สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา..หมากกระดานนี้ยังไม่จบ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


แม้จะเป็นเจ้าของธุรกิจแสนล้าน สร้างธุรกิจกว่า 300 บริษัท แต่ "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ในวัย 72 ปี ก็ "ไม่เคย" คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จแล้ว

นี่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขายังเปิดเกมรุก ขยายธุรกิจแบบไม่เคยหยุดนิ่ง เรียนรู้สิ่งใหม่ให้เท่าทันทุกขณะ และไม่ประมาทหลงระเริงต่อความสำเร็จตรงหน้า

เพราะในสมองของพญามังกรค่ายสหพัฒน์ผู้นี้มองว่า "หมากกระดานนี้ยังไม่จบ"

บนสนามธุรกิจมีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ แม้จะผ่านประสบการณ์ธุรกิจมาเกือบ 60 ขวบปีแล้วก็ตาม แต่บนเส้นทางนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู่ ฟันฝ่า

จนกระทั่งเมล็ดพันธุ์เอสเอ็มอีนามว่า "เฮียบเซ่งเซียง" สามารถแตกหน่อ ออกผล เติบใหญ่ แผ่ขยายออกเป็นอาณาจักรมูลค่านับแสนล้านบาทอย่าง "สหพัฒนพิบูลย์" ได้อย่างในปัจจุบันนั้น

ชีวิตนักธุรกิจแสนล้วน เริ่มต้นขึ้นในวัยเพียง 17 ปีของคนหนุ่มอย่าง "บุ้นเซี้ยง" หรือ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา บุตรชายคนที่สามของ นายห้างเทียม โชควัฒนา ซึ่งต้องหยุดการศึกษาไว้ที่ระดับมัธยม 6 เพื่อเดินทางจากบ้านไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่น ตามคำสั่งของผู้เป็นบิดา ซึ่งต้องการให้เข้ามาช่วยกิจการในครอบครัว

โดยถูกส่งให้ไปทำงานที่ บริษัท เคียวโกะ เมืองโอซาก้า ทำหน้าที่สั่งซื้อสินค้ามาขายในประเทศไทย อันเป็นลู่ทางธุรกิจที่นายห้างเทียมเล็งเห็นว่ามีโอกาสดี ทั้งยังกำไรงามกว่าการขายน้ำตาล ข้าวสารเช่นที่เคยทำ

ขณะที่ช่วงชีวิตของพี่น้องในเวลาเดียวกันนั้น กลับได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างเต็มที่ พี่น้องทุกคนล้วนแต่จบการศึกษาระดับปริญญา แต่บุณยสิทธิ์ กลับเป็นลูกเพียงคนเดียวของนายห้างเทียมที่ไม่ได้จบปริญญาจากสถาบันการศึกษา ใดๆ

หากแต่ต้องจากบ้านไปศึกษาบทเรียนธุรกิจในสนามจริงถึงประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะกลับมายืนเคียงข้างผู้เป็นบิดา ซึ่งตัวเขาเรียกติดปากว่า "นายห้าง"  เพื่อปลุกปั้นนำพากิจการโชห่วยเล็กๆ ในตรอกอาเนียเก็ง นามว่า "เฮียบเซ่งเซียง" ให้มั่นคงแข็งแรง เติบโตกลายเป็นไม้ใหญ่ ก่อนจะแผ่ขยายสาขา แตกหน่อ ออกผล เกิดเป็นอีกกว่า 300 ธุรกิจในเครือสหพัฒน์

จากโชห่วยร้านเล็กๆ อันเป็น ปฐมบทของมหาอาณาจักรมูลค่านับแสนล้านบาทอย่าง "สหพัฒนพิบูลย์" ในเวลาต่อมา บุณยสิทธิ์ ในฐานะบุตรชายคนที่ 3 ของนายห้างเทียม ได้พบเห็นการก่อร่างสร้างธุรกิจของผู้เป็นบิดามาตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนจะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในเวลาต่อมานั้น ผ่านมาแล้วทั้งความล้มเหลว และ ประสบความสำเร็จสูงสุดในหลากหลายรูปแบบ

... แต่กระนั้น ถ้อยวลี ที่เปรยออกจากปากชายวัย 72 ปีผู้นี้ ระหว่างการปาฐกถา ครั้งแรกและเจ้าตัวยืนยันว่าจะเป็นครั้งเดียวของเขา ในงานเปิดตัวมูลนิธิสัมมาชีพ เมื่อค่ำคืนของวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา กลับมีอยู่ว่า

