สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกสวยด้วยอาชีพสีเขียว

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เรื่อง วุฒิชัย สาสุข / กุลณรี สวพนังกุล:


ยุคที่โลกกำลังโดนคุกคามอย่างหนัก ดูเหมือน “กรีนจ๊อบ” หรือ “งานสีเขียว” ถูกพูดถึงหนาหู และไม่ทันใดก็ได้ขึ้นแท่นเป็นพระเอกเสียแล้ว

เมื่อ ภารกิจของพวกเขาคือเฟืองจักรสำคัญในการเกื้อหนุนให้สรรพสิ่งดำเนินไปตามกลไก ธรรมชาติ ก่อนที่มันจะค่อยๆ โบกมืออำลาโลกในไม่ช้านี้

 

ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม

ขับรถตามกฎจราจร (เป๊ะๆ) อยู่กลางมหานครนิวยอร์ก แล้วจู่ๆ ก็มีบุรุษในยูนิฟอร์มสีเขียว สวมหมวกคาวบอย พกปืนสั้น แถมยังเหน็บกุญแจมือที่สะเอว ปรี่เข้ามาส่งสัญญาณให้คุณหยุดรถ

จงรับรู้ไว้เถิดว่าถึงแม้คุณจะไม่ได้ฝ่าไฟแดง แซงทางโค้ง หรือขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด วินาทีนั้นคุณก็อาจกลายเป็นผู้กระทำผิดในคดีทำร้ายโลกใบนี้ได้ซะแล้ว

บุรุษคนดังกล่าว ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจนี่ละ แต่ไม่ธรรมดาตรงที่เขาเป็น “ตำรวจสีเขียว” หรือ “Green Police” สามารถเขียนใบสั่งให้คุณไปเสียค่าปรับ หรือขึ้นศาลในสารพัดข้อหาที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้ พบเห็นกันบ่อยสุด คือการปล่อยปริมาณควันเสียเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

“เรา จะใช้เครื่องตรวจวัดติดไว้ที่ท่อไอเสียของรถที่ถูกเรียกให้จอด เมื่อวันก่อนผมพบรถบรรทุกปี 1986 ปล่อยปริมาณควันพิษมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 30% คนขับจึงต้องถูกปรับเป็นเงิน 700 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.5 หมื่นบาท) หากเขานำรถคันนี้ไปปรับปรุงเรื่องการปล่อยควันให้อยู่ในระดับมาตรฐานภายใน 30 วัน เขาก็จะได้รับการลดค่าปรับลง แต่ถ้าเขาไม่ทำอะไรเลย ค่าปรับก็จะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเป็น 1,300 เหรียญสหรัฐ (ราว 4.5 หมื่นบาท)” ทิโมธี แมคนิกา นายตำรวจสีเขียว วัย 24 ปี แจกแจง

ทิโมธีทำงานอยู่สังกัดสำนักงานตำรวจสีเขียว (ก่อตั้งเมื่อปี 1980) และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายตัวอยู่ทั่วรัฐราว 300 นาย แต่มีนิวยอร์เกอร์เพียงจำนวนน้อยที่รู้ว่ามีอาชีพสีเขียวนี้อยู่ภายในรัฐนี้ ทำให้คนที่โดนข้อหาส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าตัวเองกำลังถูกตำรวจจับ ขณะที่ส่วนหนึ่งคิดว่าพวกเขา (อาจ) กำลังถูกอำเล่นจากเรียลิตีโชว์รายการใดรายการหนึ่ง

“คนมักจะหัวเราะเราและคิดว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผมเคยเรียกรถที่ปล่อยควันดำคันหนึ่งให้จอด เขาถามผมว่ามาตามหากวางหลงเหรอ แต่พอผมชูตราตำรวจให้เขาดู ยื่นใบสั่งให้และบอกว่าเขาอาจจะต้องขึ้นศาล เขาก็หยุดหัวเราะทันที หรือที่ตลาดปลา เราก็จะตรวจสอบขนาดของสัตว์น้ำเพื่อปกป้องสายพันธุ์ของมัน รวมถึงสอบถามแหล่งที่มา เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้จับสัตว์น้ำบางชนิดจากแหล่งน้ำบางแห่ง”

