สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาพวาดฝีพระหัตถ์ เสือจับค้างคาว โชคดีปีขาล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : วลัญช์ สุภากร


 

หนึ่งในสถานที่ ที่เป็นแหล่งรวมไว้ ซึ่งความรักและความจงรักภักดี ของราษฎรชาวไทย ที่มีแด่พระบรมวงศานุวงศ์ และความตั้งพระทัยอันแน่วแน่

ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะทรงช่วยเหลือชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร คือร้าน ภูฟ้า ซึ่งหลังจากเปิดร้านแห่งแรกขึ้นที่สยามดิสคัฟเวอรี่เมื่อแปดปีก่อน ปัจจุบันสามารถดำเดินงานขยายสาขาได้ถึง 12 แห่ง (รวมร้านภูฟ้าผสมผสาน)

“วันนี้ร้านภูฟ้าได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อตอนทรงตั้งร้านภูฟ้าก็มุ่งหวังที่จะให้ร้านเป็นจุดขายสินค้าชาวบ้านใน ถิ่นทุรกันดารที่พระองค์ท่านทรงให้วิทยากรไปช่วยสอน มีสินค้าออกมาก็อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ยั่งยืน มีเงินพอที่จะไปทำนู่นทำนี่ได้ อันนี้ก็เหมือนกับอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ทำเพิ่มขึ้นในเวลาว่างของเขา ทีแรกที่เรารับงานมาทำ เรามีหนึ่งหรือสองสาขาในตอนต้น ก็ไม่สามารถสนองตรงนี้ได้มากนัก เพราะวงเงินที่เราซื้อกันต่อปีประมาณหนึ่งล้านบาท ก็ไม่มากนัก แต่ในขณะนี้เราสามารถสั่งสินค้าจากชาวบ้านเป็นจำนวนที่มากกว่าสิบล้านบาท ขึ้นไปในแต่ละปี เงินสิบล้านบาทนี่คือเรารับสินค้าจากชาวบ้านมาก็นำมาแปรรูปนำมาขาย เรามีหน้าที่นำสินค้าจากชาวบ้านมา แล้วมาจัดการขายให้ได้ด้วยวิธีอะไรก็แล้วแต่” คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ประธานคณะกรรมการดำเดินงานร้านภูฟ้า ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินงานของร้านภูฟ้าขณะนี้

กว่าจะเพิ่มยอดสั่งซื้อสินค้าจากชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารได้นับสิบล้านบาท ในวันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะกรรมการฯ ร้านภูฟ้า ต้องปรับกลยุทธ์หลายอย่าง

เหตุผลประการแรกคือ เนื่องจากสินค้าชาวบ้านส่วนใหญ่มักเป็นของที่ทำแล้วซ้ำๆ กัน ทำจากความเคยชินจากภูมิปัญญาการทำเท่าที่มีอยู่เฉพาะตัว จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ซื้อเมื่อไปที่ร้านภูฟ้าก็มักพบสินค้าแบบเดิมๆ เช่น  ผ้าปกากะญอ หรือผ้ากะเหรี่ยง ก็เป็นผ้าอย่างเดิม ผู้ซื้อหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าไม่มีสีอื่นให้เลือกซื้ออีกหรือ

"ก็ต้องบอกว่าชาวบ้านย้อมสีธรรมชาติ สีธรรมชาติก็มีต้นมะม่วง ต้นขนุน อยู่แค่นี้ จะเอาสีอื่นมาก็คงลำบาก แล้วก็เส้นด้ายจะแข็งไป เราก็มีการปรับ บอกชาวบ้านและจัดซื้อของที่มีคุณภาพดีขึ้นและนุ่มขึ้นให้เขาทำ ตรงไหนที่เราดูว่ายังไม่มีกระบวนการที่ดีพอ เช่นเราเอาของที่กินได้มา เช่นเต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว เราก็ขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ทดสอบให้ ทดสอบแล้วพบว่าชาวบ้านต้องมีหม้อนึ่ง แต่ถ้าหม้อนึ่งไม่มีคุณภาพสินค้าก็จะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานหม้อนึ่งไปให้ชาวบ้านเพื่อที่จะช่วยพัฒนาสินค้าให้มี คุณภาพ" คุณหญิงสุชาดา ยกตัวอย่าง

