สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้อมคอกป้ายเถื่อนเกลื่อนกรุง งัด ภาษี-ค่าปรับ สกัดเข้ม

จากประชาชาติธุรกิจ



หลัง ปล่อยปละละเลยป้ายโฆษณาผิดกฎหมายติดประกาศขายสินค้ากันโจ๋งครึ่ม ไล่ตั้งแต่บ้านจัดสรรจนถึงเงินด่วนนอกระบบตามที่สาธารณะ เสาไฟฟ้า เสาสะพาน ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ฯลฯ จนเกลื่อนกรุง กลายเป็นขยะรกสายตาคนกรุงเทพฯ มานาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยุค "คุณชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ก็ประกาศเอาจริงกับการ ปราบปรามป้ายเถื่อน แต่ต้องดูและติดตามต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

เช้า วันที่ 13 ตุลาคม 2552 ที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ได้หยิบยกปัญหาเรื่องนี้มาพิจารณา เมื่อ "ธีระชน มโนมัยพิบูลย์" รองผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายการคลัง ชงเรื่องให้ ที่ประชุมอนุมัติ และได้รับไฟเขียวพร้อมแรงสนับสนุนเต็มที่ เพราะประเมินดูแล้ว ผลที่ตามมาหากทำสำเร็จไม่ใช่แค่การพิสูจน์ฝีมือการทำงานของทีมผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ที่คืนทัศนียภาพที่สวยงามให้คนกรุง แต่ยังทำให้ กทม.มี รายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีป้ายและ ค่าปรับตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ. 2535

นอกจากนี้จากการเก็บ สถิติของ กทม. พบว่ามีแนวโน้มที่ป้ายผิดกฎหมายจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมาจากการสำรวจในเดือนมิถุนายน พบว่ามีป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย 9,852 ป้าย จากนั้นเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเป็น 11,431 ป้าย และเดือนสิงหาคม 13,385 ป้าย ส่วนใหญ่เป็นป้ายโฆษณาของบริษัทเอกชน ป้ายเงินด่วน-เงินสด รวมทั้งป้ายแนะนำตัว ฯลฯ

"กทม.จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป และจะดำเนินการกับเจ้าของทุกป้ายที่ไม่ถูกต้องโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่จะให้เวลาจัดเก็บภายใน 2 สัปดาห์ หากฝ่าฝืนสำนักงานเขตจะจัดเก็บป้ายที่ยังฝ่าฝืนติดตั้งในที่สาธารณะ และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของป้ายตามที่จ่ายจริง พร้อมแจ้งดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืน" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

โดยเดือนแรก จะตักเตือนก่อน จากนั้นเดือนต่อไปจะใช้มาตรการด้านกฎหมาย ในเรื่องการปรับและใช้มาตรการจัดเก็บภาษีตามมาด้วย หากพบตัวผู้กระทำผิด พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้โฆษณาปลด รื้อ ถอน ขูด ลบ หรือล้างข้อความหรือภาพ ภายในเวลาที่กำหนดได้ ถ้าผู้กระทำผิดยอมปฏิบัติตามถือว่าคดีเลิกกัน ถ้าไม่ยอมปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถจัดหรือมอบให้ ผู้อื่นทำความสะอาด โดยให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง และแจ้งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท กรณีไม่พบตัวผู้กระทำผิดและไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่สามารถร่วมกันขจัดหรือแก้ไข ไม่ให้สิ่งที่ผิดกฎหมายปรากฏอยู่ในที่หรือทางสาธารณะนั้น

ส่วน พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 สามารถควบคุมการกระทำผิดติดตั้งป้าย ผิดกฎหมายในที่สาธารณะได้ต่อเมื่อผู้เป็นเจ้าของป้ายจงใจฝ่าฝืนไม่ยื่นแบบ แสดงรายการภาษีอันเป็นความผิดตามมาตรา 35 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท แต่หากยื่นแบบแสดงรายการภาษีสามารถดำเนินการประเมินภาษีพร้อมคิดเงินเพิ่มใน อัตราสูงสุดตามกฎหมายกำหนดได้

หากดำเนินการได้ตามแผน การจัดระเบียบป้ายสัมฤทธิผลจะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีป้ายและค่าปรับ 50 ล้านบาท/ปี เป็นอย่างน้อย

view