สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.วรเจตน์ ชำแหละ จาก มาบตาพุด ถึง ประมูล 3 G ประสิทธิภาพรัฐ-ประโยชน์ประชาชน หายไปไหน ?

จากประชาชาติธุรกิจ



อาหาร สมอง จานใหญ่ ในช่วงวันหยุด ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในประเด็นปัญหามาบตาพุด และประมูล 3 G เวอร์ชั่นที่หาอ่านที่ไหน... ไม่ได้

         ...ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์  มือกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ แต่เรื่องนิติรัฐ  การเมือง การปกครอง และตุลาการภิวัตน์  เท่านั้น
          แต่ดอกเตอร์หนุ่มไฟแรงจากเยอรมัน ยังมีมุมมองที่แหลมคม เกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกด้วย
          โดยเฉพาะการแก้ปัญหามาบตาพุด ของรัฐบาล และเรื่องโทรคมนาคม ร้อนๆ เช่น การประมูล 3 G
          มุมมองและการตั้งประเด็นของ ดร. วรเจตน์   อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ อีกครั้ง
@ กรณีมาบตาพุด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลแก้ปัญหาถูกทางหรือไม่ อย่างไร
         จริงๆ เรื่องนี้มีคนเข้ามามีส่วนร่วมหลายฝ่าย  เพราะประเด็นนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เข้าใจว่าตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์)  และพัฒนาต่อไปอย่างมากในสมัยนายกฯ พลเอก ชาติชาย (ชุณหะวัณ)
        แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ตอนทำรัฐธรรมนูญปี 2550  มาตรา 67 วรรค 2  บัญญัติถึงเรื่องการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กำหนดเอาไว้ ก็คือ ได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน กับทั้งให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติและสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินการดังกล่าว ทีนี้โครงการที่มาบตาพุดส่วนหนึ่งก็ทำมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 บางส่วนก็เป็นโครงการต่อขยาย บางส่วนก็เป็นโครงการลดมลพิษ บางส่วนก็เป็นโครงการใหม่ แต่โดยที่ปัญหาเรื่องมลพิษมีมาก่อนแล้วและยังดำรงอยู่ ก็มีผู้ไปฟ้องคดี
         ประเด็นสำคัญที่ไปฟ้องร้องก็คือ ฟ้องเรื่องการอนุญาตต่างๆ  ที่ออกไปว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีการรับฟังตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2     ซึ่งรัฐธรรมนูญ 67 วรรค 2  เป็นเรื่องที่มีตัวกฎหมายกำหนดรายละเอียดของขั้นตอนว่าจะรับฟังใคร รับฟัง อย่างไร  องค์การอิสระจะต้องประกอบไปด้วยผู้แทนกี่คน เป็นต้น  ทีนี้โดยเหตุที่กฎหมายกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรา 67 วรรค 2 ยังไม่มี ตอนที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาออกใบอนุญาตต่างๆ ก็เลยดำเนินการโดยเทียบเคียงกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ฟ้องว่าพวกใบอนุญาตเหล่านี้ออกไปโดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้น ตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลปกครองเพิกถอน แล้วในระหว่างนี้ก็ขอคุ้มครองชั่วคราว คือ ระงับการดำเนินการตามโครงการทั้งหลายไว้ก่อน
