สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วาระมนุษย์งาน วิชา มหาคุณ ยักษ์กระดาษ-คดีร้อน-คนกันเอง คดีทักษิณ...ยิ่งใหญ่และเป็นคุณูปการ

จาก ประชาชาติธุรกิจ



สัมภาษณ์พิเศษ


ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ หนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ย่อมเป็นเสมือนเครื่องมือการันตีความเที่ยงตรงและเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

การ ควบเก้าอี้ประธานอนุกรรมการอำนวยการ สถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ อีกตำแหน่งหนึ่ง ถูกคาดหวังไว้มากว่าจะสามารถสร้าง และพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างเครือข่าย งานปราบและปรามการทุจริตของชาติได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ยักษ์ "วิชา" เหลือเวลาอีก 6 ปี ในอาณาจักร ป.ป.ช. อรหันต์ 1 ใน 9 เหลือบดูปฏิทินงานแต่ละวันแล้วแทบไม่คาดคิดว่าเป็นภารกิจของมนุษย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วาระปฏิบัติบูชาต่อ "สัญญา ธรรมศักดิ์" ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี วันที่ 28 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ในหลายๆ คำถาม อย่างตรงไปตรงมา ไม่เว้นแม้แต่ประเด็นร้อนๆ กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ไม่อยากตอบ

เท่าที่ทำงานมา ป.ป.ช.มีอุปสรรค อะไรบ้าง ?

ผม ว่ามันเป็นปัญหาเรื้อรัง นอกจากเรื่องโครงสร้างขององค์กรที่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจหน้าที่บางอย่าง หรือการที่เราจะต้องไปรับข้อมูลจากประชาชน กรณีคุ้มครองพยานยังไม่มี ซึ่งเราก็พยายามเสนอข้อนี้ ก็อยู่ในสภา ซึ่งเราเสนอในร่างกฎหมายใหม่ ก็มีอยู่ หลายส่วน โดยเฉพาะเรื่องของการคุ้มครองข้าราชการที่เป็นคนให้ข้อมูลกับเรา เดิมเราก็ยังไม่มีการคุ้มครองเขา ว่าหลังจากที่เขาให้ข้อมูลกับเราแล้ว เขาถูกย้ายเลย หรือถูกออก ถูกกลั่นแกล้ง

ไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายการเมืองด้วย

ใช่... พอเราเห็นข้อบกพร่องอันนี้ เราก็พยายามให้มีการแก้ไข อีกส่วนหนึ่ง ก็คือการบริหารจัดการคดี ซึ่งมันคั่งค้างอยู่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันมีประสิทธิภาพขึ้น กระบวนการตรงนี้เราก็มีเรื่องของไอที เรื่องของการทำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะทำให้รวดเร็วขึ้น เช่น การร้องเรียนผ่านเว็บไซต์แล้ว เราจะให้เขารู้แล้วติดตามอย่างไร อย่างเช่นที่เรากำหนดว่าจะต้องมีแผนการดำเนินการไต่สวน ในทุกเรื่องจะต้องบอกว่าระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ อย่างไร ไม่ใช่อยู่ไปลอยๆ แบบที่แล้วมา

หลังจาก คตส.โอนคดีมาให้ เป็นการเพิ่มงานให้มากขึ้นหรือเปล่า ?

เรา แก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มคน เมื่อเพิ่มคนแล้วก็ต้องสร้างศักยภาพให้เขา ก็เป็นหน้าที่ของสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ ปัญหาใหญ่ก็คือว่าต้องสร้างคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะทำงานได้หลังจากที่มีการอบรม เดี๋ยวนี้เราสร้างหลักสูตรพนักงานไต่สวนเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ตรงนี้สำคัญมากเพราะว่าเราก็สูญเสียทรัพยากรบุคคลไปตลอดเวลาเหมือนกัน คนเหล่านี้ก็ออกไปเป็นศาล ไปเป็นอัยการ เราจะไปเขียนไว้ในกฎหมายใหม่เลยว่าเรามีสาขากระบวนการยุติธรรมใน ป.ป.ช. อย่างน้อยคือเขาต้องสามารถว่าความในศาลได้ด้วย ปัจจุบันนี้ถ้าเราเสนอสำนวนไปที่อัยการแล้ว เราจะมอบไปให้อัยการเขา รับผิดชอบเลย ก็เหมือนกับฝากอนาคตไว้กับคนอื่น ถ้าไม่มีส่วนไปเป็นพยานที่ศาลก็จบแค่นั้น แต่เราจะสร้างให้เขาสามารถไปฟ้องคดีที่ศาลได้ แล้วก็ไปว่าความ เป็นการรองรับคดีที่เยอะแยะ แล้วเขาก็จะเป็นผู้หล่อหลอมเด็กรุ่นใหม่ๆ ให้เป็นแนวทางเหมือนเขาที่ผ่านขึ้นไป

จะมีการกลั่นกรองคดีอย่างไรว่ามีการกลั่นแกล้งทางการเมือง ?

