สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปูดคนในยูเนสโก-คกก.มรดกโลก มีผลประโยชน์ในกัมพูชา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



จะเข้าข่าย"ทฤษฎีสมคบคิด"หรือไม่ เมื่อนางฟรองซัวร์กับพวกในคกก.มรดกโลก-อิโคโมสชาติอินเดีย-ญี่ปุ่น-อเมริกา เร่งรัดผลักดันให้กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่าย เดียว

*สรุปสาระจากเวทีสัมมนาเรื่อง "คณะกรรมการมรดกโลก ชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย - กัมพูชา" ที่รัฐสภา 20 ตุลาคม 2552 และมีถ่ายทอดวิทยุรัฐสภาตลอดรายการด้วย

นายเทพมนตรี ลิมปพะยอม นักวิชาการอิสระ คลังสมองคนหนึ่งของภาคพลเมืองคัดค้านกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ได้ฉีกแผนที่ 1 ต่อ 200000 ของกัมพูชาที่แนบท้ายแถลงการณ์ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก เป็นการตอบโต้ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ก้าวร้าวข่มขู่หลายครั้งว่าจะฉีกแผนที่ของฝ่ายไทยต่อหน้าถ้าหยิบยกขึ้นมา เจรจา  

"และใครนำแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน มาอ้าง ถือว่าทรยศชาติ จากนี้ไปแผนที่นี้จะมีค่าแค่ในพรมเช็ดเท้า"เทพมนตรี กล่าว 

ขาได้ย้อนไปเมื่อ 20 มิ.ย.2505 หลังการตัดสิน หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร เอกอัครราชทูตไทย ประจำเนเธอแลนด์ ได้เข้าพบศาสตราจารย์อังรี โรแลงด์ หนึ่งในทนายของฝ่ายไทย ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการที่ศาลโลกไม่พิจารณาแผนที่ 1 :200000 จะเป็นคุณแก่ฝ่ายไทย เพราะแผนที่นี้ใช้ไม่ได้ ไม่เห็นเส้นเขตแดนชัดเจน จึงทำให้นายถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ทำหนังสือสงวนคำค้านไว้ยื่นต่อนายอู่ ถัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ถ้ามีหลักฐานใหม่ ไทยจะยื่นคำร้องขอจัดทำเส้นเขตแดนใหม่ จะให้ศาลได้ชี้เส้นเขตแดนว่าอยู่ตรงไหน ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันต้องถือว่าตัวปราสาทพระวิหารก็ยังเป็นของไทย และยังไม่ได้ถอดออกจากบัญชีโบราณสถานของไทยด้วย

ต่อมานับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 ฝ่ายกัมพูชามาพูดถึง แผนที่ เอ็น 1 กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ไม่เคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้อง เลย  

เมื่อเอ่ยถึงตัวแทนกระทรวงบัวแก้ว ได้ระบุถึงนายวศิน ธีรเวชญาณ ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(ฝ่ายไทย) ชอบอ้างว่าเอกสารคำพิพากษาศาลระหว่างประเทศระบุเป็นของกัมพูชาถึง 21 แห่ง และนายวศิน มาให้ข้อมูลต่อ คณะกรรมาธิการของรัฐสภาชุดต่าง ๆ ก็ยืนยันว่าจะต้องตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนขึ้นมาก่อน แล้วค่อยไปเจรจาเรื่องข้อพิพาทบุกรุกพื้นที่ชายแดน คือแยกสองเรื่องไม่ให้เกี่ยวข้องกันซึ่งไม่ถูกต้อง และในเวบไซต์กระทรวงการต่างประเทศ มีแต่ข้อมูลบิดเบือนตลอด

"ผมท้าให้ฟ้องผมได้เลย เพราะยิ่งกว่านั้น เวบไซต์ของยูเนสโกยังระบุถึงขั้นว่า มีเนื้อที่ประมาณ 2462.5 เฮกตาร์ คูณ 6.1 ไร่ เป็นจำนวน 15,021.25 ไร่ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,800 ไร่"

