สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเงินชุมชนในประเทศไทย : บทบาท สถานะ และอนาคต (1)

จาก ประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ การเงินปฏิวัติ

โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org


การเงินแนวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ คือการเงินที่ตั้งใจจะบรรลุ "เป้าหมายทางสังคม" ที่อยู่เหนือ "เป้าหมายทางธุรกิจ" ของผู้เล่นในตลาดแต่ละราย

ตลาดคาร์บอนเครดิตที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่าตอนที่แล้วเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง ตลาดนี้ไม่เหมือนกับตลาดทั่วไปที่มีหน้าที่เพียงจัดสรรทรัพยากรระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ต้องการทุน แต่ตลาดคาร์บอนเครดิตมี "การลดการปล่อยคาร์บอน" เป็นเป้าหมายทางสังคมที่อยู่เหนือเป้าหมายของตลาดปกติขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ถ้าเงื่อนไขของตลาดสร้างแรงจูงใจของผู้เล่นในทางที่ทำให้เราถอยห่างจากเป้าหมายทางสังคมหรือบั่นทอนประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ก็คงไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่าตลาดนั้นเป็นตลาดที่ "ดี"

ในบรรดาแวดวงการเงินที่กำลังอุบัติขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทางสังคมเป็นหลักวงการหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งและกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย คือการเงินเพื่อคนจน หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ การเงินขนาดจิ๋ว หรือไมโครไฟแนนซ์ (microfinance) การเงินฐานราก การเงินรากหญ้า หรือการเงินชุมชน

หลายท่านอาจสงสัยว่า "การเงินชุมชน" แตกต่างอย่างไรจากสถาบันการเงินในระบบที่ให้บริการกับชุมชนอยู่แล้ว เช่น สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอำเภอต่างๆ ตรงนี้ผู้เขียนขออธิบายก่อนว่า คำว่า "องค์กรการเงินชุมชน" ที่ปรากฏในคอลัมน์นี้ จะใช้ในความหมายเดียวกันกับที่ใช้ในโครงการวิจัยที่ผู้เขียนมีส่วนร่วม ชื่อ "โครงการศึกษาแนวทางจัดทำเครื่องมือเพื่อประเมินตนเองขององค์กรการเงินฐานราก" กล่าวคือ องค์กรใดก็ตามที่ให้บริการทางการเงินกับชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านบริหารจัดการกันเอง มีคณะกรรมการองค์กรและระเบียบปฏิบัติชัดเจน

ภายใต้นิยามดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ เช่น ธ.ก.ส. หรือธนาคารออมสินที่ไปตั้งสาขาอยู่ตามตำบลต่างๆ จึงไม่นับเป็นองค์กรการเงินชุมชน เพราะชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เราพุ่งเป้าการวิจัยไปที่องค์กรที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมจริงๆ ซึ่งก็มีความหลากหลายอย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่องค์กรกึ่งรัฐ คือเป็นนิติบุคคลหรือมีกฎหมายรองรับ เช่น กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน (ยกระดับจากกองทุนหมู่บ้าน) สหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต เรื่อยไปจนถึงองค์กรนอกระบบที่ชาวบ้านจัดตั้งกันเอง เช่น สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท และกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ

ก่อนที่จะเล่าต่อ ผู้เขียนขอจารึกคำขอบคุณคณาจารย์ผู้ร่วมโครงการวิจัยนี้ก่อน เพราะลำพังผู้เขียนคงไม่มีปัญญาพอที่จะถ่ายทอดเรื่องราวและข้อค้นพบที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับการเงินชุมชนไว้ในคอลัมน์นี้ได้ หากไร้ซึ่งผู้ร่วมทีมวิจัยที่เปี่ยมความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ได้แก่ รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล และ ผศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล และ อ.สร้อยมาศ รุ่งมณี จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.สุกานดา ลูวิส จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.ภีม ภคเมธาวี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ประสานงานหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน รวมทั้งขอขอบคุณผู้ช่วยวิจัยทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณรัชนี สุขศรีวรรณ และคุณหทัย เหมทานนท์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คุณพลวิชญ์ ทรัพย์ศรีสัญจัย และคุณวรุตม์ วรดิถี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

