สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่ากองทุนฟื้นฟูเกษตรฯ เค้กใหญ่-เน่าใน-กลายพันธุ์(3)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ประสิทธิ์ ไชยชมพู


ตามมารยาท"สังศิต"ต้องยอมพ้นรักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ปัญหาที่เคยมีและเกิดในสมัยเขายังอยู่ ซึ่งมีพนง.ยื่นฟ้องเขาต่อศาลอาญา,ศาลปกครอง

ตอน ๓.ร้องเรียน ฟ้องศาล บริหารผิดพลาด หรือ อธรรมาภิบาล

เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) วินิจฉัยว่า รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ขาดคุณสมบัติเป็นรักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากเป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม แต่ไม่ต้องคืนเงินเดือนประจำกว่า 1 แสนบาท

สะท้อนถึงความ "มักง่าย" ของฝ่ายการเมืองที่ผลักดันขึ้นมา ส่วนความเสียหายไม่รับผิดชอบ...อย่างไรก็ตาม มีพนักงานสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ยื่นฟ้อง"สังศิต"ต่อศาลอาญา และศาลปกครอง กำลังอยู่ในขั้นไต่สวน

ในเมื่อยอมรับว่า ปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มเษตรกรเอง ก็ต้องยอมรับ ส่วนสำคัญก็เกิดจากฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหารกองทุนด้วย  

ผลงาน ชงปลดหนี้ ลูกหนี้, ยอดหนี้จริงหรือเท็จ!

นับแต่เริ่มปฏิบัติงาน 24 กรกฎาคม 2551 รักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ กระทั่งผ่านไป 9 เดือน ได้แถลงข่าวสามารถซื้อหนี้เกษตรกรได้มากกว่าอดีตเลขาธิการทุกคน เปิดทัวร์นกขมิ้นประชาสัมพันธ์ ๆ ผ่านสื่อต่างๆ

แต่มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ฝ่าย คุมนโยบายควรชี้แจง เพราะถ้าเป็นความจริง คือความเสียหายด้านงบประมาณ ซึ่งมาจากภาษีประชาชน ดังต่อไปนี้ 

1.เสนอจัดซื้อหนี้ NPL(หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) เกษตรกรลูกหนี้ ธกส. 1,458 ราย 414 ล้านบาท แต่ คกก.จัดการหนี้ฯ อนุมัติได้รับสิทธิจัดการหนี้เพียง 55 ราย โดยพยายามจะโยก 600 ล้านบาท(สำหรับใช้ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) ไปซื้อหนี้ NPL 414 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดใหญ่(มาตรา 21 (1) )

2. มติ ครม.(ก.พ.2552) อนุมัติงบให้ 607 ล้านบาท ซื้อหนี้ NPA(หนี้หลักประกันที่ถูกขายทอดตลาดแล้ว) 1,187 ราย แต่มีข่าวจะนำ 607 ล้านบาทไปใช้ซื้อหนี้ NPL 

ซึ่งสองเรื่องนี้ มีการร้องเรียนไปถึง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฯ

3. ไม่รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์จัดการหนี้เกษตรกร  เกษตรกรต้องชำระหนี้คืนกองทุนฟื้นฟูฯ ร้อยละ 50 ของเงินต้นคงค้างที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่กลับเป็นว่า กำหนดให้หนี้ NPL หลังวันที่ 30 มิ.ย.2548 เมื่อกองทุนฯ ชำระหนี้ให้ ธกส. แล้ว เกษตรกรต้องชำระหนี้คืนกองทุน ร้อยละ 100 เต็มจำนวน

4. ไม่สามารถจัดกระบวนการตรวจสอบและจำแนกประเภทหนี้เกษตรกร ตามระเบียบกำหนดเวลาภายใน 60วัน จึงเป็นเหตุหนึ่งที่เกษตรกรถูกดำเนินคดี ยึดทรัพย์

5.ใช้เงินกองทุนซื้อทรัพย์หลักประกัน หนี้ จากบุคคลซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินและสถาบันเกษตรกร  และในราคาสูงเกินจริง ขัดต่อพ.ร.บ.ที่ให้ซื้อหนี้ได้จากสถาบันการเงิน สถาบันเกษตรกร และโครงการส่งเสริมของรัฐตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น

