สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ป้องกัน อาชญากร ยึดสนามบินซ้ำรอย ออกข้อบังคับเข้ม ยกเว้นการตรวจค้นแค่ ๕ กลุ่ม

จากประชาชาติธุรกิจ



     ผู้สื่อข่าว ประชาชาติออนไลน์ รายงานว่า ผลพวงจาการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองของ กลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ได้สร้างความเสียหายมากกว่า  ๒ แสนล้านบาท แต่ความเสียหายที่มากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ คือความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงาน สนามบินสาธารณะของประเทศไทย  ที่ถูกวิจารณ์ว่าต่ำกว่ามาตรฐาน                      
      ล่าสุด  นาย โสภณ ซารัมย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน ได้ลงนามในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน   ฉบับที่ ๘   ว่าด้วยการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ  
     ข้อบังคับฯ  มีบทบัญญัติ ๘  ข้อ โดยจะมีผลใช้บังคับ วันที่  ๒ ๗ พ.ย.  ๒๕๕๒
    ประชาชาติออนไลน์ เห็นว่า สาระสำคัญของข้อบังคับ ดังกล่าว มีความน่าสนใจ จึงนำข้อบังคับทั้งฉบับมานำเสนอ โดยละเอียดเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด
                                                                                    ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน   ฉบับที่ ๘๓
                        ว่าด้วยการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ (๖) และมาตรา ๖๐/๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ   พ.ศ. ๒๔๙๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็น พระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙  มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้    โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการการบินพลเรือนโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับ ตามภาคผนวก ๑๗ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่าง ประเทศ ค.ศ. ๑๙๔๔ ในเรื่องการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบิน   สาธารณะไว้ ดังต่อไปนี้
     ข้อ ๑ ในข้อบังคับนี้
    "การตรวจค้น"  (Screening) หมายความว่า การใช้วิธีการทางเทคนิคหรือวิธีการอื่นใดในการตรวจหาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งอาจใช้ในการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ
  " การแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย "  (Acts of Unlawful Interference) หมายความว่า  การกระทำหรือพยายามกระทำอันเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือนและ การขนส่ง     ทางอากาศ ดังต่อไปนี้
(๑) การยึดอากาศยานระหว่างทำการบินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(๒) การยึดอากาศยานขณะอยู่ที่ภาคพื้นดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(๓) การจับตัวประกันบนอากาศยานหรือที่สนามบินสาธารณะ
(๔) การบุกรุกโดยใช้กำลังเข้าไปในอากาศยาน ณ สนามบินสาธารณะหรือบริเวณที่ตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ
(๕) การนำอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใดซึ่งมีเจตนาใช้ตามความมุ่งหมายในทางอาชญากรรมขึ้นไป บนอากาศยานหรือเข้าไปในสนามบินสาธารณะ
