สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละโครงสร้างราคาน้ำมันจาก18บาทพุ่งเป็น30บาททำไมผู้บริโภคถึงจ่ายแพง!

"ประชา ชาติธุรกิจ"ตรวจสอบการเดินทางของราคาน้ำมันทำไมถึงแพงลิ่ว? ทั้งๆที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ70เหรียญ/บาร์เรลลดจาก ช่วงที่สูงลิ่วเฉียด150เหรียญถึงเท่าตัว แต่คนใช้รถ คนทำธุรกิจยังต้องจ่ายแพง เนื้อน้ำมันจริงๆราคาเท่าไร รัฐบวกเพิ่มภาษีอะไรเข้าไปบ้าง !!

ราคาน้ำมันดิบที่ขยับขึ้นไปแค่ 70 เหรียญ/บาร์เรล ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงกับต้องออก 5 มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อประชาชนแบบครบวงจร ซึ่งประกอบไปด้วย
  1)ปรับลดราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกลง 2 บาท/ลิตร 2)การตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ออกไปอีก 1 ปี (สิงหาคม 2552-สิงหาคม 2553) ส่งผลให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ในระดับราคาที่ 18.13 บาท/ก.ก. ซึ่ง "ต่ำกว่า" ต้นทุนการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 25.73 บาท/ก.ก. 3)มาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถแท็กซี่ ด้วยการสนับสนุนให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซ LPG 4)การตรึงราคาก๊าซ NGV ออกไปอีก 1 ปี (สิงหาคม 2552-สิงหาคม 2553) ส่งผลให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายก๊าซ NGV เพียงรายเดียวในประเทศต้องขาย "ต่ำกว่า" ต้นทุนจริง เหมือนกับที่รัฐดำเนินการกับก๊าซ LPG เช่นกัน
และ 5)การตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) จนถึงเดือนสิงหาคม 2553 ส่งผลให้ประชาชนจ่ายค่า Ft ในระดับ 92.55 สตางค์/หน่วย ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับภาระค่า Ft เพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านบาท จากที่รับภาระอยู่เดิม 20,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสิ้นสุดในปลายปีนี้ กลายเป็นปลายปีหน้า (2553)
ทั้งนี้ มาตรการที่ 1)การปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2 บาท/ลิตรนั้น จะใช้วิธีลดการส่งเงินเข้ากองทุนสำคัญ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานลง 0.70 บาท/ลิตร จากที่จัดเก็บอยู่ 0.75 บาท/ลิตร กับลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง 1.17 บาท/ลิตร จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ 1.70 บาท/ลิตร เหลือ 0.53 บาท/ลิตร เมื่อรวมเงินจากการลดการจัดเก็บจากทั้ง 2 กองทุน จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกลดลงไป 2 บาท/ลิตร โดยการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯจะมีผลทำให้รายรับของกองทุนลดลง 856 ล้านบาท/เดือน
คำถามก็คือราคาน้ำมันดีเซลที่รัฐโดดเข้ามา "อุดหนุน" ด้วยการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯนั้น แท้จริงแล้วมีราคา "เนื้อน้ำมัน" เท่าใดกันแน่ และราคาควรจะลดลงได้มากกว่านี้หรือไม่ ? ปัญหานี้สามารถหาคำตอบได้จากโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศนี้
ปัจจุบันน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 29.69 บาท แต่ถ้าหาก "ชำแหละ" โครงสร้างราคาดีเซลออกมา จะพบความจริงที่น่าตกใจว่าแท้จริงแล้ว ราคาน้ำมัน ณ หน้าโรงกลั่นนั้นถูกขายอยู่เพียงลิตรละ 18.0387 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าการเดินทางของน้ำมันดีเซลจากหน้าโรงกลั่นน้ำมันมาจนถึงมือ ผู้บริโภค ถูก "บวกเพิ่ม" เข้าไปถึงลิตรละ 11.65 บาท
