สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองต่างมุม 3G by กทช. ปัญหา อุปสรรค และอนาคต

จากประชาชาติธุรกิจ



ค่าย มือถือทั้งหลายยังคงตั้งความหวังกับการจัดสรรคลื่นความถี่ และใบอนุญาตเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G โดย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แต่ไม่ใช่กับชุดเดิม เป็น "กทช." ชุดใหม่เอี่ยมครบ 7 คน หลังกระบวนการคัดสรร 4 กทช.ใหม่ (แทนจับสลากออก 3 คน และลาออก 1 คน) ซึ่งทุกฝ่ายประเมินตรงกันว่าคงเริ่มเดินหน้าต่อได้ภายในครึ่งปีแรกของ ปี 2553

ถึงกระนั้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ "กทช." กลับยังไม่จบสิ้น ทั้งเรื่องกระบวนการจัดสรรใบอนุญาตด้วยการ "ประมูล", ความมั่นคงของชาติ รวมถึงปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับว่าขอบเขตอำนาจในการจัดสรรความถี่ของ กทช. ภายหลังการเปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญจากปี 2540 เป็น 2550 กำหนดให้การจัดสรรความถี่เป็นหน้าที่ขององค์กรตาม ม. 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงาน กทช. จัดเสวนาวิชาการถกกันด้วยข้อกฎหมาย

1.สถานะ และอำนาจหน้าที่ กทช. ในการจัดสรรความถี่ 3G 2.ปัญหาการห้ามรัฐแข่งกับเอกชนตามรัฐธรรมนูญ ม.84 3.เรื่องความมั่นคงของชาติกรณีคนต่างด้าว 4.การครอบงำกิจการของคนต่างด้าว และ 5.การคงสิทธิเลขหมาย ซึ่งอาจเอื้อให้มีการโอนย้ายลูกค้าจากสัมปทานไปยังใบอนุญาตใหม่ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด และ นายธัช บุษฎีกานต์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมายโทรคมนาคม และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎข้อบังคับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

โดยนายเดช อุดมแสดงความเห็นว่า กทช.ปัจจุบันไม่มีสถานภาพอยู่แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 สิ้นสุดลงหลังการปฏิวัติโดย คมช.ในปี 2549 ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ถืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และไม่มีประกาศ คมช.ฉบับใดคืนอำนาจให้ กทช. เหมือนที่คืนอำนาจให้ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐบาลในทุกยุค แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนไม่ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการตรา กม.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ตาม ม.47 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องออก กม.ภายใน 180 วัน หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

"สภาทนายความเคยแถลงว่า กิจการโทรคมนาคมเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ จำเป็นต้องมีการดูแล การให้ต่างชาติถือหุ้น 49% เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ ขนาดจีนและออสเตรเลียยังไม่ยอมเลย ความถี่ตามกฎหมายถือเป็นความลับของชาติ อย่างบริษัทจากสิงคโปร์จะไปซื้อหุ้นบริษัทในอินเดียเกิน 25% เขายังไม่ขายเลย"

นอกจากนี้ กทช.ยังมีนโยบายเรื่องการคงสิทธิเลขหมาย เหมือนกับเอื้อให้มีการย้ายซิมการ์ดจากระบบ 2G ไปเป็น 3G ได้ ทั้ง ๆ ที่ทุกวันนี้สัญญาสัมปทานยังมีผลอยู่ และเลขหมายของผู้ให้บริการภายใต้ระบบสัมปทานถือเป็นทรัพย์สินของทีโอทีทั้ง สิ้น

ด้าน นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวว่า การตีความ กม.มีหลายแบบ ทั้งโดยเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ทางการบริหาร ซึ่งตาม ม.47 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้มีองค์กร กสทช. องค์กรเดียวขึ้นมากำกับดูแล โดยให้เวลา 180 วันในการตรา กม.ใหม่มารองรับ หากตีความโดยเคร่งครัดจะเหมือนกรณีที่นายกสภาทนายความยกตัวอย่าง คือหลังหมดระยะ 180 วัน กทช.ก็หมดสภาพ แต่ในรัฐธรรมนูญ

ระบุให้คลื่น เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ฉะนั้นต้องมีผู้ดูแล ทั้งไม่ปรากฏว่ามี กม.ใดมายกเลิก พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับเดิม ฉะนั้นถ้ามองการตีความเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว กทช.ยังมีหน้าที่ต่อไปตาม กม.เดิม แม้รัฐธรรมนูญ ม.47 วรรคแรกจะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่วรรค 2 ถึง 4 จะมีผลบังคับใช้เมื่อมี กม.ใหม่มารองรับ

