สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไชยันต์ ไชยพร ผมต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์


สัมภาษณ์พิเศษ
       
       กระแสการออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “พรรคภูมิใจไทย” และ “พรรคชาติไทยพัฒนา” นั้น หลายฝ่ายมองว่า เป็นเพียงแค่มายาคติของทั้งสองพรรคในการสร้างเกมต่อรองกับรัฐบาลเท่านั้น
       
       แต่สำหรับมุมมองของนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดอย่าง “ไชยันต์ ไชยพร” อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายคนอยากรู้ว่า เขามีความเช่นไร ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์อาสาไปคุยเพื่อวิเคราะห์กันอย่างถึงแก่น
       
       -กรณี ที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย(ภท.) เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขู่ว่าหากไม่แก้อาจเปลี่ยนขั้วไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย เรื่องนี้อาจารย์คิดว่า ภท. เอาจริงแค่ไหน
       เปลี่ยนขั้วไปสนับสนุนเพื่อไทยหมายความว่าจะถอนการร่วมรัฐบาล คือถ้าถอนตัวเลขมันก็ค่อนข้างหมิ่นเหม่เหลือเกิน ถ้าถอนจะทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเลยหรือเปล่า ก็ยังไม่ได้เป็น เพราะว่าของภูมิใจไทยมี 30 กว่าคนใช่ไหม ของเพื่อไทยมี 190 กว่า มันก็ยังไม่ถึง 240 เพราะมันมี 480 ในสภา มันก็แค่ประมาณ 220 มันก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้นก็ยังต้องรอพรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะถอนออกไปอยู่กับเพื่อไทยหรือ เปล่า เอาเป็นว่า ถ้าเขาสามารถชวนกันไปได้ ก็หมายความว่าประชาธิปัตย์ก็หมดสภาพการเป็นพรรคที่คุมเสียงข้างมากในสภา ขั้วมันก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นเพื่อไทย
       
       หมายความว่า การถอนตรงนี้เขาต้องถอนร่วมกัน ถ้าไม่ถอนร่วมกัน ถอนไปคนเดียวก็ไม่มีประโยชน์อะไร ก็จะเกิดสภาวะที่อาจจะต้องยุบสภา เพราะว่าถ้าตัวเลขมันใกล้เคียงกันระหว่างสองพรรค ศัพท์ภาษาการเมืองเขาเรียกว่า hang parliament คือรัฐสภาที่มันแขวนๆ อยู่ ไม่มีใครได้ข้างมากกันไป มันใกล้เคียงกันแบบนี้ ถ้าเป็นที่อังกฤษเขาก็จะให้ประมุขของรัฐเป็นคนตัดสิน แต่ว่าของเราอย่าไปพูดถึงตรงนี้เลย เราคงไม่ใช่ ถ้าอยู่ในสภาพนั้นก็หมายความว่าประชาธิปัตย์ต้องยุบสภา ถ้าภูมิใจไทยถอนไปพรรคเดียว ก็คงต้องยุบเพราะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ตัวเลขมันใกล้เคียงหมิ่นเหม่อะไรกันขนาดนั้นมันอยู่กันไม่ได้หรอก มันก็เป็นรัฐบาลกันไม่ได้ ก็ต้องยุบ และยุบก็เหมือนกับที่พรรคการเมืองใหม่บอกว่ายุบแล้วภูมิใจไทยพร้อมหรือยัง
       