"ผมมองว่าหมากกระดานนี้ยังไม่ถึงตาสุดท้าย เพราะถ้าลงเม็ดสุดท้าย ก็ต้องแปลว่าไม่ทำต่อไปแล้ว

แต่เวลานี้ผมอายุ 72 ก็จริง แต่ผมก็ยังไม่ได้มองว่าผมทำธุรกิจสำเร็จ ผมยังมองเห็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป ยังต้องเดินหน้าธุรกิจเครือสหพัฒน์ต่อไป"

นั่นย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงพื้นฐานนิสัยที่พร้อมที่จะเรียนรู้ และ พบเจอ สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งยังไม่เคยคิดที่จะหยุดก้าวแม้สักนาทีเดียว

ดังเช่นที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะคนคุ้นเคย ได้เอ่ยถึงบุณยสิทธิ์ ไว้ว่า "ท่านเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การทำงานให้สำเร็จนั้น มันต้องเริ่มจาก Think Big แต่ Act Small เริ่มจากจุดเล็กๆ เก็บเล็กผสมน้อย เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่างานทุกงานต้องรู้จักเรียนรู้ เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว จะทำอะไรก็แล้วแต่ ตามไปดู ไปเรียนรู้"

พร้อมกันนี้ ยังยกให้บุณยสิทธิ์เป็นตัวอย่างของมหาเศรษฐีที่ดี ที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่เคยหรูหราฟู่ฟ่า

"ครั้งแรกที่ผมพบคุณบุณยสิทธิ์ ผมตกใจ เพราะโต๊ะทำงานของผู้บริหารใหญ่ท่านนี้ ยังเล็กกว่าโต๊ะทำงานผมที่นิด้าเลย ส่วนบ้านที่อยู่ก็เป็นตึกแถวตรงข้ามกับไอซีซี ซึ่งชีวิตที่เป็นอยู่นี่ คือ ชีวิตที่เรียบง่าย

คุณบุณยสิทธิ์เป็นคนที่สอนให้ผมรู้จักปรัชญาจีน บอกผมว่า คนเรานั้นต้องรู้จักผลักน้ำออกแล้วน้ำถึงจะไหลเข้า แปลว่าต้องรู้จักให้ไม่ใช่จะเอาแต่ได้ บอกผมว่า คนเรานั้นมากคนมากวาสนา จะทำงานอะไรนั้นต้องใจกว้าง ใช้คนให้เป็น แล้วก็ยังสอนผมว่าการแข่งขันนั้นคือการแข่งขันกับตัวเอง

สิ่งที่สำคัญมาก ก็คือ ผมไม่เคยเห็นคุณบุณยสิทธิ์คิดจะเอาเปรียบสังคม เขาบอกผมว่า อาชีพของเขานั้นคือการสร้างธุรกิจ สร้างอุตสาหกรรม ไม่ใช่คิดเอากำไร" คือคำกล่าวของ ดร.สมคิด ระหว่างขึ้นกล่าวแนะนำ องค์ปาฐก ซึ่งก็คือ บุณยสิทธิ์ ผู้นี้

ด้วยอุปนิสัยใฝ่รู้ รู้อะไรต้องรู้ให้หมด รู้ให้จริง ยืนยันได้จากตอนหนึ่งของหนังสือ "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ชีวิตนี้เป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นหนึ่ง" เขียนโดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล  ผ่านการเล่าเรื่องจากปากของ สำเริง มนูญผล ลูกหม้อสหพัฒน์ และ เพื่อนสนิทของบุณยสิทธิ์ ที่บอกว่า

"มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปเยี่ยมที่บ้าน ต้องตกใจ เพราะภาพที่เห็น คุณบุณยสิทธิ์กำลังถอดชิ้นส่วนของรถเบนซ์ราคาหลายล้านที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ ออกเป็นชิ้นๆ ก่อนจะประกอบเข้าไปตามเดิม"

... เพียงแค่อยากรู้ว่า รถคันดังกล่าวมีดีอย่างไร ทำไมถึงได้ขายแพงนัก

หรือจะเป็นเมื่อครั้งที่ได้รับนาฬิกาเรือนใหม่จากนายห้าง บุณยสิทธิ์ ก็จะจัดการแยกชิ้นส่วนเพื่อศึกษาการทำงานของเจ้าเครื่องบอกเวลา ก่อนจะประกอบกลับเข้าไปดังเดิม

