สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระวังไขมันเกาะตับ เสี่ยงมะเร็ง

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :อนุสรา ทองอุไร:
วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552


หากพูดถึงโรคตับ แข็งหรือมะเร็งตับที่เป็นสาเหตุการตายของนักร้องลูกทุ่งดัง อย่าง ยอดรัก สลักใจ หรือดารานักการเมือง อภิชาติ หาลำเจียก

เรา มักจะนึกถึงสาเหตุของการเกิดโรคว่ามาจากการดื่มสุรา ไวรัสตับอักเสบ หรือจากยาบางชนิด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงตัวการสำคัญอีกประเภทที่ทำให้เกิดโรคร้ายกับตับได้ เช่นกันคือ ภาวะไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อยและพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย พญ.พนิดา ทองอุทัยศรี สถาบันโรคตับและทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้

มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าในปี 2550 ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากมะเร็งเกือบ 8 ล้านคน หรือ 13% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด มะเร็ง 5 ชนิดที่พบมากที่สุดได้แก่ มะเร็งปอด เสียชีวิตปีละ 1.3 ล้านคน รองลงมา คือ มะเร็งกระเพาะอาหาร ปีละเกือบ 1 ล้านคน มะเร็งตับปีละ 6.62 แสนคน มะเร็งลำไส้ใหญ่ปีละ 6.55 แสนคน และมะเร็งเต้านมปีละ 5.02 แสนคน ตามลำดับ

ในประเทศไทยจากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2551 ในผู้ชายพบมะเร็งตับและท่อน้ำดี (10.5%) มากเป็นอันดับ 3 รองจากลำไส้ใหญ่ (17.4%) และมะเร็งปอด (16.2%) ส่วนในผู้หญิงพบมะเร็งตับ (3.3%) มากเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งเต้านม (43%) ปากมดลูก (16.4%) ลำไส้ใหญ่ (8.8%) และปอด (5.2%)

ในอดีตที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับมักจะตรวจพบครั้งแรกเมื่อมี ก้อนขนาดใหญ่หรือในระยะที่เป็นมากแล้ว ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน หลังจากที่มีการตรวจคัดกรองหามะเร็งตับ พบว่า 30-40% ของผู้ป่วยสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ถ้าพบก้อนขนาดเล็กและสามารถผ่าตัดได้จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ถึง 50-70%

กลุ่มเสี่ยง

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงของไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ผู้ชายเอเชียที่อายุมากกว่า 40 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี ในรายที่เป็นตับแข็ง และมีครอบครัวเป็นมะเร็งตับ ผู้ป่วยโรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบซี แอลกอฮอล์ ภาวะธาตุเหล็กสะสมในตับ สารพิษอะฟลาทอกซิน

เนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น ทำให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่เริ่มแรกโดยที่ยังไม่มีอาการ ผู้ป่วยมะเร็งตับบางรายมาด้วยอาการแสดงจากโรคตับแข็ง เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง น้ำในช่องท้อง เลือดออกจากเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหาร ม้ามโต และอาการแสดงอื่นๆ ของโรคตับแข็ง หรือซึม สับสน อาการแสดงที่เกิดจากมะเร็งตับได้แก่ ปวดท้อง น้ำหนักลด ท้องอืดแน่นท้อง เบื่ออาหาร ไข้ ตาเหลือง ตัวเหลือง และตับโต

ภาวะไขมันสะสมในตับ

คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันภายในเซลล์ตับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ โดยอาจมีเพียงการสะสมของไขมันอย่างเดียวหรืออาจมีการอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งในผู้ป่วยบางรายการอักเสบเรื้อรังนี้อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดในตับ หรือที่เราเรียกว่าภาวะตับแข็งได้

ไขมันเกาะตับพบได้บ่อยแค่ไหน

พบว่าประชากรทั่วไปประมาณ 10-20% มีภาวะไขมันสะสมในตับ โดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และประมาณ 1-3% จะพบการอักเสบเรื้อรังของตับร่วมด้วย โดยจะพบเพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลความชุกของโรคนี้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าคงใกล้เคียงกับข้อมูลของต่างประเทศ

กรณีที่ผู้ป่วยมีค่าการทำงานของตับผิดปกตินานกว่า 3 เดือน ซึ่งบอกถึงภาวะตับอักเสบเรื้อรังโดยที่ไม่ได้เกิดจากไวรัสตับอักเสบ บีและซี การดื่มสุราหรือรับประทานยา พบว่ามากกว่า 60% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะไขมันสะสมในตับที่อาจเป็นสาเหตุได้

สาเหตุและความเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา

สาเหตุ ของโรคนี้ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน โดยข้อมูลในปัจจุบันเชื่อว่าปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับคือ ภาวะดื้อต่ออินซูลินและจากนั้นอาจจะมีกลไกอื่นที่มากระตุ้นให้เซลล์ตับที่มี ไขมันเกาะอยู่นั้นเกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับลักษณะของผู้ป่วยที่มี ความสัมพันธ์กับการดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่ผู้ป่วยที่มีลักษณะต่อไปนี้

1.อ้วน โดยเฉพาะอ้วนที่ลำตัวหรือลงพุง คือมีรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว ในผู้ชายหรือมากกว่า 32 นิ้วในผู้หญิง

