สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เป็นยังไงนะ...โรคแพ้ตึก!

จาก โพสต์ทูเดย์

30 มกราคม 2553 เวลา 11:30 น.

อาการแพ้ตึกเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่มักต้องใช้ชีวิตบนตึกสูง....

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์


โปรดิวเซอร์รายการทีวี ผู้มีหน้าที่หลักในการจัดหาพร็อพ และ อุปกรณ์ประกอบฉาก ให้รายการต่างๆ นางหนึ่ง (นะฮ่ะ) ...จู่ๆ เจ้าหล่อนก็ยกนิ้วกรีดกรายไปมาในอากาศอย่างช้าๆ ก่อนจะหลุบเปลือกตาอันอาบไล้ไปด้วยอายไลเนอร์สีเขียวแกมทองลงครึ่งหนึ่ง ปรายตาไปเสียอีกทางก่อนกระแอมไอพอเก๋ เอ่ยคำทำนองหารือว่า “สงสัยชั้นจะเป็น โรคแพ้ตึก ”

“โรคอะไรนะ” ฉันถาม ค่าที่เกิดมาเป็นตัวเป็นตนยังไม่เคยได้ยินมาก่อน

“ต๊ายยยยย... (จริงๆ ลากเสียงยาวกว่านี้) นี่หล่อนไม่รู้จักโรคแพ้ตึกรึยะ เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นกันย่ะ” เจ้าหล่อนทำเสียงสำเนียง หมิ่นแค&O5533;น “เป็นนักข่าวซะเปล่า เอาต์สุดสุด ชั้นจะบอกให้รู้ว่าตอนเนี้ยใครๆ เขาก็เป็นโรคนี้กันทั้งนั้นล่ะ”

แหม...ไม่ได้ซะแล้ว ไม่อาจยอมให้ผู้จัดการงานพร็อพผู้นี้มาดูถูกได้อีกต่อไป เห็นทีจะต้องไปหาความรู้เรื่องโรคแพ้ตึกเสียหน่อย

โรคแพ้ตึก!

ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ นพ.จามร เงินชารี แผนกตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

“โรคแพ้ตึก หรือ Sick Building Syndrome เป็นอาการของคนที่ทำงานบนตึกสูง เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงคราม ขณะนั้นเศรษฐกิจตกสะเก็ด อาคาร หรือโรงงานต่างๆ ทรุดโทรม ระบบระบายอากาศไม่ได้ซ่อมบำรุง ทำให้ผู้คนเกิดเป็น โรคนี้อย่างแพร่หลาย ถึงปัจจุบันอัตราการ เคลมเงินประกันจากโรคแพ้ตึกในสหรัฐ สูงขึ้นต่อเนื่อง และล่าสุดเกิน 0.5% ของการเคลมประกันสุขภาพทั้งหมด

องค์การอนามัยโลกได้ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า อาการแพ้ตึกเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่มักต้องใช้ชีวิตบนตึกสูง โดยอาการแพ้ ประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการดังนี้

1.กลุ่มอาการทางสายตา ผู้ป่วยมีอาการแสบเคืองตา น้ำตาไหล ล้าตา รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา

2.กลุ่มอาการเกี่ยวกับระบบหายใจส่วนบน เช่น ไอแห้งๆ แสบคอ แสบจมูก คันจมูก หายใจไม่โล่ง หอบหืดภูมิแพ้กำเริบ

3.กลุ่มอาการทางผิวหนัง พบผื่นคัน หรือคันคะเยอไม่ทราบสาเหตุ

อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นๆ หายๆ หรือบางรายเป็นมากถึงขนาดหมดเรี่ยวแรง ตอนเช้ามาทำงานเอามือผลักบานประตูเดินเข้าออฟฟิศปุ๊บ อาการจะค่อยๆ เริ่มมา ต่อเมื่อตกเย็นกลับบ้าน ไปแล้ว อาการหายเป็นปลิดทิ้ง อย่าสงสัย ในพฤติกรรมของตัวเอง บอกเจ้านายของท่านว่า ท่านอาจคือหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรค แพ้ตึก ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นกับหลายคนทำงานในหลายประเทศทั่วโลก

มลพิษในตึก

สาเหตุของโรค มี 3 ประการ คือ       

1.มลพิษในตึก ระบบระบายอากาศไม่ดีพอ

2.เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงานเป็นพิษ

3.เชื้อโรคที่ล่องลอยอยู่ในตึก

การทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นตึกเก่า ระบบแอร์เก่า หรือแม้ไม่เก่าแต่ไม่ดี เป็นมลภาวะสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดอาการ ออฟฟิศบางแห่งมีคนทำงานจำนวนมาก เมื่อระบบระบายอากาศทำงานได้ไม่ดี ก็ทำให้คนจำนวนมากนั้น ต้องหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไป เมื่อมากเข้าๆ ก็เกิดเป็นภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง นั่นหมายถึงคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน (เกิน 1000 พีพีเอ็มต่อ 1 ล้า&O5533;ส่วน)

“พวกนี้จะมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ เกิดเป็นภาวะคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพิษ มีอาการวิงๆ เวียนๆ คล้ายกับตอนอัดอยู่ในรถ ปอ.ที่แอร์เสีย” นพ.จามรเล่า

นอกจากนี้ พวกวัสดุที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หากเป็นผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ เช่น ไม้อัด ไฟเบอร์ ยาง-พรมสังเคราะห์ เศษไม้เศษพลาสติกอัดกาว หรือปาร์ติเคิลบอร์ด ทั้งสารและสีสังเคราะห์เมื่อใช้งานนานไปเกิดสภาพเป็นพิษได้ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และโดยเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องใช้เหล่านี้ปล่อยรังสีที่มีผล ต่อออกซิเจนในอากาศ มันเปลี่ยนออกซิเจนให้กลายเป็นโอโซน แล้วก็เราคนออฟฟิศ นี่แหละที่สูดรับเข้าไปเต็มๆ