หรือจะเป็นเมื่อครั้งวัยเด็ก ซึ่งเด็กชายบุ้นเซี้ยงผู้นี้ กำลังดื่มด่ำกับงานอดิเรกที่โปรดปรานที่สุด คือ การถ่ายรูปนั้น ด้วยนิสัยที่รู้อะไรต้องรู้ให้หมด รู้ให้จริง จึงทำให้การเล่นกล้องของบุณยสิทธิ์ จึงมีอุปกรณ์พรักพร้อม ทั้งห้องมืด เครื่องล้างอัดรูปของตัวเองอยู่ในบ้าน โดยภาพถ่ายครอบครัวโชควัฒนาตั้งแต่เมื่อครั้งกว่า 50 ปีก่อนนั้น ต่างก็เป็นฝีมือของเด็กหนุ่มบุ้นเซี้ยง

อุปนิสัยเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ทั้งสิ้น

ความสำเร็จของอาณาจักรแสนล้าน แต่มีที่มาจากเอสเอ็มอีเล็ก ซึ่งบุณยสิทธิ์ ได้เผยเคล็ดไม่ลับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จว่า มีหลักการคือ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ

"ผมอยากจะแนะนำว่าเอสเอ็มอีไทยต้องรู้จักทำเล็ก แล้วก็ค่อยๆ ทำให้ใหญ่ขึ้น เพราะเราไม่ได้เหมือนต่างชาติ ที่พัฒนาอุตสาหกรรมมานาน มีพื้นฐานบุคลากรที่มีความรู้ทางการบริหารอุตสาหกรรม ก็เลยสามารถทำใหญ่โตได้ แต่เมืองไทยบุคลากรก็ไม่มี เทคนิคก็ไม่มี ถ้าเราคิดใหญ่ตั้งแต่แรกโดยที่ไม่มีความรู้ โอกาสที่จะผิดพลาดก็จะเยอะ สู้เราตั้งเล็กๆ แล้วทดลองทำไปพอสำเร็จก็ค่อยขยายใหญ่เติบโต อย่างนี่สิถึงเป็นความสำเร็จมาก"

ก่อนที่จะเริ่มต้นแย้มพรายถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิต อันมีส่วนที่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จดังเช่นปัจจุบัน โดยที่สำคัญที่สุด ก็คือการเรียนนอกตำรา ที่กลายเป็นว่าเป็นเรื่องดีสำหรับเสี่ยสหพัฒน์ผู้นี้

"ผมมีความรู้น้อย ผมไม่ได้เรียนหนังสือต่างประเทศก็เลยหาวิธีคิดทำธุรกิจโดยไม่ได้อาศัยหนังสือเป็นหลัก สไตล์ของผมคืออะไรดีก็เอามาใช้

อาศัยว่าคำคุณพ่อสอนว่า เราทำงาน ต้องรู้จัก “เร็ว ช้า หนัก เบา” แค่สี่คำเท่านั้น แต่ถึงเดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าผมรู้ซึ้งถึงคำนี้ เพราะว่าแค่สี่คำนี้มันไดนามิกมาก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต้องใช้วิเคราะห์ให้เป็น"

พร้อมกันนี้ บุณยสิทธิ์ยังได้เล่าถึงงานอดิเรกซึ่งเจ้าตัวมองว่ามีส่วนสำคัญต่อตำนานการเติบใหญ่ของธุรกิจอย่างมาก

เริ่มต้นจาก "โกะ" ซึ่งได้อธิบายหลักใหญ่ใจความสำคัญของโกะ เมื่อเปรียบกับธุรกิจไว้ว่า

"หลักการของหมากรุกญี่ปุ่น คือไม่ได้สอนให้เอาชนะอย่างเดียว ต้องรู้จักแพ้ รู้จักชนะ แพ้คือชนะ ชนะคือแพ้ นั่นคือทริก

... ไม่ใช่ว่าเราชนะครั้งเดียวแล้วแปลว่าสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นมันต้องรอจนถึงเล่นจบแล้วทำตารางว่าเราชนะหรือแพ้ ชนะหนึ่งเม็ด ก็หมายความว่าเราชนะ ไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องชนะให้ได้หมด หมากรุกสอนเราว่า ชนะเม็ดเดียวก็พอ

ตอนนี้ ผมมาถึง 72 แล้ว ผมมีธุรกิจขนาดนี้ แต่ตัวผมเองก็มองว่ายังไม่ถึงเกมสุดท้าย เม็ดสุดท้ายต้องแปลว่า ไม่ทำต่อไปแล้ว เวลานี้ผม 72 ก็จริง ผมก็ยังไม่ได้มองว่าผมทำธุรกิจสำเร็จ ผมยังมองว่าผมต้องพัฒนาต่อไป ยังต้องเดินหน้าธุรกิจเครือสหพัฒน์ต่อไป