(๖) การแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จซึ่งเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานระหว่าง ทำการบินหรือขณะอยู่ที่ภาคพื้นดินของผู้โดยสาร ลูกเรือ เจ้าหน้าที่ภาคพื้นหรือสาธารณชนในสนามบินสาธารณะหรือในบริเวณที่ตั้งสิ่ง อำนวยความสะดวกทางการบินพลเรือน
 " เขตการบิน " (Airside) หมายความว่า พื้นที่เคลื่อนไหวของอากาศยานในสนามบินสาธารณะ บริเวณข้างเคียง รวมทั้งอาคารหรือส่วนของอาคาร ซึ่งมีการควบคุมการเข้าถึง
 "เขตหวงห้าม"  (Security Restricted Area) หมายความว่า เขตการบินของสนามบินสาธารณะซึ่งมีการควบคุมการเข้าพื้นที่และการควบคุมรักษา ความปลอดภัยอย่างอื่น อันประกอบด้วยพื้นที่ เช่น    พื้นที่ผู้โดยสารขาออกในเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างจุดตรวจค้นและอากาศยาน ลานจอด พื้นที่    จัดกระเป๋า พื้นที่ซึ่งได้นำอากาศยานเข้าไปให้บริการกระเป๋าและสินค้าที่ผ่านการตรวจค้น สถานที่ เก็บสินค้า ศูนย์ไปรษณียภัณฑ์ พื้นที่จัดอาหารให้บริการบนอากาศยานและสถานที่ทำความสะอาด  อากาศยาน เป็นต้น
    ข้อ ๒    ผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นผู้ โดยสาร ผู้ประจำหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานที่จะขึ้นอากาศยาน รวมถึงสิ่งใด ๆ ที่บุคคลดังกล่าวจะนำ  ขึ้นอากาศยานตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจค้นก่อนที่บุคคลและสิ่งใด ๆ จะขึ้นบนอากาศยาน
(๒) ใช้เครื่องมือตรวจค้นที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ซึ่งกรมการขนส่งทางอากาศประกาศกำหนดเป็นอย่างน้อย
(๓) ได้รับความยินยอมจากบุคคลผู้จะถูกตรวจค้น
(๔) ตรวจค้นด้วยความรอบคอบ สุภาพและระมัดระวังตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่
(๕) ตรวจค้นตามระดับภัยคุกคามที่กรมการขนส่งทางอากาศแจ้งให้ทราบเป็นอย่างน้อย
(๖) ตรวจค้นอย่างทั่วถึงเพื่อไม่ให้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เสื้อผ้าหรือสิ่งใด ๆ ถูกมองข้ามไป
(๗) การตรวจค้นต้องดำเนินการโดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีอาวุธ วัตถุระเบิด หรือ วัตถุอันตรายอื่นใดหลายชิ้น
(๘) ตรวจค้นสิ่งใด ๆ ที่จะนำขึ้นอากาศยานต่อหน้าบุคคลที่เป็นเจ้าของสิ่งนั้น และต้องไม่ให้เจ้าของแทรกแซงการตรวจค้นได้
(๙) เมื่อมีความสงสัยว่าสิ่งใด ๆ ที่บุคคลดังกล่าวจะนำขึ้นอากาศยาน เป็นที่ซ่อนอาวุธวัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ต้องเปิดและแยกสิ่งนั้นออกไปตรวจค้น เพื่อไม่ให้ปะปนกับสิ่งของอื่น
(๑๐) สิ่งใด ๆ ที่ผ่านการตรวจค้นแล้วจะคืนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้น ได้ผ่านการตรวจค้นแล้ว
(๑๑) ต้องดำเนินการตรวจค้นภายในระยะเวลาที่เพียงพอ เพื่อให้การตรวจค้นมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเน้นถึงการซุกซ่อนอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใด
(๑๒) นอกจากการตรวจค้นตามปกติแล้ว เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใดซุกซ่อนอยู่ ต้องตรวจค้นเพิ่มเติมเสมอ
(๑๓) บุคคลและสิ่งใด ๆ ซึ่งถูกตรวจค้นด้วยเครื่องมือและมือแล้ว แต่ไม่ผ่านต้องปฏิเสธไม่ให้ขึ้นอากาศยานและผ่านจุดตรวจค้นไปได้ และแจ้งเตือนผู้ดำเนินการเดินอากาศทุกรายที่สนามบิน สาธารณะทราบถึงบุคคลและสิ่งนั้น
