สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดศาลคดีเงินใต้โต๊ะจุฑามาศ

จาก โพสต์ทูเดย์

สหรัฐดำเนินคดี สามีภรรยา ติดสินบนอดีตผู้ว่าททท.ไทย จัดงาน “บางกอก ฟิล์ม เฟสติวัล”
เจรัลด์และแพททริเซีย กรีน สองสามีภรรยาผู้ผลิตภาพยนตร์ ชาวสหรัฐ ขึ้นศาลแขวงสหรัฐเพื่อ รับการพิจารณาคดีในวันนี้ ต่อข้อ กล่าวหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ไทยแลกกับการเป็นผู้ดูแลจัดงานการแสดงภาพยนตร์ นานาชาติกรุงเทพฯ เมื่อ ปี 2545

ทั้งนี้ เอพีรายงานว่าในสำนวนฟ้องของคณะอัยการ ระบุว่า ทั้งสองจ่ายสินบนให้กับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ ซึ่งเป็นผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในขณะนั้น เป็นเงินประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 66 ล้านบาท) ผ่านการโอนเข้าสู่บัญชีของลูกสาวนางจุฑามาศและของเพื่อน หรือไม่ก็ให้เป็นเงินสดโดยตรงกับ นางจุฑามาศ เพื่อให้ได้สิทธิเป็นผู้จัดงานบางกอก ฟิล์ม เฟสติวัลดังกล่าว

ดังนั้น การให้สินบนในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการขัดต่อกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันใน ต่างประเทศของสหรัฐ ที่ห้ามไม่ให้ชาวสหรัฐติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในสัมปทานต่างๆ ซึ่งรายงานระบุว่า กรณีเช่นนี้เริ่มเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมในปี 2546 มีอยู่เพียง 3 คดี ทว่าเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ถึง 17 คดี

ทั้งนี้ เจรัลด์ กรีน ผู้เป็นสามี ถูกตั้งข้อหาถึง 20 กระทง ขณะที่ แพททริเซียภรรยาถูกตั้งข้อหา 21 กระทง ซึ่งหากผลการพิจารณาพบว่าทั้งคู่มีความผิดจริง อาจจะต้องถูกโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองยังไม่ยอมรับสารภาพ และอยู่ในระหว่างการประกันตัว

ขณะเดียวกันเอพีรายงาน ด้วยว่า หนึ่งในข้อสัญญาที่กรีนและแพททริเซียได้มาด้วยนั้น ก็คือสิทธิในการขายบัตร “ไทยแลนด์ อีลิท การ์ด” และสัญญาในการเป็นผู้ออกแบบปฏิทิน หนังสือ และเว็บไซต์

นอกจากนั้น คณะอัยการสหรัฐระบุว่า แพททริเซียผู้เป็นภรรยา ยังได้ปกปิดสถานะทางการเงินในส่วนที่จ่ายสินบนออกไปในการยื่นแบบภาษีเพื่อ หลีกเลี่ยงการถูกจับได้ ผ่านการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ซึ่งมีทั้งที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์จริง ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมื่อเจรัลด์ กรีนผู้เป็นสามีเริ่มรู้ตัวว่าทางการเริ่มระแคะระคาย จึงได้รีบเปลี่ยนแปลงเอกสารของบริษัททันที

เจอโรม มูนี ทนายความของสามีภรรยาคู่นี้ ยืนยันว่าลูกความไม่ได้จ่ายสินบนแต่อย่างใด แต่ได้มาเพราะทำงานได้ดีเยี่ยมเท่านั้น

มูนี กล่าวด้วยว่า ลูกความของเขาต้องสูญเสียธุรกิจอื่นๆ ไปอีกมากมายในจีน เวียดนาม และประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐได้เข้ามาสอบสวนคดีนี้ โดยธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความเสียหายก็คือ โครงการการตั้งเครือข่ายช็อปปิ้งทางโทรทัศน์ในไทย

ด้านผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายของสหรัฐหลายรายให้ความเห็นว่า ปัญหายากที่สุดที่คณะอัยการต้องเผชิญก็คือ จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าสามีภรรยาคู่นี้ได้สัมปทานจากการติดสินบนบรรดาผู้นำ ต่างชาติจริง

“แม้ว่าเงินไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ (ของไทย) จริง ก็ต้องมาพิจารณาอีกว่าเงินนั้นจ่ายไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร” โจนาธาน ดริมเมอร์ อดีตอัยการกลางสหรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ เอพีรายงานด้วยว่า นางจุฑามาศ ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาใดๆ ในประเทศไทย

view