สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่ากองทุนฟื้นฟูเกษตรฯ เค้กใหญ่-เน่าใน-กลายพันธุ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ประสิทธิ์ ไชยชมพู


ผลข้างเคียงจากการพัฒนา เกิดปฏิกิริยา เกิดกระบวนการต่อสู้และปรับตัวของขบวนการเกษตรกร ด้วยข้อสรุป"ความยากจน มิใช่บุญทำกรรมแต่ง แต่เกิดจากรัฐ"

1.ชุมนุมประท้วง ผลสะท้อนการพัฒนาที่ล้มเหลว

 พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2542  ใช้มาแล้ว 10 ปี ทว่า ดูการชุมนุมประท้วงของเกษตรกรยังเห็นอยู่เนืองๆ

เดิม สาเหตุความยากจนมาจากธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ กับถูกนายทุนขี้โกงเอาเปรียบ และตั้งแต่ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรับเอาแนวทางปฏิวัติเขียว เกษตรกรรมเคมี เข้ามาเป็นวิถีการผลิต ทุนนิยมการตลาดที่เหนือกว่า ก็เข้ามาครอบงำอย่างครบวงจร

ยิ่งกว่านั้น เกิดจากนโยบายรัฐยัดเยียดโครงการ อนุมัติเงินออกมาใช้อย่างขาดธรรมาภิบาล และล้มเหลว ยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรให้ติดกับดักหนี้สินไม่มีวันหมด และทยอย ๆ ล้มละลาย

ผลข้างเคียงจากการพัฒนา เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดปฏิกิริยา เกิดกระบวนการต่อสู้และพัฒนาปรับตัวของขบวนการชาวนา-ชาวไร่ ได้ข้อสรุปว่า "ความยากจน มิใช่บุญทำกรรมแต่ง แต่เกิดจากนโยบายรัฐ" และได้ตกผลึกว่า ลำพังชุมนุมเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาตามฤดูกาลซ้ำซากไม่ได้อีกแล้ว

นี่เป็นที่มาของการเรียกร้องให้เกิด กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)

ขับเคลื่อนผลักดัน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร

เริ่มจากสมาชิกมูลนิธิเกษตรกรไทย 3,665 คนได้รับอนุมัติช่วย งดดอกเบี้ยปรับ 1 ปีในฤดูกาลผลิต2537 / 2538 จากความสำเร็จเล็กๆ นี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ และแกนนำชาวบ้าน ประชุมได้ข้อสรุปน่าจะนำบทเรียนนี้ไปขยายแนวร่วม เพื่อผลักดันแก้ปัญหาเกษตรกรทั้งระบบ
12 ตุลาคม 2539 มีปฏิญญา 5 องค์กรสถาบันเกษตรอีสาน

ได้แก่ 1.มูลนิธิเกษตรกรไทย 2.ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรขอนแก่น จำกัด 3. สมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน 4.สหพันธ์สหกรณ์การเกษตรภาคอีสาน 5.ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

26 ธันวาคม ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมร่วมส่วนราชการ รองผู้ว่าราชการขอนแก่น(ธวัช เสถียรนาม) เป็นประธาน นักวิชาการ ผู้ชำนาญการด้านชลประทาน อุตสาหกรรมขนาดย่อม สหกรณ์ ธกส. และตัวแทนมูลนิธิฯ เข้าร่วม

ซึ่งมูลนิธิเกษตรกรไทย เสนอโครงการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร 6 อำเภอขอนแก่น เกษตรกร 37,542 คนจะได้รับผลประโยชน์ แต่รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมิน

23 มกราคม 2540 แปรสภาพเหลือ 3 องค์กร คือ 1.มูลนิธิเกษตรกรไทย 2.สหกรณ์การเกษตรขอนแก่น 3.ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยฯ ยื่นเรื่องถึงนายกฯ ผ่านรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี(ชิงชัย มงคลธรรม)
สรุป 1.ให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินที่ผูกพัน ธกส. ทุกสัญญาเงินกู้(อย่างมีเหตุผล) 2.ทำโครงการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรให้ดีขึ้น 3.ตั้งคกก.ร่วมเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ให้มีผู้แทนเกษตรกรกว่ากึ่งหนึ่ง

...ปฎิกิริยาจากรัฐบาลยังเป็นความเงียบ!

