สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น่านนิรันดร์...เมื่อภาพแทนคำนับพัน

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ร้อยตะวันพันดาว:


แม้น่านเป็นเมืองปิดกลางกำแพง ขุนเขาในแผนที่ท่องเที่ยว

แต่ ทุกสายตานักเดินทางยังจับจ้องไปที่น่านในฐานะปลายทางแห่งความฝันที่ต้องเดิน ทางไปสัมผัสสักครั้งให้ได้ในชีวิต ฉันเดินทางมาน่านอีกครั้งหลังห่างหายจากน่านไปนานหลายปี ประตูเมืองน่านเปิดต้อนรับพวกเราอย่างอบอวลด้วยตัวตน"คงเดิม"ซึ่งคงยังเป็น เอกลักษณ์ของเมืองน่านที่ยังกระทัดรัด งดงาม น่ารักอยู่เสมอ

การเดินทางมาน่านครั้งนี้เพราะได้รับเชิญจาก “กลุ่มสหภาพ” นำโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ เกรียงไกร ไวยกิจ ช่างภาพแนวหน้าของเมืองไทย และ ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีที่ไม่มีใครไม่รู้จัก พรั่งพร้อมด้วยสหายทั้งช่างภาพฝีมือและสมัครเล่น ตั้งกลุ่ม “สห+ภาพ” ขึ้นมาและจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเสียงชัตเตอร์ของพวกเขาเป็นครั้งแรกที่ ตลาดสามชุกในชุด “ตลาดยังไม่วาย”ความสำเร็จของนิทรรศการ “ตลาด ยังไม่วาย” เสมือนเป็นการเปิดตัวกลุ่ม สห+ภาพครั้งแรก ได้ส่งอานิสงส์มาสู่ จ.น่าน ด้วยเช่นกัน เพราะมองเห็นในศักยภาพของน่านที่แม้ว่าจะมีสภาพ ภูมิประเทศเป็นเมืองในโอบล้อมของขุนเขา เป็นเมืองปิด “แต่น่านก็มีต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มั่งคั่ง ชาวเมืองน่านมีวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์ สืบทอด มายาวนานตั้งแต่ครั้งเคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาตะวันออก ในนาม “นันทบุรีศรีนครน่าน” เมื่อกว่า 700 ปีก่อน ข้อจำกัดของการเป็นเมืองปิด จึงกลับกลายเป็นข้อดีในการปกปักรักษาอัตลักษณ์ความเป็น “น่าน” ที่ไม่มีใครเหมือนไว้

จนมีคำกล่าวว่า น่านอาจเสียโอกาสพัฒนาเมืองให้ทันสมัย แต่สิ่งที่น่านมี ขณะที่หลายจังหวัดกำลังสูญเสีย คือความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญคือดุลยภาพระหว่างคนกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่งดงาม สุขสงบ เรียบง่ายตามอัตภาพ ภายใต้เงาสะท้อนของศิลปะและสถาปัตยกรรมสกุลช่างน่านอันตระการตา” คือแรงผลักสำคัญของกลุ่มสหภาพ ที่ช่วยกันรังสรรค์ความฝันสู่ความจริงผ่านภาพถ่ายในนิทรรศการชุดนี้ และได้รวบรวม 50 ช่างภาพทั่วไทยบันทึกภาพทั่ว จ.น่าน จัดกลุ่มแบ่งสายกระจายไปทั่วจังหวัด เก็บภาพความงดงามของน่านจากหลายมุมมองมาบอกเล่า บทตอนอันมหัศจรรย์นั้นผ่านภาพสวยๆ ถึง 100 ภาพ และตอนนี้ภาพดังกล่าวก็ได้จัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน


แต่ละภาพล้วนเป็นผลงานที่เกิดขึ้นสดๆ ณ ช่วงเวลานั้น ถ่ายทอดน่านได้ งดงามติดตรึงใจ ขยายสรีระความงามของ จ.น่าน ให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งสำหรับคนน่านเองและนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาเยือนน่านใน ห้วงเวลานั้น 


วันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา จึงเป็นวาระสำคัญอีกครั้งที่น่านกลายเป็นเมืองเล็กๆ มีชีวิตชีวา คึกคักด้วยผู้คนที่พากันเกี่ยวก้อยมาชมงานบริเวณข่วงเมืองเบื้องหน้าวัด ภูมินทร์ในช่วงเย็นย่ำไปจนถึงค่ำคืน เพราะเป็นวันเปิดนิทรรศการภาพถ่าย “น่านนิรันดร์ : 100 ภาพฝันบันทึกแผ่นดิน” เป็นครั้งแรก


