สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเมือง-เกียร์ว่าง ระเบิดเวลามาบตาพุด

จากประชาชาติธุรกิจ



วิกฤต "มาบตาพุด" กำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย อาจจะรุนแรง ลึกซึ้งกว่าความขัดแย้งของ "เสื้อเหลืองและเสื้อแดง" ในขณะนี้ก็เป็นได้ เพราะเป็นการปะทะกันระหว่าง "ฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ที่ยึดคุณภาพชีวิตเป็นหลักกับ "ฝ่ายทุนนิยม" ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มาบตาพุดวันนี้กลายเป็นวิกฤตใหม่ของประเทศไปแล้ว
จะว่าไปแล้วชาวบ้าน ต้องทนทุกข์ระทมกับมลพิษ ต้องทนเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ล้มตายด้วยโรคมะเร็งเพียงเพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากว่า 20 ปี
 ฉะนั้นชาวบ้านย่อมมีสิทธิเต็มเปี่ยมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องชีวิตตัวเอง
   ขณะที่โรงงานที่อยู่ในนิคมฯมาบตาพุดอาจจะเป็นผู้ร้ายในสายตาคนทั่วไป แต่อย่าลืมว่าผู้ประกอบการทุกคนทำตามขั้นตอนกฎหมายกำหนดไว้ทุกอย่าง เจาะลึกดูใส้ใน โรงงานทั้ง 76 โรง มีจำนวนหนึ่งเดินเครื่องก่อนกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 บังคับใช้ บางรายได้รับอนุญาตและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีเพียงไม่กี่โรงที่ยังไม่ดำเนินการอะไร แต่กลับได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด
     ฝ่ายหนึ่งปกป้องตัวเองตามกระบวนการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ ปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้บังคับ แต่เมื่อมีคำสั่งศาลปกครองออกมาทุกฝ่ายต้องน้อมรับ
  หากย้อนเวลาไปหาอดีต ปัญหาในมาบตาพุดไม่ใช่เพิ่งเกิดในวันสองวัน สะสมตั้งแต่วันแรกที่โรงงานเริ่มเดินเครื่อง แต่ถูกปล่อยปละละเลยจากรัฐบาลที่ผ่านมา ราชการที่เกี่ยวข้องมาตลอด มาร้อนตัวเมื่อกำลังจะเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดทันที
 ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาล และหน่วยงานราชการไม่เคยคิดแผนรับมือปัญหาที่จะตามมา ทั้งที่หลาย ๆ ประเทศเคยมีบทเรียนมาแล้วว่า เมื่อเกิดนิคมอุตสาหกรรมต้องเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมาอยู่รอบ ๆ กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และจะมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรมตามมาในที่สุด
 แต่รัฐบาลไม่ได้สนใจ ผังเมืองที่จะจัดทำ "บัฟเฟอร์โซน" หรือ "กันชน" ระหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่ชัดเจน ไม่คืบหน้า "คณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด" ทำหน้าที่ กำหนดวิสัยทัศน์ ดูภาพรวมก็ถูกสภาพัฒน์เสนอยุบทิ้งดื้อ ๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
   แต่ปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งไม่ให้การแก้ปัญหาเดินหน้าได้จริงๆ คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ตลอด3ปีที่ผ่านมา การบริหารประเทศต้องสะดุดเป็นระยะ ๆเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ๆ แต่ละชุดเข้ามาก็อายุสั้นไม่ต่อเนื่อง  ไร้เสถียรภาพ ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไร กลัวว่ากระทบทางการเมือง
ที่สำคัญยังต้องสาละวนกับปัญหาภายในรัฐบาลเองจนลืมแก้ปัญหาอื่น ๆ รวมทั้ง "มาบตาพุด" รัฐมนตรีแต่ละคนที่เข้ามาดูแล ขีดความสามารถก็ระดับแถวสามแถวสี่  ไม่มีความรู้ความเข้าใจ  จึงไม่สนใจ
 เมื่อ รัฐธรรมนูญปี 50 ประกาศใช้ ตั้งแต่รัฐบาลสมัคร-สมชาย-อภิสิทธิ์ ไม่เคยหยิบปัญหามาบตาพุดที่มีเงินลงทุนถึง 4 แสนล้านมาพิจารณา ไม่เคยประชาพิจารณ์ ไม่มีการตั้งองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ระบุให้ "ตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่พิจารณาโครงการลงทุนที่มีผลกระทบต่อชุมชน การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ที่จะรวมอยู่ในรายการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
ข้าราชการเองก็แบ่งฝักแบ่งฝ่าย สีเหลือง สีแดง ขั้วอำนาจเก่า อำนาจใหม่ ปล่อย "เกียร์ว่าง" ไม่ทำงาน เรื่องของมาตรฐาน "เอชไอเอ" ที่ต้องรับผิดชอบระหว่างอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข โยนกันไปโยนกันมาซื้อเวลาไปวัน ๆ
  ระเบิดเวลาที่มาบตาพุดครั้งนี้เกิดจากวิกฤตการเมือง รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ไม่ สนใจ ข้าราชการเกียร์ว่าง นั่นเอง
อย่าง ไรก็ตาม เวลานี้ทุกฝ่ายต้องการความชัดเจน ผู้ประกอบการอยากจะรู้ว่า มาตรฐานเอชไอเอจะเอาอย่างไร จะสูงแค่ไหน รับได้หรือไม่ จะได้ตัดสินใจถูกว่าจะเดินหน้าต่อ หรือจะย้ายฐานไปลงในประเทศอื่นที่เหมาะสมแทน
 ชาวบ้านก็จะรู้ว่า รับได้หรือไม่เช่นกัน
 แต่ต้องเศร้าใจเมื่อรัฐบาลกลับออกมาตรการระยาวให้พื้นที่ชายฝั่งทะเล ตะวันออก และชายฝั่งทะเลภาคใต้เป็นเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ แก้ปัญหาแบบคนละเรื่องเดียวกัน
คลำประเด็นไม่ถูก ไม่รู้ว่าอันไหนสำคัญก่อนหลัง เห็นทีชาวบ้านและโรงงาน คงจะไม่ได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ง่ายๆ

view