แม้มีลูกค้าบ่นว่าร้านภูฟ้ามีแต่ 'สินค้าแบบเดิม' แต่อย่าคิดว่าจะหา ‘สินค้าแบบเดิม’ ที่เหมือนกันได้ทุกชิ้นเหมือนที่ผลิตออกมาจากโรงงาน เช่น ผ้าฝ้ายทอมือ ก็หาอะไรที่เหมือนกันไม่เจอเช่นกัน

ตอนที่ทำงานใหม่ๆ มีผู้มาซื้อผ้ารองจาน ผ้าฝ้ายสีอิฐ ชอบมาก อยากได้สี่สิบผืน เราขนให้ดูหมดร้านยังหาไม่ได้สี่สิบผืนที่เหมือนกัน มียาวมีสั้นไม่เท่ากัน คุณหญิงสุชาดาเล่าและว่า "เนื่องจากชาวบ้านทอไปถึงตรงนี้เหนื่อยแล้ว พอแล้ว ก็ตัดออกมาเป็นผืนหนึ่ง ผ้าปูโต๊ะผ้าปูเตียงก็เหมือนกัน เขาก็จะตัดตามใจเขา ยาวบ้างสั้นบ้าง พอเราไปบอกว่าให้มันเท่าๆ กันได้ไหมคะ ผืนที่ยาวไปทำแบบนี้ก็ขาดทุนนะ เพราะขายราคาเดียวกัน เขาตอบว่านี่ทำแถมพระเทพฯ ชาวบ้านทำเพราะรักสมเด็จพระเทพฯ เมื่อก่อนชาวบ้านบางแห่งปลูกฝิ่น รอแค่สองเดือนก็ขายได้ อยู่ได้ทั้งปี ไม่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทอผ้า แต่ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น หันมาทำสินค้าหัตถกรรมเพื่อสมเด็จพระเทพฯ ความจงรักภักดีของเขาทำให้เกิดผลดีขึ้นด้วย"

สินค้าที่เหมือนวางนิ่งอยู่ในร้านภูฟ้า แต่ละชิ้นล้วนมีเรื่องเล่าที่มีชีวิตอยู่เบื้องหลัง หากทราบถึงแหล่งที่มาและวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า คุณคงอยากเดินกลับไปที่ร้านภูฟ้าทุกครั้งที่มีโอกาส

ย้อนกลับไปกว่าจะเป็นร้านภูฟ้าที่ดูสวยงาม อบอุ่น และทันสมัย มีสินค้าจากฝีมือชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารที่ดูดี น่าใช้ น่าจับต้องเช่นในวันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานอย่างหนักร่วมกับคณะทำงานฯ ของพระองค์

คุณหญิงสุชาดาให้สัมภาษณ์ว่า ความจริง โครงการส่งเสริมอาชีพ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาก่อนร้านภูฟ้า แต่หลังจากมีสินค้าออกมา...กลับไม่มีแหล่งจำหน่าย ในระยะแรกสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปซื้อมา เมื่อไม่มีที่ขายก็เก็บไว้ในวัง รอเวลานำออกไปจำหน่ายในงานกาชาดปีละครั้ง ชาวบ้านก็เหมือนไม่ค่อยได้เงินทองกัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทรงอยากเปิดร้านภูฟ้า จะได้มีที่ขายแน่นอนชัดเจน และเล่าถึงการทำงานที่ควบคู่ไปกับการยิ้มสู้ปัญหาว่า