การเงินชุมชนไทยเป็นแวดวงการเงินที่สลับซับซ้อนและมีพลวัตไม่หยุดนิ่ง ถึงนักวิจัยหลายคน จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือการเงินกระแสหลักก็ใช่ว่าจะเข้าใจและตามทันความคิดของ "นักการเงินชาวบ้าน" ผู้ปราดเปรื่องหลายท่านได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะถ้ามัวแต่ยึดติดกับทฤษฎีที่ตนเองได้ร่ำเรียนมาจนลืมนึกถึงบริบทของชาวบ้าน มองโลกจากแว่นของชาวบ้านไม่เป็นเพราะไม่ยอมถอดแว่นของตัวเองออกก่อน

ปัจจุบันยังไม่มีใครสำรวจวงการนี้อย่างเป็นทางการ แต่ผู้เขียนคิดว่าทั้งประเทศไทยน่าจะมีองค์กรการเงินชุมชนในนิยามของโครงการวิจัยนี้ไม่ต่ำกว่า 200,000 แห่ง บริหารจัดการเงินรวมกันไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท เฉพาะกองทุนหมู่บ้านที่ชาวบ้านเรียกว่า "กองทุนเงินล้าน" อย่างเดียวก็มีมากกว่า 79,000 ล้านบาทแล้ว (หมู่บ้าน 79,000 แห่งทั่วประเทศ ได้เงินหมู่บ้านละล้านบาท) หลายคนอาจไม่ทราบว่าก่อนหน้าที่รัฐบาลทักษิณจะประกาศนโยบายนี้ ประเทศไทยก็มีกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ ฯลฯ มานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว

สาเหตุหลักที่ทำให้องค์กรการเงินชุมชนเป็นที่ต้องการของชาวบ้าน และเติบโตขึ้นอย่างมากคือ องค์กรแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินในระบบสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ถ้าเรามองให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งก็พบว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงสถาบันการเงินในระบบก็มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการหลัก คือ 1.ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะใช้เป็นหลักประกัน และ 2.อาศัยอยู่ไกลจากตัวตำบลหรืออำเภอที่มีสาขาของธนาคาร

ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรที่อยากกู้เงินจาก ธ.ก.ส. จะต้องมีที่ดินหรือเงินออมในธนาคารเพื่อใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ ดังนั้น ถ้าปราศจากองค์กรการเงินชุมชน ชาวบ้านที่ไม่มีทั้งที่ดินและเงินออมแต่ต้องการกู้เงินก็มีทางออกเดียวเท่านั้นคือ กู้เงินจากนายทุนนอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงลิบลิ่วเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน สูงถึง 40-60% ต่อปีหรือมากกว่า

นอกเหนือจากการให้บริการทางการเงินด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงได้แล้ว องค์กรการเงินชุมชนยังช่วยอำนวยความสะดวกในแง่พื้นที่ โดยเฉพาะสำหรับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวตำบล ซึ่งเป็นระดับ "ชุมชน" ที่เล็กที่สุดที่ธนาคารของรัฐจะไปเปิดสาขา ส่วนธนาคารเอกชนไม่ต้องพูดถึง แค่เปิดสาขาในตัวอำเภอ ก็อาจทำกำไรไม่คุ้มค่าจ้างผู้จัดการสาขาแล้ว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีกำลังจะกู้หรือฝากเป็นหลักล้านหรือสิบล้าน

การสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ชาวบ้านในชนบทฝากเงินที่สาขาของธนาคารพาณิชย์เพียงประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น ที่เหลือร้อยละ 36 ฝากที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (เช่น ธ.ก.ส.) ร้อยละ 3 ฝากสหกรณ์ ร้อยละ 7 ฝากกลุ่มออมทรัพย์ และที่เหลืออีกร้อยละ 21 ไม่มีบัญชีเงินฝาก

ลองนึกภาพว่าถ้าคุณเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากสาขา ธ.ก.ส. ที่อยู่ใกล้ที่สุดหลาย 10 กิโล อยากฝากเงินทุกเดือนแต่เก็บเงินได้เพียงเดือนละ 50 บาท คุณคงไม่อยากเสียเวลาถ่อไปถึงสาขาทุกเดือน ไหนจะค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์หรือค่ารถสองแถว

