สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาจารย์จุฬาฯเตือนภัย รัฐต่างด้าวฮุบ กิจการโทรคมนาคม ไม่อยากให้ เกิด Temasek ภาค 2 !!

จากประชาชาติธุรกิจ



ศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนอดีต ขายสมบัติชาติ จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้ Temasek Holdings ถามใจคนไทย ตรงๆ สมควรหรือไม่ที่จะให้ " รัฐต่างด้าว" เข้ามาประกอบกิจการที่เป็น " บริการสาธารณะ" อันเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ " รัฐไทย" ถอดบทเรียน ประธานาธิบดี Chavez แห่งเวเนซูเอลา เปรียบเทียบกฎหมายไทยที่มีรูโหว่ สกัด นอมินี ไม่ได้

ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร
เรื่อง "คลื่น" เป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติ ในอดีตที่ผ่านมา "คลื่น"  ทำให้คนร่ำรวยกันมาแล้วเป็นจำนวนมากเพราะการที่รัฐเอา "คลื่น" มาให้กับเอกชนเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างง่าย ๆ
แต่ในวันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็ได้บัญญัติ "คุ้มครองคลื่น" เอาไว้ว่า เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ประกาศใช้บังคับ ก็ได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ขึ้นโดยมีองค์กรสำคัญที่ถูกตั้งขึ้นมาเพียงองค์กรเดียว คือ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทำหน้าที่เป็นผู้ "คุ้มครองคลื่น"
มีการถกเถียงทางวิชาการว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า คลื่นเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วสมควรที่จะให้ เอกชนต่างด้าวหรือรัฐต่างด้าวเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้รับสัมปทานหรือเป็นผู้ ได้รับใบอนุญาตประกอบในกิจการโทรคมนาคมหรือไม่   ประเด็นข้อถกเถียงดังกล่าวนั้น   คิดว่าน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่ก่อนที่จะตอบเราคงต้องมาดูเหตุการณ์ที่ "เคย" เกิดขึ้นมาแล้วกันก่อนเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการตอบคำถามที่ง่ายขึ้น โดยจะขอยกตัวอย่างจากเหตุที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศคือ ประเทศไทยและประเทศเวเนซูเอลา
หากยังคงจำกันได้ถึง "ต้นเหตุ"  สำคัญประการหนึ่งอันเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยของเราต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตมา จนกระทั่งทุกวันนี้ นั่นก็คือกรณีอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้น บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ให้กับ Temasek Holdings ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากในช่วงเวลานั้นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการ "ขายสมบัติของชาติ" และก็ยัง อาจกระทบกับ "ความมั่นคงของประเทศ"
ด้วยเพราะ กลุ่มชินคอร์ปฯ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์มือถือแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังทำกิจการ โทรทัศน์ กิจการสื่อสารดาวเทียมและกิจการการบินภายในประเทศด้วย หากกลุ่ม Temasek ซึ่งได้หุ้นไปแล้วกว้านซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นต่อไปและไม่ขายให้กับคน ไทย ในวันข้างหน้าก็เป็นที่แน่นอนว่า กิจการต่าง ๆ ซึ่งเป็น "สมบัติของชาติ" ก็จะต้องตกไปอยู่ในมือของคนต่างชาติทั้งหมดและก็เป็นที่น่าวิตกเป็นอย่าง ยิ่งว่าจะเป็นเหตุกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้ไม่ยากนัก