"เวลาที่เราออกพื้นที่ ชาวบ้านจะรวมกันเป็นกลุ่มๆ คนที่ทำของเหมือนกันคล้ายกัน เขาจะมารวมตัวกัน โปรดพระราชทานเป็นเงินทุนหมุนเวียนไป เช่น กองทุนห้าหมื่นบาทเพื่อตั้งหลัก เมื่อขายแล้วก็จะคืนเงินเข้ากองทุนให้มีอยู่สำหรับหมุนใช้จ่าย และทรงดูต่อไปด้วยว่าเรียบร้อยไหม เช่น บางแห่ง แรกๆ มาเราก็จะกลุ้มใจมาก ผ้าห่มผ้าต่างๆ พอคลี่ออกมาก็จะฝุ่นคลั่ก บางทีก็เปื้อน สุดท้ายได้ความว่าชาวบ้านไม่มีที่เก็บ ทำเสร็จเก็บใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นที่อยู่ของนกหนู พระองค์ท่านก็พระราชทานให้ไปก่อสร้างโรงเรือนให้เป็นที่ทำงานของชาวบ้านและ เป็นที่เก็บของด้วย แล้วก็พระราชทานเครื่องสาวไหม หม้อนึ่ง ฯลฯ"

เช่นเดียวกับในยามเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็พระราชทานความช่วยเหลือเต็มที่ ในคราวธรณีพิบัติ สึนามิ ชาวบ้านทำอะไรมาร้านภูฟ้ารับซื้อไว้ทั้งหมดโดยไม่คัดคุณภาพ

"เรายอมขาดทุนตอนนั้น สบู่ที่ซื้อส่งมา หน้านั้นฝนตก มาถึงที่นี่ก็ขึ้นรา ใช้ไม่ได้ ก็ต้องเอาทิ้งหมด ยอมสูญเสียทุนส่วนนั้นไป เราต้องทำเพราะเรารู้ว่าชาวบ้านลำบาก ตอนนี้ทรงโปรดให้มีกลุ่มชาวบ้านเพิ่มขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาสพื้นที่ใกล้กับตำหนักที่ประทับ ก็มีกลุ่มชาวบ้านทำขึ้นมาเยอะมาก ก็จะมีของใหม่ๆ เข้ามา เช่น กะลามะพร้าว ทำเป็นรูปตัวสัตว์ ที่ว่างสบู่ สวยงาม เบา เมื่อก่อนเราไม่มีสินค้าพวกนี้ เป็นที่ถูกใจชาวต่างประเทศ บางทีเราก็ใช้เป็นของฝากต่างประเทศ" คุณหญิงสุชาดากล่าว

ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเสมือนแสงสว่างเล็กๆ ในยามที่ชาวบ้านทุกข์ แต่เป็นแสงสว่างที่ยืนยาว เพราะเมื่อพระราชทานความช่วยเหลือไปแล้วก็จะทรงช่วยไปตลอด คุณหญิงสุชาดากล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยทางโครงการส่งเสริมอาชีพฯ มีเจ้าหน้าที่ไปติดตามว่าชาวบ้านขาดเหลือสิ่งใดก็จะจัดหาให้ เช่นจัดหาวิทยากรไปสอนเรื่องผ้าเรื่องอาหาร แต่ไม่ใช่เป็นการนำของใหม่เข้าไปให้ชาวบ้านทำ เราถือว่าจะต้องเริ่มต้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้านก่อน แนวคิดหลักของเราคือใช้ของธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ ถ้าใช้สีธรรมชาติได้ก็ดี ถ้าใช้ไม่ได้ก็เข้าใจ

แต่ วิทยากร ก็ใช่ว่าเหมาะกับทุกกลุ่มชาวบ้าน ด้วยระยะทางที่ห่างไกลมากและทุรกันดาร วิทยากรเดินทางไปถึงครั้งแรกจะไม่มีโอกาสไปอีกจนกระทั่งหกเดือนหรืออีกปี หนึ่งถัดมา คุณหญิงสุชาดายอมรับว่าพยายามปรับชาวบ้านในระยะแรกเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้เพราะวิทยากรไม่สามารถอยู่กับชาวบ้านได้สม่ำเสมอ