24 มีนาคม ชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 1 สำนักงานเกษตร ต.ท่าพระ ขอนแก่น มูลนิธิเกษตรกรไทย เป็นแกนในแนวร่วมสถาบันเกษตรกรภาคอีสาน(นกอ.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาชิกมาราว 90,000 คน ชิงชัยฯ  มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง

26 พฤษภาคม ชุมนุมครั้งที่ 2 ที่เดิม คนมานับแสน กระทุ้งรัฐบาลเมินสัญญา และตบปากพาจน  สาปแช่งเผาหุ่นชิงชัย ที่พูดว่า

"ถ้าอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ ให้ไปเอากับรัฐบาลดาวอังคาร"
ซึ่งต่อมา “พ่อใหญ่จิ๋ว หวานเจี๊ยบ” ประกาศแก้ทันควันว่า

"ถ้าแก้ไขปัญหาพี่น้องเกษตรกรคนยากคนจนไม่ได้ ขอไปกระโดดน้ำโขงตายดีกว่า"

โดยก่อนนั้น ขบวนคนหลายหมื่นออกเดินอย่างสงบไปบนถนนมิตรภาพ รัฐบาลต้องมีคำสั่งในวันรุ่งขึ้น ให้ รมช.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฯ(อดิศร เพียงเกษ) เป็นตัวแทนมาพบ และประกาศประโยคระรื่นหูนั่น

และมีคำสั่งนายกฯ ที่ 190 / 2540 แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการและแนวร่วมสถาบันเกษตรกรภาคอีสาน และตั้งอีก 9 คณะทำงาน

ซึ่งข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ มีเช่น ยกหนี้โครงการที่รัฐส่งเสริมแต่ล้มเหลว เช่น ปลูกมะม่วงหิมพานต์ เลี้ยงโคออสเตรเลียนบราห์มัน(วัวพลาสติก) ฯลฯ ให้แต่งตั้งอนุกรรมการประเมิน และตรวจสอบหนี้สินเกษตรกร และระหว่างนั้นสั่งแขวนหนี้ผู้เดือดร้อนไว้ก่อน จนกว่าประเมินตรวจสอบเสร็จ กับเร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

18 สิงหาคม เสนอหลักการโครงการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเงินกองทุนฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร พ.ศ. 2540

29 สิงหาคม อดิศร เพียงเกษ นำเสนอ ครม. และผ่านเรื่องไปถึง สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ข้อสรุปคือไม่ควรจัดตั้ง เพราะมีกองทุนแบบนี้ร่วม 25กองทุน เงินหมุนเวียนร่วม 10,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว และต้องตราเป็นกฎหมายเท่านั้น

รมว.คลัง (ทนง พิทยะ) มีความเห็นว่า “ควรรวมกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้รวมกันอยู่ในหน่วยงานเดียว และเสนอ ครม.พิจารณาโดยตรากฎหมายรับรอง” (หนังสือที่ กค. 0526.5/35427 ลงวันที่ 2 ต.ค.40)

แต่เรื่องก็ไม่ถูกดำเนินการต่อ กระทั่งรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ปิดฉากด้วยการลาออก เหตุจากนโยบายลอยตัวเงินบาทออกฤทธิ์ข้างเคียงเกินคาด กลายเป็น "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ในเวลาต่อมา