        เราอาจกล่าวได้ว่าการออกใบอนุญาตเฉพาะในส่วนของโครงการที่ขออนุญาตหลังรัฐ ธรรมนูญ 2550 อาจมีปัญหาไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จริง แต่ประเด็นก็คือ จะต้องระงับโครงการทั้ง 65 โครงการไว้ก่อนหรือไม่ เพราะความไม่ถูกต้องนั้นเนื่องจากว่า ไม่มีตัวกฎหมายกำหนดรายละเอียดในเรื่องการปฏิบัติ เหตุเพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนละเอียดมาก  ลงลึกถึงขั้นว่าให้มีการตั้งองค์การอิสระ แต่ไม่ได้บอกว่า ในระหว่างที่ยังไม่เกิดกฎหมาย  จะต้องดำเนินการอย่างไร บางท่านเห็นว่าในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดเรื่องการรับฟังจะ ออกใบอนุญาตไม่ได้เลย ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางการตีความแบบนี้ เนื่องจาก โครงการที่อนุญาตไปนั้น บางโครงการอาจไม่เข้าลักษณะเป็นการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้ เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และแม้ว่าบางโครงการอาจจะเข้าลักษณะดังกล่าว รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้กระทำเลย แต่กำหนดขั้นตอนการศึกษาผลกระทบ การรับฟังผู้ส่วนได้เสีย และการฟังความเห็นขององค์การอิสระเท่านั้น อำนาจในการอนุญาตยังอยู่ที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งในระหว่างเวลาที่ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องการรับฟัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจเทียบเคียงกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมและสร้างระเบียบ ปฏิบัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใช้บังคับไปพลางก่อน เพื่อให้สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพได้ดุลยภาพกับสิทธิของชุมชนในการรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อม การตีความบทบัญญัติทั้งเรื่องนี้ต้องทำไปพร้อมกัน โดยเน้นไปที่เนื้อหาของการอนุมัติโครงการว่าต้องมีเหตุผลอธิบายได้
      แต่ตอนนี้ได้ทำไปแล้ว  โดยที่ไม่ได้มีระเบียบใดมารองรับ  กฏหมายก็ยังไม่มีอีก ถามว่าจะทำอย่างไร?
      คำตอบก็คือ ถ้าทำไปแล้ว โดยที่เข้าใจว่ามีอำนาจกระทำได้  ก็ต้องมาดูเนื้อหาว่ากระทบมากน้อยแค่ไหน  เพราะเรื่องการรับฟังเป็นเรื่องกระบวนการขั้นตอน  แต่ว่าอำนาจตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่หน่วยงาน ที่มีอำนาจในการอนุญาตอยู่ดี   
       ฉะนั้น เมื่อมีการทำไปโดยที่ไม่ได้มีการรับฟัง ก็มาทำกระบวนการรับฟังเสียให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งระหว่างนี้ การดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆ อาจจะทำไปได้ก่อน เพราะในคำฟ้องไม่ปรากฏการกล่าวอ้างความเดือดร้อนเสียหายจากการก่อสร้าง  แต่การเริ่มเดินเครื่องจักรอาจจะยังทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำตามขั้นตอนการรับฟังให้ครบถ้วน      