เวลาผมสร้างธุรกิจก็เหมือนกับตอนเล่นหมากรุก คือ วางลงไปทีละเม็ด ทีละก้าว แต่ละเม็ดก็คือเอสเอ็มอี ค่อยๆ วางหมากลงทีละเม็ด จนวันนี้มีมากกว่า 300กว่าบริษัท จริงๆ มากกว่านั้น แต่บริษัทไหนไม่สำเร็จก็ตัดออก" บุณยสิทธิ์ กล่าวไว้

แม้เขาจะก้าวสู่วัย 72 ปี แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าชายคนนี้แหละ คือ "IT Man" ตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่ง

ย้อนหลังไปเมื่อครั้งที่เครือสหพัฒน์จะย้ายส่วนอุตสาหกรรมไปอยู่ที่ ศรีราชา บุณยสิทธิ์ก็เริ่มที่จะมองหาวิธีเชื่อมต่อการสื่อสารจากกรุงเทพวิ่งไปมากับ ศรีราชาให้ได้สะดวกรวดเร็วที่สุด

“คอมพิวเตอร์” คือ คำตอบที่บุณยสิทธิ์มองหา และถือเป็นคนแรกของไทยที่ซื้อคอมพิวเตอร์มาเล่น ยอมจ่ายเงินไปถึง 4 แสนกว่าบาท เพื่ออยากจะรู้ว่าทำอะไรได้บ้าง

โดยเริ่มต้นจากการศึกษาด้วยตัวเอง ปิดประตู อยู่ในห้อง 3 วัน 3 คืน เพื่อที่จะเรียนรู้ว่า เจ้าคอมพิวเตอร์นี่ ทำได้ไรได้บ้าง

และในที่สุดก็ตัดสินใจสั่งซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ออนไลน์ทำงานประสานกันใน เครือ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองทะลุปรุโปร่งถึงพื้นฐานสำคัญของธุรกิจว่า การไหลเวียนของข่าวสารที่รวดเร็วและมีคุณภาพ คือหัวใจสำคัญของการล่วงรู้อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ของสินค้าและธุรกิจ อันจะส่งผลต่อการกำหนดแนวทางกลยุทธ์ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

และด้วยมูลเหตุของการย้ายส่วนอุตสาหกรรมไปยังศรีราชานั้น ก็ยังได้จุดประกายให้บุณยสิทธิ์มองหาการขนย้ายสินค้าที่สะดวกและรวดเร็วมาก ขึ้น โดยมี "การบิน" เป็นคำตอบที่ผุดขึ้นในใจ

"ชีวิตผมที่ชอบจริงๆ ก็มีเล่นโกะ แล้วเล่นคอมพิวเตอร์ ตอนหลังนี่ก็มาเล่นขับเครื่องบิน แต่ก่อนที่จะได้ขับเครื่องบิน ก็ต้องพูดจนกว่านายห้างจะยอม พอนายห้างยอม คุณแม่ก็ไม่ยอม กว่าจะได้เริ่มจริงๆ ก็นานอยู่

ผมไม่ได้เล่นเครื่องบินเพื่อสนุก แต่มองว่าทฤษฎีของเครื่องบินสามารถนำมาใช้กับธุรกิจได้ โดยการขับเครื่องบินนั้น ก่อนจะขับต้องมีการตรียมตัวทำอะไรเยอะแยะ ทำให้ต้องรอบคอบ แต่ที่ดีที่สุด ก็คือ เวลาบินขึ้นไปแล้วความเครียดทุกอย่างหายไปหมดเลย เพราะว่าเราจะไปคิดอะไรอย่างอื่นไม่ได้ ต้องมีสมาธิ เหมือนกับอยู่บนหลังเสือ บินขึ้นไปก็ต้องให้ถึงเป้าหมาย ต้องเช็คทุกอย่าง ทั้งการสื่อสารที่ดี ต้องมีเนวิเกเตอร์ ต้องรู้ดินฟ้าอากาศ"

นั่นคือ 3 งานอดิเรกชนิดคนหนุ่มยังต้องอาย ของชายวัย 72 ที่ชื่อ "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ผู้ซึ่ง ดร.สมคิด นิยาม ไว้ว่า

... "เป็น 72 ปีที่ไม่ธรรมดาจริงๆ"

view