ทุกๆ วัน ทิโมธีและเพื่อนๆ ไม่เพียงขับรถอเนกประสงค์คันสีเขียวเข้ม มีโลโก้ DED แปะหราไว้ด้านข้าง ซึ่งเป็นตัวย่อของสำนักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ออกตระเวนตามล่าผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะบนท้องถนนเท่านั้น แต่ยังกินขอบเขตไปทุกหนแห่งไม่ว่าจะเป็นบ้าน ร้านสะดวกซื้อ หรือตลาดสด โดยในแต่ละเดือนตำรวจสีเขียวสามารถจับผู้ทำร้ายโลกใบนี้ได้มากถึง 300 ราย แถมยังมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มือปราบไฟป่า

อาจจะเป็นอาชีพที่ใครๆ ก็ไม่อยากทำ แต่หากไม่มีพวกเขาผืนป่าบ้านเราคงวอดมากกว่านี้ กว่า 14 ปีแล้วที่ ธงชัย สาแรก คลุกคลีอยู่กับไฟป่า เขาคือนักสู้ไฟตัวฉกาจ ขณะเดียวกันเขาก็พร้อมสวมวิญญาณนักหนีไฟตัวยง หนี...ในที่นี้คือเทคนิคเอาตัวรอดเวลาลุยเปลวไฟ เพราะนั่นอาจหมายถึงชีวิตที่ไม่ปลอดภัย เช่นที่เกิดข่าวอยู่บ่อยๆ ว่าเจ้าหน้าที่ไฟป่าสิ้นลมด้วยเหตุโดนไฟคลอก หรือสำลักควัน

“คนที่จะมาทำงานนี้ต้องเข้าใจไฟและเข้าใจควันอย่างดีครับ ไม่ใช่ใครก็ได้ ไฟจะสอนให้เรารู้จัก ‘สู้’ ขณะเดียวกันมันก็สอนเรื่อง ‘หนี’ ไปในตัว”

ปัจจุบันธงชัยประจำอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า กาญจนบุรี ก่อนหน้านั้นเขาเคยไปทำหน้าที่มือปราบไฟป่าในแถบภาคอีสานนานกว่า 8 ปี ใช้ชีวิตแบบท้าทาย ตื่นเต้น ยิ่งเฉพาะยามที่ฤดูไฟป่าโคจรมาอีกรอบ (ตั้งแต่พ.ย.-เม.ย.)

“เสี่ยงนิดหน่อยครับ แต่ไม่ถึงกับอันตราย ถ้าไม่ประมาท และมันเป็นงานที่ต้องลุย จะหนักก็ช่วงหน้าแล้งนี่ละ ผมว่าความท้าทายไม่ใช่แค่การเข้าไปดับไฟอย่างเดียวนะ จริงๆ แล้วมันคือการสร้างความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้องต่อปัญหานี้”

ความร้อนจากเปลวเพลิงบวกกับปริมาณควันที่ลอยฟุ้งในอากาศ ล้วนแต่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ทว่าเหนืออื่นใด แนวทางการทำให้โลกเย็นลง ก็ไม่ใช่หน้าที่ของมือปราบไฟป่าคนเดียว แต่ทุกคนควรมีจิตสำนึกและต้องร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติกันอย่างเข้มข้น

“ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่สามารถป้องกันได้ ที่ผ่านมาไฟป่าบ้านเราไม่ค่อยรุนแรงเท่ากับที่ออสเตรเลีย หรืออเมริกา ของเขาจะหนักครับ เกิดทีเสียหายมหาศาล ของเราถ้าอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์จะป้องกันได้ทัน แต่พออยู่นอกพื้นที่ อย่างพื้นที่กรรมสิทธิ์ชาวบ้าน ซึ่งบางครั้งเขาเป็นคนจุด กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดับ ไฟก็ไหม้เกือบหมดแล้ว”