ยังกร้าวว่า เราจะต้องถลกหนังยูเนสโก กับ คณะกรรมการมรดกโลก ที่ดูเหมือนแยกกันทำหน้าที่ แต่ท้ายทีสุด ยูเนสโกต้องลงนามรับรองอยู่ดี

พล.ท.นิพัธ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดน เองก็ยอมรับดินแดนที่ทหารเคยเข้าไปรักษาการณ์ได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ขึ้นไปอีกแล้ว เมื่อก่อนอำเภอกันทรลักษณ์เคยเก็บเงินค่าขึ้นชมปราสาทพระวิหาร ก็ทำไม่ได้แล้ว และทูตกษิต ภิรมย์ วันที่ไปเจรจากับทหารกัมพูชา (ก่อน 19 ก.ย.52) ก็ขึ้นไปไม่ถึงตีนบันไดเขาพระวิหารเลย

กรณี นายเตช บุนนาค ก่อนนั้นเคยเป็นอนุกรรมการวางแผนร่วมเขาพระวิหาร ช่วงนั้นมีบริษัทรับเหมาของไทยจะสอดแทรกขอเข้าไปบูรณะโบราณสถานในกัมพูชา แต่ทางฮุนเซนไม่ให้ บอกว่ามาตรฐานบูรณะของไทยไม่เหมาะกับกัมพูชา อีกทั้งนายเตชมีส่วนร่วมวางแผนพัฒนาผาตาเฒ่าและเขาพระวิหาร ไปกินข้าวกับ ฮอร์ นัม ฮง ว่าแล้วแถลงข่าวว่า ผลของแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ฝ่ายเดียวสิ้นสุดแล้ว แต่กลับมา ฮอร์บอกสื่อ มันก็ยังมีความหมายเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่ ที่นายเตชทำเช่นนั้นก็เพื่อช่วยปกป้องข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ตกกะไดพลอยโจนไปกับนายนพดล ปัทมะ ที่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communique)

นายเตช ไปกินข้าวเจรจากับ นายก็ก สุเมธ รองประธาน องค์การอัปสรา ออธอริตี้ (APSARA AUTHORITY) มีโครงสร้างง่ายๆ ภายใต้การบริหารของฮุนเซน และมีเวียดนามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในปี 1992 ยูเนสโกเห็นว่า นครวัดกำลังแย่ จึงจัดให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และจัดสรรเงินให้บูรณะ และปัจจุบันองค์การอัปสราฯ ได้แปลงเป็นองค์การเอ็นเอพีวี ( National Authority for the Protection and Development natural of the Sacred Site of the Preah Vihear) มีนายฮี ตี ยาว(HE TY Yao) เป็นประธาน

"ถามว่าทำไมผมรู้ในองค์กรอัปสรา ทำอะไร ก็เพราะผมมีสายอยู่ในนั้น มีการพูดว่า กัมพูชา มี ไอซีซี อังกอร์ 1992 นพดลเลยเสนอให้มี ไอซีซี 7 ชาติเข้ามาเกี่ยวข้องปราสาทเขาพระวิหารด้วย"

ปูดคนในคกก.มรดกโลก วิ่งเต้นหาผลประโยชน์ในเขมร

นายเทพมนตรี เรื่องนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ของไทยเอง ไปลากยูเนสโกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เลยมั่วกันใหญ่ ระบุด้วยว่า นางฟร็องซ็วส ชาวฝรั่งเศส ที่เป็นพยานการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ มีบ้านพักอยู่ในกัมพูชา เป็นคนประสานงานให้นายนพดล และนายซกอาน ไปลงนามที่องค์การยูเนสโก ที่ตั้งใกล้หอไอเฟล กรุงปารีส นายตีโอวานนี บอคคาร์ดี หัวหน้าฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิคมรดกโลก องค์การยูเนสโก คนสนิทของนางฟรองซัสว์ ก็เข้าร่วมเป็นพยานด้วยเมื่อ 22 พ.ค.2551 ถ่ายรูปร่วมกับนายนพดล

