สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จ่ายภาษีได้อะไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เดินคนละฟาก

โดย กมล กมลตระกูล kamolt@yahoo.com




มีคำพังเพยที่คนอเมริกันชอบยกมาพูดกันว่า "มี 2 สิ่งในโลกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการจ่ายภาษีกับความตาย"

แต่ คำพังเพยข้างต้นนำมาใช้กับสังคมไทยไม่ได้เพราะอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทยมักมี วิธีการสารพัดในการหลีกเลี่ยง การจ่ายภาษีหรือจ่ายให้น้อยที่สุด เราจึงมีอัครมหาเศรษฐีเต็มบ้านเต็มเมืองที่ครอบครองที่ดินเป็นพันเป็นหมื่น ไร่เต็มไปหมด (รวมทั้งที่บนเกาะ ที่ในเขตป่าสงวนฯ หรือที่ในอุทยานแห่งชาติ) และเงินทองหรือทรัพย์สินที่มีก็ไม่ต้องพิสูจน์ หรือชี้แจงว่า "ท่านได้แต่ใดมา"

ต่างกับสังคมอเมริกันซึ่งถ้า พิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องถูกตีราคาจ่ายภาษีก่อน แล้วก็ถูกอายัดหรือยึดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า "ท่านได้แต่ใดมา"

คำพูด ที่ว่า การจ่ายภาษีให้รัฐกับการเสียภาษีให้รัฐมีนัยที่ต่างกันอย่างมาก ในขณะที่การจ่ายตามพจนานุกรม หมายถึง ซื้อ ซึ่งหมายความว่าเมื่อเรา จ่ายเงินให้ร้านค้าหรือใครก็ตาม โดยทั่วไป ก็ต้องได้รับสิ่งตอบแทนเป็นสินค้าหรือบริการตามจำนวนเงินที่จ่ายออกไป

ประชาชน มักไม่ใช้คำ "จ่ายภาษี" แต่มักใช้คำว่า "เสียภาษี" แทน เพราะว่า ตามพจนานุกรมคำว่า เสีย หมายถึง สละ หรือทิ้ง เน่า หรือบูด คือเมื่อเสียไปแล้ว ก็หมายถึงการทิ้งเงินก้อนนั้นไปเลย คือกลายเป็นเงินเน่าหรือบูด จะหวังอะไรตอบแทนกลับมาเป็นอันไม่ได้ ในขณะ เดียวกันรัฐบาลมักใช้อีกศัพท์หนึ่ง คือ "เก็บภาษี" เพราะว่าตามพจนานุกรม เก็บ หมายถึง เอาไป หรือเอามาจากที่ คือเมื่อเก็บไปแล้วก็เอาไปเลย เหมือนเก็บของได้ในที่สาธารณะ ไม่ต้องให้อะไรตอบแทน

หลักการพื้นฐาน ทางรัฐศาสตร์ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของทุกชาติ คือ รัฐมีหน้าที่นำเงินภาษีอากรมาจัดทำและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น การให้บริการไฟฟ้า ประปา ชลประทานการคมนาคม ขนส่ง และสาธารณูปการ ตลอดทั้งระบบการศึกษา ระบบการรักษาพยาบาล โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ (ในอดีตคือระบบโทรศัพท์พื้นฐานและไปรษณีย์) ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

แต่หลักการพื้นฐานข้างต้นได้ รับการแทนที่ด้วยแนวคิดใหม่ที่สามานย์ คือ "เสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism)" ที่ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนหรือ ผลประโยชน์ของสาธารณะมาขึ้นต่อผลประโยชน์ของเอกชน

เสรีนิยมใหม่มี หลักการว่า รัฐต้องไม่ทำกิจการหรือให้บริการแข่งกับเอกชน แต่ก็ไม่ยอมลงทุนในเรื่องระบบและโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณูปโภค เพราะต้องลงทุนสูง (กรณีรถไฟฟ้า) ในขณะเดียวกันก็ต้องการผูกขาดและขึ้นราคาตามใจชอบ ซึ่งขัดกับหลักการ การค้าเสรีหรือเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (กรณีโทลล์เวย์ซึ่งทำสัญญาผูกมัด ห้ามรัฐสร้างทางคู่ขนาน หรืออื่น ๆ ที่ทำให้จราจรไม่ติดขัดเพื่อบีบบังคับให้ประชาชนต้องหันไปใช้โทลล์เวย์)

การ ขึ้นราคาอย่างมหาโหด ร้อยละ 50 ของดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อต้นปี 2553 นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่สามานย์ในหมู่นักการเมืองและ ข้าราชการที่เห็นชอบด้วย

แนวคิดเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การให้สัมปทานเอกชน การตั้งบริษัทลูกและนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ การนำ มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลของรัฐออกนอกระบบ การรับเอาระบบอนุญาโต ตุลาการมาใช้แทนศาลสถิตยุติธรรมล้วนมาจากแนวคิด "เสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism)" ที่ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนหรือผลประโยชน์ของสาธารณะมาขึ้นต่อผลประโยชน์ ของเอกชนทั้งสิ้น รัฐจึงต้องจ่าย "ค่าโง่" เป็นประจำเมื่อมีเรื่องขัดแย้งกับเอกชน (ค่าโง่ทางด่วนโทลล์เวย์ ค่าโง่หวยออนไลน์ เป็นต้น) ความสามานย์ของระบบคิดนี้คือระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น การพลังงาน การไฟฟ้า การประปา ทางด่วนโทลล์เวย์ โครงสร้างพื้นฐาน หรืองานระบบที่ลงทุนสูงของรถใต้ดิน รถไฟฟ้า ทางด่วน โทลล์เวย์ สนามบิน มหาวิทยาลัย ล้วนใช้เงินภาษีอากรที่ประชาชนจ่าย (เสีย) สร้างขึ้นมา

แต่ กลับนำไปให้เอกชนทำประโยชน์หากำไร (เกินควร) ในรูปของสัมปทาน หรือการร่วมทุน (ที่รัฐเสียเปรียบ) หรือ การตั้งบริษัทลูกเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้เอกชนเข้ามาถือหุ้น แล้วคิดราคากับประชาชนอย่างแพงหูตูบโดยไม่มีทางเลือก เช่น ค่าใช้ทางด่วน ค่าใช้โทลล์เวย์ ค่ารถไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าค่าน้ำมัน ที่แพงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ หรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชาชน

ถ้าเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองแล้วจะ โก่งราคาอย่างไรก็ไม่มีใครว่า แต่เป็นเรื่องของกลไกตลาด แต่เมื่อนำเงินภาษีอากรมาสร้างหรือใช้เอกสิทธิ์หรือทรัพยากรจากสมบัติ สาธารณะ แต่ให้สัมปทานกับเอกชนไป หรือแปรรูปออกไป เช่นกรณีของ ปตท. แล้วจะมาอ้าง ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด หรืออ้างว่า ต่างชาติจะไม่กล้าเข้ามาลงทุนถ้ารัฐเข้าแทรกแซง จึงเป็นทรรศนะที่เหมือนกับ จับเอาคนไทยทั้งชาติเป็นตัวประกัน เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาข่มขืนหรือกระทำปู้ยี่ปู้ยำคนไทยอย่างไรก็ได้

แม้ แต่ระบบการศึกษา ที่ออกนอกระบบทุกวันนี้ก็กำลังแผลงฤทธิ์ด้วยการขึ้นราคาค่าหน่วยกิตทั้งทาง ตรงและทางอ้อม เช่น หลักสูตรพิเศษ หลักสูตรนอกเวลา หลักสูตรภาษาต่างประเทศที่คิดราคาแพง ๆ ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบในราคาเดียวกันเพื่อความเป็นธรรมกับนัก ศึกษาที่มีรายได้น้อย (เป็นการสร้างระบบชนชั้นกลับมาใหม่)

ไม่เพียง แค่นั้น อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่อยู่ใจกลางเมืองแห่งหนึ่งที่เพิ่งออกนอกระบบกำลังจะถูกขูดรีดจากแนวคิด นี้ด้วยการถูกเรียกเก็บค่าจอดรถ ทั้ง ๆ ที่อาจารย์บางท่านอุทิศตนกินเงินเดือนข้าราชการที่สุดแสนจะต่ำมาเป็นเวลา หลายสิบปี แต่ความเสียสละนั้นไม่ได้รับการนำมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาส เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ (จะขูดรีดกันไปถึงไหน)

อาจจะมาถึงวัน หนึ่งที่คนทั้งชาติลุกขึ้นมาถามตัวเองว่า "ตูจะจ่าย (เสีย) ภาษีไปทำไมวะ ในเมื่อทุกอย่างที่ควรจะได้รับบริการจากรัฐล้วนต้องควักกระเป๋าจ่ายตามกลไก ตลาดทั้งสิ้น

โบราณมีคำเปรียบเทียบว่า "กินเปลืองข้าวสุก" และ "กินบนเรือนขี้บนหลังคา" ซึ่งน่าคิดน่าสงสัยว่าประชาชนอาจจะนำมาใช้ในกรณีการจ่ายภาษีของตน กับข้าราชการ นักการเมือง ส.ส. และ ส.ว. ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมสามานย์ได้หรือไม่ เพราะล้วนรับเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน แต่กลับไปปกป้อง ผลประโยชน์ของเอกชนแทนประโยชน์ของประชาชน

view