ด้วยเหตุนี้ องค์กรการเงินชุมชนที่ "ตั้งโต๊ะ" ทำธุรกรรมกับชาวบ้านโดยตรงในหมู่บ้านจึงไม่ยากที่จะได้รับความนิยม ถ้าคณะกรรมการขององค์กรนั้นเป็นผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือและไว้ใจ ทำบัญชีเป็น ชาวบ้านก็จะยิ่งเกิดความอุ่นใจว่า เงินฝากที่ส่งทุกเดือน (มักเรียกว่า "สัจจะ" คือรักษาคำพูดว่าจะฝากทุกเดือน) นั้นจะไม่ถูกกรรมการเชิดหายเข้ากลีบเมฆ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ทีมวิจัยของเราพบว่าหลายพื้นที่ไม่ได้มีองค์กรการเงินชุมชนแค่แห่งเดียว หรือสองแห่ง แต่มีหลายแห่งที่แข่งขันกัน ทั้งที่เป็นองค์กร ปัจเจก (เช่น นายทุนนอกระบบ) และรูปแบบหลวมๆ (เช่น วงแชร์) มากมาย ดังตัวอย่าง "ถนนสายการเงินท้องถิ่น" แห่งหนึ่งซึ่งอาจเรียกให้ดูโก้เก๋ว่า "วอลล์สตรีตตำบล" ที่เราพบในตำบลหนึ่ง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช วาดเป็นแผนที่ได้ดังภาพต่อไปนี้

จากภาพนี้จะเห็นว่า ชาวบ้านในตำบลนี้มีทางเลือกค่อนข้างมากในการเลือกใช้บริการทางการเงิน และจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านหลาย 10 คน ทั้งที่เป็นสมาชิก และไม่ได้เป็น ทีมวิจัยของเราพบว่าพฤติกรรมการใช้บริการของชาวบ้าน มีความหลากหลายมาก แต่ส่วนใหญ่ล้วนตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทุกประการ เช่น ชาวบ้านที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน จะส่งสัจจะ เพราะหวังสวัสดิการ อาทิ เงินค่าฌาปนกิจ และเงินค่ารักษาพยาบาล ถ้ามีลูกวัยเรียน ก็จะส่งสัจจะเป็นเงินออมเพื่อลูกในระยะยาว และถ้ามีกำลังส่งสัจจะมากกว่า 1 กลุ่มออมทรัพย์ หลายคนก็จะพยายามส่งสัจจะให้กับหลายกลุ่ม เพื่อขยายวงเงินสวัสดิการที่ตนมีสิทธิจะได้

ก่อนที่จะเข้าใจบทบาทและวิธีวัดผลการดำเนินงานขององค์กรการเงินชุมชน เราจะต้องมาทำความเข้าใจ กับลักษณะขององค์กรการเงินแต่ละประเภทกันก่อน

เราสามารถแบ่งองค์กรการเงินชุมชนทั้งหมดในประเทศไทยออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ องค์กรที่เน้นการออมเพื่อสวัสดิการ ซึ่งอาจเรียกอย่างเป็นวิชาการเล็กน้อยว่า "welfare based model" กับองค์กรที่เน้นการปล่อยกู้ ซึ่งอาจเรียกว่า "lending based model"

ถึงแม้ว่าองค์กรการเงินชุมชนหลายแห่งจะพยายามทำทั้ง 2 อย่าง คือให้สวัสดิการกับปล่อยสินเชื่อ "น้ำหนัก" ที่องค์กรแต่ละประเภทให้กับกิจกรรม 2 ชนิดนี้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ก็ทำให้องค์กร 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันมาก องค์กรที่มุ่งทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นจะแตกต่างกันในระดับวิธีคิดและเป้าหมายหลักเลยทีเดียว กล่าวคือ องค์กรที่มุ่งระดมเงินออม เพื่อจัดสวัสดิการให้กับชาวบ้าน เช่น สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท ตั้งเป้าที่การจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐาน หรือ "social safety net" ของภาคประชาชน ในขณะที่องค์กรที่มุ่งปล่อยสินเชื่อ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ตั้งเป้าที่การปล่อยสินเชื่อให้ชาวบ้านไปใช้เพิ่มผลิตภาพการเพาะปลูกหรือริเริ่มธุรกิจขนาดย่อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัว อาจจะทำเป็นอาชีพเสริมก็ได้

ดังนั้นในเชิงทฤษฎี องค์กรแบบ welfare based model กับแบบ lending based model ไม่น่าจะเป็นคู่แข่งกัน แต่ดูจะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพราะแบบแรกสร้างเงินออมและจัดสวัสดิการ แบบที่สองปล่อยกู้ให้ชาวบ้านไปทำธุรกิจ

แต่โลกจริงมักจะซับซ้อนกว่าโลกในตำราเสมอ การเงินชุมชนไทยก็เช่นกัน

โปรดติดตามตอนต่อไป

view