(๑๔) ประกาศหรือแจ้งให้บุคคลที่จะถูกตรวจค้นทราบว่า มิให้พกสิ่งใด ๆ ในระหว่าง การตรวจค้นร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุซึ่งเป็นโลหะต้องนำออกไปก่อนตรวจค้นด้วย หากตรวจค้น ด้วยเครื่องมือแล้วมีเสียงส่งสัญญาณเตือนต้องตรวจเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุ อันตรายอื่นใดหรือไม่ หากไม่เป็นอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใด จึงจะยินยอมให้บุคคลนั้น ผ่านจุดตรวจค้นไปได้
(๑๕) การตรวจค้นบุคคลและสิ่งใด ๆ ด้วยวิธีการตรวจค้นเป็นการเฉพาะบุคคล (Private Search) ให้ดำเนินการต่อหน้าบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นเพศเดียวกันกับผู้ทำการตรวจค้นและบุคคลที่ถูกตรวจค้น
(๑๖) ต้องจัดให้มีการบันทึกรายการอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใดขึ้นบนอากาศยานที่ตรวจพบด้วยความถูกต้องแม่นยำ
(๑๗) สภาพแวดล้อมของสถานที่ตรวจค้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างน้อย ดังนี้
(ก) สถานที่ตรวจค้นบุคคลและสิ่งใด ๆ ต้องดำเนินการใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกันการย้ายสิ่งนั้นกลับไปมาระหว่างบุคคลนั้นไปสู่บุคคลอื่น
(ข) สถานที่ตรวจค้นต้องมีการออกแบบให้สามารถควบคุมบุคคลและกำจัดความเสี่ยงที่บุคคลจะหลบเลี่ยงการตรวจค้นได้
(ค) สถานที่ตรวจค้นต้องมีการออกแบบให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารซึ่งแตกต่าง กันอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนเที่ยวบิน เพื่อลดปัญหาจากการปฏิบัติงานตรวจค้นให้เหลือน้อยที่สุด
(ง) การติดตั้งเครื่องมือรักษาความปลอดภัยต้องพิจารณาเรื่องการรบกวนอุปกรณ์ อื่น  เช่น อุปกรณ์คลื่นความถี่ของวิทยุ เครื่องมือสื่อสารของสนามบินสาธารณะ เป็นต้น
(จ) พื้นที่สำหรับการตรวจค้นในวิธีการตรวจค้นเป็นการเฉพาะบุคคล (Private Search) ต้องเป็นพื้นที่ปิดและเป็นพื้นที่ที่แยกจากการตรวจค้นบุคคลอื่น ๆ
(ฉ) มีโต๊ะที่เหมาะสมสำหรับตรวจค้นด้วยมือ ซึ่งสิ่งใด ๆ ที่บุคคลจะนำขึ้นอากาศยาน โดยบุคคลที่เป็นเจ้าของสิ่งที่ถูกตรวจค้นนั้นสามารถมองเห็นการตรวจค้นได้ แต่ไม่อาจอยู่ในจุดที่รบกวนการตรวจค้นได้
(ช) ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารสำหรับรับข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับงานประจำวันและอุปกรณ์สื่อสารอื่น เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินได้
(ฎ) จัดระบบอุณหภูมิ แสงสว่าง และการระบายอากาศอันเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานตรวจค้นที่มีประสิทธิภาพ
(๑๘) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นที่กรมการขนส่งทางอากาศประกาศกำหนด
   ข้อ ๓ ผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้น สัมภาระหรือสิ่งของที่จะบรรทุกไปกับอากาศยานตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) สัมภาระ
(ก) การตรวจค้นสัมภาระที่เดินทางไปพร้อมกับเจ้าของสัมภาระ ให้ดำเนินหลังจากมีการแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง (Check - in) ต่อผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือตัวแทนแล้วเท่านั้น   สัมภาระที่ไม่มีเจ้าของเดินทางไปด้วย (Unaccompanied Baggage) ต้องมีป้ายกำกับไว้  เป็นการเฉพาะ และมีการตรวจค้นเพิ่มเติม (Additional Screening) มากกว่าการตรวจค้นสัมภาระที่เดินทางไปพร้อมกับเจ้าของสัมภาระ