       -ก็ยังไม่พร้อม?
       ผมคิดว่าเขาคงไม่คิดไกลถึงขนาดว่าจะไปพรรคเดียว เวลาเขาไปคงมีพรรคอื่นไปด้วยมั้ง ถ้าพรรคอื่นไป สมมติว่าไปแล้ว ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่ได้ แล้วเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ทีนี้ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมันต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะว่าเพื่อไทย ถึงแม้ว่าเขาแก้รัฐธรรมนูญแล้วต้องยุบสภาเลือกตั้ง เขาก็ไม่แคร์เพราะว่าเขาอยากเลือกอยู่แล้ว ยกเว้นเขาเกิดไม่อยากเลือก แต่อยากจะอยู่เป็นรัฐบาลแบบไม่ต้องลงเงินเลือกตั้ง แบบนี้ไปนานๆ ซึ่งถ้าอย่างนั้นแล้ว ถ้าขั้วมันเหวี่ยงมาเป็นเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วไม่อยากยุบสภาเลือกตั้งด้วยนะ เขาก็คงไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จเร็ว เพราะว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จเร็วเขาก็ต้องลงไปเสียเงินเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าการเลือกตั้งเขาคงไม่มายด์ เพราะเขาคงมั่นใจว่าเขาได้คะแนนเสียงข้างมาก แต่อาจไม่เกินครึ่งอย่างที่คุยไว้
       
       -ดูจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาเขาก็เลยมั่นใจ?
       คือเลือกตั้ง พลังประชาชนเขาเกินครึ่งของสภา แต่ตอนนั้นมันพูดยาก เพราะว่ามีกระแสที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเห็นอกเห็นใจพรรคพลังประชาชนเยอะ แล้วตอนนั้นเนวิน (ชิดชอบ) ก็ยังไม่แตกออกมา ทีนี้เนวินแตกออกมาแล้วผมคิดว่ายังไงเพื่อไทยเสียงข้างมากได้อยู่แล้วระดับ หนึ่ง แต่ไม่มีทางเกินครึ่ง
       
       -แล้วถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันจริงๆ มาตราไหนที่ควรต้องแก้?
       คือผมเป็นคนที่สนับสนุนให้ไม่แก้ เพราะฉะนั้นอย่าถามผมเลย ผมไม่อยากให้มันแก้ แต่ถ้าแก้แล้วมันเกิดจะคุยกันรู้เรื่อง อะไรอย่างนี้ คือจริงๆ ผมก็ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเป็นมาตราไหนก็แล้วแต่ ผมยังไม่เห็นด้วยว่าจะต้องแก้ เพราะว่าอย่างเขตเดียวเบอร์เดียว เขตเดียวพวงใหญ่ อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าถ้าคิดตามหลักประชาธิปไตยมันก็คิดได้ เพราะจริงๆ แล้ว one man one vote เป็นประชาธิปไตยมากกว่า แต่ว่าจะให้คิดว่าแบบพวงใหญ่ เขตใหญ่ขึ้นเป็นพวงสามเบอร์ คิดให้เป็นประชาธิปไตยมันก็คิดได้ หมายความว่า ไอ้คนที่คะแนนรองลงมาไม่กี่คะแนนมันก็ได้เป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปด้วย นักวิชาการคงคิดในแง่ของหลักการทฤษฎี แต่ว่านักการเมืองคงคิดในแง่ว่ากูจะได้เข้ามาหรือเปล่ามากว่า แล้วก็กูจะซื้อเสียงโดยที่กูไม่ได้ใช้เงินมากหรือเปล่า แล้วเสี่ยงหรือเปล่า ถ้าเขตเล็ก one man one vote อาจจะซื้อเสียง คุมปัจจัยอะไรได้ง่ายกว่าอันที่เป็นพวง
       
       -แล้วการเลือกตั้งแบบ เขตเดียวเบอร์เดียว พรรคไหนจะได้ประโยชน์ แล้วประชาธิปัตย์จะได้เปรียบหรือเปล่า?
       ผมว่าเขตเดียวเบอร์เดียว จริงๆ แล้วประชาธิปัตย์เขาก็ได้ประโยชน์เหมือนกันแหละ อย่างทางใต้ เขตเดียวเบอร์เดียวเขาก็ต้องได้แหละ แต่ผมคิดว่าเขตเดียวเบอร์เดียวมันแยกประชาชนเกินไป เช่น เขตหนึ่งก็อาจจะเป็นคนชนบทหรือประเภทเดียวกันเยอะมาก แต่ถ้าเป็นเขตใหญ่มันก็ปนทั้งคนระดับกลาง ระดับต่างๆ มันก็ถัวกันไป ไม่แยกออกมาเป็นแบบ โอ้โห เป็นส.ส.ของพี่น้องรากหญ้าอะไรไป คือมันก็ดีตรงที่มันถัว
       