ความพยายามของกัมพูชาที่ต้องการจะได้ดินแดนปราสาทเขาพระ วิหาร ตั้งแต่สมัยสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ โดยในปี 2502 ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ตามแผนที่ 1:200000 กินมาถึงปราสาทตาเมือนธม และมายื่นขอเป็นมรดกโลกเมื่อมกราคม 2548 ถูกให้นำมาปรับปรุงกำหนดเขตกันชน (buffer zone) กับเขตเพื่อพัฒนา (Development zone) ช่วงนั้น อีโคมอสเดินทางไปสำรวจ และอ้างเองว่าเป็นดินแดนกัมพูชา 

ต่อมา เขมรยื่นอีกในมกราคม 2549 คราวนี้ บอคคาร์ดี้ เดินทางมากัมพูชาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กัมพูชา ทั้งๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อให้กำหนด 2 เขตที่กล่าว โดยรอบปราสาทเขาพระวิหาร และกัมพูชาก็ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองปราสาทเขาพระวิหาร นี่เองเริ่มเห็นความไม่ซื่อของยูเนสโก
 และที่ผ่านมา เวบไซต์อุทยานเขาพระวิหาร ก็ระบุแนวเขตได้แค่ตีนบันไดปราสาท เจ้าหน้าที่อุทยานไล่ชาวบ้านคนไทยออกจากบริเวณนั้น แต่ไม่ไล่ชาวกัมพูชาที่เข้ามาปลูกสร้างชุมชน

สมัย พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ซึ่งป่วยมะเร็งเสียชีวิตไปแล้ว ได้ให้เอกสารต้นร่างที่ต่อมาจะเป็นเอกสาร แอล 7017 เมื่อ 22 ก.ค.2551 และบอกกับนายเทพมนตรีว่า “ผมเองเป็นคนไปกันพื้นที่ให้มัน คือใช้คำว่ามันเลย ตั้ง 50 ไร่ เพราะเข้าใจผิด”

นายมนัสภาส ชูโต ไปหารือกับนายซก อาน รองนายกฯ และรมต.สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องการอบรมไอซีซีเปรียะ วิเฮียร์ และกัมพูชาตอบรับให้มี ไอซีซี 7 ชาติตั้งปี 2550 หรือ คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองและพัฒนาปราสาทพระวิหาร (International Coordinating Committee - ICC) เรื่องนี้คนไทยรู้หลังตลอด กระทรวงการต่างประเทศไม่เคยบอกประชาชน
 22 พ.ค.2551 นายนพดล บินไปพบ นางฟรองซ็วส ริวิแยร์ ซึ่งเป็นคนไปผลักดันจัดตั้งองค์การ เอ็นเอพีวี เพื่อรองรับไอซีซี 7 ชาติจะเข้ามาในอนาคต(นางจบม.ฝรั่งเศส เป็นอาจารย์พิเศษ ม.เยล อเมริกา)

กัมพูชาเร่งรัดมัดมือชก-หรือ"กษิต"ตั้งใจลงนามเอกสาร

 ก่อน 7 ก.ค.2551 นายซก อาน ประธานคณะกรรมการมรดกโลกกัมพูชา เคยกล่าวหมิ่นประมาทศาลปกครองของไทย ที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการอ้างใช้แถลงการณ์ร่วม  ยิ่งกว่านั้นกัมพูชายังกล่าวหาทหารไทยใช้ปืนยิงปราสาทพระวิหารถูกบันไดนาค เสียหาย นางฟร็องซ็วส ได้มอบเงิน 3 หมื่นยูโรให้ไปจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาท และปัจจุบันแผนดังกล่าวเสร็จแล้ว เชื่อว่าอยู่ในมือนางฟร็องซ็วส รอแต่ทางไทยต้องเข้ารัฐสภาพิจารณาอนุมัติเห็นชอบ ตามมติยูเนสโกที่เมืองควิเบค การประชุมครั้งที่ 32 ซึ่งยูเนสโก ขอให้กัมพูชา 2 ข้อ คือ แถลงการณ์ร่วมสนับสนุน โดยไม่ต้องมีคำว่าไทยสนับสนุนอย่างแข็งขัน 