"วิทยากรไปสอนสองวันสามวัน หกเดือนกลับไปอีกที ชาวบ้านก็ทำแบบเดิม เราก็ถามวันนั้นมาสอนแทบแย่ทำไมทำแบบนี้ เขาก็บอกว่าสอนแล้วก็ไป ใครจะไปจำได้ ไม่รู้จะถามใคร ก็กลับไปใช้แบบเดิม เขาจึงแปรรูปลำบากหรือปรับอะไรไม่ได้มาก เช่น แปรรูปผ้าปกากะญอสักหน่อยได้ไหม ทำเป็นเสื้อกะเหรี่ยง ชาวบ้านก็ใช้ผ้าต่อกันสองชิ้น เว้นแขนเว้นคอไว้นิดเดียว ซึ่งคนกรุงเทพฯ ใส่ไม่ได้ เนื่องจากผ้าชนิดนี้หน้ากว้างนิดเดียว ใช้ผูกกับเอวเวลาทอ ทำเป็นกี่ลอยๆ ผูกกับเสาเรือนแล้วมาผูกกับเอวแล้วนั่งทอ ไม่มีกี่แบบภาคกลาง หน้าผ้าเลยไม่กว้าง เขาก็ใช้วิธีเอาผ้ามาต่อกันทำเป็นผ้าปูโต๊ะ ทำครุยเพิ่ม ตอนหลังเราก็เลยบอกว่าเดี๋ยวเราเอามาแล้วช่วยแปรรูป ไม่ต้องทำเป็นผ้าปูโต๊ะหรืออะไรอีกแล้ว ให้ทำเป็นม้วนมาเลย ทอได้เท่าไรก็ทอ ทอแล้วม้วนมา แล้วเราก็นำผ้าทั้งม้วนไปแปรรูปเป็นกระเป๋า ซึ่งประหยัดกว่า  เมื่อก่อนผ้าสี่เหลี่ยมตัดแล้วก็เหลือเศษที่ไม่รู้จะนำไปทำอะไรได้ ตอนนี้ฉะเชิงเทราที่ทำเรื่องเต้าเจี้ยวซึ่งอยู่ที่ในห่างไกล มีกลุ่มหนึ่งมีฝีมือเรื่องตัดเย็บ เราก็ส่งผ้ากะเหรี่ยงเศษเล็กเศษน้อยที่เหลือจากการตัดเป็นกระเป๋าให้เขาทำ เป็นกล่องใส่ทิชชู กระเป๋าใส่สตางค์ใส่มือถือ แล้วให้ผลตอบแทนเป็นค่าแรง หรือผ้าห่มทอมือพอเราบอกให้เปลี่ยนสีนิดๆ หน่อยๆ ตอนนี้ขายดีมาก ชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้น"

ร้านภูฟ้าไม่ได้รอให้ขายสินค้าได้ก่อนจึงส่งเงินให้ชาวบ้าน แต่ใช้วิธีจ่ายเงินทันทีที่ได้รับสินค้าจากชาวบ้าน ขายได้หรือไม่เป็นหน้าที่ของร้านต้องจัดการเอง ดังนั้นเพื่อให้มีเงินทุนซื้อสินค้าจากชาวบ้านได้ทันท่วงที สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคิดหาหนทางด้วยการพระราชทาน ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ให้คณะกรรมการฯ ร้านภูฟ้า อัญเชิญไปจัดทำเป็นสินค้าต่างๆ เสื้อ แก้วน้ำ สมุดบันทึก พวงกุญแจ ปากกา ร่ม โดยเฉพาะบัตรอวยพรปีใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของร้าน เริ่มพระราชทานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นปีเจริญพระชนมพรรษา 48 พรรษา และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปีใหม่นี้ ปี พ.ศ.2553 ซึ่งตรงกับปีนักษัตร ขาล หรือปีเสือ ได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ เสือจับค้างคาว ให้กับร้านภูฟ้า

คุณหญิงสุชาดากรุณาเล่าให้ฟังด้วยว่า ประมาณเดือนสิงหาคม พระสหายท่านหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการร้านภูฟ้าจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานภาพวาด ปีนักษัตรปีหน้า ภาพ 'เสือจับค้างคาว' พระราชทานมาในราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2552

“สำหรับรูปนี้สมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่า ปีขาลดุ เพราะเสือดุ แต่ในภาษาจีนถ้านำเสือไปจับกับค้างคาว ซึ่งคำว่าค้างคาวในภาษาจีนพ้องเสียงกับคำว่า 'ฮก' แปลว่าโชคดีมีวาสนา ดังนั้นเสือจะดุยังไงก็ตามให้เสือจับฮกเอาไว้ คือจับโชคดีมีวาสนาเข้าไว้ อันนี้ก็เหมือนเป็นพรพระราชทาน แม้เกรงกลัวว่าปีขาลจะดุยังไงก็ตามที แต่ปีขาลปีนี้มากับโชคและวาสนา”

