขัด ไปจนถึงการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเทคโนโลยีที่มีส่วนในการจัดการเรื่องดังกล่าว เกี่ยวโยงตั้งแต่การออกแบบระบบพยากรณ์สภาวะการจราจรในแต่ละช่วงเวลา การ สร้างแบบโมเดลจำลองสภาวะจราจร ไปจนถึงการออกแบบระบบจัดการการเก็บค่าทางด่วนแบบอัจฉริยะ เป็นต้น

หลังจากที่เมืองต่างๆ เหล่านี้ ได้นำ โซลูชันของไอบีเอ็มไปใช้ พบว่ามีผลลัพธ์ ที่ค่อนข้างน่าพอใจ ตัวอย่างเช่น ที่กรุงสตอกโฮล์ม ปัญหาการจราจรติดขัดลดลงถึง 25% ขณะที่ปัญหามลพิษทางอากาศลดลงประมาณ 8-40% รวมทั้งอัตราการใช้ระบบขนส่งมวลชนของประชาชนก็เพิ่มขึ้นถึง 4 หมื่นคนต่อวัน เป็นต้น

การจัดการปัญหาเรื่องน้ำ น้ำถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหนึ่งในปัจจัยของชีวิตมนุษย์ ปัจจุบันด้วยปัญหาสภาวะโลกร้อนซึ่งมีผล ต่อระดับน้ำในมหาสมุทรและกลายเป็นภัยคุกคามโดยเฉพาะต่อเมืองที่มีพื้นที่ต่ำ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำหรือทะเลทั่วโลก หรือแม้แต่ปัญหาของมลพิษในแหล่งน้ำซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยใน แหล่งน้ำนั้นๆ เอง ที่ผ่านมาไอบีเอ็ม ได้ร่วมมือ กับหน่วยงานในประเทศต่างๆ เช่น รัฐบาลของประเทศเนเธอร์แลนด์และไอร์แลนด์ ในการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับโลก ในทั้งสองประเทศ เพื่อพัฒนาระบบการพยากรณ์สภาวะของน้ำและเทคโนโลยีเพื่อป้องกันพื้นที่ต่ำและ พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจากปัญหาน้ำท่วมในกรุงอัมสเตอร์ดัม หรือระบบจัดการมลพิษหรือของเสียเพื่อให้แหล่งน้ำปลอดภัยต่อสัตว์น้ำและสิ่ง มีชีวิต ในไอร์แลนด์ เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว ที่ผ่านมาไอบีเอ็มยัง ร่วมมือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการน้ำ พัฒนาโซลูชันทางด้านการจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การคิดค้นเทคโนโลยี “เมมเบรน”  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกรองน้ำขั้นสูงเพื่อช่วยกรองน้ำปนเปื้อนให้กลายเป็นน้ำที่ สะอาด ดื่มได้อย่างปลอดภัย และมีราคาถูก เป็นต้น ด้วยตัวอย่างต่างๆ เหล่านี้เอง คงพอทำให้หลายคนเห็นภาพว่าเทคโนโลยี นอกจากจะมีส่วนทำให้โลก “ฉลาด”  ขึ้น ช่วยแก้ปัญหาหรือเอาชนะความท้าทายในหลายๆ ด้านแล้ว

ในเวลาเดียวกัน เทคโนโลยีที่ทำให้โลก “ฉลาด”  ขึ้น ก็สามารถสร้างโอกาสในหลายๆ ด้านได้ด้วยเช่นเดียวกัน ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำหรือมีความชาญฉลาดเพียงใด การจัดการปัญหาความท้าทายต่างๆ หรือแม้กระทั่งการพยายามนำโอกาสจากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ของเรานั้น ก็จำต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา เอาชนะความท้าทาย และ หาทางใช้โอกาสจากเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งนำพาให้สังคมของเราก้าวหน้าไปพร้อมกับโลกที่ “ชาญฉลาดและน่าอยู่” ขึ้นต่อไปนั่นเอง

view