(ข) ต้องใช้เครื่องมือร่วมด้วยในการตรวจค้นสัมภาระ
(ค) การตรวจค้นสัมภาระต้องมีผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อการแสดงตน เพื่อการขึ้นเครื่อง (Check - in) การให้ผู้โดยสารขึ้นอากาศยาน ตลอดจนการจัดและนำสัมภาระขึ้นบนอากาศยาน ซึ่งอาจดำเนินการได้ทั้งก่อนและหลังการแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง (Check - in)
(ง) ต้องตรวจค้นสัมภาระด้วยมือต่อหน้าบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของสัมภาระ เพื่อให้แน่ใจได้ว่า สัมภาระเป็นของเจ้าของสัมภาระในเที่ยวบินนั้นซึ่งได้ขึ้นอากาศยานแล้ว และสัมภาระได้ถูกควบคุมด้านการรักษาความปลอดภัยที่จำเป็น ตลอดจนได้รับอนุญาตให้นำขึ้นอากาศยานในเที่ยวบินดังกล่าวด้วย
(จ) สัมภาระของบุคคลซึ่งไม่ได้รับความยินยอมให้ขึ้นอากาศยานไม่ว่า ด้วยเหตุใด ๆ  ต้องนำลงจากอากาศยาน
(ฉ) ต้องตรวจค้นสัมภาระทุกชิ้นของบุคคลที่เริ่มต้นขึ้นอากาศยานของผู้โดยสาร เปลี่ยนลำ และสัมภาระซึ่งไม่มีเจ้าของเดินทางไปด้วย ที่สนามบินสาธารณะแห่งนั้น
(ช) ต้องป้องกันการสอดแทรกอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ให้แก่สัมภาระทั้งหมดที่ผ่านการตรวจค้นแล้ว และจัดให้มีพื้นที่เก็บสัมภาระที่ปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำการตรวจตราจนกระทั่งลำเลียงขึ้นบน อากาศยาน
(๒) สิ่งของ
 "สิ่งของ"  ตามข้อนี้ หมายความว่า สินค้าปกติ สินค้าที่ถูกนำมารวบรวมเข้าด้วยกันกับสินค้าของผู้ส่งรายอื่น สินค้าที่เปลี่ยนถ่ายจากอากาศยานหรือช่องทางอื่น ไปรษณียภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์และสิ่งของที่ผู้ดำเนินการเดินอากาศใช้ให้บริการแก่ผู้โดยสาร ในระหว่างการเดินทาง
(ก) สิ่งของทุกชิ้นซึ่งใส่ในช่องเก็บสินค้าของอากาศยาน เช่น ไปรษณียภัณฑ์ของผู้ดำเนินการเดินอากาศ เอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับเที่ยวบิน ต้องผ่านการตรวจค้นก่อนที่จะนำขึ้น
อากาศยาน
(ข) สิ่งของที่นำขึ้นบนอากาศยานต้องมีการดำเนินการอยู่ภายในสภาพแวดล้อมที่มีการ ควบคุมรักษาความปลอดภัย ตามระบบควบคุมรักษาความปลอดภัยในระดับที่เพียงพอก่อนจะนำขึ้นบนอากาศยาน และต้องตรวจค้นสิ่งของเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีระดับการรักษาความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ จะนำสิ่งของขึ้นอากาศยานได้ก็ต่อเมื่อได้ทำการตรวจค้นว่าปลอดภัยแล้ว
(ค) การตรวจค้นสิ่งของจะมีระดับความเข้มข้นมากน้อยเพียงไร อย่างน้อยต้องคำนึงถึงการบรรจุหีบห่ออย่างปลอดภัย สภาพการเก็บรักษาไว้ในที่ซึ่งได้รับการรักษาความปลอดภัยแล้ว
(๓) ให้นำหลักเกณฑ์ในเรื่องการตรวจค้นบุคคลและสิ่งใด ๆ ที่บุคคลดังกล่าว จะนำขึ้นอากาศยานตามข้อ ๒ มาใช้บังคับแก่การตรวจค้นสัมภาระและสิ่งของโดยอนุโลม
(๔) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นที่กรมการขนส่งทางอากาศประกาศกำหนด
   ข้อ ๔ ผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้น บุคคล ยานพาหนะ รวมทั้งสิ่งของที่จะเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะตามหลักเกณฑ์   ดังนี้
(๑) ควบคุมการเข้าออกเขตหวงห้ามอย่างเข้มงวดโดยจำ กัดให้เข้าได้เฉพาะบุคคลยานพาหนะ รวมทั้งสิ่งของของผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานในขณะนั้นเท่านั้น และจัดช่องทางเข้าออก
