สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารอาคารชุด ตามพรบ.อาคารชุด พ.ศ.2551 (ตอนจบ)/คอลัมน์คุยเรื่องบ้าน

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กรมที่ดิน:

 


 

พระ ราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2551 ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ต่างๆ จากพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ค่อนข้างมาก โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมีการร้องเรียนจากผู้เกี่ยวข้องผ่านกรมที่ดิน ได้มีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการของผู้จัดการ นิติบุคคลอาคารชุด ปัญหาที่เกิดจากผู้ประกอบการ และปัญหาที่เกิดจากผู้ซื้อห้องชุด

กรมที่ดินได้รวบรวมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติอาคาร ชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ในรูปแบบถาม-ตอบ ดังนี้

คำถามเกี่ยวกับเจ้าของร่วม

- กรณีมีผู้ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดสองคนร่วมกัน จะขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในห้องชุดออกจากกันจะกระทำได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้ว่า กรรมสิทธิ์ในห้องชุดจะแบ่งแยกไม่ได้

- ผนังกั้นห้องที่แบ่งระหว่างห้องชุดเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลหรือทรัพย์ส่วนกลาง

ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากชั้นบนถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลที่ ตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของร่วมระหว่างห้องชุดนั้น การคำนวณเนื้อที่ของห้องชุดจึงคิดเนื้อที่ครึ่งหนึ่งของผนังเป็นเนื้อที่ ห้องชุด ถ้าทำหน้าที่รับน้ำหนักจากชั้นบน ตกเป็นทรัพย์ส่วนกลาง

- อะไรบ้างที่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง

ทรัพย์ส่วนกลาง หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับ เจ้าของร่วม

มาตรา 15 ทรัพย์สินต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลาง

1.ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด

2.ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

3.โครงสร้างและสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคงและเพื่อการป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด

4.อาคารหรือส่วนของอาคารและเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

5.เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

6.สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด

7.ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

8.สำนักงานของนิติบุคคลอาคารชุด

9.อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อหรือได้มาตามมาตรา 48 (1)

10.สิ่งก่อสร้างหรือระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยหรือสภาพ แวดล้อมภายในอาคารชุด เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย การจัดแสงสว่าง การระบายอากาศ การปรับอากาศ การระบายน้ำ การบำบัดน้ำเสีย หรือการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

11.ทรัพย์สินที่ใช้เงินตามมาตรา 18 ในการดูแลรักษา

- เจ้าของห้องชุดมีสิทธิในทรัพย์ส่วนบุคคลแค่ไหน

ผลของการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล ทำให้เจ้าของสามารถทำการจำหน่ายจ่ายโอน ใช้สอย ให้เช่า หรือก่อให้เกิดภาระติดพันอย่างใดก็ได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ตามหลักกรรมสิทธิ์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิย่อมมีข้อจำกัดเสมอ และในเรื่องการใช้สิทธิของเจ้าของห้องชุดก็เช่นกัน กล่าวคือ ตามมาตรา 13 วรรคท้าย บัญญัติว่า เจ้าของห้องชุดจะกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์ส่วนบุคคลของตน อันอาจจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างความมั่นคง การป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคาร หรือการอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ มิได้

- เจ้าของห้องชุดมีสิทธิในทรัพย์ส่วนกลางแค่ไหน

สิทธิของเจ้าของห้องชุดแต่ละคนในทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ สิทธิในการใช้สอยแต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด เช่น ต้องใช้สิทธิให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทรัพย์ และไม่ขัดขวางการใช้สิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์อื่นๆ และเป็นไปตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดนั้นๆ

- เจ้าของร่วมจะถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ในกรณีใดบ้าง

1.ฝ่าฝืนมาตรา 17/1

มาตรา 17/1 ในกรณีที่มีการจัดพื้นที่ของอาคารชุดเพื่อประกอบการค้า ต้องจัดระบบการเข้าออกในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะไม่ให้รบกวนความเป็น อยู่โดยปกติสุขของเจ้าของร่วม

ห้ามผู้ใดประกอบการค้าในอาคารชุด เว้นแต่เป็นการประกอบการค้าในพื้นที่ของอาคารชุด

ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทและปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่

2.ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดในฐานะเป็นเจ้าของแทนคนต่างด้าวหรือ นิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว ไม่ว่าคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

การยกเลิกอาคารชุด

- อาคารชุดที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สามารถยกเลิกได้หรือไม่

ยกเลิกได้ ถ้ามีเหตุดังต่อไปนี้

1.ในกรณีที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด ผู้ขอจดทะเบียนอาคาร ชุด หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดแล้วแต่กรณี ขอเลิกอาคารชุด

2.เจ้าของร่วมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกอาคารชุด

3.อาคารชุดเสียหายทั้งหมด และเจ้าของร่วมมีมติไม่ก่อสร้างอาคารนั้นขึ้นใหม่

4.อาคารชุดถูกเวนคืนทั้งหมดตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

- กรณีอาคารชุดเสียหายทั้งหมดและเจ้าของร่วมมีมติไม่ก่อสร้างอาคารนั้นขึ้นใหม่ มติของเจ้าของร่วมต้องเป็นเอกฉันท์หรือไม่

กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่ได้ไปบัญญัติไว้ในมาตรา 50 ในกรณีที่อาคารชุดเสียหายทั้งหมดหรือเป็นบางส่วน แต่เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนห้องชุดทั้งหมด ถ้าเจ้าของร่วมมีมติโดยคะแนนเสียงตามมาตรา 48 ให้ก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารส่วนที่เสียหายนั้นให้นิติบุคคลอาคารชุดจัดการ ก่อสร้างหรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้คืนดี

ดังนั้น มติของเจ้าของร่วมตามกรณีดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเอกฉันท์ แต่ใช้คะแนนเสียงตามมาตรา 48 คือ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของรวม ทั้งหมด

ในกรณีที่เจ้าของร่วมเข้าประชุมมีคะแนนเสียงไม่ครบตามที่กำหนดไว้ ในวรรคหนึ่ง ให้เรียกประชุมใหญ่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อน และมติเกี่ยวกับเรื่องที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งในการประชุมครั้งใหม่นี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของ ร่วมทั้งหมด

view