สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใคร ปั่นราคาน้ำตาลทราย สมอ้างภาวะน้ำตาลตึงตัวปลายฤดู

จากประชาชาติธุรกิจ



ใน ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เห็นจะไม่มีเรื่องใด hot มากไปกว่าความพยายามที่จะ "ปั่น" ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ (โควตา ก.) โดยอ้างสถานการณ์ขาดแคลนน้ำตาลทราย

กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง จากที่โรงงานน้ำตาลไม่ยอมให้ "ส่วนลด" กับบรรดายี่ปั๊วซาปั๊วจากที่เคยได้รับกันถึง ก.ก.ละ 2-5 บาท ยกตัวอย่างน้ำตาลทรายขาวราคาควบคุมสูงสุด ณ หน้าโรงงานกำหนดไว้ที่ ก.ก.ละ 20.33 บาท เมื่อยี่ปั๊ว/ซาปั๊วมาซื้อน้ำตาลที่ขึ้นงวดไว้ก็จะได้รับส่วนลดจากโรงงาน น้ำตาลรายนั้นๆ ก.ก.ละ 2-5 บาท หรือเท่ากับซื้อจริงแค่ ก.ก.ละ 15.33-18.33 บาทเท่านั้น

พูดง่ายๆ ก็คือ "ส่วนต่าง" ของราคา ณ หน้าโรงงานก็คือ "กำไร" ของยี่ปั๊ว/ ซาปั๊ว ที่จะต้องกระจายน้ำตาลทรายสู่ ผู้ค้ารายย่อยในตลาดต่อไปนั่นเอง

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คน เคยได้กำไรจากการขายน้ำตาล ก.ก.ละ 2-5 บาทต้องออกมา "โวยวาย" ว่า ถูกโรงงานน้ำตาลขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย แต่เป็นการบอกความจริงเพียงครึ่งเดียว โดยไม่ยอมบอกว่า ราคาจำหน่ายน้ำตาลโควตา ก.ที่ทางโรงงานน้ำตาลขึ้นไปนั้นเป็นการขึ้นไปไม่เกินเพดานราคาควบคุมที่ กรมการค้าภายในกำหนดคือ ก.ก.ละ 20.33 บาท

ประกอบกับสถานการณ์ราคา น้ำตาลทรายในตลาดโลกก็เกิดภาวะถูก "ปั่น" ราคาโดยเทรดเดอร์น้ำตาลรายใหญ่เช่นกัน โดยราคาได้พุ่งขึ้นไปถึง 600 เหรียญ/ตัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ส่งผลให้ผู้โวยวายได้ข้ออ้างที่ว่า น้ำตาลทรายโควตา ก.ที่ใช้บริโภคภายในประเทศกำลังถูก "ลักลอบ" ขนออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเพราะได้ราคาที่ดีกว่า

ความจริงแล้วสิ่ง เหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริงจากเหตุผล 3 ประการด้วยกันคือ 1) เกิดภาวะการจำหน่ายน้ำตาลทรายโควตา ก. (ใช้บริโภคภายในประเทศ 19 ล้านกระสอบ) ค้างกระดาน หรือจำหน่ายไม่หมดในแต่ละงวด ล่าสุด (14 กันยายน 2552) ค้างกระดานอยู่ถึง 775,128 กระสอบ หรือพูดง่ายๆ ว่า น้ำตาลทรายที่พร้อมจะขายประจำสัปดาห์ไม่มีคนมาซื้อสะสมกันมากถึง 7 แสนกว่ากระสอบ ซึ่งภาวะการค้างกระดานประจำสัปดาห์นี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ค้างกระดานมาตั้งแต่ต้นปี 2552 ในปริมาณมากถึง 1 ล้านกระสอบด้วยซ้ำไป

นั่น หมายถึงภาวะการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ "กิน" กันอยู่เดือนละประมาณ 1.3 ล้านกระสอบนั้น คนไทยยังกินน้ำตาลตามปกติ และส่อให้เห็นว่าเกิดภาวะน้ำตาลล้นระบบด้วยซ้ำไป น้ำตาลทรายภายในประเทศจึงไม่ขาดแคลน

