สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดเกิดใหม่ ปรับบทบาท จาก ผู้ตาม สู่ ผู้กำหนดเทรนด์

จากประชาชาติธุรกิจ


แต่ไหนแต่ไรมา "ตลาดเกิดใหม่" เล่นบทเป็นผู้ตามมาตลอด และปล่อยให้ตลาดพัฒนาแล้ว ใช้สิทธิกำหนดเทรนด์ต่าง ๆ

ทว่า ล่าสุด ตลาดเกิดใหม่ได้ปรับบทบาทมาเป็นผู้กำหนดเทรนด์บ้างแล้ว เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เสียงของประเทศเกิดใหม่เริ่มดังขึ้น และผู้ผลิตสินค้าก็ต้องหันมาฟังตลาดที่มีอำนาจซื้อมหาศาลเหล่านี้

"โค เรียไทม์ส" อ้างถึงข้อมูลจาก "เทรนด์วอตชิ่งดอตคอม" ว่า เทรนด์สินค้าและบริการกำลังจะเปลี่ยนไปสู่ความเรียบง่าย กะทัดรัด และราคาถูก หรือเน้นที่ประโยชน์ใช้สอย รวมถึงรักษ์โลกมากขึ้น เพื่อตอบสนองผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่

โดยสินค้าและบริการที่ดีไซน์ สำหรับตลาดเกิดใหม่จะมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือ 1.มีขนาดเล็กลง หรือมีฟีเจอร์ที่จำกัด เพื่อให้ราคาไม่แพง 2.เรียบง่าย หรือใช้งานง่าย สำหรับผู้บริโภคที่ยังอ่อนประสบการณ์ 3.ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงซ่อมง่าย และก่อขยะน้อยที่สุด 4.แข็งแรง ทนทาน 5.ดีไซน์ดี และ 6.ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างรายได้ หรือสร้างระบบที่ ยั่งยืนด้วยตัวเอง

สำหรับ เหตุผลที่บรรดาผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่ หรือแม้แต่ในเขตเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง หันมาสนใจสินค้าและบริการเหล่านี้ เพราะมีราคาถูก โดยเฉพาะในภาวะถดถอยที่ผู้คนพากันลดรายจ่าย และประหยัดมากขึ้น รวมทั้งความเรียบง่าย กะทัดรัด เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนที่มีเวลาน้อยลง ขณะที่ดีไซน์ช่วยเปลี่ยนใจผู้บริโภคที่ไม่เคยแคร์เรื่องคุณภาพและความสวยงาม ให้กลับมาสนใจเรื่องนี้ และเหตุผลเรื่องความยั่งยืน เพราะผู้คนสนใจเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สินค้า ที่เข้าข่ายกะทัดรัด เรียบง่าย และราคาเบา ๆ มีตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รถยนต์ จนถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งรวมถึงบริการ "โนเกีย มันนี่" ที่ให้ ผู้บริโภคโอนเงินไปยังคนอื่น ๆ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ของคนคนนั้น และชำระค่าสินค้าและบริการ ค่าไฟ หรือเติมเงินมือถือแบบพรีเพด โดยโนเกียสร้างเครือข่ายตัวแทน ซึ่งผู้บริโภคสามารถฝากหรือถอนเงินจากบัญชีมือถือ ทั้งนี้ บริการดังกล่าวเริ่มเปิดตัวในบางประเทศในช่วงต้นปี 2553