จริงๆแล้ว ในเชิงการฟ้องคดี ก็มีข้ออ่อนอยู่เหมือนกัน คือ ผู้ฟ้องไปฟ้องว่าเกิดมลพิษต่างๆ   แต่มันไปเชื่อมโยงกับโครงการหรือกิจกรรมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน คือไปฟ้องว่ามีการกระทำละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ลักลอบทิ้งขยะพิษ ประชาชนในบริเวณนั้นเจ็บป่วย ซึ่งการฟ้องแบบนี้ จะต้องพุ่งเป้าไปที่โครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เดินเครื่องจักรไปแล้ว ไม่ใช่โครงการที่อยู่ในการการพิจารณาอนุมัติ หรือที่อนุมัติไปแล้วก็อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งไม่มีทางที่จะก่อมลพิษตามที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องเลย หรือถ้าหากมีก็จะเป็นมลพิษในขณะก่อสร่ง ซึ่งไม่ปรากฏในคำฟ้อง
       แน่นอน  ที่มีการอ้างว่า โครงการเดิมที่มีอยู่แล้วยังจัดการไม่ได้ ถ้ามีเพิ่มเข้ามาอีกก็ยิ่งจัดการไม่ได้เข้าไปใหญ่  แต่ผมกำลังจะบอกว่า ที่มีมาแล้วที่จัดการไม่ได้ก็ต้องจัดการให้ได้  หมายความว่า ต้องใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนที่จะมีเข้ามาใหม่ ก็ต้องเข้าไปตามเกณฑ์ในทางกฏหมาย กิจการไหนที่กระทบรุนแรงกับชุมชน ก็จะต้องมาทำตามขั้นตอน ถ้ายังไม่ได้ทำก็ให้ทำเสียก่อนการเริ่มเดินเครื่องจักร แน่นอนว่าในแง่นี้หน่วยงานของรัฐและเอกชนผู้ประกอบการมีความเสี่ยงอยู่ใน ระดับหนึ่งว่า การรับฟังภายหลัง หากมีผลเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ก็อาจจะทำให้ประกอบกิจการไม่ได้ คือ อาจจะต้องเพิกถอนใบอนุญาต แต่ถ้ามั่นใจว่าในทางเนื้อหาไม่มีปัญหา แม้ไม่ได้รับฟัง แต่ก็มีมาตรฐานการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างดี อธิบายเป็นเหตุเป็นผล และทำได้จริงในทางปฏิบัติ  อันนี้แม้มารับฟังภายหลัง ก็ไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาแต่อย่างใด 
        สิ่งที่ผมวิจารณ์คำสั่งศาลปกครองกลางกับศาลปกครองสูงสุด ก็คือ ไม่ได้มีการแยกแยะชัดเจน  คือ ฟังข้อเท็จจริงที่รวมๆ กันไป แล้วก็มีการสั่งระงับการดำเนินโครงการ  ซึ่งผมมองว่า ส่งผลรุนแรงเกินไป พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิของคนที่อยู่ในที่นั้น(นะ) แต่ผมมองว่าต้องชั่งน้ำหนักให้มันได้ดุล คืออาจระงับได้ ถ้ามีเหตุผลทางเนื้อหาจริงๆ แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลในทางรูปแบบ คือ การไม่ได้รับฟังตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเดียว
          ในแง่ของการแก้ปัญหา ผมมองว่า รัฐบาลต้องลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง   แต่ตอนนี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมา แล้วก็รอกรรมการชุดนี้แก้ปัญหา ซึ่งผมมองว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่น่าจะดีที่สุด คือ ถ้าถามผม ตัวกรรมการอาจจะมีได้ แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือนายกรัฐมนตรี    ต้องลงมาจัดการเอง เพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ เราต้องยอมรับว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ ภาวะผู้นำของคนที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในเวลานี้
             