สำหรับการดำเนินการฝ่ายไทยในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แทนที่จะดำเนินการตามที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งควรจะเปิดเผยถ้อยคำอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ในโอกาสต่อไป กลับเป็นว่า รัฐบาลนี้ได้ลงนามเอาทหารออกทั้งหมด ทั้งที่ควรเป็นแค่ปรับลดกำลังเท่านั้น ขณะที่ กัมพูชามีทั้งทหารและชาวบ้านอยู่บริเวณดินแดนกำลังพิพาทกันอยู่เต็มไปหมด

ยิ่งกว่านั้น ในวันหยุดจักรี 6 เมษายน 2552 หน่วยงานรัฐไทยอยู่งาน แต่กัมพูชาไม่หยุด เชิญนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ(ของไทย) ไปร่วมลงนามในร่างข้อตกลงว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชาจัดทำขึ้น** มีนายวาร์ คิม ฮง รัฐมนตรีอาวุโส ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาด้านกิจการชายแดน ประธานเจบีซีฝ่ายกัมพูชา

"ที่ผมเชื่อว่าฝ่ายไทยไม่ได้จัดทำร่างข้อตกลงนี้ขึ้นมา เพราะในหนังสือลงนามระบุให้นายกษิต มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งช่วงนั้นเมืองไทยกำลังมีข่าวจะปรับคณะรัฐมนตรี จะโยกนายกษิตไปนั่งรองนายกฯ”

นายเทพมนตรี กล่าวอีกว่า ยิ่งกว่านั้นมีเรื่องที่จะเป็นปัญหาตีความทางการปกครองด้วย เพราะเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2551 นายกฤช ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลงนามแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักพระราชวัง อีกทั้งสมุดปกขาวคำชี้แจงของรัฐบาลเองก็ปิดบังข้อเท็จจริงสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม นายเทพมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยยังพอมีทางแก้ไขได้ ถ้าไม่มีการลงนามอะไรอีก และทางภาคประชาชนได้ดำเนินการล่ารายชื่อพลเมืองไทยเพื่อยื่นผ่านคณะ กรรมาธิการฯ วุฒิสภา ไปยังคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก อิโคมอส และยูเอ็น เพื่อให้พิจารณาทบทวนใหม่ทั้งหมด กับเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนนางฟรองซ็วส ริวิแยร์ ว่าได้เสียมารยาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท โทเทล ออยส์ ที่ได้สัมปทานขุดเจาะแหล่งพลังงานในกัมพูชาหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ 

"ว่ากันว่า นางฟรองซ็วสมีอิทธิพลอย่างสูงในบริษัทต่างๆ ของฝรั่งเศสที่จะเข้าไปได้งานในกัมพูชา" นายเทพมนตรี ระบุ

ขบวนการปลุกผีแผนที่ 1:200000

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา จับประเด็นแผนที่ 1:200000 หรือแอนเน็กซ์ วัน(ANNEX 1)ของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งพอสรุปได้ว่า มีขบวนการปลุกผีแผนที่ 1: 200000 มาเป็นระยะ 4 ครั้ง เพื่อให้กัมพูชาได้ดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร

ซึ่งแผนที่ดังกล่าว เกิดแต่พิธีสารระหว่างอินโดจีน - สยาม ค.ศ.1904(พ.ศ.2447) และมาเป็นแผนที่ในค.ศ.1907 โดยการเดินสำรวจของฝรั่งเศสฝ่ายเดียว คือ พันเอกแบร์นาร์ด ชาวฝรั่งเศส มีผู้ช่วยชาวเขมรคือ ร้อยเอกอุก ซึ่งเมื่อสมเด็จเจ้าสีหนุฟ้องขึ้นสู่ศาลระหว่างประเทศ โชคดีศาลให้ตัดแผนที่ออกไป

จนกระทั่งเกิดขบวนการปลุกผีแผนที่ 1:200000 อย่างน้อย 4 ครั้ง ๆ แรก เมื่อมีการลงนามบันทึกช่วยจำหรือเอ็มโอยู ปี 2543 ในบทที่ 1 (ค) [Article(c)] ลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร) รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ คือไปยอมรับยกระดับความสำคัญของแผนที่เขมรทำ