6. ซื้อหนี้ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ บางคนไม่เป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร เป็นเกษตรกรรายใหญ่ ปิดบังซ่อนเร้นรายชื่อบุคคลที่ได้รับจัดการหนี้ ยังพบเตรียมการจะซื้อหนี้ของพนักงาน(ระดับ 9) สำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ที่ระบุชัดเจนว่า เกษตรกรจะต้องไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ 

โยกย้ายถูกต้อง เหมาะสม หรือลุแก่อำนาจ

มีการร้องเรียนกล่าวหา รักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานและลูกจ้าง ไม่เป็นธรรมหลายคำสั่ง เข้าข่ายกลั่นแกล้ง ให้เกิดมลทิน มัวหมองแก่พนักงานและลูกจ้าง ตัวอย่างบางส่วน ดังนี้

1.วันที่ 24 กรกฎาคม 2551 วันแรกการปฏิบัติงานของ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ออกคำสั่ง(จำเลขที่ไม่ได้) ย้าย นางกันยาวีร์ สุรางคพาณิชย์ หัวหน้างานเลขานุการสำนักเลขาธิการ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ไปเป็นหัวหน้างานจัดการหนี้ สนง.บุรีรัมย์

ต่อมา ออกคำสั่งที่ 533/2551 (14 ต.ค.51) ย้ายเธอไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สำนักงานเพชรบูรณ์ ประสานงาน จ.พิษณุโลก ล่าสุด คำสั่งที่ 1164/2552 (10 มิ.ย.52) ย้ายเธอไปประจำสำนักงานเพชรบูรณ์เพียงจังหวัดเดียว แต่มีเกษตรกรประมาณ 500 คนประท้วง "สังศิต" แจ้งกับผู้ว่าพิษณุโลกและเกษตรกรว่า เธอขอย้ายตัวเอง ซึ่งความจริง นางกันยาวีร์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนี้

ครั้งนั้น สามีที่รับราชการอยู่สมุทรสาคร ขอย้ายตามภริยาไปที่พิษณุโลก เพื่อจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปรกติ แต่เธอก็ถูกคำสั่งย้ายหนีอีกเหมือนจงใจแกล้ง          

2.คำสั่งที่ 412/2551 (28 ก.ค.51) ย้าย น.ส.จิราวรรณ ประสงค์สิน พนักงานธุรการ งานธุรการ ฝ่ายอำนวยการ ไปเป็นพนักงานบัญชี งานบัญชีและการเงิน ฝ่ายอำนวยการ ต่อมา คำสั่งที่ 429/2551(4 ส.ค.51) ย้ายเธอไปเป็นพนักงานประสานแผนและงบประมาณฯ แค่เดือนเศษ ก็โดนคำสั่งที่ 523/2551(23 ก.ย.51) ย้ายไปประจำสำนักจัดการหนี้ฯ แค่ 12 วันถัดมา มีคำสั่งที่ 577/2551(5 พ.ย.51) ย้ายเธอไปเป็นพนักงานธุรการ ประจำสนง.บุรีรัมย์ ซึ่งไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน 

ไม่เพียงเท่านั้น มีคำสั่งที่ 612/2551 (19 พ.ย.51) ลงโทษทางวินัย น.ส.จิราวรรณ ฐานมีพฤติกรรมฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ วินัย ให้ลงโทษ 3 สถาน

     1.หักเงินเดือนในวันที่ขาดการปฏิบัติงานรวม 19 วัน เป็นเงิน 7,837.50 บาท
     2.ลดขั้นเงินเดือน 15 % ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษ
     3.ทำทัณฑ์บนไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี

ทั้งๆ ที่เธอรับเงินเดือน 15,185 บาท แต่ถูกลงโทษ 3 สถานพร้อมกัน ซึ่งโทษทางวินัยพนักงานตามระเบียบประกอบพ.ร.บ.กองทุนฯ มี 4 สถาน หนักสุด คือ เลิกจ้างหรือถูกให้ออก (ภายหลังคงจะถูกท้วงติง จึงมีคำสั่งยกเลิกโทษหักเงินเดือนในเวลาต่อมา)