ส่วน กทช.ชุดนี้จะมีอำนาจให้ใบอนุญาต 3G หรือไม่ ตนเห็นว่าแม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความออกมาแล้วในปี 2549 ว่าทำได้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจน เพียงบอกว่าพอทำได้ตาม กม. ซึ่งอาจต้องยกบทเรียนกรณีโครงการมาบตาพุดที่กฤษฎีกาเคยตีความว่าทำได้ แต่ศาลปกครองชั้นต้นและสูงสุดสั่งยุติโครงการ ฉะนั้นถ้าไม่มี กม.ที่ชัดเจน อะไรที่จะกระทบกระเทือนกับสิทธิประชาชนต้องคิดอีกรอบ โดยเฉพาะเมื่อสภาพทาง กม.ของ กทช.ยังไม่มั่นคง การ ออกคลื่นความถี่ เงื่อนไขที่จะให้ใบอนุญาตล้วนแต่อยู่ใน กม.ใหม่ ไม่ใช่สิทธิของ กทช. กม.ที่บังคับใช้ในปัจจุบันไม่เอื้อให้ กทช.ออกใบอนุญาต 3จี

"สิ่ง ที่ต้องทำคือเร่งให้มีการออก กม. ใหม่มาปิดทางปัญหาต่าง ๆ แผนบริหารคลื่นความถี่ไม่ใช่อำนาจ กทช. แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการร่วม กทช.-กสช.ที่ต้องระบุว่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ให้รัฐ เอกชนใช้งานเท่าไร ส่วนที่ให้เอกชนใช้ต้องมีการประมูล กทช.จึงเข้ามาจัดการทีหลัง แผนบริหารความถี่ต้องเกิดขึ้นก่อนเพื่อเป็นแนวทางของแผนกิจการโทรคมนาคม เมื่อไม่มี กสช.จะเกิดแผนแม่บทได้อย่างไร ฉะนั้นถึงแผนจะดีมีประโยชน์ แต่กระบวน การดำเนินการต้องถูกต้อง เหมือนกรณีแปรรูปการไฟฟ้าฯ แค่คุณสมบัติกรรมการไม่ครบ 1 คน ก็ทำให้การแปรรูปเป็น โมฆะได้ กรณีมาบตาพุดก็เป็นบทเรียน ฉะนั้นทำตาม กม.ดีที่สุด"

ส่วนปัญหา ด้านความมั่นคง นายจุลสิงห์เห็นว่า รัฐธรรมนูญ ม.84 อนุ 11 ระบุให้กิจการโครงสร้างพื้นฐานต้องเป็นของรัฐ ห้ามให้รัฐเข้าถือหุ้นในกิจการน้อยกว่า 51% แต่โดยส่วนตัวมองว่า การให้บริการ 3G ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่ในส่วนของโครงข่ายถือเป็นความมั่นคงของชาติ รัฐต้องเข้ามาดำเนินการ ถ้าให้เอกชนเข้ามาจะมีปัญหา

"ปัจจุบันการให้บริการ 2จี เอกชนทำในนามรัฐคือ ทีโอที กสทฯ เมื่อหมดสัมปทานก็ต้องคืนให้เจ้าของสัมปทาน ส่วนการออกกฎให้ประชาชนมีสิทธิคงเลขหมายโทรศัพท์ของตนเอง เป็นประโยชน์ของประชาชนจึงออกกฎได้"

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กทช.ถือเป็นองค์กรทางปกครองที่เป็นอิสระ ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตั้งขึ้นโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ฉะนั้นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงไม่กระทบกับการคงอยู่ของ กทช. เพราะ กทช.ไม่ได้ใช้อำนาจทางรัฐธรรมนูญ ส่วนการที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เปลี่ยนโครงสร้าง หลักการในการกำกับกิจการโทรคมนาคมจึงเป็นปัญหาความต่อเนื่องทาง กม. เมื่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรใหม่ยังไม่เกิดขึ้นจนพ้นระยะเวลา 180 วัน ในบทเฉพาะกาลแล้ว กทช.ยังมีอยู่หรือไม่นั้น ตนเห็นว่าระยะเวลา 180 วัน เป็นการกำหนดเวลาเพื่อเร่งรัดให้มีการตั้งองค์กร แต่ไม่ได้กำหนดสภาพบังคับว่าถ้าตั้งไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้น

ดังนั้น เมื่อรัฐทำไม่ทันจึงเกิดเป็นผลทาง การเมืองเท่านั้น คือรัฐถูกตำหนิ ถูกกดดัน เพราะหากต้องการให้มีสภาพบังคับ กม.จะระบุไว้ เช่น ถ้าตั้งไม่เสร็จให้สภายุบไป

ปัญหาตอนนี้คือไม่รู้ว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด ขึ้นอยู่กับการเมือง แม้ กทช.ยังมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิม แต่มีขอบเขตแค่ไหน เป็นปัญหาดั้งเดิม เพราะการจัดสรรคลื่นต้องมีกรรมการร่วมจากทั้ง กทช.และ กสช. แต่ กสช.ไม่เกิด