17 พฤศจิกายน ชุมนุมใหญ่ ครั้งที่ 3 สนามกีฬากลางขอนแก่น เสนอเรื่องค้างต่อรัฐบาลใหม่ ผ่าน รมช.เกษตรและสหกรณ์ (เนวิน ชิดชอบ)
14 มกราคม 2541 นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย แต่งตั้ง คกก.ร่วมระหว่างภาคราชการกับผู้แทนมูลนิธิเกษตรกรไทย สรุปข้อเรียกร้อง 1.แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร 2.ตั้งกองทุนฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร 3.ทบทวนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ให้สนองการแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมฯ

23-25 พฤษภาคม ชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 4 ศาลากลางขอนแก่น ในนาม คกก.ประสานงานองค์กรภาคอีสาน(คปอ.) มีสมาชิกมูลนิธิเกษตรกรไทย เป็นกำลังหลัก ตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร มีตัวแทนราชการ และภาคเกษตรฝ่ายละ 10 คน   

ช่วงนี้ คปอ. แตกความเห็นกัน มูลนิธิฯ อยากให้ออกเป็นพ.ร.บ. แต่ส่วนอื่นยืนยันให้ตราเป็น พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) โดยให้มีผลเป็นรูปเป็นร่าง ทันจัดชุมนุมใหญ่ 66 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

23 มิถุนายน ที่บ้านมังคศิลา คกก.พิจารณาร่าง พรบ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร แล้วเสร็จ โดยรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง(อำนวย ปะติเส) เป็นประธาน

วันนี้เอง มูลนิธิเกษตรกรไทย ประกาศไม่สังฆกรรม คปอ.! 

15 ตุลาคม สภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ อโศก ประสานสอน ประธานมูลนิธิเกษตรกรไทย เป็นกรรมาธิการวิสามัญ สไกร พิมพ์บึง เลขาธิการมูลนิธิเกษตรกรไทย เป็นที่ปรึกษา กมธ. และ รมช.เกษตรฯ (เนวิน ชิดชอบ) เป็นประธาน

3-13 กุมภาพันธ์ 2542 ชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 5 สนามหลวง ในนามสภาเกษตรกรไทย กับพรรคพลังธรรม คนหลายหมื่นคน เร่งรัดรัฐบาล ระหว่างนี้เอง 7 ก.พ. สภาผู้แทนราษฎร ได้นำร่างพ.ร.บ.ฯ เข้าสู่การพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน และลงมติผ่านตามลำดับ กระทั่ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 พฤษภาคม 2542 มีผลใช้บังคับวันถัดมา (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2544)

ถึงกระนั้น ต้องจัดชุมนุมครั้งที่ 6 (13 ธ.ค.) ที่ขอนแก่น เพื่อให้รัฐบาลเร่งรัดดูแลกำกับการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับ รวมทั้งให้จัดสรรงบไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท

แม้กระทั่ง ครบรอบ 1ปีใช้พ.ร.บ. ก็ต้องใช้วิธีชุมนุมใหญ่ ( 3-6 พ.ค.) ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเร่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ ฯ

ระหว่างนั้นมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้าง ขวาง *เพื่อก่อตั้งองค์กรเกษตรของกลุ่มต่างๆ เพื่อยื่นจดทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ท่ามกลางการเฝ้ามองของนักการเมืองกลุ่มผลประโยชน์ทางการค้าธุรกิจที่เกี่ยว เนื่องกับนโนบายรัฐ อย่างเป็นกังวล

--------------

ติดตามตอนต่อไป การช่วงชิงตำแหน่ง ผลประโยชน์ การแยกสลายพลังมวลชน การใช้จ่ายไม่โปร่งใสในองค์กรกองทุนฟื้นฟูฯ การฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาล

* ณ 19 ก.ค.2543 องค์กร/สมาชิก ยื่นขึ้นทะเบียนกองทุนฯ 53,911 องค์กร สมาชิก 6,576,848 คน ที่มา : www.frdfund.go.th/Default.aspx?tabid=7161

view