ภาษาทางการปกครอง คือ ไม่มีเมตตาธรรมต่อพนักงานผู้น้อย และเป็นผู้หญิงด้วย ภาษาชาวบ้านๆ คือ ผู้ใหญ่รังแกลูกน้องผู้หญิงตัวเล็กๆ

3.คำสั่งที่ 427/2551 (1ส.ค.51) ย้าย นายสุรพล เสถียรมาศ ผอ.สำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ไปเป็น ผอ.สำนักจัดการหนี้ฯ และย้าย นายมนัส วงษ์จันทร์ หัวหน้าสำนักงานขอนแก่น มาเป็นหัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูฯ และรักษาการ ผอ.สำนักฟื้นฟูฯ อีกตำแหน่ง

ต่อมา มีคำสั่งที่ 569/2551(13ต.ค.51) ย้ายนายสุรพล ผอ.สำนักจัดการหนี้ฯ ไปเป็น ผอ.สำนักฟื้นฟูฯ และย้ายนายมนัส หัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูฯ รักษาการ ผอ.สำนักฟื้นฟูฯ ไปเป็นหัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูฯ สังกัดสำนักฟื้นฟูฯ (อยู่ในบังคับบัญชา นายสุรพล เสถียรมาศ) และให้รักษาการ ผอ.สำนักจัดการหนี้ฯ อีกตำแหน่ง

ต่อมาอีก มีคำสั่ง 627/2551(26พ.ย.51) ให้นายมนัส พ้นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูฯ ไปเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารสินทรัพย์ และรักษาการ ผอ.สำนักจัดการหนี้ฯ ในทางปฏิบัติเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ  นายสุรพล เพราะตั้งแต่ 13 ต.ค. ถึง 26 พ.ย.51 นายสุรพล และนายมนัส ยังไม่ได้สลับตำแหน่งกันเลย

ต่อมา (อีกแหละ) จึงมีคำสั่งที่ 908/2552 (27 เม.ย.52) แต่งตั้งให้ นายสุรพล กลับไปเป็น ผอ.สำนักจัดการหนี้ฯ และนายมนัส  เป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาวิสาหกิจการเกษตร สำนักฟื้นฟูฯ และรักษาการ ผอ.สำนักฟื้นฟูฯ ด้วย

มีเพียงนายมนัส คนเดียวเท่านั้น ขณะรักษาการ ผอ.สำนักจัดการหนี้ฯ ให้ดำรงตำแหน่งหลักเป็นหัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูฯ

กระทั่งการแต่งตั้ง ผอ.สำนักฟื้นฟูฯ คนใหม่ มาจากคัดเลือกคนเข้ามาใหม่ นายมนัส จึงพ้นจากรักษาการ ผอ.สำนักฟื้นฟูฯ

ซึ่งบ่งชี้ว่า ระหว่างนั้น ไม่ได้ติดตามบังคับให้ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่ได้ปฏิบัติตามความเห็นชอบของบอร์ดบริหารฯ ที่แสดงเหตุผลการขอย้าย บุคคลทั้งสองไม่มีความสามารถ เหมาะสมในตำแหน่งเดิมอีกต่อไป 

4. คำสั่งที่ 619/2551 (21พ.ย.51) แต่งตั้ง คกก.สอบสวนข้อเท็จจริงเอาผิดกับ นายพิชญธร รอดบำรุง หัวหน้าสำนักงานชุมพร กล่าวหาขณะเป็นหน้าสำนักงานนครสวรรค์ ดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา ไม่ทุ่มเทเวลาทำงาน แต่สร้างความแตกแยก

ส่วนนายพิชญธร ยืนยันไม่เคยกระทำตามข้อกล่าวหา อีกทั้ง คกก.สอบสวนข้อเท็จจริงชุดแรก เคยรายงานผลสอบแล้วว่า  ในบางข้อไม่เข้าข่ายเป็นความผิด อีกหลายข้อกล่าวหาไม่ปรากฏหลักฐานกระทำความผิด