       ทีนี้คำว่า ถัว ตรงนี้... เขตเดียวเบอร์เดียวมันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เป็นผลดีกับพรรคที่ไม่ได้เล่นคนเมือง ประชาธิปัตย์ทางใต้จะเขตเดียวไม่เขตเดียวอะไรเขาก็ไม่มีปัญหา หมายถึงว่าในตัวเมืองทางใต้เขาก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าอย่างในกรุงเทพฯ ในเมืองนนท์ ในปทุมฯ ในเชียงใหม่อย่างนี้ เมืองมันอาจจะโหวตไม่เหมือน แล้วถ้าให้เขตเมืองมันใหญ่กว้างๆ ขึ้น เขตนึงมีตั้งสามส.ส. โอกาสที่เพื่อไทย... มันก็จะทำให้พรรคอย่างประชาธิปัตย์ได้ด้วย ถ้าเป็นแบบพวงนะ พูดง่ายๆ แบบพวงมันจะได้ประโยชน์จากการที่ทำให้พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนเมืองมันมี ความหมายขึ้น
       
       -ถ้าเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ทั้งฉบับมันจะดีไหม
       เอา 2540 มาใช้ โอ้โห แล้วไอ้สภาแบบผัวเมียจะทำไง, สภาผัวเมียจะทำยังไง ไม่ได้นะแบบนั้น อันนั้นอันนึง สอง, ในสภา แบบ... ย้ายพรรคกันได้ ส.ส.ย้ายพรรคในสภา มันก็แหลกสิ ทุกวันนี้ที่มันยังต้องกล้ำกลืนเป็นอยู่แบบนี้ก็เพราะ ส.ส. มันย้ายพรรคไม่ได้ ยกเว้นมันถูกตัดสิทธิยุบพรรค มันจะต้องหาพรรคใหม่ แล้วถึงจะได้ ไม่งั้นก็มีการควบรวมกับคุณทักษิณ ก็แย่สิ ถ้านักการเมืองมันทำตัวให้เป็นแบบนักการเมืองที่มีอุดมการณ์สักหน่อย ไม่ใช่ มีแหล่งน้ำก็วิ่งไปตรงนั้นเหมือนสัตว์ มันก็แย่สิ
       
       -แล้ว มีความเป็นไปได้ไหมที่สถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจเปลี่ยนไป คือ อาจไม่เอาทั้ง 2 ประเด็นหรือ 6 ประเด็น แต่อาจจะเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาแก้ไขเลย?
       ภายใต้ประชาธิปัตย์มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าภายใต้เพื่อไทยไม่แน่ แต่ถ้าเขาจะเอาปี 40 มาแล้วมาปัดฝุ่น เช่น มาตราคนที่จะสมัคร สว. ถ้ายังใช้แบบ 50 อะไรอย่างนี้มันก็ยังพอรับได้นะ แต่ถ้าคุณจะเอามาทั้งดุ้นทั้งแท่ง แล้วคุณยืนยันว่ามันดีที่สุด ผมเชื่อว่าพันธมิตรฯ ต้องออกมาประท้วงแน่ แล้วอายุไขของรัฐบาลเพื่อไทยก็จะสั้นเหมือนเดิมอีก เพราะทำงานวุ่นวาย มันก็ปั่นป่วนกันอย่างนี้แหละ มันก็คงเป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้แหละ ก็คงวังวนไปแบบนี้ ถ้าจะให้ดีก็อย่าให้นองเลือดก็แล้วกัน... คือมันเป็นไปไม่ได้ ประชาธิปัตย์เขาไม่เอาปี 40 มาปัดฝุ่นหรอก
       