การเข้ามาซื้อหุ้น บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น โดย Temasek มีนัยสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ "แอบแฝง" เข้ามาซื้อหุ้นบางส่วนโดยผ่านบริษัท "นอมินี" ทั้งหลายของ Temasek ที่ต้องทำเช่นกันก็เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อ เลี่ยง พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ไม่อนุญาตให้บุคคลและนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวถือ หุ้นในกิจการโทรคมนาคมเกินร้อยละ 49 การ "เลี่ยง" กฎหมายดังกล่าวโดยการตั้งบริษัท "นอมินี"  ขึ้นมาถือหุ้นแทนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เพราะเรื่องดังกล่าวได้เกิดขึ้นมา ในบ้านเราเป็นเวลานานแล้ว
ถึงแม้ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้วางเกณฑ์ในการพิจารณาคำ ว่า "คนต่างด้าว" ไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นกันโดยทั่วไปว่า มีคนต่างด้าวเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการหรือทำกิจการในประเทศกันเป็นจำนวนมาก โดยผ่าน "นอมินี"  ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นบริษัท
กรณีของ Temasek ก็เช่นเดียวกัน มีการจัดตั้งนิติบุคคลสัญชาติไทยขึ้นมาเพื่อเป็น  "ตัวแทน" ในการถือหุ้นของ Temasek เพราะฉะนั้น เมื่อ Temasek เข้ามาซื้อหุ้นของ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น ไปถึง ร้อยละ 92 ปัญหาสำคัญของประเทศจึงเกิดขึ้น มีคำถามตามมามากมายว่า สมควรหรือไม่ที่ผู้รับสัมปทานซึ่งในตอนขอสัมปทานต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีสัญชาติไทยจะขายหุ้นในบริษัทของตนเองให้กับต่างชาติซึ่งส่งผลทำให้บริษัท ต่างชาติกลายมาเป็นผู้รับสัมปทานแทนบริษัทของคนไทย
และยิ่งเมื่อทราบว่าบริษัทดังกล่าวเป็น "รัฐวิสาหกิจ"  ของประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็น "คู่แข่ง" ที่สำคัญของไทยก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยจำนวนมากลามไปจนถึงการ ประท้วง   เลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS ในครั้งนั้นด้วย
ประเด็น ต่าง ๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นวิกฤตต่อเนื่องของประเทศ ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 ก็ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการขายหุ้นของ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะเป็นการ "ขายผ่านตลาด" และการใช้นอมินีเข้ามาเป็นตัวแทนนิติบุคคลในการดำเนินกิจการต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ก็ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้น คนไทยเราช่างลืมง่ายเสียเหลือเกิน
นอกจากนี้แล้ว กรณีของ Temasek กับ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น นั้น ยังทำให้คำว่า "คนต่างด้าว" หรือ " นิติบุคคลต่างด้าว"  พัฒนาไปไกลกว่าที่ควรจะเป็นเพราะ Temasek ก็คือ "รัฐต่างด้าว"  นั่นเอง เพราะฉะนั้น คำถามที่ตามมาที่เป็นคำถามที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ สมควรหรือไม่ที่จะให้ " รัฐต่างด้าว" เข้ามาประกอบกิจการที่เป็น " บริการสาธารณะ"  อันเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ " รัฐไทย"   ???
ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น   มีตัวอย่างของความ "ชาตินิยม"  ที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซูเอลามานำเสนอเป็นตัวอย่างที่สองต่อจากการขายหุ้น บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น  คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วถึง  "ชื่อเสียง"  ของประธานาธิบดี Chavez แห่งเวเนซูเอลา!!!