แต่ "สังศิต"ไม่ยอมรับรายงานผลดังกล่าว กลับแต่งตั้ง คกก.สอบสวนชุดใหม่ และออกคำสั่งทางปกครองยกเลิกคำสั่งบรรจุเป็นพนักงานของนายพิชญธร ตั้งแต่ 24 เม.ย.51 แล้วให้ประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานใหม่ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค.47 แต่นายพิชญธร ไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว

5. คำสั่งที่ 625/2551 (24 พ.ย.51) แต่งตั้งคกก.สอบสวนข้อเท็จจริง นายกัมปนาท สากิยบุตร พนักงานธุรการ สนง.บุรีรัมย์ กล่าวหามีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ทำให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เสียหาย ตามมาด้วย คำสั่งย้ายให้ไปประสานงาน จ.สระแก้ว  

6.คำสั่งที่ 087/2552 ( 14 ม.ค.52) ย้ายน.ส.ฉัตรสุดา จิรา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาวิสาหกิจการเกษตร สำนักฟื้นฟูฯ ไปเป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ และแต่งตั้งให้ นายรชต มูลทรัพย์ หัวหน้างานทรัพยากรมนุษย์ รักษาการหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ไปเป็นหัวหน้างานทรัพยากรมนุษย์ตำแหน่งเดียว แต่กลับให้ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ดังต่อไปนี้

  (1) งานทรัพยากรมนุษย์ (2) งานธุรการ (3) งานเลขานุการสำนักเลขาธิการ (4) งานประสานแผนและงบประมาณ (5) งานบัญชี

 ขณะที่ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการรับผิดชอบ 4 งาน ได้แก่ (1) งานการเงิน (2) งานสารสนเทศ (3) งานประชาสัมพันธ์ (4) งานพัสดุ

  ต่อ มา มีคำสั่งที่ 848/2552 ( 2 เม.ย.52) ย้าย นายรชต ไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สำนักงานกาฬสินธุ์ ประสานจ.สกลนคร 7 วันต่อมา มีคำสั่งที่ 882/2552 ให้ไปช่วยงานทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานใหญ่ อีกตำแหน่ง และให้นางพาขวัญ พวงมาลี หัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สำนักงานกาฬสินธุ์ ไปช่วยปฏิบัติงานประสานสกลนคร

 ล่าสุด มีคำสั่งที่ 950/2552 (1 พ.ค.52) ให้นายรชต ไปช่วยงานทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานใหญ่ อีกตำแหน่ง และรักษาการหัวหน้างานทรัพยากรมนุษย์ และปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ในงานต่อไปนี้อีกด้วย
 (1) งานทรัพยากรมนุษย์ (2) งานธุรการ (3) งานเลขานุการสำนักเลขาธิการ (4) งานประสานแผนและงบประมาณ (5) งานบัญชี

เท่ากับลิดรอนอำนาจหน้าที่ นางสาวฉัตรสุดา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยโครงสร้างฯ พ.ศ.2547 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2547 ข้อ 6.3 กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายอำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาภายในฝ่ายและควบคุมดูแลงาน จำนวนทั้งหมด 9 งาน และตามข้อ 8 กำหนดห้ามเลขาธิการกองทุนฯ ออกคำสั่งขัดระเบียบนี้

7. คำสั่ง 572/2551 (14 ต.ค.51) ย้ายนายประเสริฐ พงษ์เสนีย์ หัวหน้างานฟื้นฟูและพัฒนาองค์กรเกษตรกร และรักษาการหัวหน้าสำนักงานชุมพร ไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สำนักงานสุพรรณบุรี ประสานงานสุมทรสาคร และสมุทรสงคราม

ออกคำสั่งที่ 1164/2552 (10 มิ.ย.52) ย้ายเขาไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สำนักงานจันทบุรี ประสานงานชลบุรี แต่ยังไม่ทันจะเดินทางไปรับงาน 19 มิ.ย.ก็เจอคำสั่งไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สนง.อยุธยา แต่ประจำประสานงาน จ.นนทบุรี

8.คำสั่งที่ 572/2551 (14 ต.ค.51) ย้าย นางสาวรุ่งนภา วงศ์แพง หัวหน้างานจัดการหนี้ของเกษตรกร สนง.ราชบุรี ไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สนง.จันทบุรี ประสานงานชลบุรี ต่อมา คำสั่งที่ 907/2552 (27เม.ย.52) ย้ายเธอจากชลบุรีไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สนง.กำแพงเพชร และรักษาการหัวหน้าสนง.