ปลุกผีครั้งที่ 2 ในแผนแม่บท และทีโออาร์ ปี 2546 สาระสำคัญเกี่ยวเนื่องกับแผนที่ แอนเน็กซ์ วัน อยู่ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2549 รัฐบาลกัมพูชาตราพระราชกฤษฎีกา ระบุขอบเขตแดนตามแผนที่แอนเน็กซ์ วัน

ปลุกผีครั้งที่ 3 คือนายนพดล ปัทมะ ลงนามรับรองในแถลงการณ์ร่วมฯ ปี 22 พ.ค.2551 ปลุกผีครั้งที่ 4 วันที่ 28 ตุลาคม 2551 ที่กรุงเทพ และส่งแฟกซ์ ให้นายซก อาน ลงนาม และส่งให้นางฟรองซ็วส ลงนามรับรอง

และกำลังมีการปลุกผีครั้งที่ 5** โดยรัฐบาลเสนอขอตกลงในร่างบันทึกข้อตกลงของ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(JBC) 3 ครั้ง เสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุวาระพิจารณาตามมาตรา 190 คือร่างข้อตกลงเจบีซี 2 ฉบับ กับเรื่องบันทึกตกลงทางทหาร 1 ฉบับ ประเด็นสำคัญที่ต้องระวังคือเอาพื้นที่โดยรอบประสาทพระวิหารให้เขมรไปก่อน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก และจะมาทำเขตแดนตามหลัง 

นายคำนูณ เชื่อว่าเรื่องนี้กระทรวงบัวแก้วรู้ดีว่า ถ้าให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว จะเกิดปัญหาดินแดนแน่ๆ และในปี 2550 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองไครสเชิร์ช นิวซีแลนด์ ได้แต่งตั้ง นายมนัสภาส ชูโต(อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศสมัย นายนิตย์ พิบูลสงคราม) หัวหน้าทีมกระทรวงการต่างประเทศไปเจรจา แต่ได้แค่ชะลอการขึ้นทะเบียนดังกล่าวไว้ก่อน อีกทั้งยังระบุว่าปีถัดไปจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ แสดงว่าไทยไม่เคยยืนหยัดคัดค้านแผนที่กัมพูชาจัดทำขึ้นใหม่เลย ทั้งๆ ที่ศาลโลกก็ไม่ยอมตัดสินให้ ดังนั้น ถ้าเรื่องขึ้นสู่ศาลโลกอีกไทยอาจจะเสียค่า"โคตรโง่" อีกก็ได้ ตามหลักกฎหมายปิดปาก  

"เพราะระบบคิดของกระทรวงบัวแก้ว เป็นแบบเพื่อแพ้มาแต่ต้น คือยอมรับเกือบเหมือนกัมพูชาคิด ต่างแค่นิดเดียว ยังไม่ยอมรับแผนที่แอนเน็กซ์วัน พรรคเพื่อไทยเองก็คิดแบบกัมพูชา ทำตัวว่านอนสอนง่าย เป็นคนดีในสายตานานาชาติ แล้วกลัวจะถูกนำไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง กลัวทำไม แล้วเราไม่กลับไปได้มั้ย แค่ทวิภาคีได้ได้ เพราะพหุนี้มันยาก"

อีกตอนหนึ่งที่ ส.ว.คำนูณ ฝากแง่คิดเหน็บได้แสบสันต์คือ "ผมเองกลับชื่นชมเขาที่ยืนหยัดยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวจะเอาดินแดนให้ได้ เพราะเขารักชาติของเขา ผิดกับผู้นำของประเทศไทย ไม่เจาะจง นับแต่ปี 2543 ถึง ปัจจุบันไม่มีลักษณะแบบผู้นำเขมร"

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเจบีซี 3 ฉบับที่เข้าสู่สภาคาดว่าจะถ่วงไว้ด้วยการเสนอตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาก่อน