หลัก ของการตรวจสอบก็คือว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะรับไว้พิจารณาต่อไปไหม ปลอมชื่อคนอื่นร้องเรียนมาก็มี พอเรา ตรวจสอบไปแล้วพบว่าไม่ใช่ อ้างชื่อว่าอยู่ในหน่วยงานนั้นเป็นผู้ร้องเรียน อย่างนี้เราไม่รับเลยเพราะแสดงว่าแกล้งแล้วมีปัญหาแล้ว ข้อมูลเราต้องแน่ชัด เพราะฉะนั้นเราถึงตั้งสำนักข่าวขึ้นมา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ลงไปในพื้นที่ ไปตรวจสอบว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นมันจริงหรือไม่จริงอย่างไร

ความสำเร็จของเรา ต้องพูดด้วยความภูมิใจว่า เราได้รับการขอร้องมาจากฮ่องกง เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่คนฮ่องกงมาแต่งงานกับคนไทย มาอยู่เมืองไทย แล้วทุจริตที่ฮ่องกง ขนเงินมาสร้างรีสอร์ต หมู่บ้านที่เมืองไทย ปรากฏว่าเราถามไปที่กระทรวงมหาดไทยให้ช่วยตรวจสอบในจังหวัดนั้น ที่จังหวัดนั้นมาบอกว่าไม่มี แต่เราส่งสำนักข่าวเราไปตรวจสอบแล้วมีภาพมีข้อมูลครบถ้วน ว่าเป็นบ้านของบุคคลคนนี้จริง จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้ทำเฉพาะในประเทศเท่านั้น

องค์กรอิสระที่ทำงานตรวจสอบ ซึ่งบทบาทซ้อนกันอย่าง ป.ป.ช. กับ สตง. มีเรื่องต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันอย่างไร

ผม ไม่คิดว่ามันเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือเป็นความ ขัดแย้งชนิดที่เรียกว่าตกลงกันไม่ได้ แต่ละองค์กรก็มีบทบาท มีภารกิจในการทำงาน ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกัน และองค์กรแต่ละองค์กร ก็ถูกตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้น ป.ป.ช. จะไม่โกรธเลย ถ้า สตง.จะเข้ามาตรวจ เพราะมันเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว เรื่องการใช้จ่ายเงินต้องยกให้เขาอยู่แล้ว

แต่ถ้าหากว่าองค์กร เหล่านี้มีการกล่าวหาร้องเรียนบุคคลว่าประพฤติมิชอบหรือทุจริตอย่างไร เราก็ต้องตรวจสอบ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะตั้งธงว่าเขาผิดนะ เราก็ต้องให้เกียรติกัน เขาเองเป็นองค์กรที่ตรวจสอบงบประมาณเรื่องการใช้จ่ายเงิน เพราะฉะนั้นในเรื่องบางเรื่องที่เขาอ้างว่าทุจริตนั้น มันทุจริตอย่างไร มันต้องสันนิษฐานว่าความรู้ความชำนาญของเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องการใช้ จ่ายเงินอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นเขาจะไปตรวจสอบองค์กรอื่น ได้อย่างไร

ดัง นั้นบางทีคนก็บ่นว่าทำไมบางทีเรื่องอื่นเร็ว แล้วทำไมเราถึงไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นเสียที เพราะว่าเราต้องดูอย่าง พิถีพิถัน เพราะเป็นองค์กรอิสระด้วยกัน ปกติการทำงานขององค์กรอิสระได้รับการรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าจะไปทำอะไรได้ง่ายๆ ในการตรวจสอบเราก็ต้องตรวจสอบ ถ้ามีข้อมูลจริงๆ เราถึงจะเข้าไป เพราะฉะนั้นผมจึงไม่คิดว่ามัน จะเป็นเรื่องใหญ่โต ต้องทะเลาะเบาะแว้งอะไรกัน