@ เห็นอย่างไรกับคำสั่งระงับ โครงการในมาบตาพุดของศาลปกครอง จะส่งผลร้ายกับรัฐบาลในระยะยาวหรือไม่
       ปัญหานี้ อาจไม่เป็นปัญหากับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์รัฐบาลเดียว  แต่อาจจะเป็นปัญหากับรัฐบาลในชุดต่อๆ ไปอีก ตรงนี้เป็นไปได้  เพราะว่าคำสั่งที่ออกมาแบบนี้ ด้านหนึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคนที่จะมาลงทุน  และในทางจิตวิทยาต้องถือว่ากระทบในระยะยาวแน่นอน 
       แม้กระนั้น ผมอยากให้มองว่าความเห็นที่มีต่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด ในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่แต่ผมที่เห็นว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเรื่องนี้มีปัญหาทางกฎหมายใน แง่ของความพอสมควรแก่เหตุ และความเป็นเหตุเป็นผลระหว่างประเด็นที่ฟ้องกับผลของการคุ้มครองชั่วคราว นี่ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เรื่องผู้ทรงสิทธิชุมชน แต่ในองค์คณะของตุลาการที่สั่งคุ้มครองชั่วคราวในเรื่องนี้ ความเห็นก็ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ผมไม่ทราบว่ามติในเรื่องนี้ของตุลาการเจ็ดคนที่เป็นองค์คณะเป็นอย่างไร แต่ที่ชัดเจนก็คือ มีตุลาการท่านหนึ่ง คือ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ทำความเห็นแย้งเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแนบท้ายคำสั่งดังกล่าว และสำหรับผมมีน้ำหนักน่ารับฟังอย่างยิ่งในทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า หากมีคดีทำนองนี้เกิดขึ้นมาอีก ก็ไม่แน่ว่าศาลจะเดินในแนวทางนี้หรือไม่ ดังนั้นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่กระทำในแง่มุมต่างๆ ก็อาจจะมีผลทำให้เห็นประเด็นต่างๆรอบด้านขึ้น
       แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถามว่าจะเยียวยากันอย่างไร ? เพื่อลดทอนความเสียหายที่เกิดขึ้น 
       ผมว่าช่องทางหนึ่งที่ควรจะต้องทำและพึงเดิน คือ   ในบางส่วนต้องยื่นเรื่องกลับเข้าไปใหม่ที่ศาล   โดยต้องไปทำระเบียบต่างๆ เข้ามารองรับว่า แง่ของการบกพร่องทางกระบวนการมีการแก้ไข   อยู่ในห้วงการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
        และในระหว่างนี้  ก็ขอปลดล็อกในบางโครงการ ซึ่งอาจทำได้ 2 ลักษณะ   คือ โครงการซึ่งมันอาจจะไม่เข้าข่ายเลย   เพราะไม่เป็นกิจกรรมซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง  อย่างนี้อาจจะขอเอาออกเลย  ส่วนโครงการที่อาจจะมีผลแบบนั้น  ก็อาจจะต้องมีระเบียบรองรับ   กำลังดำเนินการรับฟังอยู่   อาจจะขอให้มีการผ่อนผันให้ดำเนินการก่อสร้างไป แล้วในช่วงก่อนเดินเดินเครื่องจักร   เงื่อนไขเรื่องการรับฟังต่างๆ  ทุกอย่างต้องเรียบร้อย  อย่างนี้ก็อาจจะพอบรรเทาความเสียหายตรงนี้ลงไปได้บ้าง แต่ในระยะยาวกฏเกณฑ์เรื่องนี้ต้องชัด   ซึ่งอาจจะไม่ง่ายนักในแง่หนึ่ง   เพราะตอนทำกฏหมายก็อาจจะเถียงกันเยอะว่าองค์การอิสระ ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา  ผู้แทนองค์การเอกชน จะเอาสัดส่วนยังไง จากไหนบ้าง   ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ(นะ)  แต่เขาให้ความเห็นเป็นขั้นตอนหนึ่งก่อนการออกใบอนุญาต ซึ่งฝ่ายหน่วยงานของรัฐเข้าใจว่า เมื่อยังไม่มีกฏหมายกำหนดรายละเอียด ก็ยังไม่ต้องทำสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีเห็นว่า แม้ไม่มีกฏหมายกำหนดรายละเอียด แต่ตัวบทรัฐธรรมนูญใช้ได้เลย ฉะนั้น ต้องทำ ก็เข้าใจกันไปคนละทาง