2) น้ำตาลทรายในการขึ้นงวดที่เหลือ (งวดละ 360,000 กระสอบ) จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายนที่โรงงานน้ำตาลจะต้องเปิดหีบอ้อยฤดูใหม่ (2552/53) นั้นอยู่ในภาวะเหลือกินเหลือใช้ กล่าวคือในจำนวนน้ำตาลทรายโควตา ก.ที่ได้รับการจัดสรรทั้ง 19 ล้านกระสอบใน 52 สัปดาห์ ขณะนี้ถูกขึ้นงวดไปแล้ว 41 สัปดาห์ ในปริมาณ 14,779,600 กระสอบ ยังเหลือการขึ้นงวดอีก 11 สัปดาห์ จำนวน 4,220,400 กระสอบ บวกกับน้ำตาลค้างกระดานอีก 775,128 กระสอบ เท่ากับจนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายนก่อนการเปิดหีบอ้อยฤดูใหม่จะมีน้ำตาลทราย โควตา ก.ออกสู่ตลาดอีกไม่ต่ำกว่า 4,995,528 กระสอบ

หากคนไทยบริโภคน้ำตาลกันเดือนละเฉลี่ยตามปกติ 1.3-1.5 ล้านกระสอบ ปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ที่เหลือนั้นถือว่า ยังล้นระบบเสียด้วยซ้ำไป

3) การลักลอบส่งน้ำตาลออกไปนอกประเทศในระดับราคาที่ 500 กว่าเหรียญ/ตันนั้น ยังไม่ถือว่า "จูงใจ" ที่จะลักลอบส่งออก เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ถูกปั่นกันอยู่ในตลาดโลกนั้นขึ้นไปถึงระดับ 600 เหรียญ/ตัน ไม่กี่วันก็ตกลงมาอยู่ที่ระดับราคา 530 เหรียญ/ตัน การลอบ ส่งออกน้ำตาลไปนอกประเทศในระดับราคาจำหน่ายที่ขายได้เท่านี้ ถือเป็นเรื่อง "เสี่ยง" ที่จะนำกิจการโรงงานน้ำตาลมาเดิมพันเพื่อให้ได้กำไรนิดหน่อย

ส่วน เหตุผลที่ว่า ทำไมโรงงานน้ำตาลถึงตัดส่วนลดที่ให้กับบรรดายี่ปั๊ว/ซาปั๊ว หรือจำหน่ายน้ำตาลทรายให้เต็มตามราคาควบคุมนั้น คำตอบอยู่ที่ว่า โรงงานน้ำตาลเองก็ฉวยจังหวะ "ดูด" กำไรส่วนเกิน ที่เคยให้กับยี่ปั๊ว/ซาปั๊วคืนเข้ากระเป๋าตัวเองเช่นกัน โดยอาศัยสถานการณ์การขึ้นงวดน้ำตาลทรายภายในประเทศกำลังอยู่ในช่วงสัปดาห์ ท้ายๆ ก่อนที่จะเปิดหีบอ้อยฤดูใหม่ จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดเหตุการณ์น้ำตาลตึงตัว

ดังนั้น สถานการณ์การ "ปั่น" ราคาน้ำตาลภายในประเทศโดยอ้างน้ำตาลขาดแคลนจะยุติลงก็ต่อเมื่อโรงงานน้ำตาล ทยอยเปิดหีบอ้อยปี 2552/2553 ในปลายเดือนพฤศจิกายนมาถึงเสียก่อน น้ำตาลฤดูใหม่ก็จะออกสู่ตลาด น้ำตาลฤดูเก่าก็ยังจำหน่ายไม่หมด ถึงตอนนั้นโรงงานน้ำตาล ก็จะออกมาแย่งกันให้ "ส่วนลด" เพื่อระบายน้ำตาลกับบรรดายี่ปั๊ว/ซาปั๊ว เหมือนเดิม "ส่วนต่าง" ระหว่างราคา ขายจริงกับราคาควบคุมก็จะกลับมาเป็นวัฏจักรเช่นนี้ทุกปี

view