ภาพวาดฝีพระหัตถ์  'เสือจับค้างคาว' ที่พระราชทานลงมาเป็นภาพร่างลายเส้นสีดำ ครั้งนี้ร้านภูฟ้าได้รับเกียรติจากคุณเมนาท นันทขว้าง ดีไซเนอร์และเจ้าของห้องเสื้อ Soda แบรนด์ระดับตำนานของแฟชั่นเมืองไทย รับเป็นที่ปรึกษาในการให้สีภาพวาดฝีพระหัตถ์ซึ่ง อัญเชิญประดับบนเสื้อโปโล เสื้อทีเชิ้ต และผลิตภัณฑ์อีกหลายรายการในคอลเลคชั่นนี้ เช่น แก้วกาแฟ เหยือกน้ำ กระติกน้ำ สมุดบันทึก ปากกา นาฬิกาแขวน เป็นต้น

คุณเมนาทเล่าถึงการทำงานในการให้สีภาพวาดฝีพระหัตถ์ 'เสือจับค้างคาว' ว่า เริ่มจากการเลือกสีผ้าก่อน โดยเลือกถวายประมาณ 10 สี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเลือกไว้ 5 สี คือ สีชมพูม่วง สีครีม สีเขียว สีฟ้า สีม่วง และอีก 1 สีที่พระองค์พระราชทานให้คือ สีอิฐ ซึ่งขณะนี้เป็นสีที่ขายดีมาก เมื่อเลือกสีผ้าได้แล้วจึงเริ่มขั้นตอนการให้สีภาพวาดฝีหัตถ์เพื่ออัญเชิญ ปักบนเสื้อแต่ละสี โดยแนวคิดสำคัญในการให้สีคือเป็นสีที่ทำให้ภาพวาดฝีหัตถ์ ดูเด่น น่ารัก สดชื่น และเข้ากันกับสีของผ้าแต่ละสี

"อยากให้คนทั้งประเทศสัมผัสได้ ไม่ใช่แฟชั่นจนเกินไป เป็นสีกลางๆ ใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ยังไงก็ต้องมีสีที่ถูกใจกับเสื้อโปโล 6 สี เสื้อคาร์ดิแกน 2 สี เสื้อทีเชิ้ต 2 สี" คุณเมนาทกล่าว

สินค้าในคอลเลคชั่นภาพวาดฝีพระหัตถ์ 'เสือจับค้างคาว' ครั้งนี้ นอกจากเสื้อโปโล เสื้อทีเชิ้ต และเสื้อคาร์ดิแกน ยังมี เสื้อลายเสือ รวมอยู่ด้วย เนื่องจากคุณ เกตุวลี พิศาลบุตร ผู้เชิญภาพวาดฝีพระหัตถ์จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสนอความเห็นให้คุณเมนาทช่วยออกแบบเสื้อลายเสือที่เป็นลายผ้าบ้าง เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ที่ร้านภูฟ้าเคยมี คุณเมนาทเลือกออกแบบเสื้อลายเสือให้มีความเป็นแฟชั่น (fashionable) สำหรับสาวทันสมัยในปีขาล ด้วยการลดทอนแพทเทิร์นของเสื้อแขนค้างคาวตัวโคร่งจากยุคแปดศูนย์ให้มีขนาด เล็กลงและมีความยาวระดับพอคลุมสะโพก  "ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็ใส่เป็นไมโครสเกิร์ตได้ สำหรับผู้ใหญ่ก็ใส่กับเลคกิ้งได้" คุณเมนาทช่วยเพิ่มเติมเคล็ดลับในการสวมใส่

การเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำความดี นำมาซึ่งความสุขใจ การอุดหนุนสินค้าร้านภูฟ้าเหมือนคลื่นน้ำที่กระจายความเย็นฉ่ำชุ่มชื่นใจ เป็นทอดๆ ต่อกันไป

สวัสดีปีใหม่ 2553

Tags : ภาพวาดฝีพระหัตถ์ เสือจับค้างคาว โชคดีปีขาล

view