      ผมเข้าใจอยู่ตรงกลางว่า  เรียกร้องตัวกฏหมายตรงๆ อาจจะทำไม่ได้ เพราะว่าถ้าไปเรียกร้องกฏหมาย จะต้องมีแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้น  อนุมัติอะไรไม่ได้เลย ผมว่ามันเป็นการตีความตัวบทที่ Extreme มากจนเกินไป 
        จุดกึ่งกลางของเรื่องนี้ก็คือว่า อาจจะเรียกร้องระหว่างนี้จะต้องมีระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ใช้ไปพลางๆ ก่อน  ตามรัฐธรรมนูญ 67   อนุวัติตามนั้นไปก่อน  แน่นอน อาจจะมีการเถียงกัน แต่ถ้าเกิดได้มาตรฐานที่พอสมควร  อาจจะต้องยอมรับกัน เพราะเราไม่รู้ว่าตัวกฏหมาย จะออกมาเมื่อใด
        ที่สำคัญก็คือ ในเชิงการตีความกฏหมาย  การไม่อนุมัติใบอนุญาต ก็ถือว่ามีส่วนเข้าไปกระทบกับสิทธิของผู้ประกอบการ เสรีภาพในการประกอบอาชีพ    ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอีกตัวหนึ่งเหมือนกัน  ซึ่งจะระงับได้ก็ต้องมีตัวกฏหมายชัดเจนเหมือนกัน ที่จะไประงับตรงนั้น ซึ่งถ้ายังไม่มีกฏหมายชัดเจนไประงับ  ไปตีความว่ายังไม่มีกฏหมายแล้วทำอะไรไม่ได้เลย มันก็จะไปกระทบกับสิทธิตัวนั้นอีก ผมถึงบอกว่าต้องดูทั้ง 2 ส่วน  นี้เข้าด้วยกัน 
        อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ หากศาลยืนยันว่าทำเป็นกฎหรือระเบียบไม่ได้ ต้องทำเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติอย่างเดียว อันนั้นก็อาจจะยุ่งยากขึ้น คณะรัฐมนตรีอาจจะต้องตัดสินผลักดันพระราชบัญญัติในเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภา แต่หากความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งผลรุนแรงกลายเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจ อย่างนั้นคณะรัฐมนตรีก็ต้องพิเคราะห์เงื่อนไขการออกพระราชกำหนดอย่างจริงจัง แล้ว  

@ แล้วกรณี 3 จี ที่ยังมีปัญหากันอยู่ จริงๆ แล้วหากมองผ่านตัวกฏหมาย อะไรคือประเด็นสำคัญ
          จริงๆ ประเด็นกฏหมาย 3 จี เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับอำนาจของกทช. เรื่องของวิธีการประมูล แล้วส่วนหนึ่งก็ไปพันกับสัญญาณสัมปทาน ที่ทำกันมาแต่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมาก ในทางกฏหมาย
        แต่ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะเหตุว่าหลังจากมีการรัฐประหาร 19 กันยา 2549  มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540  แล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไปแตะเรื่ององค์กรที่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์  และเรื่องกิจการโทรคมนาคม  
         คือ เดิมทีรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้มี 2 องค์กรแยกออกจากกัน  แล้วก็มีกฎหมายกำหนดเรียบร้อยใน 2 ส่วนนี้  คือ มี พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543  จากนั้นก็เกิด กทช.ขึ้นมา  ส่วน กสช. ก็ไม่เกิดซะที เพราะสรรหาไปแล้ว มันแท้ง 