แม้สินค้า สำหรับผู้บริโภครายได้น้อยในตลาดเกิดใหม่จะมุ่งเน้นที่ประโยชน์ใช้สอย ซึ่งมักจะมีขนาดกะทัดรัด และมีฟีเจอร์ใช้งานที่จำกัด แต่หากจะขยายไปทำตลาดอื่น ด้วย ก็ไม่ควรลืมดีไซน์ที่สวยงาม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่าง "ตาต้า นาโน" จากค่าย "ทาทา มอเตอร์ส" ของอินเดีย นับเป็นตัวอย่างของสินค้าที่เน้นประโยชน์ใช้สอย โดยขนาดที่เล็ก และดีไซน์ทรงมน ทำให้ขับขี่บนถนนที่หนาแน่นในกรุงนิวเดลีได้ง่ายขึ้น ขณะที่ยอมตัดฟีเจอร์บางอย่างออกไปบ้าง ทั้งระบบเซ็นทรัลล็อก ช่องใส่นิตยสารบนประตู ทำให้ราคาอยู่ที่คันละราว 2,500 ดอลลาร์ ซึ่งเข้าข่ายเทรนด์กะทัดรัด เรียบง่าย และย่อมเยา

ทั้งนี้ "นาโน" เริ่มต้นฮิตในอินเดีย และกลายเป็นรถยนต์ที่โด่งดังนอกบ้าน โดยบริษัทวางแผนจะทำตลาดในยุโรปด้วย เพียงแต่รุ่นที่ขายในยุโรปจะมีการอัพเกรดบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์แบบ 3 กระบอกสูบ ระบบเกียร์อัตโนมัติ และ พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า

ตลาดเกิดใหม่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ "ไมโครเครดิต" หรือการปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อคนยากไร้ ที่ริเริ่มโดยกรามีน แบงก์ ภายใต้แนวคิดของ "มูฮัมหมัด ยูนุส" เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2549 เพื่อช่วยให้คนจนที่สุดสามารถเข้าถึงเงินกู้ และริเริ่มกิจการของตัวเองได้ ซึ่งแนวคิดนี้แพร่หลายในหลายพื้นที่ของโลก ตั้งแต่แอฟริกาแถบซับซาฮารา เอเชีย ตะวันออกกลาง และทวีปอเมริกา

แม้ ว่าผลิตภัณฑ์เน้นประโยชน์ใช้สอยจะเพิ่งเริ่มต้น จึงยังไม่อาจฟันธงว่าเป็นที่สนใจจากผู้บริโภคทั่วโลกหรือไม่ แต่ผู้ผลิตก็เชื่อว่าแนวทางนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการจ่ายเงินเพื่อบำรุงรักษาในราคาแพง ๆ รวมทั้งคำนึงถึงโลกมากขึ้น ดังนั้น นอกเหนือจากเรื่องความประหยัด ผู้ผลิตยังต้องใส่ใจเรื่องการรักษ์โลกด้วย

ยกตัวอย่าง คอนโซลเกม ราคาสบายกระเป๋า "ซีโบ" (Zeebo) ที่เปิดตัวในบราซิลเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว นอกจากมีราคาเบา ๆ ไม่ถึง 200 ดอลลาร์แล้ว ยังใช้พลังงานเพียง 1 วัตต์ ขณะที่ "นาโน" ก็เน้นเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปล่อยมลพิษต่ำ

สินค้า ที่ร่วมเทรนด์นี้จึงมีแนวโน้มจะใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ อย่าง "ไอเกีย" เชนค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของสวีเดน ก็เปิดตัวโคมไฟ "ซันแนน" (Sunnan) ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยวางขายในร้านไอเกียทุกสาขาทั่วโลก

ส่วน "ซัมซุง อินเดีย" มีโทรศัพท์มือถือพลังงานแสงอาทิตย์ "โซลาร์ กูรู" ราคา 59 ดอลลาร์ ที่สามารถใช้งานได้นาน 5-10 นาที ต่อการชาร์จพลังงาน 1 ชั่วโมง ซึ่ง ดีไซน์สำหรับตลาดกำลังพัฒนาที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงไฟฟ้า เช่นเดียวกับ "แอลจี" ที่เปิดตัวมือถือทัชสกรีนที่รีชาร์จโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ ซึ่ง GD510 สามารถคุยได้ 2 นาที 15 วินาที ต่อการชาร์จพลังงานจากแสงอาทิตย์ 10 นาที

view