ให้เหลือน้อยที่สุด
(๒) ตรวจค้นบุคคลทุกคน ยานพาหนะทุกคัน และสิ่งของทุกชิ้นที่จะเข้าไปในเขตหวงห้ามซึ่งบุคคลและยานพาหนะดังกล่าวต้อง มีบัตรผ่านเข้าพื้นที่รักษาความปลอดภัยก่อน จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่เขตหวงห้ามได้
(๓) ส่งตัวผู้ที่เข้าไปในเขตหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับบุคคลที่มีบัตรผ่านเข้าพื้นที่รักษาความปลอดภัย หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะก่ออาชญากรรม  ต้องทำการสอบถามบุคคลนั้นให้แน่ใจว่าไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการดังกล่าว และต้องรายงานไปยังหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของสนามบินและหน่วยงานอื่นที่ เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบด้วย
(๔) เมื่อสนามบินสาธารณะมีการแบ่งเขตหวงห้ามออกเป็นหลายพื้นที่ ต้องระบุในบัตรผ่านเข้าพื้นที่รักษาความปลอดภัยว่า สามารถเข้าไปยังพื้นที่ใดได้บ้าง อันแบ่งเป็นระดับโดยใช้เครื่องหมาย เป็นตัวเลข ตัวอักษร แถบสีหรือวิธีการอื่นใด
(๕) ในระหว่างช่วงเวลาที่มีระดับภัยคุกคามสูงขึ้นกว่าปกติต้องพิจารณาถึงความจำ เป็นในการทำบัตรผ่านเข้าพื้นที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเป็นบัตรชั่วคราว หรือบัตรที่ออกให้เป็นรายวันให้แก่บุคคลผู้ได้รับอนุญาตเมื่อมาถึงสนามบิน และรับคืนบัตรด้วยทุกครั้ง เมื่อบุคคลดังกล่าวหมดเวลา ในการปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้นแล้ว
(๖) แจ้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่ของบุคคลที่จะเข้าไปยังเขตหวงห้าม ให้ทุกองค์กรที่มีการปฏิบัติงานในเขตหวงห้ามได้รับทราบ และปิดประกาศข้อความสำคัญไว้ประจำ ณ ประตู
ทางเข้าออกเขตหวงห้ามด้วย
(๗) ให้นำหลักเกณฑ์ในเรื่องการตรวจค้นบุคคลและสิ่งใด ๆ ที่บุคคลดังกล่าวจะนำขึ้นอากาศยานตามข้อ ๒ และการตรวจค้นสัมภาระและสิ่งของที่บรรทุกไปกับอากาศยานตาม    ข้อ ๓ มาใช้บังคับแก่การตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ รวมทั้งสิ่งของที่จะเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบิน สาธารณะ โดยอนุโลม
(๘) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นที่กรมการขนส่งทางอากาศประกาศกำหนด
 ข้อ ๕ ผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะต้องตรวจค้นบุคคลที่มีลักษณะพิเศษตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้โดยสารที่พาสิ่งของซึ่งมีมูลค่าสูง ผู้โดยสารที่ใช้เครื่องมือกระตุ้นหัวใจ (Heart Pacemaker) ผู้โดยสารที่มีขีดจำกัดในการเคลื่อนที่ (Passengers with Reduced Mobility) และผู้โดยสารที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีอาวุธ วัตถุระเบิดหรือวัตถุอันตรายอื่นใด อาจได้รับการตรวจค้นด้วยวิธีการตรวจค้นเป็นการเฉพาะบุคคล (Private Search) ตามข้อ ๒ (๑๕) เมื่อผู้โดยสารร้องขอด้วยตนเอง หรือ  พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม
(๒) ผู้โดยสารที่เป็นนักโทษซึ่งถูกควบคุมตัวต้องได้รับการตรวจค้นด้วยวิธีการ ตรวจค้น เป็นการเฉพาะบุคคล (Private Search) ตามข้อ ๒ (๑๕) ในสถานที่ตรวจค้นที่จัดขึ้นเป็นการเฉพาะ
