สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อิทธิพลของปัจจัยทางการเงิน ต่อวัฏจักรธุรกิจไทย/คอลัมน์มองมุมใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สุรัช แทนบุญ/สุโชติ เปี่ยมชล/ธนวัมน์ รื่นบันเทิง/ไพบูลย์ พงษ์ไพเชฐ
สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย:


หาก ย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก จะพบว่าวิกฤตเศรษฐกิจส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นควบคู่กับความล้มเหลวในภาคการเงิน ราวกับเป็นฝาแฝดกัน ไม่เพียงแต่วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่วิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งในอดีตล้วนมีสาเหตุมาจากความสั่นคลอนในภาคการเงิน หรือในทางกลับกัน บ่อยครั้งที่ภาคการเงินต้องประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เหล่านี้สะท้อนถึงผลกระทบของความเชื่อมโยงระหว่าง เศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน

นอกจากนี้ การพึ่งพิงภาคการเงินดังกล่าวยังทำให้วิกฤตเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและ ยืดเยื้อกว่าปกติ จากสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ตัวเร่งทางการเงิน” (Financial Accelerator) หรือมี “วงจรผลกระทบย้อนกลับ” (Adverse Feedback Loop) เกิดขึ้น กล่าวคือ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย รายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง ส่งผลให้ฐานะงบดุลปรับเลวลง ทำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้อง เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หรือเรียกร้องค่าชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น ข้อจำกัดทางการเงินทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและปริมาณสินเชื่อที่ ตึงตัวขึ้นดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบย้อนกลับไปยังภาคเศรษฐกิจจริง โดยจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง และทำให้ฐานะ การเงินของภาคครัวธุรกิจและครัวเรือนเลวลงไปอีก ซึ่งความ สัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้บังเอิญเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจขาลงเท่านั้น แต่ในช่วงขาขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงก็มักจะมาพร้อมกับภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย มากกว่าปกติหรือภาวะสินเชื่อ ที่เร่งตัวเช่นกัน

ดังนั้น ปัจจัยทางการเงินจึงมีบทบาทสำคัญต่อความผันผวนของ วัฏจักรธุรกิจอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สร้าง (Generate) วัฏจักรธุรกิจ ส่งผ่าน (Propagate) และขยายผล (Amplify) การขึ้นลงของวัฏจักรธุรกิจให้รุนแรงและยาวนานขึ้น

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่าง เศรษฐกิจจริงและภาคการเงินของไทย โดยจะวัดอิทธิพล ของตัวเร่งทางการเงิน (Financial Accelerator) ผ่านฐานะการ เงินของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินว่า มีผลอย่างไรต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ ทั้งจากการศึกษาเชิงประจักษ์และจากแบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) ที่สามารถอธิบายและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกของวงจรผลกระทบย้อนกลับได้

จากผลการศึกษาพบว่า (1) เศรษฐกิจจริงของไทยพึ่งพิงภาค การเงินค่อนข้างมาโดย เฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของภาคธุรกิจ ส่วนการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง ของฐานะเงินกองทุนของสถาบันการเงินและโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ (2) ค่าชดเชยความเสี่ยง (External Finance Premium) ของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินต่างมีความอ่อนไหวต่อฐานะ การเงิน (Net Worth) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยแม้ค่าชดเชย ความเสี่ยงของภาคธุรกิจโดยเฉลี่ยจะมีระดับที่สูงกว่าของสถาบันการเงิน แต่ค่าชดเชยความเสี่ยงของสถาบันการเงินกลับมีความอ่อนไหว ต่อฐานะการเงินมากกว่า และ (3) จากแบบจำลอง DSGE ของเศรษฐกิจไทย ชี้ว่าตัวเร่งทางการเงินทำให้ความผันผวนของ วัฏจักรธุรกิจไทยมีมากขึ้น เมื่อเทียบกับกรณีที่สมมติให้ไม่มีตัวเร่งทางการเงิน โดยฐานะการเงินของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินมีอิทธิพลต่อการส่งผ่านและขยาย ผลของ Shock แบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับภาคการเงินสูง การศึกษาทำความเข้าใจถึงผลกระทบของปัจจัยทางการเงินหรือฐานะงบดุลนับว่ามี ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของช่องทาง การส่งผ่านนโยบายการเงินที่สำคัญแล้ว (ช่องทางสินเชื่อ) ยังมีผล ต่อความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจของไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจประสบภาวะวิกฤต ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินมีความเสี่ยงสูงขึ้น ทางการควรเข้าไปตัดวงจรผลกระทบย้อนกลับให้มีน้อยที่สุด เช่น การค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการกระตุ้นทางการคลัง เพื่อป้องกัน มิให้เศรษฐกิจตกอยู่ในวังวนของภาวะถดถอยอย่างรุนแรงและ ยาวนานเกินไป

view