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซูเอลาฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 6 ว่าด้วยระบบสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีมาตราที่น่าสนใจอยู่หลายมาตรา เช่น ในมาตรา 301 ได้บัญญัติไว้ว่ารัฐสงวนสิทธิในการใช้นโยบายด้านการค้าเพื่อปกป้องการดำเนิน การทางเศรษฐกิจของกิจการของรัฐและกิจการของเอกชน และไม่สามารถให้ผลประโยชน์แก่กิจการ องค์กร บุคคล หรือระบบของต่างชาติมากกว่าที่ให้กับกิจการ องค์กร บุคคล หรือระบบที่เกิดขึ้นในประเทศ
ส่วนการลงทุนของคนต่างชาติก็ต้องเป็นไปในเกณฑ์เดียวกันกับการลงทุนของคน ในชาติ มาตรา 303 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในด้านอธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาติ รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือรัฐอาจตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจดังกล่าวร่วมกันได้
ส่วนในมาตรา 304 ก็ได้บัญญัติให้น้ำเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะต้องมีกฎหมายหน ดมาตรการในการคุ้มครองและปรับปรุงให้ดี สำหรับมาตรา 305 ก็ได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตร และในมาตรา 307 ก็ได้บัญญัติว่าการถือครองที่ดินจำนวนมากเป็นการกระทำที่ขัดต่อประโยชน์ของ สังคม และต้องมีกฎหมายกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อไม่ให้เกิดการถือครองที่ดินจำนวน มาก
ตัวอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกเรื่อง " ชาตินิยม"  นั้นยังคงมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือในต่างประเทศบางประเทศ ซึ่งความรู้สึกชาตินิยมนี้ก็คงเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปคือมีทั้ง "ข้อดี" และ "ข้อเสีย"  ในตัวของตัวเอง ย้อนกลับมาถึงคำถามสำคัญก็คือ สมควรหรือไม่ที่จะให้ "ต่างด้าว"  เข้ามาประกอบกิจการที่เป็น "บริการสาธารณะ" ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ "รัฐไทย"
หากจะต้องตอบก็คงต้องดูหลายกรณีและหลายกฎหมายประกอบกัน โดยถ้าต่างด้าวนั้นเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลธรรมดา ซึ่งระบบกฎหมายไทย"ห้าม" เข้ามาประกอบกิจการอยู่แล้ว หากจะ "ยอมรับ" ก็คงต้องแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้ "นอมินี"  ลอยนวลอยู่เต็มประเทศไปหมดเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ในประเทศไทย   แต่ถ้าหากเป็น "รัฐต่างด้าว" ซึ่งอาจ "แฝง" ตัวเข้ามาในรูปแบบของ บริษัท หรือ รัฐวิสาหกิจ ก็คงจะต้องวางเกณฑ์กันให้ชัดเจนไปเลยว่าจะต้องไม่ทำให้ผู้ประกอบกิจการที่ เป็นคนไทยหรือนิติบุคคลไทยได้รับความไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจและจะต้อง ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในการประกอบธุรกิจดังกล่าวด้วย
รวมทั้งจะไม่มีการใช้ เอกสิทธิ์"ของความเป็นรัฐใด ๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการเจรจา ต่อรอง ตกลงต่าง ๆ เพราะเหตุว่า เมื่อ "รัฐต่างด้าว" ลดตัวลงมาทำธุรกิจแข่งกับเอกชนอื่น ๆ แล้ว รัฐต่างด้าวนั้นก็ควรที่จะอยู่ในสถานะเดียวกับเอกชนทั่ว ๆ ไป เมื่อทำผิดข้อตกลงตามสัญญาเราก็สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครับ
แต่ถ้าเกิดว่าจะไม่ให้ทั้ง "บุคคลต่างด้าว"  นิติบุคคลต่างด้าว  หรือ  "รัฐต่างด้าว" เข้ามารับมอบอำนาจจากรัฐไทยให้จัดทำบริการสาธารณะด้วยวิธีการให้สัมปทานหรือ การทำสัญญาร่วมทุน ก็ต้องเขียนเอาไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเลยทำนองเดียวกับที่คุณ Chavez ประธานาธิบดีแห่งเวเนซูเอลาได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหลาย ๆ มาตราที่ได้แปลมาให้ดูข้างต้น
" ผมขอฝากเรื่องดังกล่าวไว้กับสมาชิกรัฐสภาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ขอให้ช่วยกรุณาพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้รอบคอบด้วยครับ เพราะในวันนี้เท่าที่ทราบข้อมูลมามี รัฐต่างด้าว  แฝงตัวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่หลายราย คงต้องตัดสินใจกันแล้วว่าจะเขียน ให้ หรือเขียน ห้าม  เรื่องดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติ เอากันให้ชัดเจนไปเลยครับ" 

view