สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ป้องกันคนทุจริต...ดูแลคนดี : ตลาดนัดการเงิน

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ชาติชาข พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการธนาคารกสิกรไทย:


ใน ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน ทำให้มีกลุ่มมิจฉาชีพเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้แฝงตัวเข้ามาอยู่ในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน ดังนั้นภาครัฐจึงได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อ ออกมาตรการในการสกัดกั้น และป้องกันปัญหาทุจริตการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน อาทิ การเพิ่มการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโรของบุคคลค้ำประกัน และการใช้โปรแกรมอ่านข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งแน่นอนครับ เมื่อธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สามารถป้องกันคนที่มีเจตนาทุจริตจากการปลอมแปลงเอกสารอย่างบัตรประจำตัว ประชาชนได้ ประชาชนที่เป็นคนดีก็จะได้ไม่เสียหายโดยไม่รู้ตัว เพราะถูกพวกมิจฉาชีพปลอมแปลงเอกสารของตนเองไปก่อหนี้ไงครับ

ขณะนี้สมาคมธนาคารไทยได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร โดยให้เพิ่มการจัดเก็บข้อมูลบุคคลค้ำประกัน เพื่อให้สถาบันการเงินทราบข้อมูลของผู้กู้ในฐานะที่ไปค้ำประกันหนี้ให้กับ บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ พร้อมทั้งกำลังผลักดันให้มีการร่างกฎหมายทวงหนี้ให้ครอบคลุมถึงหนี้นอกระบบ ที่มักเกิดกรณีการใช้ความรุนแรงในการติดตามทวงหนี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะนับวันจะถูกรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการติดตามทวงหนี้โดยการใช้ความรุนแรง ไม่สุภาพ หรือการขายสินค้าและบริการต่างๆ ทางโทรศัพท์ ซึ่งขณะนี้ธปท. เห็นชอบในแนวทางดังกล่าวแล้ว และอยู่ในระหว่างนำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาการแก้ไขกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ เรื่องของข้อมูลบุคคลค้ำประกันนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อโดยมีบุคคลค้ำประกัน สถาบันการเงินจะไม่สามารถทราบข้อมูลว่าบุคคลค้ำประกันรายนี้ ได้ไปค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินใดบ้าง วงเงินที่ค้ำประกันกับรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ได้หรือไม่ บางท่านมีภาระค้ำประกันหนี้มากมาย โดยไม่ได้ประเมินฐานะของตนเองเลย ว่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้แทนได้หรือไม่ หากเกิดกรณีผู้กู้เงินมีปัญหาและเป็นเหตุให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องไปเรียก เก็บหนี้จากผู้ค้ำประกันแทน

ในกรณีนี้ผมก็ต้องเรียนว่า ถ้าเราจะไปค้ำประกันหนี้ให้ใครก็ต้องดูให้ดีนะครับ เพราะเราอาจจะกลายเป็นลูกหนี้ร่วม หรือเสมือนเป็นลูกหนี้ร่วมไปในทันที ที่จรดปากกาลงนามในสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงิน และหากในอนาคตเมื่อเราจำเป็นต้องไปกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินและข้อมูล เครดิตบูโรแสดงข้อมูลที่ท่านได้ไปค้ำประกันหนี้ของบุคคลอื่น ภาระการค้ำประกันเหล่านั้นก็อาจจะถูกนำมาพิจารณาด้วยว่าเป็นภาระหนี้ของท่าน ในอนาคต และอาจจะทำให้ท่านกู้เงินได้ลำบากยิ่งขึ้น หากท่านไปรับค้ำประกันหนี้ให้ใครๆ เป็นจำนวนมาก และยิ่งหากคนที่เราค้ำประกันหนี้ให้กลายเป็น NPL เมื่อใด ท่านก็จะกลายเป็นลูกหนี้ร่วมที่กลายเป็น NPL ไปด้วยเช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเวลาเจ้าหนี้ติดตามหนี้จากผู้กู้ไม่ได้ ก็จะกลับมาตามหนี้กับผู้ค้ำประกันแทน เรียกว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ” ต้องจ่ายหนี้แทนคนอื่นเขา ดังนั้นเวลาท่านจะค้ำประกันหนี้ให้ใคร ก็ต้องพิจารณาให้ดีนะครับ อย่าใจอ่อนไปค้ำประกันหนี้ให้ใครเข้าโดยไม่จำเป็นล่ะครับ จะมีแต่ปัญหาตามมาครับ ผมขอเตือนไว้ก่อน