       -แล้วมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง ควรแก้ไขหรือเปล่า?
       ผมว่าไม่ควร เพราะว่ามันเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน คือพรรคการเมืองเรากำหนดแล้วว่า ส.ส. ต้องสังกัดพรรค เพราะฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับพรรคเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าใครคนหนึ่งโกง ใครคนใดคนหนึ่งในพรรครู้ก็ต้องรีบเป่านกหวีดเตือนกันไป หรือว่ารีบแจ้งกกต.ว่าไอ้นี่มันโกงแล้วนะ พรรคไม่รับรู้นะ จริงๆ แล้ว 237 มันไม่ได้โหดนะ เขาเขียนไว้เลยว่าถ้ากรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค ถ้ารู้แล้ว แล้วยังไขสืออยู่ อันนี้ถึงจะโดน แต่ถ้ารู้แล้วมาช่วยกันกระโตกกระตากอะไรกันไป หรือบังคับให้มันลาออกไปในขณะที่ยังไม่ได้เลือกตั้ง กำลังอยู่ในช่วงหาเสียง ก็โอเค ก็ไม่มีปัญหา
       
       ถ้าจะแก้ก็ได้ คือว่าถ้าไม่เอายุบพรรค แต่เอาแบบลงโทษเป็นรายบุคคลก็ได้ เช่น ถ้าใครพบว่าไอ้นี่มันทุจริตนะ ก็ให้มันติดคุกตลอดชีวิตเอามั้ย แต่เลิกเล่นการเมืองไปตลอดชีวิต ผมว่ามันยังไม่หนักว่ะ ต้องจำคุกสิบปีสิบห้าปี ใครจะเสี่ยง เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าให้เลิกเล่นการเมือง ปรากฏว่าพรรคไปจ้างใครก็ไม่รู้มาคนหนึ่งให้มาสมัครส.ส.ในพื้นที่นี้ แล้วให้มันจ่ายเงินให้หัวคะแนน ซื้อเสียง อะไรอย่างนี้ คือมันซื้อไปแล้วใช่ไหม ซื้อไปแล้ว สมมติว่าแบบไม่ให้มีการเลือกตั้งใหม่... คือถ้าคุณโกงเลือกตั้งแบบยงยุทธ คือโกงแบบส.ส.สัดส่วน ยงยุทธโดนคนเดียว โอเคนะ แล้วเผอิญที่ดีเพราะว่ามันยุบพรรคไปไง แต่ว่าคิดดูสิว่าถ้าเราแก้ให้เป็นรายบุคคล ยงยุทธโดน แต่สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ได้ เพราะเขาอยู่ด้วยกัน ส.ส.สัดส่วนเขาเลือกเป็นเบอร์เดียวแล้วได้มาทั้งแถบตามแต่คะแนนประชาชนลงมา สมพงษ์ได้ แล้วก็มีอีกสามคนได้ พวกนั้นก็ได้ไปน่ะสิ เพราะยงยุทธมันบอกให้หัวคะแนนมันไปลง มันก็ลงเบอร์เดียวกันหมด ไอ้อย่างนี้มันไม่ควรจะได้ คนเหล่านั้นไม่ควรจะได้ส.ส.สัดส่วนเข้าไป เพราะฉะนั้นไปลงรายบุคคลไม่ได้หรอก อย่างเรื่อง ส.ส.สัดส่วนมันลงรายบุคคลไม่ได้ เพราะมันเลือกเป็นพวงใหญ่
       
       -สถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งใกล้เข้ามาหรือเปล่า?
       