นักออกแบบลดโลกร้อน

งานออกแบบที่อิงกระแสลดโลกร้อน ขานรับกับวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้น คนออกแบบภูมิใจ ผู้ใช้ก็ตระหนักรู้ จึงมากมายด้วยความหมายที่ซ่อนอยู่ “Emergency Toilet” หรือ “ส้วมฉุกเฉิน” อีกหนึ่งชิ้นงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบมือฉมังแห่งสำนัก พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พฤกษชาติ ชีวะโอสถ ที่เพิ่งคว้ารางวัลป๊อปปูลาร์โหวต จากการประกวด EcoDesign 2009 โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

รูปลักษณ์เท่ขาดบาดใจ แต่มากกว่านั้นคือเปี่ยมประโยชน์ใช้สอย ที่สำคัญประหยัดมาก...ก สนนราคา 80 บาทต่อชิ้น ทำจากวัสดุเหลือทิ้ง หาได้จากร้านโชห่วยข้างบ้าน

“มันเป็นส้วมที่ทำจากกระดาษลูกฟูก หรือที่เราเรียกกันว่ากระดาษลังใส่ของนี่ละ ต้นทุนมันถูกมาก แต่ใช้งานได้จริง สะดวกในการพกพา พับเก็บได้ น้ำหนักเบา เหมาะกับการเดินทาง หรือช่วงมีน้ำท่วม ช่วยได้เยอะทีเดียว”

แนวคิดของส้วมฉุกเฉินถูกต่อยอดมาจากงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งพฤกษชาติคุ้นชินอยู่แล้ว นับเป็นนวัตกรรมด้านการออกแบบที่สามารถลดปัญหาขยะทางอ้อม โดยนำของเก่ากลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง

“สำหรับผมนี่คืองานออกแบบที่ลดโลกร้อนได้ 100 เปอร์เซ็นต์เลยนะครับ กระดาษลังเป็นของเก่า ถุงดำที่ใช้รองรับของเสียก็เป็นชนิดย่อยสลาย พังก็ซ่อม ทุกอย่างมันมีเหตุผล และสามารถจัดการได้ เพียงแต่ถ้ามองลึกๆ การที่ยังต้องพึ่งกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เช่น การผลิตกระดาษ การผลิตถุงดำ ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรผลิต คำว่าลดโลกร้อนตรงนั้นมันอาจไม่บริสุทธิ์เท่าไหร่”

นอกจากพฤกษชาติแล้ว เดี๋ยวนี้ยังมีนักออกแบบอีกจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานใหม่ จากที่เคยมุ่งแต่ความเท่ความเก๋ ก็หันมาเน้นขายไอเดียสร้างสรรค์ โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อโลก

นักเขียนรักษ์ธรรมชาติ

ตอนที่ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เขียนหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ใครก็มองว่านั่นเป็นแค่ความคิดเพ้อเจ้อ จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก้าวล้ำ คนเรายังจะต้องปลูกผักปลูกหญ้า อยู่กับธรรมชาติแบบสังคมเก่าๆ ยิ่งไม่มีทาง แต่เวลาล่วงผ่านแนวคิดของผู้เฒ่าคนนี้กลับถูกนำมาศึกษาอย่างจริงจัง จนกลายเป็นหนทางให้เกิดวิถีเกษตรที่ช่วยค้ำจุนโลก และเขาก็คือบุคคลสำคัญในฐานะ “กรีนจ๊อบ” ที่คูลสุดๆ

ในหนังสือเล่มหนา (พอประมาณ) ฟูกูโอกะได้นำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตที่อิงกับธรรมชาติ เขาเชื่อว่าความไพบูลย์ทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลมีผลต่อการดำรงอยู่ของ ธรรมชาติ และเขาก็เชื่ออีกว่าการบำรุงรักษาผืนแผ่นดินเท่ากับการชำระจิตใจของมนุษย์ ให้บริสุทธิ์