"ประเด็นนี้ถึงขั้นทำลายอำนาจ กทช. หรือไม่ ไม่แน่ใจ ในทางเนื้อหาไม่น่ามีข้อบกพร่อง ทำตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ข้ามขั้นตอนคือไม่มีแผนแม่บทความถี่ออกมาก่อน ซึ่งก็ต้องมองว่าผลที่เกิดขึ้นต่างจากกรณีที่มีอีกองค์กรหรือไม่ นี่คือปัญหาเรื่องแบบวิธี เป็นเครื่องป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ หากผมเป็น กทช. ผมจะทำ แม้ กทช.กำลังหารือกับกฤษฎีกา แต่ก็มีความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีศาลมาทบทวนอีกครั้งอยู่ดี"

กรณี รัฐต่างด้าวจะเข้ามาแข่งขันได้ หรือไม่ ตนยืนยันว่าคำว่ารัฐที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมายถึงรัฐไทยเท่านั้น ส่วนเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจของประเทศอื่นเข้ามาในฐานะเอกชนที่ถูกควบคุมโดย กม.ไทย และกิจการใดจะสงวนให้เฉพาะคนไทย รัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบาย และเขียน พ.ร.บ.ขึ้นควบคุม ซึ่งในปัจจุบันมี พ.ร.บ.ต่างด้าวระบุสัดส่วนไว้แล้ว หาก กทช.จะกำหนดเงื่อนไขแตกต่างออกไปไม่ได้

"เรื่องความมั่นคง 3G คือเทคโนโลยีแบบเดียวกับ 2G แต่เร็วกว่า ถ้า 3G เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแล้ว ปัจจุบันมี กม.หรือระบบเข้ามาจัดการกับ 2G มากน้อยแค่ไหน ขณะที่คลื่นที่นำมาประมูลก็เป็นคลื่นพาณิชย์ ไม่ใช่คลื่นทหาร ซึ่งมีการแบ่งแยกเฉพาะอยู่แล้ว อำนาจ กทช.มี แต่ใช้อย่างไรถึงจะเหมาะสม ต้องพิจารณาอีกครั้ง สิ่งที่อยากให้มองตอนนี้คือประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่แค่สิทธิในการถือครองทรัพย์สินของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ และการเปิดทางเลือกให้ผู้บริโภค"

สภาพ การณ์ในขณะนี้ ถ้า กทช.ไม่ทำอะไรเลยเป็นเรื่องง่ายที่สุด และปลอดภัยที่สุด แต่ถ้ากินเงินเดือนที่เป็นภาษีของประชาชนเดือนละเป็นแสน แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วย และคิดว่า กทช.ต้องตัดสินใจ อย่าเอาประเด็นติดขัดเล็กน้อยทาง กม.มาทำให้ผลักดันสิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้

"การ คงสิทธิเลขหมายเป็นผลประโยชน์ประชาชน เพราะ กม.ระบุให้เลขหมายเป็นทรัพยากรของชาติ ไม่ใช่ของทีโอที ประเด็นนี้องค์กรผู้บริโภคก็มองว่า จริง ๆ ควรเป็นสิทธิของผู้ใช้ที่พึงจะได้รับด้วย" นายวรเจตน์กล่าว

ขณะที่ นายธัช บุษฎีกานต์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมายโทรคมนาคม และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎข้อบังคับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในมุมของเอกชนไม่ขัดข้องที่แต่ละฝ่ายจะทำหน้าที่ของตนเอง ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐบาล หรือฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่อยากให้เร็ว เพราะหากยังใช้ระบบโทรศัพท์ 2G ต่อไป อะไหล่จะหายากและแพงขึ้น

นอก จากนี้ยังเป็นสิ่งที่กระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะประเทศไทยยังมีช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลจากการกระจายอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงผ่านสายที่ยังมีน้อย เพราะลงทุนสูงมาก ดังนั้น 3G จึงเป็นทางลัดทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น

"ความถี่เป็น ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่สึกหรอหรือสูญไป เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และนำมาใช้ได้ทันที จะรออะไรอีก ส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติว่ามีทางออกที่สง่างามอยู่แล้ว โดยการนำหุ้นส่วนเกินไปลงทุนในกองทุนไทยทรัสต์ฟันด์"

นายนฤพล รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า แผนการลงทุน 3จี ของดีแทคยังคงอยู่ แต่ขณะนี้ทำได้แค่รอความหวังจาก กทช.ชุดใหม่ว่าจะเข้ามาดำเนินการอย่างไรต่อไป มีความกล้าแค่ไหน เพราะเกี่ยวกับ ผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม

ขณะที่ นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช. กล่าวว่า ตามความเห็นของอัยการสูงสุดที่ระบุว่าการประกอบกิจการโทรคมนาคมในส่วนของ โครงข่ายอาจถือเป็นเรื่องความมั่นคงตาม ม.84 อนุ 11 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐควรเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเอกชนให้ทำในระดับ service provider ตนฟังแล้วรู้สึกตกใจ เพราะในความเข้าใจของตน เอกชนลงทุนสร้างโครงข่ายเองได้ตราบใดที่ปฏิบัติตาม กม. และมีผู้ถือหุ้นต่างด้าวไม่เกิน 49%

view