          ต่อมา ในรัฐธรรมนูญปี 2550    ไปเปลี่ยนหลักบอกให้ไปมีองค์กรเดียว   พอทำอย่างนี้ ตัวกฎหมายที่ออกมาแล้วคือ พรบ.ดังกล่าว ก็จะต้องถูกยกเลิก ต้องทำทำกฎหมายกันใหม่ แต่ว่าตอนที่ทำกฎหมายเรื่องนี้ใหม่ กทช.ก็ใช้อำนาจของตัวเองที่มีอยู่แต่เดิมต่อไป ทีนี้รัฐธรรมนูญบอกว่าให้ทำกฎหมายนี้ให้เสร็จใน 180 วัน นับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อสภา แต่จนถึงวันนี้กฎหมายนี้ยังไม่เสร็จ
          ปัญหาแรกที่มีการยกขึ้นมาตีความก็คือ  บอกว่า กทช.ไม่มีอำนาจ  ในแง่การจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะเหตุว่ากฏหมายใหม่กำหนดให้มีกสทช.  ขึ้นมา  แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องตีความอำนาจของกทช. ว่ามีอำนาจได้หรือไม่ได้อย่างไร  ซึ่งในรายละเอียดต้องพูดกันมากกว่านี้
         แต่ในเบื้องต้น ผมเห็นว่ากทช. มีอำนาจที่จะดำเนินการได้  แม้จะมีข้อโต้แย้งเรื่องการจัดทำแผนแม่บทเรื่องคลื่นความถี่ แต่มันมีแนวทางการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีการองรับอำนาจของกทช.อยู่ แม้จะ เป็นการตีความตามรัฐธรรมนูญปี 2540   แต่สามารถประยุกต์เทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้  แต่นั่นเป็นเรื่องรายละเอียด
        แต่ปัญหาที่ยุ่งยากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องของผลประโยช์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการออกใบอนุญาตเรื่อง 3 จี  ว่า ปัญหาหลักที่มีการหยิบยกขึ้นมาคือ มีการเกรงกันว่า จะมีการถ่ายโอนลูกค้า
         ปัญหาตอนนี้ก็คือ บรรดาบริษัทใหญ่ ที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่  ทั้ง เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ   ก็มีสัญญาสัมปทานอยู่กับรัฐวิสาหกิจในอดีต ก็คือ องค์การโทรศัพท์ฯและ การสื่อสารแห่งประเทศไทย คือ เอไอเอส มีอยู่กับองค์การโทรศัพท์ ส่วนดีแทคกับทรูมูฟ  มีอยู่กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย
           แต่ในช่วงระหว่างที่สัญญายังไม่หมดอายุ  มีการแปรรูป 2 หน่วยนั้น จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นตามกฏหมาย  กลายไปเป็นบริษัทก็คือ  องค์การโทรศัพท์ ก็กลายมาเป็น ทีโอที  ส่วนการสื่อสารก็มาเป็น แคท เทเลคอม   
           ทีนี้ ตัวเงินสัมปทานที่ส่ง ลองนึกภาพดูว่า เดิมทีบริษัทเอกชนพวกนี้ได้สัมปทานมา  ก็ส่งเงินให้กับองค์การโทรศัพท์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ  กับอีก 2 บริษัท ดีแทค และทรูมูฟ ส่งเงินให้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย 
           เมื่อ 2 องค์กรนี้แปรรูปมาเป็นบริษัทแล้ว   เขาก็กลายมาเป็นเอกชน แม้รัฐจะเป็นผู้ถือหุ้นอยู่   แต่กลายมาเป็นคนแข่งขันกันในระนาบเดียวกัน กับ 3 บริษัทนี้ โดยที่อำนาจที่แต่เดิมในการกำกับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเคยเป็นขององค์การโทรศัพท์ และการสื่อสาร ก็กลายเป็นของกทช. 