ข้อเท็จจริงเรื่องเงิน 30 ล้านบาท ที่ ป.ป.ช.ถูกกล่าวหาว่าทุจริต งบฯลับจริงๆ มี 30 หรือ 50 ล้าน

เรื่อง เกี่ยวกับเงินราชการลับ ก็มีทุกหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระ ที่ต้องมีงบฯลับสำหรับใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถขอพิจารณางบประมาณ ได้ทัน เช่น กรณีการหาข่าวของเรา และเรื่องอื่นด้วยที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ เช่น การได้รับข้อมูลจากต่างประเทศให้ไปหาข้อมูล เราจะเบิกจ่ายได้อย่างไร เมื่อต้องให้เขาไปซุ่ม ไปติดตามพฤติกรรมของบุคคลผู้ต้องสงสัย

มันไม่ ถึงหรอก 50 ล้าน ตอนนี้เราลดลง ผมจำไม่ได้แน่ แต่ว่าก็ต้องรายงานการใช้จ่ายอยู่เป็นประจำ อันนี้ไม่ได้อยู่ในความดูแลของเรา เรามอบให้ทางเลขาธิการ เป็นคนดูแลจัดการ

คดีของอดีตนายกฯทักษิณได้สร้างการทำงานให้ ป.ป.ช.อย่างไรบ้าง ?

ผม คิดว่าเป็นคุณูปการ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่จริงๆ ผมคิดว่าเป็นจุดหักเหของการตรวจสอบ ที่ คตส.ทำงานมา ผมต้องยกย่อง คตส. ช่วงเวลาสั้นๆ เขาทำงานได้มากมายมหาศาล แล้วนำไปสู่การพิจารณาของศาล เป็นที่ยอมรับได้ จะมีข้อขัดแย้งอย่างไร หรือไม่ ผมไม่พูดถึงตรงนั้น

แต่ว่าอย่างน้อยเขาได้แสดงให้คนไทย ได้เห็นว่า ผู้นำก็ทำผิดได้ คนที่มีอำนาจ ก็พลาดได้ แล้วมันควรจะเป็นบทเรียนที่ไม่ควรจำอีก

โพลบอกเยาวชนรุ่นใหม่เห็นว่าโกงได้ ไม่ว่า แต่ขอให้ทำงาน

ผม ถามว่าการวิจัยที่ออกมาหัวข้ออย่างนี้ มันให้อะไรกับสังคม จริงๆ แล้วการทำโพล หรือการแสดงผลงานวิจัย ควรจะตอบสนองความดีงามของสังคม ไม่ชี้นำให้สังคมรู้สึกว่าสังคมเรามันแย่ มันไม่ไหวนะ แล้วก็อ้างกันมาตลอดว่าสังคมไทยถือว่าทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา มันธรรมดาได้อย่างไร มันเป็นเรื่องร้ายแรง ทุจริตมันผิดกฎหมาย แล้วถ้าคนเราคิดอย่างนี้เหมือนกันหมดก็ตาย มี 10 ป.ป.ช.ก็สู้ไม่ไหว

องค์กรอิสระมีอำนาจมากเกินไปเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรือเปล่า ?

ผม เห็นด้วยว่าองค์กรอิสระนั้นมีอำนาจมาก น่ากลัว ไม่ใช่เฉพาะ ป.ป.ช. องค์กรอื่นๆ ก็เหมือนกัน ทั้ง กกต. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจจะเป็นเพราะว่าองค์กรที่เคยทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงาน มันอ่อนแอ ถูกครอบงำแล้วก็ไม่สามารถจะตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ มันก็เลยมีความคาดหวังจากสาธารณชนสูง แล้วบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอาองค์กรใหม่ก็แล้วกัน มันก็เลยตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่เรื่อยๆ

มีความห่างระหว่าง ป.ป.ช. กับชาวบ้านใช่ไหม ?

มี... มีแน่นอน ผมเข้ามาตกใจว่าเว็บไซต์เรายังไม่สมบูรณ์ ชาวบ้านที่เขาร้องเรียนไม่สามารถติดตามได้ว่า เรื่องเขาไปถึงไหนแล้ว ทำไมถึงช้า ต้องเร่งดำเนินการให้ครบถ้วน อย่างน้อย ให้เจ้าตัวคนร้องได้สบายใจว่า คดีเขาไม่ได้ตกหล่นไปไหน

view