ในงานนอกจากจะมีร้อยภาพบอกเล่าเรื่องน่านดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สื่อมวลชนยังมีโอกาสได้นั่งสามล้อปั่นชมเมืองน่าน ในยามค่ำที่อลังการด้วยวัดวาอารามอะร้าอร่ามกลางแสงไฟ และยังได้เดินชมการ จัดแสดงของดีเมืองน่าน อาทิ เครื่องเงิน ผ้าทอ ซึ่งยกขบวนกันมาสาธิตให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้ชมเป็นขวัญตาอีกด้วย


โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการของ จ.น่าน และภาคเอกชนที่ร่วมมือกันแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมืองน่าน สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน องค์การบริหาร ส่วนจังหวัดน่าน สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดน่าน หอศิลป์ริมน่าน สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวน่าน และอีกหลายๆ หน่วยงาน รวมทั้งสายการบินพีบีแอร์ที่เป็นสายการบินเดียวที่บริการเที่ยว บินกรุงเทพฯ–น่าน และได้พาสื่อมวลชนหลายคนร่วมเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ที่น่าประทับใจใน ครั้งนี้


นิทรรศการ “น่านนิรันดร์ : 100 ภาพฝัน บันทึกแผ่นดิน” จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 28 ต.ค. 2552 ขณะเดียวกันกลุ่มสห+ภาพยังได้มอบภาพสวยๆ ของเมืองน่านอีก 500 ภาพให้กับทางจังหวัด เพื่อใช้สำหรับทำประชาสัมพันธ์น่านและพัฒนาโครงการอื่นๆ ของ จ.น่าน ต่อไปในอนาคต


แม้ทุกคนจะเหน็ดเหนื่อยและหมดเรี่ยวแรงไปกับการเดินทาง บันทึกภาพของน่าน แต่พองานทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ภาพที่ปรากฏก็ทำให้ทุกคนหายเหนื่อยเป็น ปลิดทิ้ง ผู้คนเมืองน่านต่างให้ความสนใจนิทรรศการกันอย่างคับคั่ง จนทำให้บริเวณข่วงเมืองหน้าวัดภูมินทร์แน่นขนัด หลายคนรู้สึกทึ่งกับมุมอันสวยงามของถิ่นที่ตัวเองอาศัยเพราะไม่เคยพบเจอภาพ ของน่านในมุมนี้มาก่อน


ความมหัศจรรย์ของ “ตา” กล้องที่ เก็บภาพน่านไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมกลายเป็นความทรงจำอีกชิ้นที่ถูกบันทึกไว้ ด้วยสองตาและหัวใจของผู้คนที่มาร่วมงาน เมื่อภาพได้ถูกแทนด้วยคำนับพันที่ทำให้น่านยังคงเป็นปลายทางแห่งฝันสำหรับ วันนี้และอนาคต


ปั่นสองล้อ ผ่อเวียงสา อีกมุมของน่านน่าเที่ยว

จาก โพสต์ทูเดย์
หากขับรถมาเยือนน่านย่อมต้องผ่าน “เวียงสา”...

ถึงเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ก็เล็กและน่ารัก เพราะคนเวียงสาสายสัมพันธ์แน่นเหนียว จับมือกลมเกลียวตั้งกลุ่มคนฮักเมืองเวียงสา ที่พยายามปลุกและปั้นเวียงสาให้กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ของน่าน

เหมือนอย่างวันนี้ที่คุณลุงคุณป้าพา รถจักรยานเก่าเก็บมาชวนกัน “ปั่นสองล้อ ผ่อเวียงสา” ชมดินแดนริมน้ำสากันเต็มอิ่ม

เวียงสา เดิมทีมีชื่อว่าเวียงป้อ มีตำนานเล่าว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงคราใดมักเรียกผู้คนที่มีจำนวนไม่มาก นักตามบริเวณนั้นมาป้อกัน หรือรวมกันที่ปากสา หรือปากแม่น้ำสาซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำน่าน เวียงป้อเป็นเมืองทางทิศใต้ของนครน่าน ซึ่งพงศาวดารน่านได้บันทึกไว้เมื่อปีพ.ศ. 2139 สมัยเจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ เจ้า ผู้ครองนครน่านองค์ที่ 31 ได้ระบุว่าเมืองป้อเป็นหัวเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อนครน่าน พอถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 1 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งน่านอยู่ในยุคการปกครองของเจ้านครน่าน พระเจ้าอัตถ วรปัญโญ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เปลี่ยนแปลงการปกครองเวียงป้อไปขึ้นกับแขวงบริเวณน่านใต้ ต่อมาตั้งเป็นกิ่ง อ.เวียงสา และได้ยกฐานะเป็น อ.เวียงสา ในปัจจุบัน