          แต่ก็มีปัญหาว่า  ในระบบปัจจุบัน ทีโอที และแคท  ได้เงินค่าสัมปทานจาก 3 บริษัทนี้ต่อไปเนื่องจากถือว่าเป็นผู้สืบสิทธิจากองค์การโทรศัพท์และการสื่อ สารฯ ก็มีคนบอกว่า ต่อไปถ้ามีการเปิด 3 จี และบังเอิญ 3 บริษัทนี้ได้ใบอนุญาต   คนก็จะเปลี่ยนจากการใช้ระบบ 2 จี กลายเป็น 3 จี  เมื่อกลายเป็น 3 จี เงินสัมปทานที่ต้องส่งให้กับ ทีโอที กับ แคท ก็จะลดลง   เพราะลูกค้าเปลี่ยนระบบ  ก็มีการมองว่าทำให้รัฐเสียผลประโยชน์
         ทว่า ปัญหาที่ผมอยากจะชวนคิด ให้มากกว่านี้ก็คือ ผลประโยชน์ของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะ ในเรื่องนี้คืออะไร   ผลประโยชน์รัฐกับประโยชน์สาธารณะ  เป็นอย่างเดียวกันกับประโยชน์ของทีโอที  กับ แคท หรือเปล่า หมายความว่ามันเท่ากันมั๊ย   หรือมีอะไรมากไปกว่านั้น
         ถ้ามีอะไรมากไปกว่านั้น  ก็แปลว่า คำว่าประโยชน์ของรัฐมันไม่เท่ากับผลประโยชน์ของหน่วยงานทางธุรกิจที่รัฐถือ หุ้น หรือไม่เป็นอย่างเดียวกัน  ซึ่งถ้าเรามองในแง่ของทางเลือกของคนที่เลือกใช้บริการที่ยกระดับขึ้น  ถือเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างหนึ่ง  การที่มีใบอนุญาตแล้วเปิดให้มีการแข่งขันกัน ในหมู่ผู้ประกอบการ  ก็ถือเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างหนึ่งเหมือนกัน
        แน่นอนว่า ทีโอทีกับแคท อาจจะต้องสูญเสียรายได้  แต่อีกด้านหนึ่งมันเปลี่ยนระบบจากสัญญาสัมปทาน มาเข้าสู่ระบบใบอนุญาต แล้วทุกบริษัทต้องแข่งขันกัน ถ้าไม่อย่างนั้น อาจจะต้องรอให้ สัญญาสัมปทานหมดอายุ ในช่วงอีก 5 ปี 8 ปีข้างหน้า แล้วค่อยเริ่ม เข้าสู่ระบบ 3 จี    ถ้าคิดว่าจะต้องรอไม่ให้สูญเสียสัมปทาน ซึ่งทำให้ในทางสาธารณะก็สูญเสียโอกาส   เพราะเป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่สาธารณะชนพึงจะได้
    แต่ผมพูดอยู่อย่างหนึ่งว่า เวลาพูดถึงประโยชน์สาธารณะ   เราต้องคิดถึงประโยชน์ของผู้บริโภค คิดถึงประชาชนด้วย  ที่จะได้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ  ที่มีประสิทธิภาพ และมีการแข่งขัน ที่ทำให้ราคาไม่สูงมากจนเกินไป   เราต้องคิดว่านี่เป็นประโยชน์สาธารณะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะตัวเงินค่าสัมปทานเท่านั้น  อย่างไรก็ตามนี่ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องวิธีการประมูลต่างๆ ที่อาจจะต้องคุยกันอีกยาว
   
@ เรื่อง 3 จี  รัฐบาลต้องทำอะไรมากกว่านี้หรือไม่
        ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ  ระบบที่ทำมาในอดีตคือ เรื่องการให้สัมปทานในกิจการโทรคมนาคม เป็นระบบที่ประหลาดมากๆ ก็คือ ดันมีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ให้สัมปทานเอกชนทั้งคู่    ต่างคนต่างให้ แม้ว่าจะคนละคลื่นกัน  เสร็จแล้วดันมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายมาเป็นบริษัทที่แข่งขันกับคนที่ รับสัมปทาน  แล้วก็บอกว่าสัญญาสัมปทานยังอยู่
         จำได้หรือไม่ว่าช่วงหนึ่งของรัฐบาลคุณทักษิณ มีการออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต โทรคมนาคม  ที่ตัดส่วนหนึ่งเข้าหลวงโดยตรง แล้วก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