นอกจากนี้ ยังต้องขอชื่นชมสมาคมธนาคารไทย ที่กำลังผลักดันให้มีการร่างกฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว และต้องการเพิ่มเติมร่างกฎหมายให้ครอบคลุมไปถึงการติดตามทวงหนี้นอกระบบด้วย เพราะในปัจจุบันการติดตามหนี้ที่มีความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของหนี้ นอกระบบ ส่วนหนี้ในระบบของธนาคารพาณิชย์นั้น มีการว่าจ้างบริษัทภายนอกมาดำเนินการติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งมีการวางกรอบกติกาในการติดตามหนี้ไว้อย่างชัดเจน หากบริษัทภายนอกไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ และถูกเรียกร้องเข้ามา ธนาคารพาณิชย์ก็มีสิทธิเลิกจ้างบริษัทดังกล่าวทันที ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่าหนี้ในระบบคงเป็นปัญหาน้อยกว่าหนี้นอกระบบอย่างแน่ นอน

แต่ก่อนที่จะมีข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร ท่านจะต้องมีการกู้เงินก่อนนะครับ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีปัญหาใหม่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาเดือดร้อน ทั้งสถาบันการเงินและประชาชนที่ถูกทำทุจริต นั่นก็คือ “การปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนมากระทำทุจริตในการกู้เงินกับสถาบันการเงิน” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของกลุ่มมิจฉาชีพที่กระทำการทุจริตต่อสถาบันการเงินทั้งหมด และก็มีแนวโน้มที่จะทุจริตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถาบันการเงินเองจะมีการป้องกันและมีการจัดเก็บข้อมูลของกลุ่ม มิจฉาชีพที่เข้ามาทำทุจริตกับสถาบันการเงินเป็นจำนวนมากไว้แล้วก็ตาม

ดังนั้น เพื่อป้องกันทั้งความเสียหายของสถาบันการเงิน และตัวประชาชนที่ถูกปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนมายื่นกู้เงินกับธนาคารโดย ที่ตนเองไม่รู้ตัวมาก่อน ทางสมาคมธนาคารไทยพร้อมด้วยธนาคารพาณิชย์อีก 15 แห่ง ร่วมกับกรมการปกครอง ได้จัดทำโปรแกรมการอ่านข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนขึ้น เพื่อสกัดกั้นปัญหาการนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมมาทำธุรกรรมการเงินกับ สถาบันการเงิน โดยผู้ที่เข้ามาทำธุรกรรมทางการเงินทุกรายจะต้องถูกตรวจสอบว่าเป็นบุคคลคน เดียวกับบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่ และหากตรวจพบว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนปลอมจะมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ มาจับกุมดำเนินคดีทันที ซึ่งเชื่อว่าการร่วมมือกับกรมการปกครองในครั้งนี้ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในเร็ววัน

จากนี้ไปผู้ที่คิดจะมาทำทุจริตคงต้องคิดหนัก และอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับโดยไม่ทันตั้งตัว เพราะสถาบันการเงินคงไม่แจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้าว่าจะนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมา รอจับท่านหรอกครับ ถ้าใครคิดที่จะทำทุจริตอยู่ก็เลิกคิดเสียเถิดครับ จะได้ไม่ถูกจับและมีประวัติที่ไม่ดีติดตัว นอกจากนี้ทางสมาคมธนาคารไทยยังได้จัดตั้ง “ชมรมป้องกันการทุจริต” ขึ้นมาอีก และพยายามที่จะรวบรวมสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และบริษัทลีสซิงต่างๆ ให้เข้ามาเป็นสมาชิกด้วย เพื่อนำข้อมูลการทุจริตที่เกิดขึ้นมาเป็นแนวทางในการป้องกันร่วมกัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะหากเรามีเครื่องมือมาช่วยแก้ปัญหาการทำทุจริต คนดีก็จะได้รับการป้องกันไม่ให้เสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพได้ครับ

view