(๓) ตัวแทนทางการทูต เจ้าพนักงานกงสุล และบุคคลอื่นที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือ ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งสัมภาระและสิ่งใด ๆ ที่บุคคลดังกล่าวจะนำขึ้นอากาศยานต้องได้รับการตรวจค้นด้วยเหตุผลด้านการ รักษาความปลอดภัยถุงเมล์ทางทูต และถุงเมล์ทางกงสุลที่มีเครื่องหมายภายนอกแสดงลักษณะของถุงเมล์ดังกล่าว  จะได้รับการยกเว้นจากการตรวจค้น ก็ต่อเมื่อถุงเมล์นั้นได้รับการปิดผนึก (sealed) ไว้เรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ผู้ขนส่งถุงเมล์ทางทูต (Diplomatic Courier) หรือเจ้าหน้าที่ผู้ขนส่งถุงเมล์กงสุล (Consular Courier) ได้แสดงหลักฐานอันประกอบด้วยบัตรประจำตัวของตัวแทนทางการทูตหรือเจ้าพนักงาน กงสุล และหนังสือแต่งตั้งของสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลแต่งตั้งให้บุคคล ดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ขนส่งถุงเมล์นั้น
(๔) บุคคลดังต่อไปนี้ รวมทั้งสัมภาระและสิ่งใด ๆ ที่บุคคลนั้นนำขึ้นอากาศยานได้รับการยกเว้นจากการตรวจค้น คือ
(ก) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ พระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศไทย
(ข) ผู้แทนพระองค์ของบุคคลตาม (๔) (ก)
(ค) ประมุขของต่างประเทศและสมาชิกในครอบครัวที่ร่วมเดินทางมาด้วย
(ง) ผู้นำรัฐบาลของประเทศที่ประเทศไทยให้การรับรอง และสมาชิกในครอบครัวที่ร่วมเดินทางมาด้วย และ
(จ) พระราชอาคันตุกะ อาคันตุกะอื่น ๆ ของรัฐบาลไทย และสมาชิกในครอบครัว ของบุคคลดังกล่าวที่ร่วมเดินทางมาด้วย
(๕) บุคคลสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศได้ให้การรับรองเป็นหนังสือ รวมทั้งสัมภาระและสิ่งใด ๆ ที่บุคคลนั้นนำขึ้นอากาศยาน ได้รับการยกเว้นจากการตรวจค้น ก็ต่อเมื่อบุคคล สัมภาระ และสิ่งดังกล่าวได้รับการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดีและปราศจากอาวุธ วัตถุระเบิดหรือวัตถุ อันตรายอื่นใด โดยอยู่ในความอารักขาของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำ เที่ยวบิน และผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการนั้น
   ข้อ ๖ การรับการแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง (Check - in) และมีสัมภาระที่จะบรรทุก ไปกับอากาศยาน ซึ่งดำเนินการนอกสนามบินเป็นการอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานที่ภาคผนวก ๙  แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ. ๑๙๔๔ กำหนด อันต้องมีการควบคุมการนำส่งสัมภาระไปยังสนามบินสาธารณะด้วยความปลอดภัย เพื่อรับการตรวจค้นอีกครั้งหนึ่ง ตามมาตรา ๖๐/๑๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๔๙๗ หากตรวจค้นสัมภาระแล้ว แต่ไม่ผ่านต้องติดต่อบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของสัมภาระดังกล่าวเพื่อขอเปิดดู สัมภาระนั้น
    ข้อ ๗ ผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะต้องจัดให้มีคู่มือมาตรฐาน การปฏิบัติการตรวจค้น สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติการตรวจค้นใช้ประจำ ณ จุดตรวจค้น และต้องปรับปรุงหรือแก้ไขคู่มือดังกล่าวให้ทันสมัยอยู่เสมอพร้อมสำหรับให้ เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางอากาศตรวจสอบได้ตลอดเวลา
 ข้อ ๘   ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
 โสภณ ซารัมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน

view