         คือในเชิงวิธีการในการออกพระราชกำหนด ใช้กับแบบนี้ ผมเห็นว่าไม่เข้าเงื่อนไขของการออกพระราชกำหนด   ที่ทำในตอนนั้น  คือ พระราชกำหนดเป็นกฏหมายที่มีลักษณะที่ฉุกเฉินเร่งด่วน  ซึ่งต้องมีเหตุ แต่มันไม่ปรากฏ  ฉะนั้นในเชิงวิธีการผมว่าไม่ถูกต้อง 
        แต่ในทางเนื้อหาน่าสนใจ    เพราะเขาตัดส่วนหนึ่งซึ่งจริงๆ ควรจะเข้ารัฐโดยตรง  ตัดเป็นภาษีเข้ารัฐ อันนี้ในหลักการถูกต้อง แต่ทำในรูปภาษีสรรพสามิตได้ไหม อันนี้เถียงกันได้ แต่ผมคิดว่า เงินตามสัญญาสัมปทานเมื่อมีการแปรรูปแล้ว จะต้องส่งเข้าคลังโดยตรง
         ส่วนว่ารัฐจะจัดสรรเป็นรายได้มาเพื่อสนับสนุนกิจการของ แคท ของ ทีโอที ยังไง   เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามมา แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่  เรายังถือว่าแคทกับทีโอที เป็นผู้สืบสิทธิ  เงินสัมปทานเลยไปที่ 2 บริษัทนี้    แล้ว 2 บริษัทนี้ใช้แล้วเหลือ จึงไปส่งคลัง  ซึ่งต้องคิดดูว่าจะเอาระบบแบบไหน 
         ฉะนั้น ประเด็นนี้ ถ้าบอกว่า ตัดไปเข้าคลังโดยตรงในทางหลักการถูกต้อง เพราะเป็นเงินที่ควรจะเข้ารัฐโดยตรง ไม่ใช่เข้าไปในบริษัทที่รัฐถือหุ้น เพียงแต่วิธีการที่ทำเป็นพระราชกำหนด ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง   ควรจะทำเป็นตัวกฏหมายดีเบตกันในสภาก็ว่ากันไป  คือ ออกเป็นพระราชกำหนดขณะนั้นมันไม่ได้ ต่อมาในรัฐบาลสุรยุทธ์ก็เลิก  เงินก็ไปเข้าทางแคทกับทีโอที  แน่นอนว่า ผมพูดแบบนี้ คนที่อยู่ในแคทกับทีโอที อาจจะไม่ค่อยชอบผมว่า ให้ความเห็นแบบนี้ก็ไปกระทบประโยชน์ของแคทกับทีโอที 
        แต่ผมกำลังจะบอกว่าในทางหลักการ การแปรรูปมาคือ ให้มีการแข่งขันกัน  ทีโอทีได้ 3 จีไป  ทำ 3จีก่อนคนอื่นเขาแล้ว  ก็ต้องอยู่ให้ได้ แข่งกันให้ได้กับเอกชน เพราะเราต้องการให้เกิดการแข่งขันกันในตลาด  ก็ต้องสู้กันในทางธุรกิจ ก็ต้องเสนอแคมเปญที่น่าสนใจแก่ผู้บริโภค    ส่วนรัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นก็สนับสนุนกิจกรรมของบริษัท แต่ตัวเงินสัมปทานควรเข้าไปที่ตัวรัฐโดยตรง 
       แต่ปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องนี้เป็นปัญหารอยต่อคาราคาซังกันมา ที่บังเอิญว่าอดีตนายกฯ เคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทมือถือด้วย ทำอะไรคงก็คลางแคลงกันมาโดยตลอด นี่คือประเด็น ฉะนั้นเมื่อจุดมานิดเดียวก็ไม่ได้ไปดูในทางเนื้อหากันจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร   ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมือง  แต่เราไม่ได้มาดูในทางหลักการ
       จริงๆ เวลาสังคมไทยถกเถียงกันในเรื่องเหล่านี้  ควรพูดกันในเรื่องเนื้อหา แต่เรากลับใช้อารมณ์ความรู้สึก เข้าไปปะปนด้วยเยอะ แล้วก็ตีตราเสียก่อน หรือไปสร้างความเชื่ออะไรไว้ก่อน ก็เลยใช้เหตุผลกันน้อย ในแง่การเข้าไปดูในแต่ละเรื่อง  คือดูอย่างผิวเผินแล้วก็คิดไปเองในหลายเรื่อง
      ดังนั้นถ้าถามว่ารัฐบาลจะต้องทำอะไรหรือไม่ ก็คือ ทำนโยบายให้ชัดว่าจะเอายังไง แล้วก็จัดการเรื่องสัมปทานที่มีมาแต่เดิมเสียที

view