ผม ว่าจริงๆ แล้วภูมิใจไทยเขาก็ยังไม่ได้อยากจะไปเลือกตั้ง ผมว่านะ จริงๆ พรรคร่วมรัฐบาลเขาก็อยากอยู่จนกระทั่งถึง 4 ปี ไอ้ส่งสัญญาณนี่ดีไม่ดีมันอาจเป็นเกม สร้างกระแสกันไปกันมา จริงๆ ในใจก็คือกูก็... ไปแก้ตอนที่ใกล้จะครบ 4 ปีไม่ดีกว่าหรือ ตอนนั้นก็ยังอยู่ได้อีกปีนึง อยู่ได้ถึงปี 53 จริงๆ แล้วอยู่ได้ถึงปี 54 คือปลายปีวันที่ 23 ธันวา เพียงแต่ว่าต้องถามว่าพรรคร่วมอึดอัดหรือเปล่าว่าโครงการมันไม่ออกหรือเปล่า อย่างชาติไทยพัฒนาอึดอัดไหม ภูมิใจไทยอึดอัดไหม เรื่องงบประมาณ เรื่องโครงการ ถ้าเขาอึดอัดเขาคงอยากรีบหนีจากตรงนี้ไป ผมว่ามันคงเป็นเรื่องแลกเปลี่ยนกัน ลึกๆ แล้ว เรื่องแก้รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นเกม
       
       -แล้วกับการขู่ว่าจะเปลี่ยนขั้วนี้ อาจารย์คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์เขาจะทำอย่างไร หรือว่าจะเล่นเกมยื้อเวลาไปเรื่อยๆ?
       พรรคภูมิใจไทย,ประชาธิปัตย์เขาเล่นเกมอันนี้เพื่อลดกระแสเพื่อไทย ผมว่านะ คนที่ออกมาพูดโว้กว้ากๆ เพื่อไทยมันก็เลยตาโต สังเกตดูสิ ตั้งแต่พลเอกสุรยุทธ์มาพูดว่า ถ้าจะโทรมาผมก็ฟัง ทุกอย่าง ป๋าๆ เขาพูด ทุกอย่างคือพูดแล้วเหมือนเป็นการลดกระแส คล้ายๆ ทำให้พวกเสื้อแดงต้องคิดว่า เฮ้ย! เขากำลังจะอย่างนั้นอย่างนี้นะ เราจะ... ประชาชนบางคนบอกว่า เฮ้ย เขากำลังจะคุยกันรู้เรื่องแล้วมึงออกมาทำไม ทีนี้ณัฐวุฒิก็เลยต้องบอกว่า 7 วันจบ! ไม่จบ มันไม่มีใครจะจบ
       
       -สุดท้ายแล้วใครจะได้ประโยชน์จากการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้?
       
ถ้า จะแก้จริงๆ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือพวกนักการเมืองที่ยังเป็นสไตล์โบราณๆ อยู่ สไตล์โบราณแบบ ยังหาเสียงแบบเดิมๆ อยู่ รณรงค์แบบเดิมๆ แบบที่จะต้องมีอะไรตอบสนองตอบแทนประชาชนในการลงคะแนน แล้วก็ต้องการความคล่องตัวอะไรบางอย่างของเขา ถ้าจริงๆ การแก้รัฐธรรมถามว่าเป็นประโยชน์กับใคร ผมบอกให้เลยว่าเป็นประโยชน์กับ... คือผมไม่ได้มองตัวการแก้ ผมมองว่าแก้เสร็จแล้วต้องยุบสภาเนี่ย การยุบสภามันเป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยควรจะเล่นตรงนี้ พรรคเพื่อไทยควรจะฉวยตรงนี้ กำขี้ดีกว่ากำตด คุณไปชุมนุมประท้วงคุณใช้งบประมาณฉิบหายวายป่วงแค่ไหน แล้วโอกาสเสี่ยง โอกาสที่เขาจะยุบสภา หรือเขาจะล้มรัฐบาลได้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้มากแค่ไหน แถมถ้าคุณเพลี่ยงพล้ำมาเขาก็เอาทหารมาสลายคุณอีก หรือว่าเผอิญแบบคุมเกมกันไม่ได้ ทหารเขารัฐประหาร คุณก็หน้ามืดอีก เพราะฉะนั้นที่แน่นอนคุณเข้ามาร่วมในฐานะพรรคฝ่ายค้านร่วมแก้รัฐธรรมนูญ แล้วก็พยายามเร่งให้มันเสร็จ อย่างน้อยๆ ไม่เกิน 7-8 เดือนมันเสร็จ หรือปีนึงคุณได้เลือกตั้งแน่ๆ คุณได้กลับมาภายในปีนึงแน่ๆ
       