มาถึงปัจจุบันงานเขียนแนวนี้กำลังแข่งกันผุดขึ้นราวดอกเห็ด ส่วนหนึ่งเพราะเทรนด์โลกร้อนมาแรง แน่นอน...ความคลาสสิกและความลุ่มลึกคงต้องยกให้ฟูกูโอกะ แต่เมื่อสำรวจบนแผงหนังสือก็พบว่ามีหลายเล่มที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ “Living Green Together : วิถีสีเขียว ผู้ผลิต ตลาด และผู้บริโภค” โดยปลายปากกา “ภัทรพร อภิชิต”

เนื้อหาหนังสือไม่ได้มุ่งสู่การดูแลโลกโดยตรง แต่กลับพยายามจะชี้ถึงวิถีทางที่ทำให้โลกสมดุล ในแง่การผลิต การบริโภค และการตลาด อันมีเป้าหมายสูงสุดคือความยั่งยืน ทั้งผู้คนและธรรมชาติ เมื่อคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมดี โลกก็จะถูกทำร้ายน้อยลง

นับเป็นแรงบันดาลใจที่เราจะได้เรียนรู้จากภาษาและลีลาเรียบง่าย แต่แฝงไว้ซึ่งการใส่ใจโลก และไม่ยากสำหรับการลงมือทำเลยสักนิด

เปิดแผงบอสตันเฟิร์น

พญามือเหล็ก เพชรนารายณ์ เขียวหมื่นปี กำมะหยี่ แอฟริกันไวโอเลท กล็อกซีเนีย บ้านไหนปลูกอยู่อาจจะเอาต์ไปแล้ว ที่อินน่ะมันต้อง “บอสตันเฟิร์น” เท่านั้น

ส่วนใครที่คิดเปิดแผงขายต้นไม้ แต่อยากไม่เหมือนใครและเข้ากับกระแสโลกร้อน แนะนำควรจะเปิดแผงบอสตันเฟิร์น รับรองลูกค้าตรึม!!!

ดร.บี ซี วูฟเวอร์ตัน นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซา ค้นพบความสามารถและประสิทธิภาพของไม้ประดับในการกำจัดสารพิษ หรือมลภาวะในอากาศได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งมีมากถึง 50 ชนิด หนึ่งในนั้นก็คือ บอสตันเฟิร์น

พันธุ์ไม้ชนิดนี้อยู่คู่โลกมายาวนาน มีลักษณะก้านใบแข็งโค้งออกและทิ้งตัวลงเมื่ออายุมากขึ้น ใบหนาทึบไม่มีดอก นิยมปลูกในกระถางแขวน หรือในกระถางประดับตามเสาหินก็สวยงาม กระทั่งปลูกเป็นไม้ประดับในอาคารก็ชวนค้นหา

ความพิเศษของบอสตันเฟิร์นนั้นจะช่วยดูดสารพิษ เช่นว่า คาร์บอนไดออกไซด์ และจำพวกสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งมีในเฟอร์นิเจอร์ไม้ ขณะที่การดูแลง่ายมาก แค่รดน้ำทุกวัน ให้โดนแสงแดดอ่อนๆ บ้าง เท่านี้มันก็จะเป็นมือขวาในการกำจัดของเสียที่บ้านและที่ทำงานได้แล้ว ว่ากันว่าดีกว่าซื้อเครื่องฟอกอากาศตั้งเยอะเชียวละ

แผงที่เจาะจงขายบอสตันเฟิร์นเฉพาะอาจไม่มี อยากได้ต้องลองแวะแผงต้นไม้ทั่วไป แต่โดยมากมักบอกว่าไม่มี ทั้งๆ ที่เป็นพันธุ์ไม้กู้โลก ก็งงเล็กน้อย พ่อค้าแม่ค้าขายต้นไม้ทราบแล้วเปลี่ยน ช่วยนำบอสตันเฟิร์นมาขายโดยด่วน

view