สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของโลก

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :จันทร์จิรา พึ่งวิริยะ:



จากการจัดทำข้อมูลศึกษาทิศทางตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของโลก โดยสถาบันอาหาร พบว่าแนวโน้มมูลค่าตลาดรวมมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปีนี้คาดการณ์มูลค่าตลาดรวมจะอยู่ ที่ 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปีหน้า ขยับเป็น 6.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กระทั่งถึงปี 2556 ประเมินว่า มูลค่าตลาดรวมจะขยับเพิ่มเป็น 9.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

หากมองย้อนการเติบโตตั้งแต่ปี 2549 ไปจนถึงปี 2556 เท่ากับว่า อัตราการเติบโตของตลาดจะสูงถึง 200.50% เลยทีเดียว

หันกลับมามองเฉพาะตลาดของไทย ผลการศึกษาของสถาบันอาหาร ระบุว่ามูลค่าตลาดในปีที่ผ่านมาของไทยมีเพียง 2,000 ล้านบาท เนื่องจากตลาดอาหารสุขภาพยังเป็นเรื่องใหม่ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ และโดยมากพฤติกรรมการบริโภคยังเน้นความอร่อยของรสชาติมากกว่าประเด็นสุขภาพ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มของสังคมไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นต่อการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภาย นอก ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการอยากมีรูปลักษณ์ที่ดี เพื่อให้ได้รับการยอมรับทางสังคม จึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ตัวเองดูดีเสมอ

ยิ่งในวิถีชีวิตเวลานี้เป็นไปด้วยความเร่งรีบ ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะบริโภคอาหารครบตามความต้องการของร่างกายได้ รวมทั้งมีเวลาในการออกกำลังกายน้อยลง การพึ่งพาอาหารแนวสุขภาพจึงเพิ่มบทบาทความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกระแสตลาดโลก

กลุ่มผู้บริโภคหลักในตลาดของไทย ส่วนมากเป็นผู้หญิงวัยทำงาน อายุระหว่าง 25-40 ปี แต่แนวโน้มการขยายตัวของฐานผู้บริโภคก็มีทิศทางที่ค่อนข้างสดใสน่าจับตามอง

ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยเลือกซื้อส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องดื่มเพื่อความ สวยงาม เพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร บำรุงสมอง และลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ

ในส่วนของภาคการส่งออกปรากฏว่าไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างน้อย คือ มีแค่ 1% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันอาหาร พบว่าไทยมีโอกาสอีกมากที่จะขยายตลาดส่งออกสินค้าสุขภาพได้ โดยประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีอัตราการเติบโตดี น่าสนใจที่จะเข้าไปขยายตลาดเพิ่มมีอยู่ด้วยกัน 8 ประเทศ

1.เกาหลีใต้ อายุเฉลี่ยของประชาชนสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเนื่องมาจากภาครัฐให้ความใส่ใจ ที่สำคัญชาวเกาหลีใต้มีกำลังซื้อ ทำให้ปัจจัยในการเลือกซื้อจะคำนึงถึงคุณภาพมาก่อนราคา

กลุ่มผู้ซื้อโดยมากเป็นผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม ได้แก่ เม็ดแคปซูลเพื่อควบคุมน้ำหนักเพื่อสุขภาพดีในองค์รวม และเพื่อความสวยงาม

การเจาะตลาดเกาหลีใต้ ผู้ส่งออกไทยควรหาคู่ค้าท้องถิ่น ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถ่องแท้ และต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ เนื่องจากมีสินค้าลักลอบที่ไม่ได้มาตรฐานออกจำหน่ายปะปนในท้องตลาด ส่งผลให้ผู้บริโภคมีมุมมองเชิงลบ เรื่องความปลอดภัย

2.ญี่ปุ่น เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด ในโลก ปี 2551 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 8.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่แนวโน้ม การขยายตัวของตลาดชะลอลง เพราะช่วงชีวิตอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงเติบโต เต็มที่

อย่างไรก็ดี เนื่องจากญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุอยู่ในสัดส่วนที่สูง อายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศสูงสุดในโลก และคาดว่าในปี 2568 สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 30% ซึ่งด้วยวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ มีความเร่งรีบ มีเวลาจำกัด ดูแลตัวเองได้น้อยลง และเคร่งเครียดมากขึ้น จึงมีความต้องการสินค้าแนวสุขภาพเข้ามาชดเชย

การรุกเข้าตลาดญี่ปุ่นจึงยังมีช่องทางเข้าไปแข่งขันได้ แม้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ จะมุ่งสู่ตลาดญี่ปุ่น แต่ตลาดญี่ปุ่นก็ มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว สินค้าแต่ละประเภทอยู่ในตลาดได้ไม่นานก็ ต้องพลิกโฉม หรือเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือผู้บริโภคเน้นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และคุณประโยชน์ของสินค้า จึงต้อง มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองสรรพคุณด้วย

นอกจากนี้ ฐานผู้บริโภคครอบคลุมทั้งผู้หญิง คนวัยทำงาน ไปจนถึงวัย ผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมคือ เครื่องดื่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ และโรคเบาหวาน

