สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บอร์ดค่าจ้างไฟเขียวขึ้นค่าแรง71จว.1-8บาท 5จังหวัดวืด ชงครม.29ธ.ค.

จากประชาชาติธุรกิจ

กรรมการ ค่าจ้างกลางลงมติขึ้นค่าแรง 71 จังหวัด 1-8 บาท ฉลองปีใหม่ กทม.ขึ้นอีกเป็น 3 บาท แต่ 5 จว.ชวด ลูกจ้างซัดไม่ยุติธรรม หลัง 1 มกราคมนัดประชุมเคลื่อนไหว

คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติเมื่อเวลา 00.35 น. วันที่ 25 ธันวาคม ให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2553 ตั้งแต่ 1-8 บาท โดยจะเสนอเรื่องให้นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ และประกาศให้มีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ


นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุม กล่าวภายหลังการประชุมถึงสาเหตุที่ประชุมกันกลางดึกว่า เนื่องจากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา บอร์ดนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้ข้อยุติในเรื่องการปรับค่าจ้างในส่วน ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จำนวน 4 บาท จนมาได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งนี้ จังหวัดที่ปรับขึ้น 1 บาท มีทั้งสิ้น 7 จังหวัด ปรับขึ้น 2 บาท มี 20 จังหวัด ปรับขึ้น 3 บาท มี 11 จังหวัด ปรับขึ้น 4 บาท มี 20 จังหวัด ปรับขึ้น 5 บาท มี 6 จังหวัด ปรับขึ้น 6 บาท มี 1 จังหวัด ปรับขึ้น 7 บาท มี 5 จังหวัด และปรับขึ้น 8 บาท มี 1 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างมี 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย เชียงราย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบตาราง)


ทางด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 71 จังหวัด ตั้งแต่ 1-8 บาท ว่าการตัดสินใจปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างกลางในครั้งนี้ ไม่สะท้อนค่าความเป็นคนที่เท่าเทียมกันจะเห็นได้ว่าใน กทม.และสมุทรปราการปรับขึ้น 3 บาท ขณะที่เขตปริมณฑลปรับขึ้น 2 บาท และอีก 7 จังหวัด ปรับขึ้นแค่ 1 บาท ส่วน 5 จังหวัดไม่ปรับขึ้น ซึ่งแต่ละจังหวัดปรับขึ้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่เข้าใจว่าบอร์ดค่าจ้างตัดสินใจได้อย่างไร หรือเป็นเพราะแรงงานในคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่มีอำนาจต่อรอง จังหวัดที่ไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง อาจเป็นเพราะแรงงานส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีอำนาจในการ ต่อรอง นายจ้างให้เท่าไหร่ก็ต้องเอาเท่านั้น รัฐบาลควรให้ความเป็นธรรมกับแรงงานกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์


"คนงานเปรียบเสมือนเป็นสินค้าของนายทุน โดยนายทุนจะเป็นตัวกำหนดค่าจ้าง คนงานไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องหรือขอขึ้นค่าจ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ฉะนั้น สมควรปรับขึ้นค่าจ้าง แต่รัฐบาลไม่เคยพูดถึงเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างเลย ยิ่งในกลุ่มคนที่ไม่มีปากเสียง ไม่มีสหภาพแรงงาน รัฐบาลกลับยิ่งมองข้าม"น.ส.วิไลวรรณกล่าว และว่า หลังวันที่ 1 มกราคมนี้ คสรท.และเครือข่ายจะประชุมหารือกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปรับ ขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล


น.ส.สุรินทร์ พิมพา แกนนำสหภาพแรงงานกลุ่มย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการค่าจ้างที่ให้ กทม. สมุทรปราการได้ปรับเพิ่ม 3 บาท ขณะที่จังหวัดปริมณฑลอื่นได้ปรับขึ้น 2 บาท ที่ผ่านมา กทม.และปริมณฑลปรับขึ้นเท่ากันทุกครั้ง  เนื่องจากค่ากินอยู่ไม่ได้ต่างกัน และที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างมักพิจารณาและให้ความสำคัญกับกลุ่มโซนที่จะ ได้เท่ากัน เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำ จ.นครปฐม และจังหวัดอื่นน้อยกว่าอย่างไม่มีเหตุผลสมควร ลูกจ้างคงต้องเคลื่อนไหวรวมตัวเพื่อขอให้มีการทบทวน


แหล่งข่าวจากฝ่ายลูกจ้างในอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ฝ่ายลูกจ้างเสนอให้ปรับขึ้น 5 บาท แต่ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและรัฐเห็นว่าไม่ควรมีการปรับเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐได้ประนีประนอม โดยเสนอให้ปรับเพิ่มขึ้น 2 บาท ฝ่ายนายจ้างใช้อำนาจกดดันต่อรองกับฝ่ายลูกจ้างอย่างมาก หากโหวตลูกจ้างแพ้ ก็จะไม่ได้อะไรเลย ทุกคนคิดว่าจะคำนึงถึงโซนที่จะมีการปรับเท่ากันทั้งหมด ไม่คิดว่าจะออกมาเช่นนี้


ด้าน นายจำรัส ไชลังกา รองประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย หนึ่งในบอร์ดค่าจ้างกลาง กล่าวว่า แม้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องเคารพต่อมติที่ประชุม ขณะเดียวกันมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังคงไม่น่าไว้วางใจ บางธุรกิจยังเลิกจ้างอยู่ จำเป็นต้องยอมรับสภาพการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ เพื่อรักษาสภาพการจ้างของแรงงานให้ยืนระยะไปได้เสียก่อน หากเศรษฐกิจดีขึ้นจริงค่อยว่ากันใหม่


นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า มองว่าการขึ้นค่าจ้างในปีนี้ยุติธรรมดีแล้ว เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การปรับขึ้นค่าจ้างจะไม่กระทบกับโรงงานขนาดใหญ่ แต่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากค่าจ้างคือเงินรายได้ของผู้ใช้แรงงาน การปรับขึ้น 1 บาท ยังดีกว่าไม่ปรับขึ้นเลย เพราะปัญหาการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่บอร์ดค่าจ้างกลางมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ 1-8 บาท ใน 71 จังหวัดนั้น เห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะแต่ละจังหวัดมีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เป็นผู้พิจารณาในขั้นแรก และส่งมายังคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เพื่อพิจารณาปรับอีกครั้ง ทั้งนี้ เห็นว่าการที่ปรับเพิ่มให้กรุงเทพฯ 3 บาท เนื่องจากคงเห็นว่าเป็นเมืองหลวง ซึ่งมีค่าครองชีพที่สูง จึงจำเป็นต้องปรับขึ้น รวมทั้ง จ.สมุทรปราการ ด้วย เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จำนวนมากและมีค่าครองชีพที่ใกล้เคียงกับ กรุงเทพฯ



view