ไม่ทันข้ามสัปดาห์ มีคำสั่งที่ 1031/2552(19 พ.ค.52) ให้มาช่วยงานสำนักจัดการหนี้ฯ สำนักงานใหญ่  แต่เกือบหนึ่งเดือนถัดมา มีคำสั่งที่ 1164/2552 (10มิ.ย.52) ถูกย้ายไปเป็นหัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สนง.สุพรรณบุรี ประสานงานนครปฐม

การโยกย้ายพัลวันพัลเกเป็นว่าเล่นนี้ นอกจากเป็นเหตุครอบครัวพนักงานมีปัญหาไม่ปรกติสุขแล้ว ยังเดือดร้อนหาเช่าที่พักในแต่ละจังหวัด และไม่ได้รับเงินมัดจำคืน เพราะต้องย้ายออกก่อนครบกำหนดคืนค่ามัดจำ และสำนักงานกองทุนฯ ก็ไม่รับผิดชอบด้วย

หลายมาตรฐาน...ตั้งพี่สาวคนขับรถ ช่วยงานบัญชี!

9. คำสั่งที่ 1162/2552 (10 มิ.ย.52) ย้าย น.ส.ฟาริดา ประสพเหมาะ หัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สนง.สุพรรณบุรี และนายณัฐพล สุทธิสนธิ์ หัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สนง.อยุธยา และนายบุญพบ อนิวรรตน์วงศ์ หัวหน้างานนักบริหารระดับ 9 สนง.ราชบุรี พนักงานทดลองงานเพิ่งผ่านการคัดเลือก(1 มิ.ย.) เพื่อบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งนักบริหารระดับ 9

โดย ฟาริดา ประสพเหมาะ (พี่สาวพนักงานขับรถประจำตัวของ สังศิต) มาช่วยปฏิบัติงานบัญชี ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานใหญ่ 

ณัฐพล ช่วยปฏิบัติงานพัสดุ และรักษาการหัวหน้างานพัสดุ ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานใหญ่

บุญพบ ช่วยปฏิบัติงานประจำฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และรักษาการหัวหน้างานวิเคราะห์แผนและโครงการ สำนักงานใหญ่

ทั้งนี้ ทั้งสามเพิ่งเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สอบคัดเลือกได้เพียง 10 วันเท่านั้น(1มิ.ย.) ยังไม่ผ่านการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน

10. จัดสอบคัดเลือกบุคคล ทั่วไปประมาณ 100 อัตรา เป็นพนักงานกลุ่มบริหาร ระดับ 9-13 จำนวน 23 คน โดยเฉพาะนักบริหารระดับ 11 จัดสอบ 3 ครั้งแต่ละครั้งมาตรฐานต่างกันสิ้นเชิง

ครั้งแรก สอบคัดเลือกหัวหน้าสำนักงานสาขาและหัวหน้างาน (นักบริหารระดับ 9) กำหนดเกณฑ์ต้องสอบข้อเขียนได้ไม่ต่ำกว่า 75 % จึงจะมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของ กพ.

ครั้งที่สอง สอบคัดเลือกหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย (นักบริหารระดับ 11) กำหนดเกณฑ์ทดสอบสัมภาษณ์อย่างเดียว และกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 60,000 บาท สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำบัญชีโครงสร้างฯ

ครั้งที่สาม สอบคัดเลือกหัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูฯ กำหนดทดสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ แต่ไม่กำหนดคะแนนเท่าไร จึงถือว่าผ่าน

-------------------------
*ติดตามข้อมูล การตั้งและเลือกใช้ที่ปรึกษา และการจัดประกวดราคา  ที่แสนจะราบรื่น

view