2.เป็นเบาหวาน

3.ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอไรด์

4.ความดันโลหิตสูง พบว่าผู้ป่วยที่มีลักษณะอย่างน้อย 1 ข้อดังกล่าวจะมีโอกาสเกิดภาวะไขมันสะสมในตับสูงคือประมาณ 80% ของคนอ้วน และ 20-40% ในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีไขมันสะสมในตับ

5.รับประทานอาหารที่มีอะฟลาทอกซินและเชื้อราผสมอยู่ เช่นถั่วลิสงคั่ว พริกป่น ข้าวฟ่าง ข้าวโพดอบแห้ง ปลาป่น กระดูกป่น

อาการของไขมันสะสมในตับ

ผู้ป่วยส่วนมากไม่มีอาการ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด เช็กสุขภาพ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการจุกแน่นชายโครงด้านขวา หรือในรายที่เป็นมานานอาจมีอาการเริ่มต้นของภาวะตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย ท้องโต เป็นต้น การตรวจร่างกายโดยแพทย์ ในระยะแรกมักจะปกติหรือพบแค่ผู้ป่วยรูปร่างอ้วน การตรวจเลือดดูการทำงานของตับจะพบค่า ALT และ AST มีค่าสูงกว่าปกติประมาณ 1.5-4 เท่า ซึ่งบ่งถึงการอักเสบของเซลล์ตับและอาจมีค่า ALP สูงขึ้นเล็กน้อย

การวินิจฉัย

1.ตรวจเลือดดูการทำงานของตับจะพบว่ามีการอักเสบของค่า ALT และ AST สูงกว่าปกติ

2.ตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลและไขมันอาจมีค่าสูงกว่าปกติ

3.ตัดโรคอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะตับอักเสบเรื้อรังออกไปโดย ประวัติและการตรวจเลือด เช่น การดื่มสุรา รับประทานยา ไวรัสตับอักเสบบีหรือซี หรือบางรายอาจจำเป็นต้องเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ

4.ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จะพบว่าตับมีสีขาวขึ้นกว่าปกติ และอาจมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการที่มีไขมันแทรกอยู่ในเซลล์ตับทั่วๆ ไป

5.ตรวจโดยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

6.เจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยา ซึ่งมีประโยชน์ช่วยบอกสาเหตุและประเมินความรุนแรงของภาวะตับอักเสบอาจจำเป็น ต้องทำในผู้ป่วยบางราย

อันตรายของภาวะไขมันเกาะตับ

โดยรวมแล้วไขมันเกาะตับมักมีการพยากรณ์โรคที่ดี เราสามารถแบ่งความรุนแรงของภาวะไขมันเกาะตับได้เป็น 4 ระดับตามลักษณะทางพยาธิวิทยา โดยผู้ป่วยส่วนมากจะอยู่ในระดับที่ 1 และ 2 ซึ่งไม่รุนแรง คือมีเพียงไขมันสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว หรืออาจมีการอักเสบที่ไม่รุนแรงร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะสบายดีแม้ว่าจะติดตามไปนาน 10-20 ปี

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะไขมันเกาะตับในความรุนแรงระดับ 3 และ 4 คือมีการอักเสบรุนแรงทำให้เซลล์ตับบวมและอาจมีพังผืดในตับเกิดขึ้นร่วมด้วย กลุ่มนี้ต้องระวังเพราะสามารถทำให้เกิดตับแข็งได้ 20-30% ในเวลา 10 ปี และทำให้เสียชีวิตจากโรคตับหรือมะเร็งตับได้ประมาณ 9% ในเวลา 10 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบในผู้ป่วยที่จะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงนี้ได้แก่ อายุมาก อ้วนมาก หรือเป็นเบาหวานร่วมด้วย

การปฏิบัติตัวเมื่อรู้ว่าเป็น

ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้ผลการรักษาดีมาก หรือหายขาดจากโรคนี้ ดังนั้นการรักษาที่สำคัญและได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือการลดน้ำหนัก ซึ่งช่วยลดไขมันและการอักเสบในตับได้จริงโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อ้วน อีกทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย ค่อยๆ ลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน จนน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ระวังการลดน้ำหนักที่เร็วเกินไปหรือลดอย่างผิดวิธี จะทำให้มีผลเสียต่อสุขภาพและทำให้ตับอักเสบแย่ลง

ควบคุมระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้การใช้ยาลดไขมันจะสามารถลดระดับไขมันในเลือด รวมถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่ายากลุ่มนี้จะลดไขมันหรือการอักเสบในตับได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเสมอ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าและการใช้ยาที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่เราไม่ทราบส่วนผสม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อตับโดยตรง

การรักษา

เป้าหมายในการรักษาคือลดปริมาณไขมันและการอักเสบภายในตับ เพื่อป้องกันการเกิดพังผืดหรือตับแข็งในอนาคต ซึ่งยาที่รักษาในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัย แต่มียาหลายตัวที่ใช้เวลาศึกษามานานและชี้ว่ามีประโยชน์ ช่วยลดความผิดปกติของค่า ALT และ AST ในเลือดรวมถึงอาจลดปริมาณไขมันและการอักเสบภายในตับลงได้ แต่ยาแต่ละตัวก็อาจจะมีผลข้างเคียงได้และเหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ กัน

การใช้ยาจึงควรอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งแล้ว ก็ยังมีการรักษาอีกหลายอย่างที่ช่วยให้อาการดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ได้ ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับในกรณีที่เป็นตับแข็งระยะสุดท้าย สามารถทำได้แล้วในประเทศไทย

view