โดยรายการที่ถูกบวกเพิ่มเข้าไปในราคาน้ำมันดีเซลมากที่สุดจะได้แก่ ภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บไปถึงลิตรละ 5.31 บาท รองลงมาจะได้แก่ การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯลิตรละ 1.70 บาท การเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานลิตรละ 0.75 บาท นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บ VAT อีก 2 ช่วงคือ ช่วงแรกราคาขายบวกภาษีทั้งหมด เรียกเก็บ VAT อยู่ที่ 1.8431 บาท/ลิตร และช่วงที่สองหลังจากที่รวมค่าการตลาด (ลิตรละ 1.4180 บาท) เข้าไปแล้ว ยังมีภาระ VAT อยู่อีก 0.0993 บาท เมื่อรวมภาระที่ถูกเรียกเก็บทั้งหมดแล้ว ส่งผลให้ราคาดีเซลขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 29.69 บาท หรือเกือบ 30 บาท/ลิตรทีเดียว
ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 ที่ปัจจุบันขายอยู่ที่ลิตรละ 26.89 บาทก็เช่นกัน จากราคาเนื้อน้ำมัน ณ หน้าโรงกลั่น ที่จำหน่ายอยู่ที่ลิตรละ 18.3002 บาทนั้น ถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเข้าไปถึงลิตรละ 5.0400 บาท แม้ไม่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ยังถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานลิตรละ 0.2500 บาท บวกกับ VAT ช่วงแรกที่ 1.6705 บาท/ลิตร และเมื่อรวมค่าการตลาดอีกลิตรละ 1.2667 บาท บวก VAT ช่วงที่สองอีก 0.0887 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคา B5 กลายเป็นลิตรละ 26.89 บาท
ที่สำคัญก็คือราคาดีเซลหมุนเร็วกับดีเซล B5 ที่แตกต่างกันอยู่ลิตรละ 2.8 บาทนั้น เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่จะ "จูงใจ" ให้คนหันมาใช้ดีเซล B5 มากขึ้น ด้วยการ "งด" จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมๆ กับใช้เงินกองทุนเข้าไปอุดหนุนราคาด้วย เพื่อให้มีส่วนต่างของราคาอยู่ไม่น้อยกว่าลิตรละ 1.20 บาท
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันดีเซลถูก "บวกเพิ่ม" เข้าไปเกือบ 1 เท่าตัวจากราคาที่แท้จริง เมื่อน้ำมันถูกส่งออกมาจากโรงกลั่น และเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นจนราคาขายปลีกดีเซลภายในประเทศมีแนว โน้มที่จะทะลุ 30 บาท/ลิตร รัฐบาลชุดนี้จึงตัดสินใจเลือกที่จะ "ตรึง" ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ ด้วยการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทั้ง 2 กองทุนมีเงินรวมกัน 2.45 บาท/ลิตร
นั่นหมายถึงสูตรการลดเงินจัดเก็บเข้ากองทุนครั้งนี้ มี "ส่วนต่าง" ให้เล่นอยู่ไม่เกิน 2.45 บาท/ลิตร ซึ่งปัจจุบันถูกใช้ไปแล้ว 1.70 บาท/ลิตร คงเหลือการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯจากผู้เติมน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ แค่ 0.53 บาท/ลิตร และจัดเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแค่ 0.05 บาท/ลิตรเท่านั้น ในขณะที่ดีเซลหมุนเร็ว B5 นั้น กองทุนน้ำมันฯต้องจ่ายเงิน "อุดหนุน" เพื่อคงส่วนต่างระหว่างดีเซลหมุนเร็วธรรมดากับดีเซล B5 ที่ 1.20 บาท/ลิตร ด้วยการใส่เงินเข้าไปถึงลิตรละ 0.81 บาท แต่ยังคงเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานลิตรละ 0.25 บาทอยู่
เท่ากับว่ารัฐบาลเหลือทางเลือกอยู่เพียง 2 ทาง ที่จะสามารถนำมาใช้ตรึงราคาน้ำมันภายในประเทศได้นับจากนี้ต่อไป หากเกิดอุบัติการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งไปมากกว่านี้ ก็คือ 1)การลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลง จากปัจจุบันที่จัดเก็บเฉพาะน้ำมันดีเซลอยู่ประมาณลิตรละ 5 บาท กับ 2)การนำเงินสะสมของกองทุนน้ำมันฯประมาณ 28,000 ล้านบาท ออกมาใช้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการหรือไม่ หรือเลือกที่จะยอมรับ "ความจริง" ที่ว่า แท้จริงแล้วกระบวนการในการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯก็คือ การนำเงินที่ได้จากผู้บริโภคมา "อุดหนุน" ด้วยการบิดเบือนราคาน้ำมันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น


ตารางประกอบ*



view