องค์กรระหว่างประเทศ ไม่บริสุทธิ์อีกต่อไป

ยูเนสโก หรือองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ มีอุดมการณ์เป็นกฎบัตรขององค์การฯ เขียนไว้ชัดเจนว่า

"เนื่องจากสงครามเริ่มในจิตใจของมนุษย์ เราต้องสร้างแนวป้องกันต่าง ๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพในจิตใจของมนุษย์"

ฉะนั้น กิจกรรมต่างๆ ของยูเนสโกที่ผ่านมา และที่จะดำเนินต่อไป ก็เพื่อจะสร้างสันติภาพในระหว่างชนชาติทั้งหลายในโลก....แต่ปัจจุบันเป็นที่ น่าสงสัย

นายวสุ โปษยะนันท์ สถาปนิก ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร และเป็นผู้แทนประเทศไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถานประเภท หินและการทำแผนบริหารจัดการพื้นที่โบราณสถานในเขตประเทศไทย ในการเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ของกัมพูชา

ซึ่งต่อมา นายวสุ ประกาศแยกตัวจากกลุ่มนักวิชาการนานาชาติในที่ประชุมเมืองเสียมราฐ เนื่องจากเห็นความไม่ถูกต้องของข้อมูลทางวิชาการ และการจัดการที่ไม่อาจยอมรับได้ อีกทั้งยังมีส่วนร่วมจัดทำรายงานข้อโต้แย้งการประเมินของอิโคโมสสากล ต่อกรณีปราสาทพระวิหาร

"ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติพูดไปต่างๆ เพราะเขาไม่รู้จริง มีเจ้าหน้าที่อิโคโมสชาวอินเดีย(ดีเว กุปตะ Divay Gupta) เป็นคนประเมินปราสาทพระวิหาร แต่ปรากฏว่ากลับไปช่วยกัมพูชาทำแผนเสียเอง นอกจากนี้ คนของฟรัองซัวส์ มีอะไรก็ไปรายงานโดยตรงต่อ ซก อาน แต่ไม่ยอมบอกทางไทย ผมเองถอนตัวจากอีโคโมส นายวีระชัย พลาดิศัย ก็ไปพบฟรองซ็วส บอกให้จัดส่งเอกสารค้าน และไทยทำเสร็จตามหลักวิชาการแล้วก็ส่งให้ ยูเนสโก อิโคโมสสากลและชาติสมาชิก ตามกำหนดก่อนการประชุมที่เมืองควิเบก"

นายวสุ ได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญว่า การอนุมัติปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา ที่เมืองควิเบค เป็นการอนุมัติมรดกโลกข้ามพรมแดนในขณะที่ 2 ประเทศยังมีปัญหา ขณะที่พิจารณาประเมินตามข้อ 3 คือ เกี่ยวกับภูมิทัศน์องค์ประกอบโดยรอบ แต่กลับไปอนุมัติในข้อ 1 คือ อ้างยกเป็นผลงานชิ้นเอก ศิลปะเขมรแท้ๆ (ซึ่งยังถกเถียงโต้แย้งได้ลึกซึ้ง) กับยังมีมติให้ตั้งคณะกรรมการ ไอซีซี 7 ชาติเข้ามาผสมโรง ดังนั้น อาจารย์วสุ จึงสรุปว่า วงการนี้ไม่บริสุทธิ์ ซื่อตรงอีกต่อไป

----------------------------------

*การสัมมนาเรื่อง "คณะกรรมการมรดกโลก ชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย - กัมพูชา” โดยคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนิน การของรัฐ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา

**รัฐบาลเสนอพร้อมกันรวม 3 ฉบับต่อประธานรัฐสภา ได้แก่ 1) บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ เมืองเสียมราฐ วันที่ 10 - 12 พ.ย.2551 2)  ประชุมสามัญครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพฯ วันที่ 3 - 4 ก.พ.2552 และ 3) ประชุมสมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ  วันที่ 6 - 7 เม.ย.2552 เพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 2 ก.ค.2552

-ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดได้ที่ http://www.praviharn.net

view