สำหรับเชื้อโรคที่ล่องลอย มีเชื้อตัวหนึ่งร้ายกาจชื่อ Legionella ชอบอยู่ในห้องกึ่งเย็นของเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ในอาคาร บริษั&O5533;&O5533;ใหญ่ๆ บางแห่งเท่านั้น ที่จะเก็บ ตัวอย่างน้ำที่หอผึ่งเย็นบริเวณดาดฟ้าที่มี น้ำขังจากแอร์ตัวใหญ่ เก็บน้ำไปเพาะเชื้อ ทุก 2 เดือน เพื่อเช็กว่าในระบบแอร์อาคาร มีเชื้อตัวนี้อาศัยอยู่หรือไม่ Legionella เป็นอันตรายมากต่อผู้มีภูมิต้านทานต่ำ

จะทำยังไงดีล่ะ

นพ.จามร กล่าวว่า ตึกเก่าต้องปรับปรุงสภาพ โดยต้องทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกร สถาปนิก ผู้ปรับปรุงอาคาร และนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมต้องมีความเชี่ยวชาญการวัดสภาพอาคาร ทั้งสารเคมี แสง เสียง และความร้อนในอากาศ

ส่วนเมื่อไหร่จะได้ฤกษ์ปรับปรุงสภาพอาคารเสียที ใช้เกณฑ์จากต่างประเทศว่า หากพนักงานมีอาการที่เข้าได้กับทั้ง 3 กลุ่มอาการข้างต้น ตั้งแต่ 20% ขึ้นไปก็ลุยได้เลย

“ให้พนักงานที่อยู่ในตึกกรอกแบบสอบถาม หาก 20 คน ใน 100 คน มีอาการพร้อมกันทั้ง 3 กลุ่ม คือ คันผิวหนัง แสบระคายตา และเยื่อบุทางเดินหายใจมีปัญหา ก็ถึงเวลาปรับปรุงอาคารได้แล้ว” นพ.จามร กล่าว ในกรณีที่เป็นพนักงาน ก็ให้สังเกตตัวเองว่า เรามีอาการประมาณนี้ไหม ถ้าเกิดร่วมกัน ทั้ง 3 อาการ ก็ตั้งสมมติฐานเพื่อระวังไว้ก่อน อย่าลืมสังเกตเพื่อนร่วมชะตากรรม...เอ๊ย...เพื่อนร่วมงาน หากมีอาการคล้ายๆ กัน ก็ใช่เลย

มาทำงานทีไรก็มึนตึ้บ แต่จะไม่ไปทำงานก็ไม่ได้เสียด้วยสิ! ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ จะมามัวทำเป็นเลือกงานเลือกตึกก็ ไม่ได้เสียด้วย เอาเป็นว่าช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำออฟฟิศ (ของเรา) ให้ดีขึ้นกันดีกว่า เจ้านายแฮปปี้ เรา (ลูกน้อง) ก็แฮปปี้ด้วย

********************************

ออฟฟิศในฝัน

1.ตึกเก่าต้องปรับโครงสร้าง จัดระบบหมุนเวียนอากาศให้เหมาะสม

2.ออฟฟิศบางแห่งไม่เคยเปิดประตูหน้าต่างเลย ควรเปิดบ้างในช่วงเช้าก่อนจะเปิดแอร์ หรือช่วงพักกลางวัน

3.ควรมีระบบการซ่อมแซมอาคารที่ดี เช่น ฝ้าเพดาน พรม หรือม่าน หากพบมีร่องรอยของเชื้อรา ต้องรีบเปลี่ยนทันที สปอร์เชื้อราทำให้เป็นผื่นระคายเคืองตา

4.สารเคมีทำความสะอาดห้องน้ำ ยาฆ่าแมลง ควรเก็บในกระป๋องฝาปิด และเก็บในที่อากาศถ่ายเทสะดวก

5.สารเคมีล้างห้องน้ำ อ่างล้างมือ อ่างล้างจาน ควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ

6.ควรจัดให้มีห้องหรือพื้นที่สำหรับการตั้งเครื่องถ่ายเอกสารโดยเฉพาะ

7.เครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีสนามพลังแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่โดยรอบ ซึ่งทำให้ผู้อยู่ใกล้มีอาการต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ วิตกกังวล เจ็บป่วยบ่อยๆ ดังนั้น จึงควรดึงปลั๊กออกเมื่อเลิกใช้งาน

หรืออาจใช้วิธีวางกระถางต้นไม้ไว้ใกล้ๆ เครื่องใช้สำนักงานดังกล่าว โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับรังสีอันตราย และลดพลังงานของสนามแม่เหล็ก ได้แก่ พลูด่าง แคกตัส จั๋ง เศรษฐีเรือนใน หมากเหลืองทอง สิบสองปันนา ประกายเงิน วาสนาอธิษฐาน เขียวหมื่นปี ดอกหน้าวัว เป็นต้น

8.ควรเลือกสี วัสดุที่ใช้ปูพื้น ผ้าม่าน หรือผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีน้อย

9.จัดให้มีพื้นที่หรือมุมสำหรับผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ

10.พนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสำนักงาน ต้องลดการใช้ หรือการสัมผัสสาร เช่น น้ำยาลบคำผิด สารเรืองแสง ฯลฯ รวมทั้งลดการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร

view