สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักกฎหมายมหาชนจุฬาฯ แนะโอบามาร์ค เลิกประชานิยม มุ่งสู่รัฐสวัสดิการ หนุนภาษีที่ดิน

จาก ประชาชาติธุรกิจ



ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯแนะรัฐบาลอภิสิทธิ์เลิกประชานิยม ชี้หากไม่รีบเลิกประชาชนจะสลัดออกยากและจะสร้างความเคยตัวและต้องกู้มากแจก ไม่มีที่สิ้นสุด แนะทางออกหันมาทำ"รัฐสวัสดิการ" เพื่อทุกคนมีชีวิตเสมอภาคเท่าเทียมกัน

    ผู้สื่อข่าว ประชาชาติออนไลน์ รายงานว่า  วันนี้ ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ  ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน บทบรรณาธิการ ในเว๊ปไซต์กฎหมายมหาชน www.pub-law.net  เรื่อง  ประเทศไทยกับการก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ
    ศ.ดร.นันทวัฒน์  แสดงความเห็นตอนหนึ่งว่า   ประเทศไทยจะเข้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการได้อย่างไรเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ผมไม่คิดว่าเราจะเข้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อรัฐบาลของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลปัจจุบันนำเอานโยบายประชานิยมมาใช้และขยายประเภทใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ คงไม่ง่ายที่ประชาชนจะ สลัด สิ่งเหล่านั้นออกไป การแจกจะสร้างความ เคยตัว ให้กับ ผู้รับ เมื่อหยุดแจกผู้รับก็จะ ไม่พอใจ เปลี่ยนวิธีแจก ผู้รับก็จะ ไม่พอใจ และหากจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐบาลก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง เก็บภาษีสารพัดรูปแบบ ซึ่งก็จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมากที่เคยได้รับ แจก อย่าง ไม่มีเงื่อนไข ไปแล้วครับ นานวันเข้ารัฐบาลต่อ ๆ มาก็จะต้องคงนโยบายประชานิยมไว้ต่อไป หากรัฐบาลไม่มีเงินก็ต้องใช้วิธีการกู้เงินจากต่างประเทศมาแจก ไม่นานก็คงถึงจุดที่เรียกกันว่า ความล่มสลายของประเทศ
         ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลปัจจุบันจะ สลัด นโยบายประชานิยมออกไปได้อย่างไร ตราบใดที่รัฐบาลยังขะมักเขม้นกับการต่อสู้กับ เงาของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร และ เงา ของพรรคไทยรักไทย รัฐบาลก็คงต้องแจกต่อไปครับ ไม่มีเงินก็คงต้องไปกู้เขามาแจกดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
         คงเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดว่า รัฐบาลจะหาทางออกจาก วังวน ของนโยบายประชานิยมเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการได้อย่างไร
         สำหรับผมนั้น ทางออกก็พอจะมีอยู่บ้าง เราคงต้องเริ่มต้นจากการกำหนดรูปแบบของความเป็นรัฐสวัสดิการอย่าง ครบวงจรไว้ในรัฐธรรมนูญก่อนว่า สวัสดิการที่รัฐจะจัดให้กับประชาชนนั้นมีอะไรบ้าง และรัฐจะนำเงินจากที่ใดมาจัดทำสวัสดิการเหล่านั้น เช่น มีภาษีอะไรบ้าง ประเภทใดบ้างที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม นอกเหนือจากสวัสดิการสังคมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว หากรัฐบาลใดจะทำอะไรเพิ่มเติมก็คงต้องหาเงินมาเป็นพิเศษ เพราะมิฉะนั้น รัฐบาลก็จะนำเงินจากงบประมาณแผ่นดินมา แจกให้กับประชาชนอีก แล้วเราก็คงต้องกลับไปสู่ ประชานิยม แบบเก่าๆ ดังนั้น ในชั้นแรกรัฐบาลจึงมีหน้าที่จัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนตามประเภทที่ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดทำสวัสดิการสังคมนั้น คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น
    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจ่ายภาษีเพิ่มก็ขึ้นอยู่กับสวัสดิการสังคมนั่นเอง หากมีสวัสดิการสังคมหลายประเภท เราก็คงต้องจ่ายภาษีมากขึ้น มีหลายประเทศในยุโรปที่มีระบบสวัสดิการสังคมที่ดี แต่ทราบไหมครับว่าประชาชนเขาจ่ายภาษีเงินได้ส่วนบุคคลกันเท่าไร นอร์เวย์ร้อยละ 44.5 สวีเดนร้อยละ 33 เดนมาร์กร้อยละ 35.3 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 28.7 อิตาลีร้อยละ 24 ฝรั่งเศสร้อยละ 20.8 ส่วนของไทยเวลานี้เข้าใจว่าเราจ่ายภาษีกันประมาณร้อยละ 16 เมื่อดูอัตราภาษีที่ประเทศต่าง ๆ เขาเก็บจากประชาชนเพื่อนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมเปรียบเทียบกับอัตรา ที่ประเทศไทยเก็บแล้วก็ยังนับได้ว่า ห่างกันมาก
  นอกจากนี้ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พลเมือง 60 กว่าล้านคนของไทยนั้นจ่ายภาษีเงินได้เพียงไม่กี่คน ดังนั้น หากรัฐบาลไม่คิดที่จะเก็บภาษีเพิ่มและเก็บภาษีให้ได้ครบถ้วนเราก็คงไม่มีทาง เข้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการได้แน่นอนครับ
         ผมเสนอว่า  รัฐบาลควรเลิกทำสิ่งที่เรียกกันว่าประชานิยมเสียทีเพราะทำไปก็ไม่เกิด ประโยชน์อะไรทั้งนั้น รัฐสวัสดิการน่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตอยู่อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกันมากกว่า แต่การที่เราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการได้นั้น จะต้องมีความชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเภทของสวัสดิการสังคม การปรับระบบภาษีทางตรง เช่นภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่รัฐบาลต้องหาทางทำให้ทุกคนที่ต้องเสียภาษี โกงไม่ได้ รวมทั้งยังต้องปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีทุกประเภทอย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดคงต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อ บังคับ ให้ทุกรัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.

view