3.จีน คาดว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุดในโลก เพราะทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตตื่นตัวกันมาก เป็นผลจากประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่ม พร้อมที่จะจ่ายเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ แถมช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านธุรกิจค้าปลีกก็เป็นไปอย่างสะดวก ขยายสาขาได้รวดเร็ว

ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม คือ เม็ดแคปซูลเพื่อสุขภาพในองค์รวมเพื่อความสวยงาม และลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ กลุ่มผู้ซื้อโดยมากเป็นผู้หญิงที่ใส่ใจในสุขภาพและอาศัยอยู่ในเมือง แต่การทำตลาดจีนต้องศึกษาสภาพตลาดให้ดี จัดรายการส่งเสริมการขาย กระตุ้นกำลังซื้อ และต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลิตภัณฑ์

4.อินเดีย ผู้ซื้อเป็นกลุ่มผู้หญิงในเมืองเช่นเดียวกับจีน อีกทั้งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและจำหน่ายค่อนข้างสูง แนวโน้มการเติบโตของตลาดจึงมีทิศทางใกล้เคียงกับจีน

ผลิตภัณฑ์ที่นิยม คือ เครื่องดื่มลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็ง และเครื่องดื่มเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ควบคุมน้ำหนัก แต่การเข้าสู่ตลาดอินเดียต้องระวังในเรื่องของความไม่ชัดเจนต่อกฎหมายที่จะ เข้ามารองรับ สินค้าถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย และรายได้ต่อหัวของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ

5.สหราชอาณาจักร มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในสหภาพยุโรป เนื่องจากชาวอังกฤษเปิดรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย พร้อมที่จะเรียนรู้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งการเลือกซื้อจะคำนึงถึงการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค เนื่องจากราคายาและสินค้าที่ใช้ในการดูแลสุขภาพมีราคาแพง

ผลิตภัณฑ์ที่นิยมมักทำมาจากนมและซีเรียลเพื่อควบคุมน้ำหนัก เพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อกระจายทั่วไปในหมู่ผู้รักสุขภาพ แต่การทำตลาดต้องเน้นความปลอดภัยของอาหาร เพราะชาวอังกฤษอ่อนไหวต่อประเด็นนี้มาก

6.เยอรมนี มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป เหมาะต่อการขยายตลาดส่งออก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์อยู่ใจกลางสหภาพยุโรป สามารถเข้าไปเจาะตลาดใกล้เคียงได้ง่าย ทั้งยังมีจำนวนประชากรมากที่สุดในสหภาพยุโรป คือ มีประชากรมากกว่า 82 ล้านคน กลุ่มผู้ซื้ออยู่ในช่วงอายุ 45 ปี แต่กระแสความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพกำลังมาแรง

ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม คือ ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม และซีเรียล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ และให้พลังงาน

7.สหรัฐอเมริกา มูลค่าตลาดสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น เนื่องจากชาวสหรัฐประสบปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคอ้วน ระบบย่อยอาหารมีปัญหา อีกทั้งเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จำเป็นต้องมีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ เพื่อเตรียมร่างกาย ให้พร้อมเอาชนะปัจจัยลบที่เกิดขึ้น จึง ต้องการบริโภคอาหารที่ดีสำหรับตัวเองและครอบครัว โดยพร้อมที่จะทดลองผลิตภัณฑ๋ใหม่ๆ แต่ก็เปลี่ยนแปลงรสนิยมเร็ว ตามกระแสความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มผู้ซื้อจะมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป

ผลิตภัณฑ์ที่นิยม คือ เบเกอรี ซีเรียล ผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อควบคุมน้ำหนัก เพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ลดความเสี่ยงจากโรคเครียด โรคหัวใจ และให้พลังงาน แต่การทำตลาดต้องระวังเรื่อง กฎระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวดมาก

8.ออสเตรเลีย มูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคโอเชียเนีย เพราะผู้บริโภคต้องการอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรป่วยเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคกระดูกเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้ซื้อกระจายในหมู่คนที่ใส่ใจต่อสุขภาพ จากการมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่ชาวออสเตรเลียเชื่อในข้อมูลมากก่อนจะตัดสินใจซื้อ

การทำตลาดจึงต้องทำงานวิจัย เพื่อสร้างข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ คือ กฎระเบียบการนำเข้าค่อนข้างเข้มงวด และด้วยความที่ออสเตรเลียมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติกว่า 30 เชื้อชาติ การบริโภคจึงมีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม

ผลิตภัณฑ์ที่นิยม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนมและซีเรียลเพื่อควบคุมน้ำหนัก เพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ โรคเบาหวาน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลของตลาดที่มี แนวโน้มการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีของแต่ละภูมิภาคทั่วโลก เมื่อมองถึงโอกาส ที่ไทยจะเข้าไปขยายตลาด ผลวิจัยของสถาบันอาหารจัดแบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องการไว้ 8 กลุ่ม ได้แก่

1.ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

2.ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง

3.ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงจากโรค เบาหวาน

4.ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงจากความเครียด

5.ผลิตภัณฑ์สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

6.ผลิตภัณฑ์เพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร

7.ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงจาก น้ำหนักเกินมาตรฐาน

8.ผลิตภัณฑ์เพิ่มความสวยงามในร่างกาย

view