ที่ว่าการอำเภอเก่าแก่ปลูกสร้างเป็นเรือนไม้ยังคงปรากฏความคลาสสิก และในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือเป็นครั้งแรก พระองค์เสด็จฯ จ.น่าน ในวันที่ 16 มี.ค. 2501 สู่ อ.สา ซึ่งเป็นชื่อในขณะนั้นเป็นอำเภอแรก ทั้งสองพระองค์ประทับ ณ บริเวณหน้ามุขชั้นบนอาคารที่ว่าการอำเภอสา เป็นอดีต ที่ชาวเวียงสาทุกคนภาคภูมิใจปลาบปลื้มสุดๆ และพยายามอนุรักษ์อาคารเก่า อันทรงคุณค่าหลังนี้เอาไว้ โดยจะปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ประจำอำเภอที่ทุกคน เข้ามาร่วมเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของเวียงสาร่วมกันได้

ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอหลังเก่า ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานเทศบาลตำบลเวียงสา คือ วัดบุญยืนอารามหลวง เก่าแก่มาก อายุกว่า 200 ปี วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถที่มีหลังคาลดหลั่นกันลงมา ด้านหน้า พระอุโบสถมีประตูไม้แกะสลักเป็นรูปเทวดา ลายพรรณพฤกษา ด้านหลังมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เก่าแก่ เดินเข้ามาภายในพบองค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก สร้างด้วยปูนปิดทองทั้งองค์ แปลกตาตรงที่พระพุทธรูปนั้นสง่างาม สวยแบบขลังๆ บรรยากาศในวัดเงียบสงบสมเป็นวัดเก่าและศูนย์รวมจิตใจคนเวียงสา

ต่อจากวัดบุญยืนล่องไปให้ถึงเฮือน รถถีบของ สุพจน์ เต็งไตรรัตน์ จากคนขายรถจักรยาน พอแรงปั่นหมดค่า หันมาใช้แรงจากน้ำมันแทนตามยุคสมัย บทบาทของรถจักรยานเลยน้อยลง สู้รถจักรยานยนต์ไม่ได้ อะไหล่ที่เหลือเลยเป็นที่มาของ พิพิธภัณฑ์จักรยาน ซึ่งวันนี้คุณลุงได้ รวบรวมรถจักรยานเก่าแทบทุกรุ่นเท่าที่มีอยู่ในโลก ทุกคันอยู่ในสภาพใช้การได้ดี ไม่ใช่แก่เก่าเก็บอย่างเดียว เดินไปจะพบเจ้าสองล้อโตจากเยอรมนีที่น่าจะมีเพียง 2 คันในเมืองไทยเท่านั้น

จากเฮือนรถถีบแล้วออกเดินทางกันต่อไปสิ้นสุดที่บ้านกะหลก เดิมทีเจ้ากะหลกนี้ไว้ใช้เรียกผู้คนมารวมตัวกัน แต่ตอนหลังกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับเรียกปลาในแม่น้ำน่าน ที่เรียนรู้ว่าได้ยินเสียงเคาะกะหลกเมื่อไหร่ นั่นคือเสียงของมื้ออาหารอันโอชะ ปลาจะมารวมตัวกันเพื่อรอเจ้าของบ้านโปรยเม็ดอาหารลงมา แปลกดีเหมือนกัน

และที่บ้านกะหลกนี้ยังได้สาธิตการเรียนการสอนภาษาล้านนาโบราณที่คน เวียงสาพยายามอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังอ่านภาษาล้านนาโบราณได้ เด็กๆ อ่านออกเสียงกันเจี๊ยวจ๊าว การเรียนการสอนนี้จริงๆ แล้วเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำ หลังเสร็จภารกิจการงาน ชาวบ้านที่สนใจจะมารวมตัวกันย้อนวันเวลากลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง นึกแล้วก็น่ารักน่าชังในสายสัมพันธ์ของคนเวียงสา

อนาคตกลุ่มคนฮักเวียงสาจะทำ โฮมสเตย์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และรู้จักเวียงสาลึกซึ้งมากขึ้น ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น...งานนี้เป็นงานใหญ่ที่เชื่อว่าด้วยหัวใจรักชุมชนและ ความเข้มแข็งของท้องถิ่น ความฝันที่จะปั้นเวียงสาให้กลายเป็นอีกมุมเล็กๆ น่ารื่นรมย์ของการท่องเที่ยวเมืองน่านย่อมเป็นจริงได้ไม่ยาก

view