       แต่ถ้าคุณจะทำแบบนี้เขาก็เล่นเกมยื้อไปถึงปี 54 คุณไม่ตายเหรอ เงินของลูกพี่คุณมีเท่าไหร่ คุณคิดเอา ทั้งลูกพี่ลูกน้องคิดให้ดีๆ ว่ามาแก้รัฐธรรมนูญดีกว่า ไหนๆ นายกฯ มาร์คเขาหลุดปากออกมาแล้วว่าแก้อีก 7-8 เดือนเขาจะยุบสภา เขาพูดอยู่สามครั้ง เราฉวยตรงนี้เลย แล้วก็แก้ ประชาชนก็สรรเสริญ แล้วคุณก็กลับมา คุณกลับมาน่ะ อันดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ว่าคุณกลัว คุณไม่อยากให้ใช้เวลาอีก 7-8 เดือนเพราะว่าคุณกลัว คุณกลัวนโยบายเศรษฐกิจเขาได้ผลไง เวรกรรม! คุณนี่โคตรที่จะไม่แมนเลยว่ะ!
       
       คือถ้าเขาไม่กลัว เขาก็จำตรงนี้ไว้เลยว่า 7-8 เดือนมึงยุบ เพราะยังไงกูรู้ว่ามึงไม่ได้ผลแน่ๆ แต่ว่าเขากลัว ที่จริงถ้าผมเป็นคุณทักษิณนะ ผมเป็นแบบเพื่อไทยผมไม่กลัวหรอก เพราะผมมั่นใจในนโยบายที่ผมจะมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังจากยุบสภาแล้ว ผมได้ชัยชนะมาเนี่ย โอย... สมองอย่างคุณทักษิณ จะขับนโยบายสารพัดนโยบายออกมาสร้างความหวือหวาก็ย่อมได้ ยกเว้น คุณไม่มีปัญญาแล้ว... ผมคิดว่า หนึ่ง- กลัว สอง- กูจะไปไม่ไหวแล้ว แต่กูก็ยังอยากจะได้เงินเจ็ดหมื่นหกพันล้าน ไม่อยากถูกยึด และอยากกลับบ้านเร็วๆ ป่วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือเขาโดนโกงเงินไปสามพันล้าน เขาฝากเงินคนไว้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเขากำลังเร่งรัดมาหมด แล้วเขาก็รู้สึกว่า... ดีไม่ดี ตอบอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์นะ พี่แกไปดูหมออีกแล้ว ไปดูหมอบอกว่าถ้าเกินวันที่นี้เดือนนี้แกจะกลับมาไม่ได้ ลึกๆ แล้วมันเป็นเหตุปกติไม่ได้หรอกว่าทำไมคุณไม่รีบฉวยโอกาสในการแก้รัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภาไป
       
       มันก็แปลว่า หนึ่ง- คุณจ้องที่จะกลับมามีอำนาจจริงๆ สอง- คุณไม่อยากเสียเงิน สาม-คุณเชื่อหมอดูไง แค่นั้นแหละ นักรัฐศาสตร์คิดแบบธรรมดาไม่ได้ดูหมอก็บอกว่า เป็นกูกูจับคำพูดมึงแล้วกูก็แก้รัฐธรรมนูญ 7-8 เดือน มึงก็หนีไปแล้ว มึงก็ต้องยุบสภาแล้ว

view